ธีระรัตน์ ชูอำนาจ
แม้ภาพที่เห็น เด็กๆ เหล่านี้จะมีความเดียงสาเกินวัย แต่เนื้อแท้ลึกลงไปในเปลือกที่สังคมห่อหุ้มไว้นั่นคือ ผ้าขาวที่รอวันเปลี่ยนสีชายเจ้าของเสียงยังคงเรียกอย่างไม่ลดละ เพราะสิ่งที่เขาพยายามจะทำก็คือ พยายามไม่ให้สีของผ้านั้นเข้มเกินไปกว่าสีเทา เขาคือ “ธีระรัตน์ ชูอำนาจ” หรือ ครูปู่ แห่ง ซ.โซ่ อาสา
กลุ่ม ซ.โซ่ อาสา คือแรงผลักดันที่ถูกแสดงออกต่อองค์ประกอบของสังคม อนาคตของชาติอย่างเป็นรูปธรรมของครูปู่ เมื่อ 10กว่าปีที่ผ่านมา จากที่เป็นแค่เพียงครูอาสาสมัครพิทักษ์เด็กเร่ร่อน เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับกทม. (สมัย ดร.พิจิตตรัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ มีนโยบายหลักเกี่ยวกับการดูแลปัญหาเด็กเร่ร่อน)
แม้เมื่อถึงคราวหมดวาระ โครงการนี้ก็เลือนหายไป แต่เขาก็ยังไม่ไปไหน ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยใช้ทุนส่วนตัวสานต่อโครงการอย่างแน่วแน่ เพื่อให้สมกับความหมายของห่วงโซ่
“โซ่มันคือห่วง แต่ละห่วงเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ยิ่งยาวเท่าไหร่พลังในการผูกมัดนั้นยิ่งมีมาก ก็เหมือนอาสาสมัคร เพียงแค่คนหรือสองคนทำอะไรไม่ได้มาก มันต้องมีเยอะๆ และโซ่นี้ต้องทำด้วยใจ เพราะการทำงานตรงนี้มันต้องทำด้วยใจ ต้องเสียสละ เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่วนรวม” ครูปู่กล่าว
แม้ในตอนนั้นจะยังเหลือสมาชิกร่วมอุดมการณ์กันไม่มาก แต่ด้วยความมีใจรักทำให้หนึ่งในทีมอย่างคุณศรีสุข มงกุฏวิสุทธิ์ (ครูมุ้ย) ชักชวนจิตอาสาจากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อมาสานต่ออุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งก็ได้ผลทำให้งานดำเนินไปด้วยดี จนมีสื่อมวลชนเริ่มรู้จักพวกเขามากขึ้น เมื่อมีการเผยแพร่ ความช่วยเหลือจึงเริ่มมีเข้ามาตามไปด้วย
ในปีหนึ่งๆ เขาต้องใช้เงินถึงสามแสนกว่าบาทต่อสี่ที่ ซึ่งเงินได้จากผู้มีจิตศรัทธาในสิ่งที่เขาทำ หลายคนอาจทำได้เพียงเหลือบตาดูในทุกครั้งที่ปัญหาของเด็กเหล่านี้เริ่มบานปลาย แต่เขาและกลุ่มคนอาสากลับมองเห็นอย่างเต็มตาถึงปัญหาที่เกิดจากรากเหง้าของสังคม เขาเลือกที่จะยื่นมือเข้าไปเพื่อให้เด็กเกี่ยวเกาะ ดีกว่าปล่อยให้พวกเขาไหลไปตามเส้นทาง
นอกจากเขาจะสอนหนังสือทั่วไปโดยมีการแบ่งตามลำดับชั้นของวัยแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนต่างๆ มีของเล่นเล็กๆน้อยๆ เครื่องเขียนต่างๆ มาแจก เพื่อจูงใจ พร้อมกับปลูกฝังด้านจริยธรรมให้แก่พวกเขาได้นำไปใช้ในชีวิตของพวกเขาต่อไปด้วย
“ส่วนพวกที่สอนอย่างไรเขาก็ไม่รับนั้นก็มีเยอะ เด็กพวกนี้จะหลุดจากการศึกษาไปเยอะมากเมื่อโตขึ้น เพราะพ่อแม่ก็ต้องการให้พวกเขาออกไปทำงานบ้าง ติดยาก็มี ค้ายาค้าประเวณีก็เยอะ เรื่องพวกนี้มันมีมานาน ก็ต้องทำใจและไม่ท้อแท้ที่จะทำต่อไปอย่างน้อยๆ เด็กๆ อีกส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะรับและพร้อมที่จะเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ถามว่าทำไมทางภาครัฐจัดการกับปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ทำไมเด็กเหล่านี้จึงไม่อยู่ในสถานสังคมสงเคราะห์ ก็ต้องถามว่าเรามีนักสังคมสงเคราะห์ที่พร้อมหรือไม่ เพียงพอที่จะเป็นพ่อแม่คนที่สองให้พวกเขาหรือเปล่า แต่ละองค์กรเคยหันมาดูแลปัญหานี้อย่างจริงจังบ้างไหม ต่างฝ่ายต่างทำ ปัญหามันก็ไม่ไปไหนอยู่ดี”
แม้ทุกวันนี้ด้วยวัยที่ล่วงเลยมาแล้ว 70 กว่าปี ความเหนื่อยล้ายิ่งมีมากขึ้นเท่าไหร่ ความกระตือรือร้นที่จะทำก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อจุดสูงสุดของครูคือการสร้างคนให้เป็นคนดี คำว่าครูสำหรับเขาจึงไม่มีคำว่า ‘เกษียณ’ เพราะเมื่อแรกจะเป็นครู ก็ต้องรู้ซึ้งถึงความหมายของแสงเทียนแห่งศรัทธา
“นอกจากจะเป็นตัวอย่างดีแก่เด็กๆ ได้แล้ว ยังต้องสามารถนำทางให้พวกเขาก้าวเดินไปในทางที่ถูกที่ควรได้ด้วย” ครูปู่กล่าวพร้อมกับเดินกลับเข้าไปเพื่อเชื้อเชิญให้เด็กๆ ที่แอบมองอยู่รอบๆ ได้เข้ามานั่งเรียนและทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนเช่นเคย
Did You Know?
• ก่อตั้งกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา มีเพียงสามคนคือ คุณศรีสุข มงกุฎวิสุทธิ์ (ครูมุ้ย) คุณกนกพรรณ เดือนเต็มดวง (ครูน้อง) และครูปู่โดยเริ่มทำกันที่คลองหลอด ด้วยการใช้ทุนส่วนตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นที่สนามหลวง ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ ฯลฯ
• ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีมาโดยตลอด เขาจึงได้รับรางวัลพระราชทาน ทำดีเพื่อพ่อ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
• จุดมุ่งหมายของเขาคือรางวัลแมกไซไซ เพื่อจะได้นำเงินมาสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส