คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ Thai-Styled Antiphon รากเหง้าวัฒนธรรมลำตัดไทย

คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ Thai-Styled Antiphon รากเหง้าวัฒนธรรมลำตัดไทย

สำเนียงการร้องเพลงลงจังหวะ ขับกล่อมด้วยลูกคู่เกี้ยวกันระหว่างกลุ่มชายหญิง โต้ตอบไปมาด้วยคารมคมคายเชือดเฉือนบนเวที สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม คือ ‘ลำตัด’ การแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย แม้ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นอดีตแต่ยังคงหลงเหลืออยู่โดย ‘คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ‘ เป็นหนึ่งในผู้สืบสานเรื่องราวของลำตัดให้คงอยู่จนถึงทุกวันนี้

   คุณแม่ศรีนวลเป็นนักแสดงลำตัดในคณะหวังเต๊ะ (นายหวังดี นิมา - หัวหน้าคณะ ครู และคู่ชีวิตของคุณแม่ศรีนวล) ท่านรับบทเป็นนางเอก ทำหน้าที่แม่เพลงร้องนำและได้สร้างสรรค์ผลงานมากว่า 60 ปีจนเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-ลำตัด) พ.ศ. 2562

   ชีวิตวัยเด็กของคุณแม่ศรีนวลเกิดย่านทวีวัฒนาซึ่งในสมัยหลายสิบปีก่อนยังไม่เจริญมากนัก คุณแม่ศรีนวลมีพี่น้องรวมกันถึง 12 คนโดยท่านเป็นลูกคนที่ 8 ของครอบครัว มีคุณพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ได้ร่ำรวยนักส่วนคุณแม่มีอาชีพทำนา โดยรวมแล้วมีฐานะยากจน แม้ครอบครัวจะมีเงินน้อยเพียงใดก็ยังสามารถส่งคุณแม่ศรีนวลให้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาที่วัดกลางคลอง (วัดปุรณาวาส) กิจวัตรประจำวันหลังจากเลิกเรียน คุณแม่ศรีนวลจะมาช่วยที่บ้านทำนาและรับจ้างทั่วไป

   ในระหว่างที่คุณแม่ศรีนวลมาช่วยทำนาให้ป้าของตัวเอง ระหว่างนั้นคุณแม่ประยูร ยมเยี่ยม (ศิลปินแห่งชาติ (เพลงพื้นบ้าน-ลำตัด) พ.ศ. 2537) ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะลำตัดและเป็นลูกสาวของป้ามาเยี่ยมบ้าน ทั้ง 2 ท่านจึงได้พบกัน คุณตาพยายามช่วยฝากฝังคุณแม่ศรีนวลให้ไปฝึกลำตัดกับแม่ประยูร แต่ในครั้งแรกที่ได้พบกันนั้นยังไม่ได้มีการรับไปเล่นลำตัดและแยกย้ายกันไปก่อน

   จนกระทั่งคุณแม่ศรีนวลอายุ 15 ปี ขณะที่กำลังดายหญ้าอยู่ในท้องนา น้องสาวของแม่ประยูรก็มาตามบอกว่าให้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหัดลำตัด จึงต้องมีการไปขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ของแม่ศรีนวลให้เรียบร้อยก่อนจะตามเขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหัดเล่นลำตัดในครั้งแรก

   “พอมีญาติมาตามบอกว่าให้ไปหัดลำตัด เราไม่รู้ว่าลำตัดเล่นยังไงแต่ก็ไปกับเขาแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย จำได้ว่าเดินทางขึ้นรถไฟ วันนั้นแต่งตัวสวยมากใส่เสื้อแขนยาวนุ่งผ้าแบบคนทำนา รองเท้าไม่มี แม่นั่งรถไฟจากศาลายาไปลงบางกอกน้อยธนบุรี พอข้ามไปฝั่งท่าพระจันทร์เรามองเห็นคนอื่นว่าเขาใส่รองเท้ากัน พอหันมาดูตัวเองไม่มีแต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร”

   “เมื่อเข้ามาอยู่บ้านที่หัดลำตัดจริง ๆ มีการฝึกหัดเล่นลำตัดกันทุกวัน เราดูแล้วปวดหัว คนที่เคยอยู่บ้านนอกแบบโล่ง ๆ พอเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ กลางเมืองแถววัดพระยาไกรมาแล้วมันอึดอัด เลยบอกน้องสาวแม่ประยูรว่า ‘พาฉันกลับบ้านเถอะ ฉันไม่ไหว ฉันปวดหัวมากเลย’ อยู่ได้แค่เดือนเดียวเท่านั้น

   “หลังจากนั้นกลับมาบ้านแล้วก็ช่วยพ่อแม่ทำนาได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ คิดขึ้นมาว่าก่อนจะไปมีคนดูถูกเราไว้เยอะ พอกลับมามันเหมือนว่าทำไม่สำเร็จ แล้วบ้านเราก็จนด้วย หนทางที่ดีที่สุดตอนนั้นคือการเล่นลำตัด พอคิดได้จึงไปซ้อมรำลอยหน้าลอยตาคนเดียวหน้ากระจก จนคุณอามาเห็นบอกว่า ‘นวล เอ็งบ้ารึเปล่า’ เลยตอบเขาว่าหนูอยากลองดู จุดเด่นของแม่คือเป็นคนที่ยิ้มเก่ง ยิ้มตลอด อารมณ์ดี กระทั่งได้เข้าไปหาคุณตาท่านก็ให้ไปตามคนมารับแม่ไปฝึกลำตัดอีกรอบหนึ่ง

   “ครั้งนี้ได้ไปหัดลำตัดกับ ครูเต๊ะ นิมาซึ่งเป็นพ่อของหวังเต๊ะ (หวังดี นิมา) ตอนนั้นมีนักเรียนประมาณ 10 คน มีการซ้อมร้องเพลงแต่แม่ยังไม่ได้ร้อง เพียงแค่ท่องบทเพลงและเอาบทไปท่องอย่างเดียวซึ่งก็ยังท่องไม่ได้ เราไม่รู้ว่าหลักการร้องเพลงต้องใช้เทคนิคแบบไหน จนกระทั่งครูเต๊ะเรียกไปสอนวิธีการร้องเพลงและการรำอย่างถูกต้อง ทำให้แม่สามารถร้องและรำได้ในที่สุด

   “ท่านไม่ได้สอนแบบสมัยนี้นะ แต่จะให้บทไปท่องก่อนแล้วนักเรียนผลัดกันร้องคนละท่อน ๆ ร้องกันไป 10 เที่ยว บางวันก็ซ้อมตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน การสอนตอนนั้นไม่ได้จี้ว่าต้องร้องอย่างไร ปล่อยให้เรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเองซึ่งได้ผลดีมาก ในตอนนั้นแม่คิดว่าถ้าทำไม่ได้ก็ช่างมัน ทว่าพอลองฝึกดันทำได้จริง เราร้อง 10 เที่ยวเท่ากับเราได้ฝึก 10 งาน ถือว่าเป็นการฝึกที่ลึกซึ้งและเข้มข้นมาก

   “แม่ฝึกอยู่ประมาณ 2 เดือนก่อนจะแสดงครั้งแรกกับคณะบุญช่วย วันที่ทำการแสดงครั้งแรกคือที่วัดสุวรรณ ตรงคลองสาน แม่ยังจำได้ว่าทุกคนบอกว่าแม่คงเล่นไม่ได้เพราะเป็นคนขี้อายและอาจไม่กล้าแสดงมากนัก แต่สุดท้ายแม่ก็ทำได้ด้วยกำลังใจและการฝึกฝน

   “ในสมัยนั้นคณะลำตัดมีจำนวนมากแต่แม่ไม่ค่อยได้ออกไปแสดงนอกบ้านมากนัก แม่อยู่ในคณะพ่อหวังเต๊ะและแม่ประยูรเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากแม่เป็นคนรักครอบครัวและใช้ชีวิตเรียบง่าย 

   “การเล่นลำตัดจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม่เป็นคนที่มีความจำดีและชอบเรียนรู้ เช่น ไปชมการร้องเพลงลูกทุ่งหรือดูเขาเล่นตลกแล้วนำมาปรับใช้กับการแสดงลำตัด หลังจากนั้นจึงได้ขึ้นเป็นนางเอกของคณะลำตัดในที่สุด ลำตัดไม่ได้มีแค่ความสนุกสนานเท่านั้นแต่ยังแฝงข้อคิดและสาระในเนื้อหา เช่น การสอนเกี่ยวกับการครองเรือน การเลือกคู่ครองและการดำเนินชีวิต เป็นศิลปะที่ให้ความบันเทิงพร้อมส่งเสริมการเรียนรู้

   “การแสดงลำตัดไม่ใช่การแสดงลำตัดอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น เช่น เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ทุกเพลงมีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและค่อย ๆ พัฒนามาเป็นลำตัดในรูปแบบปัจจุบัน

   “ในคณะของพ่อหวังเต๊ะ เรามุ่งเน้นการแสดงที่สุภาพและเคารพผู้ชม ท่านต่อต้านการแสดงที่หยาบคายอย่างเด็ดขาดและยึดมั่นในแนวทางการแสดงที่แฝงลูกเล่นสนุกสนานแต่ไม่ลามก การเล่นลำตัดในแนวทางสองแง่สองง่ามต้องหาการหักคอรอจังหวะ เว้นวรรคไว้ให้ผู้ชมรู้สึกคิดกันเอาเอง กลอนอาจจะปูทางว่าต้องลงคำนี้แน่แต่เราไม่ลง ให้คนดูลงแล้วก็สนุกสนานกันไป

   “อย่างเพลงหมากัด (เพลงโดย เอกชัย ศรีวิชัย) แต่เดิมนั้นเป็นของพ่อหวังเต๊ะ พ่อหวังเต๊ะเขียนในท่อนที่ว่า ‘แม่คุณจ๋าดูหมาให้พี่ด้วย อย่าให้หมากัด...ฉวย’ คือมันต้องไปแบบนั้นซึ่งในใจคนดูก็ลงคำสุดท้ายไปแล้ว หรือท่อน ‘อีเขียวก็แง่งอีแดงก็รีบ พี่เลยเอาไม้ทิ่ม... ตาหมามันไป’ คือคำยังไม่ได้ลงเราก็ไม่มองไม่ชี้อะไร ร้องให้น้ำเสียงมันหนักหน่อย มองคนดู ชี้คนดู คนดูลงแล้วแต่ฉันไม่ผิดนะแค่ร้องลงเอง แบบนี้มันคือลูกเล่นเทคนิคที่ต้องมี นั่นคือสนุกแต่ไม่หยาบ 

   “ในวงการลำตัดเราต้องยอมรับว่าพ่อหวังเต๊ะเป็นคนที่ทำให้ลำตัดเป็นที่รู้จักในสังคมมานาน พ่อหวังเต๊ะเป็นคนเก่งมาก แกเป็นคนที่ไม่ว่าใคร เวลาไปดูคณะอื่นถ้าเขาเล่นหยาบแกจะกลับบ้านเลย เราจะไปฝืนอยู่ก็ไม่ได้ต้องกลับด้วย ไม่ว่าไม่นินทาใคร แต่ถ้าเจอใครที่พูดหยาบปุ๊บพ่อหวังเต๊ะจะนำไม้งัดกลองเคาะปัง! แล้วบอกว่า ‘ไม่มีสกุล’ พอแม่ฟังแล้วรู้สึกเจ็บเลย”

   ด้วยความที่คุณแม่ศรีนวลเป็นศิลปินที่อุทิศชีวิตเพื่อศิลปะการแสดงลำตัดมาโดยตลอด ท่านสืบสานรักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้าน ลำตัด และเจตนารมณ์ของคุณพ่อหวังเต๊ะ อีกทั้งมีคำกล่าวว่าวันหนึ่งลำตัดจะสูญหายไปจากสังคม ดังนั้นจึงได้มีการเปิดบ้านพักของตัวเองเป็น ‘แหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลางพ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล’ ขึ้นมา

   “ที่นี่เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ มีมาอบรมกันปีละ 2 ครั้งเพราะเราจะใช้ช่วงปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา อบรมครั้งหนึ่งคือ 3 วัน 2 คืน มากิน มานอน มาอยู่ที่นี่เสร็จสรรพ ความจริงแล้วแหล่งเรียนรู้ของเราต้องเปิดเมษายน พอโควิด-19 มาก็เปิดไม่ได้จึงต้องใช้สอนออนไลน์แทน 

   “ส่วนการเรียนการสอนในวันแรกจะให้ความรู้เรื่องการรำอย่างเดียวเลย จากนั้นค่อยร้องให้เขาฟัง พอเริ่มซึมซับแล้วแม่ก็จะเอาเพลงทั้งหมดให้นักเรียนเลือกเพื่อมาสอนเป็นเพลงหลัก วันที่ 2 สอนเขาเขียนเพลงจนกระทั่งตกเย็นกินข้าว หลังจากนั้นถึงให้นักเรียนไปนั่งแต่งเพลงกัน วันที่ 3 จะให้พวกเขาร้องเพลงที่แต่งกันเอง โดยส่วนมากเขาจะนั่งแต่งเพลงในคืนแรกเลยเพราะเด็กรุ่นใหม่มีความตั้งใจสูงมาก

   “การสอนของแม่คืออย่าไปบังคับว่าต้องเขียนอย่างนี้ ๆ แต่ให้เขาทำด้วยตัวเองเพราะที่แหล่งเรียนรู้นี้เราสอนทุกอย่างตั้งแต่เพลงรวมถึงมารยาทในการอยู่ร่วมกัน แม่จะบอกว่าวันแรกที่หนูมาที่นี่หนูไม่ได้เป็นลูกศิษย์และแม่ไม่ได้เป็นครูนะ แม่เป็นเพียงคนแก่คนหนึ่ง จะเป็นยายของหนูหรือแม่ของหนูก็ได้ ขอให้หนูนับถือแค่นี้ เราอยู่กันแบบพี่น้องลูกหลาน แบ่งเป็นกลุ่มเพื่อล้างจานชาม ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างแก้ว ช่วยกันทำงานด้วย ดังนั้นที่นี่จึงสอนมากกว่าความรู้

   “ก่อนหน้านี้เราก็กังวลเรื่องอนาคตของลำตัดจะสูญหายไป แต่ตอนนี้แม่คิดว่าไม่สูญหายอย่างแน่นอนเพราะคนรุ่นใหม่หันมาเล่นลำตัดกันเยอะขึ้น แม้แต่ครูบาอาจารย์ยังหันมาเล่นลำตัด การเปิดสถาบันแห่งนี้ขึ้นมามันเกิดขึ้นจากพ่อหวังเต๊ะ สมัยที่ท่านป่วยพ่อหวังเต๊ะพูดว่า ‘ฉันตายลำตัดก็สูญ’ แต่แม่ไม่สนใจ แม่ฟังเฉย ๆ จนกระทั่ง 10 วันสุดท้ายท่านบอกอีกว่า ‘ฉันตาย…ลำตัดมันก็สูญ’ แม่ใจหายเลยนะ เข้าไปกอดแล้วบอกว่า ‘ลำตัดไม่สูญนะ ไม่ต้องกลัวหรอก ฉันจะทำต่อจนกว่าฉันจะตาย ถ้าฉันจะตายก็จะให้ลูกให้หลานให้ลูกศิษย์สานต่อไป ไม่ต้องกลัวนะป๋า ไม่ต้องกลัวนะ’ พ่อหวังเต๊ะบีบมือแม่แล้วน้ำตาท่านไหล ‘ป๋าไม่ต้องห่วง ฉันจะทำถึงไม่มีงานฉันก็ทำ’ แล้วแม่ทำจริง เรารับปากแล้วเราต้องทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารักและเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีทุกวันนี้ สิ่งที่เราเลี้ยงพ่อแม่ได้เราจะไม่ทิ้ง แม่ถือว่าลำตัดทำให้ครอบครัวแม่มีอยู่จนถึงทุกวันนี้

   “ลำตัดมันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของไทย อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุน อย่าทิ้งและให้ช่วยกันโปรโมท ทุกวันนี้ที่สอนเด็ก ๆ ไม่ได้หวังเงินทองอะไรขอแค่พวกเขามาเรียนแม่ก็มีความสุขแล้ว ซึ่งลำตัดแม่จะทำต่อไปจนกว่าจะไม่มีชีวิต ถ้ายังมีชีวิตก็จะทำต่อไป”

- คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลางทอง (วัดปุรณาวาส) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร / ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ใน พระบรมราชูปถัมภ์

- ปัจจุบันท่านรับหน้าที่ดูแลคณะลำตัดหวังเต๊ะ เป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษ และยังเปิดบ้านพักเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลำตัด และเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ-แม่ศรีนวล

 

สำเนียงการร้องเพลงลงจังหวะ ขับกล่อมด้วยลูกคู่เกี้ยวกันระหว่างกลุ่มชายหญิง โต้ตอบไปมาด้วยคารมคมคาย