เศรษฐกิจไทย ยอดแย่ แต่ ไม่วิกฤต ทางออกอยู่ตรงไหน?

เศรษฐกิจไทย ยอดแย่ แต่ ไม่วิกฤต ทางออกอยู่ตรงไหน?

ช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลพยายามถกว่าเศรษฐกิจต้องใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเพราะเศรษฐกิจวิกฤตแล้ว ผมได้ออกความเห็นมา 1 ปีเศษในการถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจไทยว่าเป็นภาวะ ‘วิกฤตหรือเพียงแค่ตกต่ำ’ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเสนอการใช้เงินกู้ตามพระราชบัญญัติกู้เงินสำหรับโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ ซึ่งตามกฎหมายการกู้เงินสามารถทำได้เฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ ‘วิกฤต’ เท่านั้น ข้อสงสัยจึงเกิดขึ้นว่าเศรษฐกิจไทยตลอด 1 ปีเศษจนปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตจริงหรือไม่ บทความนี้ผมนำสิ่งที่พูดมานานเป็นข้อเขียนชัดเจน นำเสนอการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างละเอียด พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างยั่งยืน

1. เศรษฐกิจไทยถึงขั้น วิกฤตหรือไม่ 

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2566 – 2567 หลายคนอาจสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดของธนาคารโลก 7 ประการที่ใช้ประเมินความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยอาจยังไม่เข้าข่ายวิกฤตแม้จะอยู่ในสภาวะที่น่ากังวล ดังนี้

1) วิกฤตสถาบันการเงิน (Banking or Financial Crisis) ในอดีต ประเทศไทยเคยเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่มีธนาคารและสถาบันการเงินล้มละลายต่อเนื่องกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับต่างออกไป โดยธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปี 2566 ถึง 1.87 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของระบบการเงินในประเทศ

2) ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ในปี 2540 ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเคยติดลบอย่างรุนแรง แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.91 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและยังอยู่อันดับที่ 12 ของโลก

3) อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป ประเทศที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจมักมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก เช่น เวเนซุเอลาที่เคยมีเงินเฟ้อถึง 1.3 ล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ไทยกลับอยู่ในสถานการณ์ตรงข้าม เมื่อเดือนมกราคม 2567 อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ -1.11% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 35 ปีและยังติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน

4) ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง ค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนน้อย โดยอยู่ในระดับ 6-7% ซึ่งยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดวิกฤตค่าเงิน

5) หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากและรวดเร็วเกินไป แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 62% ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังไม่เกินเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ที่ 70% และอัตราเติบโตเฉลี่ยของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.8% ต่อปี ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจัดการได้

6) การขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง แม้ว่าไทยจะขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องจากการหารายได้ไม่เพียงพอและการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

7) ภาวะเศรษฐกิจหดตัว (Recession) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าและถดถอย แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวเนื่องจาก GDP ยังไม่ติดลบอย่างต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤต แม้จะอยู่ในสภาวะที่เรียกได้ว่า ‘ยอดแย่’ ด้วยความท้าทายหลายประการที่สะท้อนถึงความเปราะบาง แต่เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพและหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้

 

2. เศรษฐกิจไทย ยอดแย่อย่างไร?

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและมาตรฐานโลก โดยมีหลายปัจจัยที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ‘ยอดแย่’ ซึ่งประกอบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) อัตราการเติบโตของ GDP ต่ำที่สุดในภูมิภาค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (YoY) ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ฟิลิปปินส์เติบโตถึง 5.9% เวียดนาม 5.3% อินโดนีเซีย 4.9% และมาเลเซีย 3.3% ตามลำดับ ในขณะที่ไทยประสบปัญหาการส่งออกชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐลดลง แม้จะมีการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นบ้างก็ตาม

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 2.5 – 3% เนื่องจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดในปลายปี 2566 การส่งออกสินค้าและการผลิตยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามการค้าโลกที่ชะลอตัวและสินค้าคงคลังที่สูง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยลง และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงจากการล่าช้าของงบประมาณปี 2567

2) การฟื้นตัวจากโควิดช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่น โดยติดอันดับที่ 155 จาก 189 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล

3) เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าและเปราะบางในระยะยาว เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 8% และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ในขณะที่ปีนี้เติบโตเพียง 3% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลดลงของศักยภาพการเติบโตจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมายาวนาน รวมถึงการลงทุนที่ต่ำ ผลิตภาพการผลิตลดลง และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ นอกจากนี้เศรษฐกิจยังมีการกระจุกตัวของการเติบโต คนกลุ่มน้อยสามารถเติบโตได้เร็วกว่าในขณะที่คนกลุ่มใหญ่โตช้าและเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

4) ผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity) ที่ลดลง ผลิตภาพโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่ผ่านพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ในช่วง 5 ปีก่อนที่ทั้งสองประเทศจะผ่านพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ผลิตภาพโดยรวมของพวกเขาอยู่ที่ระดับ 5% ในขณะที่ไทยอยู่เพียง 1.4% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าไทยยังไม่สามารถพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการลงทุนในเทคโนโลยีและ R&D ที่ต่ำ การจัดสรรแรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการสะสมทุนในประเทศที่ต่ำมาต่อเนื่อง รวมถึงการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและมีกำลังแรงงานลดลง

 

3. ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทย...ห่างไกลวิกฤต?

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องการแนวทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถเติบโตและขยายตัวอย่างยั่งยืน หนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและเสถียรภาพ โดยมีข้อเสนอหลายประการเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ดังนี้

3.1 ด้านเศรษฐกิจ

1) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ควรมุ่งไปสู่ภาคธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและสามารถส่งออกได้ โดยต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจังเพื่อให้เรามีความได้เปรียบในตลาด การแก้ปัญหาความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของบริษัทต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นควรมีการวิเคราะห์และตรวจสอบหนี้เสียอย่างรอบคอบและวางแผนดึงดูดการลงทุนใหม่เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการพัฒนาศักยภาพของตลาดและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

2) พัฒนาให้ไทยเป็น 4 เมืองหลวงโลก ไทยมีจุดแกร่งที่ทำให้ไทยสามารถเป็น 4 เมืองหลวงของโลก ได้แก่ เมืองหลวงการท่องเที่ยว เมืองหลวงแห่งสุขภาพ เมืองหลวงด้านอาหาร  เมืองหลวงแห่งการดูแลคนชรา เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ในตลาดต่างประเทศ

3) การปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลัง รัฐบาลไม่ควรดำเนินนโยบายที่เน้นการกระตุ้นการบริโภคและหนี้สาธารณะมากเกินไป เช่น โครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ควรใช้นโยบายการเงินและการคลังที่สมดุล เน้นการกระตุ้นการลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว

4) การใช้ประโยชน์จากความเป็นเมือง การพัฒนาเมืองให้เต็มศักยภาพสามารถเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการใช้ทรัพยากรเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและดึงดูดการลงทุนจากภายนอก

5) การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนกลุ่มคนชายขอบและการสร้างโอกาสในการพัฒนาให้ทุกคนสามารถยืนบนขาของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยเสริมสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนโดยไม่ทำให้กลุ่มนี้รู้สึกเป็นภาระหรือพึ่งพาผู้อื่น

6) การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวเป็นการตอบสนองต่อแนวโน้มโลกที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเพิ่มความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

3.2 ด้านสังคม

1) การจัดการปัญหาสังคมและประชากรสูงวัย ต้องเตรียมการรับมือกับปัญหาสังคมที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น โดยการขยายอายุการเกษียณและส่งเสริมให้ประชากรสูงวัยมีส่วนร่วมในการทำงานต่อไปเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดภาระการดูแลจากภาครัฐ

2) การศึกษาและพัฒนาทักษะ จำเป็นต้องปฏิวัติระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงการฝึกอบรมอาชีวะเพื่อแก้ปัญหาทักษะและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทย อีกทั้งแก้ไขนิสัยทัศนะของคนไทยที่เฉื่อยชาเกียจคร้านให้เป็นคนขยันและมองเห็นโอกาสในชีวิตอยู่เสมอ

3.3 ด้านการเมือง

1) ลดการใช้กลยุทธ์ประชานิยม พรรคการเมืองควรหลีกเลี่ยงการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมที่ลดแลกแจกแถมเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงโดยไม่ให้ประชาชนต้องรับผิดชอบตัวเอง ควรมุ่งเน้นการพัฒนานโยบายที่ยั่งยืนและมีเหตุผล สร้างรัฐสวัสดิภาพที่ช่วยให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

2) เสริมสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาล รัฐบาลต้องแสดงความโปร่งใสและความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนมีความมั่นใจในการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม

3) กิโยตินกฎหมายและจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ควรมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและลดกฎระเบียบที่ซับซ้อนหรือไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการจัดการและป้องกันปัญหาคอร์‍รัปชันอย่างเป็นระบบ ด้วยการสร้างกลไกตรวจสอบที่เข้มงวดและโปร่งใสเพื่อให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด

เศรษฐกิจไทยแม้จะเผชิญกับภาวะ ‘ยอดแย่’ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตตามเกณฑ์สากล การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นต้องการความพยายามร่วมกันในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน การเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน การลดความเหลื่อมล้ำ และการส่งเสริมนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยถลำเข้าสู่วิกฤตในอนาคตและสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลพยายามถกว่าเศรษฐกิจต้องใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเพราะเศรษฐกิจวิกฤต