กำเนิดโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย

กำเนิดโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย

ผมยอมรับว่าตัวเองละเลยในสิ่งที่ควรรู้จริง ๆ ประเด็นที่ทำให้เขียนเรื่องนี้เกิดจากความเข้าใจผิดส่วนตัวและไม่ได้พยายามค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง

เรื่องของเรื่องคือลูกชายของผมกำลังจะสอบเก็บคะแนนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ แบ่งเป็นบุคคลสำคัญในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในระดับประเทศมีพระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) อยู่ในเนื้อหา แบบเรียนของลูกชายผมได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ไว้เพียงไม่กี่หัวข้อ เช่น การยกเลิกระบบไพร่-ทาส, การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ, การวางรากฐานระบบสาธารณูปโภค, การปฏิรูปการปกครอง, การตั้งโรงพยาบาล และการตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร

เมื่อเราทบทวนบทเรียนเสร็จ ลูกชายกลับบอกว่ารัชกาลที่ 5 เป็นผู้ก่อตั้ง "โรงพยาบาลศิริราช" ซึ่งตอนนั้นผมกับภรรยามองหน้ากันด้วยความแปลกใจและถามลูกชายย้ำอีกครั้งว่าแน่ใจหรือไม่ เขายืนยันคำตอบ ผมจึงค้นข้อมูลเพื่อหาข้อเท็จจริงและพบว่าเป็นจริงตามที่ลูกชายกล่าว

จากนั้นผมและภรรยามานั่งพูดคุยกันว่าทำไมเราไม่เคยทราบข้อเท็จจริงนี้มาก่อน หากมีคนเดียวที่ไม่รู้อาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในกรณีนี้ทั้งผมและภรรยาต่างไม่ทราบเหมือนกัน เราสรุปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากแบบเรียนในยุคของเรา ที่เมื่อพูดถึงโรงพยาบาลศิริราช เราจะนึกถึงมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเริ่มแรกก่อตั้งในปีพ.ศ. 2486 และถูกยกระดับเป็น "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยมหิดล" เพื่อรำลึกถึงพระราชบิดาของพระองค์

หลังจากนั้น ผมลองโทรศัพท์สอบถามเพื่อนรุ่นเดียวกันประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เข้าใจเหมือนกับผม มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ตอบถูกว่ารัชกาลที่ 5 เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งทั้งคู่ก็ทราบจากแบบเรียนของลูกเช่นเดียวกับผม

ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช

การก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยเริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ท่ามกลางการระบาดของอหิวาตกโรคในปีพ.ศ. 2424 ซึ่งทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนเกิดคำว่า "ห่าลง" พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในชุมชน 48 ตำบลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย

เมื่อโรคระบาดคลี่คลาย โรงพยาบาลชั่วคราวเหล่านั้นถูกยกเลิก แต่พระองค์ทรงตระหนักว่าโรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน พระองค์จึงทรงตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลถาวรขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 โดยเลือกพื้นที่วังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) เป็นที่ตั้ง

 

ระหว่างการก่อสร้าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2430 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำวัสดุจากงานพระเมรุมาใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลและพระราชทานชื่อว่า "โรงศิริราชพยาบาล" เพื่อเป็นเกียรติและไว้อาลัยแด่พระราชโอรส

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 พร้อมสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปิดโรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการในชื่อ “ราชแพทยาลัย” ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน

โรงพยาบาลศิริราชได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ รวมถึงการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป โรงพยาบาลยังคงเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย

 

การก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยเริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)