นคร ถนอมทรัพย์

นคร ถนอมทรัพย์

ชีวิตที่เดินไปตามความฝัน

‘ครูนคร ถนอมทรัพย์’ ใช้เสียงเพลงเป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำเนินไปตามครรลองที่ศิลปะสายนี้จะเป็นตัวนำพามาตั้งแต่วัยเยาว์ กว่าที่จะรู้ว่าโรงหนังใกล้ๆ บ้านจะกลายเป็นโรงเรียนชีวิตขั้นแรก เขาก็เรียนรู้บทบาทของการเป็นศิลปินไปแล้วกว่าครึ่งชีวิต 

“จุดเริ่มต้นคือเมื่อก่อนบ้านครูนั้นอยู่ใกล้โรงหนังชั้นหนึ่งของฝั่งธนบุรี อยู่วงเวียนเล็ก เราก็ได้เห็นตลกหน้าม่านหรือจำอวด แถมข้างบ้านก็ยังมีโรงละครชาตรีอีก เรียกว่าไปดูทุกวัน เข้าเล่นกันตั้งกันเป็นเรื่องๆ แต่เช้ายันเย็น ครูก็ไปคลุกคลีกันอยู่แถวนั้น วันหยุดไม่ได้ไปเรียนก็จะไปอยู่นั่งดูมันอยู่นั่น ดูตั้งแต่จันทโครพบ้าง เรื่องไชยเชษฐ์ เรื่องสังข์ทองอะไรก็ว่ากันไป มันก็อาจซึมซับจนเกิดเป็นความรักความชอบในงานการแสดงร้องรำทำเพลงอะไรพวกนี้นั่นแหละ

“เมื่ออยู่ข้างโรงหนังก็เดินไปเที่ยวเรื่อย เห็นเขาเขียนโปสเตอร์ป้ายประกาศหนัง แล้วอยากเขียนบ้างเลยขอเขาเขียน ซึ่งเขาก็ให้เรียนรู้เอาเอง ฝึกฝนเอาเองจนเขียนได้เขียนเป็น เลยแอบไปทำเรื่อยๆ พอช่างเขียนเดิมออกไปเขาก็บรรจุให้ครูเป็นช่างเขียนประจำโรงหนังเลย ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่เลยนะ กลางวันไปเรียนตอนเย็นก็กลับมาเขียนให้เขา ชีวิตมันก็มีความสุขไปกับการได้ทำในสิ่งที่เรารักทุกวันๆ

“จากนั้นด้วยความที่ครูเป็นลูกพ่อค้าซึ่งครอบครัวทำธุรกิจค้าขายอัญมณี เป็นธรรมดาที่พ่อแม่เขาจะไม่สนับสนุนให้เราไปร้องรำทำเพลงอะไร เพราะคนโบราณเขาก็จะบอกว่ามันคือการเต้นกิน    รำกินนั่นแหละ ทั้งไม่สนับสนุนแล้วก็สั่งห้ามเลยด้วยซ้ำ พอดีกับว่าครูเป็นคนเรียนดี สอบชิงทุนได้ทุกปี เคยมีความตั้งใจเดิมว่าจะเป็นหมออะไรอย่างนั้น พ่อเขาก็เห็นว่าเราเป็นลูกชาย หัวดี ก็เลยอยากให้สานต่อธุรกิจในอนาคต แต่ครูก็เลือกความชอบส่วนตัวมากกว่า ทีนี้เขาก็เห็นว่าปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว ก็เลยเตรียมแผนชีวิตให้เสร็จสรรพว่าต้องสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ได้ ส่งให้ไปเรียนคอมเมอร์ชก็เกเร เขาก็เลยส่งไปเรียนที่อินเดีย เรียนได้ปีเดียวก็อาละวาดกลับมา

“พอกลับมาที่นี้มันก็อยู่ไม่ได้สิ เพราะใจมันไม่รักทางนี้ ก็เลยตัดสินใจหนี ไม่เรียนแล้ว หนีไปพากย์หนังตามต่างจังหวัดไกลๆ เลยเป็นการเริ่มต้นชีวิตศิลปินเต็มขั้นมานับแต่นั้นเลย (หัวเราะ) จนได้คลุกคลีกับพวกวงการบันเทิง ได้ไปเล่นละครย่อยประกวดกับเพื่อนๆ ตามงานกันบ้าง ก็ชนะเลิศกันหมด ที่เล่นได้นั้นเพราะจำจากรุ่นพี่เข้าบ้างไปหาครูให้ครูเขาสอนให้บ้าง ละครย่อยสมัยก่อนมันมีก็บทเหมือนกัน ได้ครูดีก็จะได้สคริปต์ที่ดีเลยทีเดียว 

“จนมาเริ่มดัง มีชื่อเสียงในแวดวงละคร มีคนดูติดตามอยู่ไม่น้อย แล้วมันก็จะมีลิเกวิทยุ ที่เขาจะมาเล่นในงานหนึ่งเขาก็กลัวว่าจะไม่มีคนดู ก็เลยมาติดต่อครู ซึ่งเป็นคณะสมัครเล่นที่มีแฟนๆ คอยดูอยู่แล้วให้ไปเล่น มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามาสู่วงการละครวิทยุด้วยตั้งแต่อายุ 15-16 ทีนี้เขาก็เห็นว่าครูเสียงดี เพราะครูได้เพลงไทย ได้จากเพลงละครชาตรี ได้เคยฝึกหัดร้องเพลงสามชั้นตีฉิ่งมาก่อน ก็เลยได้ร้องมาเรื่อยๆ จนมาเริ่มบทเรียนชีวิตอีกแบบหนึ่งคือ ละครวิทยุสมัยนั้นมันต้องมีเพลงอย่างน้อย 1 เพลง จึงลองแต่งเพลงดูบ้าง เขาก็เห็นว่าใช้ได้ก็เลยแต่งมาเรื่อย อยู่ที่นั่นก็หลายปี นับว่าแต่งเป็นร้อยๆ เพลง ตอนนั้นถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดีอีกช่วงหนึ่ง คือเมื่อได้อยู่ในสังคมนี้ก็จะได้เจอคนมากฝีมือ ก็จะเรียนรู้จากเขาเอาบ้าง มันเปิดโลกเราได้หมดเลย จากนั้นก็ได้เริ่มศึกษาโน้ตด้วยตัวเอง มีการไปซื้อตำราพระเจนดุริยางค์มาอ่าน ค่อยๆ เรียนรู้ไป”

เส้นทางเพลงที่ถูกกำหนด 

แม้ชีวิตที่ผ่านมาจะพบเจอเรียนรู้กับศิลปะและสียงเพลงมามากแล้ว แต่เมื่อถึงคราวที่โอกาสดีๆ ได้ลอยเข้ามา มีหรือที่ครูคนนี้จะไม่คว้าเอาไว้ จากศิลปิน นักแสดงมือสมัครเล่น ก้าวเข้ามาสู่แวดวงการเพลงอย่างเต็มตัว ชีวิตใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งภายในกรมทหาร 

“ตอนนั้นครูกำลังจะถูกเกณฑ์ทหาร พอดีกับไปสอบเข้ารับราชกาลที่กองดุริยางค์ทหารบก เพราะเขาประกาศรับสมัครนักร้องบรรจุเข้ารับราชการ พอไปสอบก็ได้ที่ 1 เลยไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปโดยปริยาย เมื่อสอบเข้าไปบรรจุได้แล้วผู้บังคับบัญชาก็มองเห็นว่าครูน่าจะร้องเพลงสากล เมื่อท่านสั่งลงมา ก็เลยต้องทำตาม ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อนต้องมาเริ่มต้นใหม่หมด

“พอได้มาร้องเพลงยอดนิยมแห่งยุค มันก็ได้รับความนิยม กระแสตอบรับดี จากนั้นไม่กี่เดือนก็มาคิดได้ว่าเมื่อเราร้องเพลงสากลแล้วการใช้ชื่อ ‘นคร ถนอมทรัพย์’ นี้มันเรียบไป ใช้ชื่อเล่นดีกว่า ทีนี้ก็คิดว่าจะใช้ชื่ออะไรดี มันก็มาประจวบเหมาะกับช่วงนั้นมีหนังเรื่อง ‘กุง กาดิน’ ดังมาก พระเอกก็จะเป็นแขกตัวดำมาก เลยก็ไปปรึกษาครูเพลงหลายท่านอย่าง ครูมงคล อมาตยกุล ครูไสล ไกรเลิศ ฯลฯ ว่าหากใช้ชื่อนี้จะว่ายังไง ท่านก็เห็นว่าเหมาะกันดีกับชื่อนี้ แต่ครูเห็นว่าในเมื่อเรามันดำไม่เท่าเขา ก็เลยใช้น้ำมันหม้อนั้นทาหน้า เชื่อไหมว่าร้องอยู่ 4-5 เดือน ปรากฏว่าดังใหญ่เลย คนชอบ ดังเร็วแบบชนิดที่เรียกว่าขายดีมาก ถือว่าประสบความสำเร็จเลยกับชื่อนี้ ‘กุง กาดิน’

“เหมือนชีวิตครูมันห้ามมีกรอบยังไงไม่รู้ อยู่ราชการได้สองปีกว่าๆ ก็ต้องออกเพราะร้องเพลงมันเงินดี งานก็มีทุกวันเรียกว่าไปทั่วประเทศ สมัยนั้นนักร้องเพลงสากลที่เอาเพลงฝรั่งมาต่อแล้วก็ใช้ลีลาร้องบนเวทีได้สนุกสนานอย่างครูไม่มีอีกแล้ว ข่าวหนังสือพิมพ์อะไรก็ลง เป็นที่รู้จักมากในช่วงนั้น 

“ตอนนั้นก็เล่นได้หมดกับทุกวงไม่ว่าจะเป็นวงของพยงค์ มุกดา วงสุริยะโยธิน วงลูกฟ้า ฯลฯ แล้วค่าตัวก็ถือว่าแพง 500 บาทต่องาน ช่วงนั้นอายุ 21 (ปีพ.ศ. 2498)

แต่ละเดือนก็เก็บเงินได้เยอะอยู่ ที่คนนิยมก็เพราะมันแปลกใหม่ นักร้องแนวนี้ไม่มีมาทาหน้าทาอะไรแบบครู แถมยังตลกได้ด้วย ก็เรียนว่าเป็นสีสันมันโดดเด่นคนเขาเลยติดกัน 

“พอได้เป็นนักร้องอาชีพก็กลับบ้านได้แล้ว ที่บ้านเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ซึ่งครูจะดีหน่อยถึงแม้จะเป็นช่วงชีวิตช่วงที่รุ่งเรือง แต่ครูก็ไม่เหลวไหลนะ เพราะไม่ดื่มและไม่สูบด้วยเพราะเป็นอิสลามครอบครัวค่อนข้างจะเคร่งอยู่เหมือนกัน อีกทั้งไม่ได้ไปสนใจสิ่งพวกนั้นอาศัยสนุกสนานไปตามเพลงดีกว่า 

“ต่อมาครูมงคล อมาตยกุล ก็ได้ชวนไปทำวงกับเขา ชื่อ ‘วงจุฬารัตน์’ ซึ่งเป็นวงดนตรีผสมทั้งเพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่งและเพลงสากล ตอนนั้นเป็นรองหัวหน้าวง ก็เลยได้นักร้องใหม่ๆ มามากมายเช่น ปอง ปรีดา, เลิศ ศรีโชค (แต่งเพลงกราบเท้าย่าโม) จากนั้นก็ได้มาตั้งชื่อให้คนใหม่ๆ อย่างบุปผา สายชล, พนม นพภร, สังข์ทอง สีใส, ชาย เมืองสิงห์ ฯลฯ มันน่าสนใจตรงที่การตั้งชื่อก็ดูตามหลักการเหมือนกันนะ เอาให้มันถูกโฉลกกับเจ้าตัวเขาด้วย พอชื่อมันโดน ก็ติดหูได้ง่ายเหมือนกัน”

เสียงเพลงที่ปลุกใจ

แต่แล้วชีวิตครูเพลงคนนี้ก็ได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แน่นอนว่าชีวิตของเขามักไม่อยู่ในกรอบ เขาจึงเลือกออกจากวงจุฬารัตน์มาเมื่อปี พ.ศ. 2508 เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการอีกครั้ง ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตอันที่จริงแล้วมันไม่ได้ต้องการอะไรที่มากมายไปกว่า ‘การได้อยู่กับตัวตน’

“เพราะวงดนตรีนี้มันต้องมีการเดินสายตลอด แล้วครูเองก็ไม่ไหวแล้วอยากหยุด อยากทำงานที่มันอยู่กับที่ เพราะสมัยก่อนเวลาตระเวนไปตามงานที่เขาจ้างนั้นมันไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้กันหรอก รถที่ใช้ก็ไปจ้างรสบัสประจำทางเขาเป็นเที่ยวๆ ไป แอร์ก็ไม่มี พอลงจากรถนี่เต็มไปด้วยฝุ่นหัวแดงกันเลย (หัวเราะ) แถมยังต้องเผชิญกับพวกโจรดักปล้นมั่งอะไรมั่ง เรียกได้ว่าเจอกันแทบทุกเที่ยวแต่ก็รอดกันมาได้  

“พอดีกับช่วงนั้นก็ทำงานไนต์คลับ ทั้งร้องเพลงและเล่นเปียโนด้วยงานมันก็ลงตัวอยู่ แต่ก็บอกครูมงคลเขาไว้นะว่าถึงออกจากวงแล้วแต่ก็พร้อมที่จะเป็นสมาชิกวงอยู่เสมอ ทีนี้พอออกมาก็มารับงานทำเพลงหนัง ทำดนตรีเสียงประสานอะไรไปมันก็อิสระ เพราะอยู่กับวงต้องออกเดินทางอยู่เสมอบางทีมันก็ไม่มีเวลามาทำในงานที่เราชอบ 

“ทีนี้ก่อนหน้านี้ก็เขียนเพลงให้สวลี ผกาพันธ์ หรือ รวงทอง ทองลั่นทมร้องบ้าง แต่มันก็ไม่ได้มากมายอะไร เพราะมันเป็นเพลงจากละครวิทยุเท่านั้น สมัยนั้นก็มีเพลงดังๆ อยู่บ้างอย่างเพลง โศกรักสลักใจ ที่สุเทพ วงศ์กำแหงร้องจากละครวิทยุเรื่องกามนิต วาสิฏฐี หรือเพลงทำนบหัวใจ ที่คุณสวลี ผกาพันธ์ร้อง ฯลฯ 

“จนกระทั่งทางสมาคมศิษย์เก่าวชิราวุธเขาได้มีการจัดประกวดแต่งทำนองเพลงในบทพระราชนิพธ์ รัชกาลที่ 6 เขาก็ให้ผู้ประกวดนี้ไปหาบทพระราชนิพนธ์มากันเอง ครูใช้เวลาแต่งอยู่สองเดือนเสร็จแล้วก็ส่งประกวด สุดท้ายครูก็ได้รางวัลมาสองรางวัลซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

“จากนั้นปี พ.ศ. 2513 สโมสรสันนิบาตเสรีชนเขาก็มีจัดประกวดต่อต้านคอมมิวนิสต์ ครูเลยเลือกเขียน ‘เพลงไทยเสรีชน’ ส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอีก ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำอีกในปี พ.ศ. 2514 และเนื่องจากเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสอยากให้มีการประกวดสาขาเพลงปลุกใจรักชาติบ้าง ซึ่งครูก็ได้รางวัลมาถึงสามรางวัล จากเพลงรักกันไว้เถิด ซึ่งเอาความรู้สึกที่เราเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งในชาตินั้นมีมานานแล้ว อย่างเนื้อหาที่ว่า “จะเกิดชาติไหนๆ ก็ไทยด้วยกัน” นั้นสื่อความหมายได้ดีที่สุด ได้แผ่นเสียงทองคำสามรางวัล ‘คำร้อง ทำนอง และขับร้อง’ ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตเลยก็ว่าได้”

ครูเพลงด้วยหัวใจ

จากวันนั้น รางวัลอาจเป็นเครื่องการันตีในความตั้งใจ แน่วแน่และฝีมือ แต่สิ่งที่การันตีในแนวทางที่ครูตัดสินใจเลือกเดิน เลือกที่จะถ่ายทอดผลงานเพื่อสังคม เลือกที่จะดำเนินชีวิตเฉกเช่นศิลปินที่ยึดถืออุดมการณ์เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์โดยไม่มีกรอบกำหนดในเรื่องของเวลาต่อไป

“ตั้งแต่นั้นมาครูเลิกร้องเพลงเลยนะ มาทางงานเขียนเพลงแต่งเพลงปลุกใจไปเลย

ในการเขียนเพลงนี้ได้รับรางวัลมาแล้วกว่า 21 รางวัล แผ่นเสียงทองคำ 9 แผ่น พระพิฆเนศวรทองคำ 8 รางวัล และรางวัลอื่นๆ อีก จนกระทั่งได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตนี้จะได้รับรางวัลอะไรมากมายขนาดนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลชีวิต รางวัลการทำงาน เพราะครูเลือกแล้วที่จะใช้ชีวิตมาทางนี้ มันเป็นจิตวิญญาณของเราไปแล้ว ซึ่งถึงแม้มันเป็นทางที่เขาบอกว่า ‘ระหว่างกล่องกับเงิน ชีวิตจะเลือกอะไร’ ซึ่งครูไม่ต้องคิดเลยว่า ครูขอเลือกกล่องแม้มันอาจกินไม่อิ่มกายอย่างที่ใครเขาว่า แต่มันก็อิ่มใจ สุขใจ เราผ่านช่วงชีวิตที่เป็นยุคทองได้เงินมาแล้ว พอถึงจุดหนึ่งชีวิตมันก็ต้องกลับไปหาสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง ‘คือการเคารพในจิตวิญญาณของตัวเอง’

“แล้วเพลงปลุกใจสมัยก่อนนั้นมันทรงพลังแล้วมีคุณค่ามากนะ สมัยหลวงวิจิตรวาทการ ช่วงปี พ.ศ. 2481-2482 ใช้เพลงปลุกใจได้ผลมาก ตอนนั้นภาครัฐมีคำสั่งมาเลยว่าให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากรทำเพลงปลุกใจ พอทำแล้วก็เปิดไปเรื่อยๆ แล้วรายการวิทยุก็มีไม่มาก มันยังบริสุทธิ์อยู่ ยังเป็นคลื่นอิสระฟรีๆ เพลงไหนได้รางวัลอะไรมา เขาก็เอามาเปิด ไม่ได้จำกัดหรอกว่าค่ายไหนบริษัทไหน มันก็เปิดวนกันอยู่แค่นั้น พอหนุ่มสาวเขาได้ฟังมันก็ฮึกเหิมน่ะสิ แต่พอเวลาผ่านไปอย่างเช่นช่วงปี พ.ศ. 2522 เพลงที่ได้รางวัลอย่าง ‘เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว’ ก็ไม่ดังแล้ว เพราะคลื่นวิทยุมันถูกจับจองเป็นเจ้าของหมดแล้วนั่นแหละ 

“ชีวิตที่เคยเป็นลูกพ่อค้าอัญมณีมันก็กลายเป็นความหลังไปหมดแล้ว เราเลือกเดินมาทางนี้แล้ว ได้ใช้ชีวิต ได้ดูแลครอบครัวมาอย่างดี จนปัจจุบันนี้มีความพอใจแล้ว ก็ถือว่ามีความสุขดี ทุกวันนี้ก็ยังมีงานทำอยู่ พอมาเป็นนายกสมาคมนักแต่งเพลงก็มาเปิดสอนร้องเพลง สอนแต่งเพลง ก็ทำแบบจิตอาสารับใช้สังคมมากกว่าไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรนัก เวลาว่างอื่นๆ ก็รับแต่งเพลงบ้าง ก็จะทำงานให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ทุกวันนี้มันคือการดำเนินไปด้วยปัจจัยเดียวที่สำคัญคือ ‘ความสุข’

“แต่สำหรับการเป็นศิลปินแห่งชาตินี้น่าเสียดายอยู่เพียงอย่างเดียวนะ มาได้รับในตอนที่แรงมันไม่ค่อยมีแล้ว แต่ก็ยังคิดว่าจะทำงานเพื่อรับใช้สังคมต่อไป คนเขาก็ยังเห็นว่างานแนวสร้างสรรค์สังคม ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยนี่แหละต้องมาหาครูอยู่ ครูก็พร้อมที่จะทำ อย่างตอนนี้ก็ทำเพลงเอกลักษณ์ไทยให้กับหน่วยงานราชการอยู่ เพราะมองเห็นว่าตอนนี้วัฒนธรรมต่างชาตินั้นเข้ามาเยอะ เดี๋ยวเด็กไทยจะลืมความเป็นไทยไปเสียหมด ซึ่งก็อาศัยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้นี่แหละเป็นการถ่ายทอดผลงาน กระตุ้นให้คนหันมาสนใจในเรื่องพวกนี้บ้าง 

“ก็ถือว่าใช้แนวทางที่เราถนัดช่วยกันด้วยอีกส่วนหนึ่ง ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องได้ผล 100% แต่คิดว่าแค่ได้ลงมือทำมันก็ดีแล้ว ครูอยากให้นักแต่งเพลง แต่งเพลงที่สร้างสรรค์บ้าง ขอเพียง 1 เพลงเท่านั้นในอัลบั้ม อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญก่อนที่มันจะหายไปกับกาลเวลาเสียหมด” 

บรรยากาศเหล่านั้นอาจล้วนแล้วแต่เป็นภาพความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน