BENT Feat. T-NEB : Life Finds a Way หลากเส้นทาง หนึ่งตัวตน ของคนดนตรี
“สวัสดีครับ ผมเบนท์ กิตติธัช ศิลปินเบอร์ที่สองจากค่าย Kicks Records ครับ” นี่คือประโยคแนะนำตัวของ “เบนท์ กิตติธัช พรดอนก่อ” aka “BENT” หรือ “T-NEB” ศิลปินรุ่นใหม่มากความสามารถที่เปี่ยมด้วยเอนเนอจี้เด็กหนุ่มข้างบ้าน ๆ ขี้เล่น และเป็นกันเอง ขณะที่ทางต้นสังกัด Kicks Records เองได้เกริ่นนำถึงศิลปินคนนี้ให้เราฟังว่ายามใดที่เบนท์จับกีต้าร์ ความธรรมดาเหล่านั้นที่เราได้เห็นก็จะค่อย ๆ เลือนหาย แล้วถูกแทนที่ด้วยความพิเศษมากมาย
แม้ในบทสัมภาษณ์นี้ เบนท์อาจไม่ได้มานั่งจับกีต้าร์ร้องเพลงให้ฟังเลยก็ตาม แต่ทันทีที่เขาค่อย ๆ เผยเรื่องราวส่วนตัว ทั้งชีวิตวัยเด็ก ความสนใจทางด้านดนตรี รสนิยม ทัศนคติ และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นคำบอกเล่าที่ดูน่าสนใจ และชวนให้ผมรู้สึกว่าความพิเศษมันไม่ได้อยู่ที่กีต้าร์เลยครับ แต่ว่าอยู่ที่ตัวตนของเขา ตัวตนของเบนท์ กิตติธัช พรดอนก่อ
Intro : First Teacher
เบนท์ กิตติธัช : แม่ผมเป็นครูสอนดนตรีพื้นบ้านครับ ผมถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ มันจะมีเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งชื่อว่าโปงลาง เครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อผมกับพี่ชายโตพอที่จะเรียนได้ก็ถูกแม่สอนเลย แต่ด้วยความที่ผมเหมือนจะมีแววทางด้านนี้มากที่สุด คือพี่ชายผมเก่งแต่เขาดูไปทางด้านการเรียนมากกว่า ซึ่งแม่คงรู้สึกว่าผมน่าจะเรียนไม่ไหวก็เลยจับมาเล่นดนตรีแบบโหด ๆ ซ้อมตั้งแต่เด็ก ๆ โตขึ้นมาหน่อยก็สอนร้องเพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เพลงอีสาน
ย้อนกลับในวัยเด็ก เบนท์ กิตติธัช เกิดและเติบโตในจังหวัดกาฬสินธุ์เคียงคู่มากับเสียงดนตรีพื้นบ้าน โดยมีคุณแม่ที่เป็นครูสอนดนตรีวัฒนธรรมพื้นบ้านและหมอลำคอยฝึกซ้อมทักษะด้านนี้ ซึ่งกลายหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยปูพื้นฐานความสามารถให้กับเขา ก่อนที่เบนท์จะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นศิลปินเพลงป๊อปเหมือนอย่างในปัจจุบัน
เบนท์ กิตติธัช : การเรียนดนตรีกับแม่ทำให้ผมได้สกิลทางด้านนี้มาเยอะมาก แต่ตอนนั้นด้วยความที่แม่สอนค่อนข้างจริงจัง ทำให้พอโตขึ้นมาหน่อย ผมรู้ตัวแล้วว่าเราไม่ได้ชอบสิ่งที่แม่สอนขนาดนั้น เราขอไปทางที่เลือกเอง เราก็เลยหันมาสนใจทางสายป๊อปและทำมันเรื่อยมาจนประสบผลแม่เขาถึงยอมปล่อย เวลาแม่เล่นโซเชียลก็จะพิมพ์ตลอดว่าลูกมีทางของตัวเอง ตอนนี้แม่เพิ่งรู้ว่าเราไม่สามารถที่จะบังคับลูกได้ทุกอย่างขนาดนั้น ถึงแม้ผมกับแม่คนละสายงานกันแล้ว แต่ผมมีความคิดนะครับว่าอยากทำเพลงมีแม่มา Feat. ด้วย แม่ผมเป็นนักร้องหมอลำครับ หมอลำกลอนเลย ประเทศไทยยังไม่เคยมีใครเอาหมอลำกลอนมาทำร่วมกับเพลงป๊อป ดูยากแต่ก็คงเจ๋งดี
Track 1 : Practice
เบนท์ กิตติธัช : ตอนเด็ก ๆ นอกดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีที่ผมเล่นเองโดยไม่มีใครสอนก็คือเปียโนกับกีต้าร์ครับเพราะชอบมาก สมัยนั้นรู้สึกว่าเด็กต่างจังหวัดใครเล่นเปียโนคือเหมือนคนเมืองกรุงเลย ผมขอแม่ซื้อคีย์บอร์ดแล้วฝึกเล่นเองตอนประถมแต่ก็หยุดซ้อมไปเพราะรู้สึกว่ามันยาก
พอช่วงมัธยมปลาย ผมเริ่มเล่นกีต้าร์แบบจริงจังและกลับมาเล่นเปียโนอีกครั้ง ช่วงที่ห่างหายจากการเล่นดนตรีก็ไปเพราะว่ามันเจ็บมือ บวกกับผมเริ่มมีความสนใจทางด้านอื่น ๆ ด้วย พอเพื่อนชวนไปเล่นดนตรี ผมก็เลยกลับมาขุดความรู้ความสามารถอีกครั้ง ใช้เวลาซ้อมครึ่งปีกว่าจะเริ่มจับกีต้าร์คล่อง กว่าจะเล่นทุกคอร์ดได้คล่อง แต่ยังอ่านโน้ตไม่คล่องครับ เน้นเอาไว้ใช้แต่งเพลงเป็นส่วนใหญ่
Track 2 : Life Finds a Way
เบนท์ กิตติธัช : ทำไมถึงชอบดนตรี? ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลยนะ หรือเพราะว่าชอบตั้งแต่เด็ก? หรือเพราะว่าชอบเราก็เลยทำอยู่? อืมรู้สึกว่าผมชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อนุบาลเลย ชอบเสียงดนตรีมาก ถึงจะโดนบังคับเราก็ซ้อมอย่างตั้งใจ ตอนโดนบังคับตีโปงลางถามว่าเซ็งไหม เซ็ง แต่ว่าชอบ อะไรที่ไม่ใช่เพลงที่แม่สอนจะชอบตี พอโตขึ้นเริ่มฟังเพลงที่หลากหลายขึ้น มันทำให้เราได้เจอกับแนวเพลงที่ชอบ ได้มารู้จักกับบลูส์ โซล แจ๊ส
Track 3 : นักประพันธ์
เบนท์ กิตติธัช : นอกจากเป็นศิลปิน เตอนนี้ผมเป็นนักศึกษาครับ เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ เอกประพันธ์เพลงคลาสสิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ผมสอบเข้าด้วยเอกร้อง ซึ่งพอเรียนถึงตอนปี 3 เขามีให้เลือกระหว่างคุณจะยังเป็นนักร้องหรือคุณอยากจะเป็นนักประพันธ์เพลง หรือที่เรียกว่าคอมโพสเซอร์ ผมรู้สึกว่าเราชอบใช้ความคิดกับการทำผลงานมากกว่าก็เลยเลือกคอมโพสเซอร์
ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบการร้องนะครับ แต่ว่าการเรียนดนตรีคลาสสิก ด้วยความที่เราต้องร้องตามโน๊ตที่เขาเขียนมาทุกอย่าง เราจะดัดแปลงไม่ได้เหมือนแจ๊ส เราจะอิมโพรไวส์มันไม่ได้เลย ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่เลือกคอมโพสเซอร์ครับ
สำหรับการเรียนคอมโพสเซอร์มันมีกฎว่าเราต้องแต่งเพลงให้วงออเคสตร้า ต้องเขียนโน้ตทุกตัวของเครื่องดนตรีทุก มันมีรายละเอียดที่เราต้องคำนึงถึง เช่น เมโลดี้ สีสันของเสียง อื่น ๆ แต่ว่าตอนนี้อาจารย์เขาเปิดรับความเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น ผมก็เลยสามารถแต่งเพลงออเคสตร้าตามความต้องการของตัวเองได้หมดเลย ซึ่งผมกำลังทำโปรเจกต์ซาวด์แทร็กผี สนุกดีครับ แล้วเราสบายใจกับพื้นที่ตรงนี้มาก ๆ ด้วย
Track 4 : Kicks Records
เบนท์ กิตติธัช : ผมอยากที่จะมีค่ายเพลง อยากมีสังกัดอยู่แล้วครับ ประกอบกับอาจารย์ที่สอนผมเขาเห็นว่าเราชอบไปทางสายป๊อป ชอบทำเพลง เขาก็เลยแอบ ตอนนั้นใช้คำว่าแอบเลยนะครับ เขาให้ผมทำเพลงส่งแทนการเรียนร้องเพลงโอเปร่า เขาบอกว่าเอาแบบนี้นะ เราไม่อยากทะเลาะกัน เรามาเรียนให้มีความสุขกันดีกว่า ไปทำอะไรมาก็ได้ แต่งเพลงให้ฟังหน่อย อยากรู้เหมือนกันว่าจะแต่งเพลงได้จริง ๆ ไหม ผมก็เลยแต่งเพลงส่งอาจารย์ไป แล้วมันมีเพลงหนึ่งชื่อว่า “คิดถึงนิด ๆ” ปล่อยลงใน Youtube ถ้าเห็นตอนนี้ก็ประมาณ 3.3 ล้านวิว ซึ่งอาจารย์ชอบเพลงนี้ก็เลยแบบเอางี้ไหม เราลองส่งเพลงไปให้โปรดิวเซอร์หลาย ๆ คนคอมเมนท์ดูว่าเป็นยังไงบ้าง
หลังแต่งเพลง อาจารย์เขาก็ส่งไปให้โปรดิวเซอร์ที่รู้จักกันฟัง หนึ่งในนั้นคือ พี่แทน วง Lipta (แทน ธารณ ลิปตพัลลภ) ซึ่งเขากำลังมองหาศิลปินใหม่และกำลังจะเปิดค่ายเพลงอยู่พอดี เขาเลยทักมาถามอาจารย์ว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร ขอดูรูปหน่อยครับ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับพี่แทนครับ
ณ ตอนนั้นต้องเท้าความว่า พอพี่แทนกับผมพูดคุยกันเสร็จ ยังไม่ได้มีการพูดถึงการเซ็นต์สัญญาเลยนะครับ พี่แทนเขาก็ให้ผมทำเพลงไปเรื่อย ๆ ผมทำเพลงส่งพี่แทนไปประมาณ 40 กว่าเพลง เพลงสองเพลงแรกผมทำทั้งเนื้อร้องและดนตรีส่งไปด้วย แต่พี่แทนเขาบอกว่าดนตรีอย่าเพิ่งก็ได้ แต่งแค่เนื้อร้อง คิดคอร์ด ทำนอง เมโลดี้ เอาแค่นี้ก่อน หลังจากนั้นที่ส่งเพลงไปก็จะมีแค่นี้ครับ เป็นเดโมธรรมดา ๆ
ท้ายที่สุดพี่แทนเขาบอกกับผมว่าจริง ๆ แล้วชอบตั้งแต่เพลงแรกซึ่งก็คือ “น้อง ๆ เพื่อนพี่ชอบ” แต่เขาอยากดูว่าเราจะทำอะไรเพิ่มขึ้นไหม จากนั้นผมก็ได้เซ็นต์สัญญาเป็นศิลปิน Kicks Records ครับ เซ็นต์วันที่ไปถ่ายเอ็มวีเพลงนี้ด้วยนะครับ
Track 5 : ผลงาน
เบนท์ กิตติธัช : สำหรับ “น้อง ๆ เพื่อนพี่ชอบ” เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ผมส่งให้พี่แทน ผมแต่งขึ้นมาจากเรื่องจริงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชื่อเพลงก็เป็นคำที่ผมเอาไว้แกล้งเพื่อนสมัยมัธยมเวลาที่น้องสวย ๆ เดินผ่าน หรือว่าคนที่เพื่อนชอบเดินผ่าน เราจะตะโกนไปว่า ‘น้อง ๆ เพื่อนพี่ชอบ ไอนี่แหละ ไอนี่’ ให้มันเขินอายจนหมุดลงไปอยู่ใต้โต๊ะผมไปค้นหาดูคำนี้ก็ยังไม่เคยมีใครเอามาทำเป็นเพลงด้วย ซึ่งเพลงนี้ผมใช้เวลาเขียนเร็วมาก ประมาณครึ่งชั่วโมง โดยทุกเนื้อหา ทุกคำที่อยู่ในเพลงเป็นเรื่องจริงทั้งหมดจากประสบการณ์สมัยเรียนม.ปลายของผมกับเพื่อน ๆ เอามายำรวมกันแล้วไปเติมเนื้อแร็ปเพิ่มอีกนิดนึง ขัดเกลาจนออกมาเป็นเพลงที่ทุกคนได้ฟังกันครับ
เพลงที่สอง “ฉันชอบแกว่ะ” คือผมยังมูฟออนจากมัธยมไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เพลงนี้เนื้อเรื่องจะคล้าย ๆ กับ “น้อง ๆ เพื่อนพี่ชอบ” เหมือนเป็นภาคต่อที่คราวนี้เล่าเรื่องของเราแทน เราเคยแซวเพื่อนเยอะมาก พอเป็นเรื่องของตัวเองแบบจะทำยังไงกับคนที่เราชอบดี ผมไม่ใช่ผู้ชายสายหวาน สมมุติว่าถ้าชอบเพื่อนในห้อง สิ่งที่จะทำให้เขารู้ว่าเราชอบนะก็คือการแกล้ง ดึงผม ยื่นขาขวางทางเวลาเขาเดินมาเพื่อให้สะดุดแล้วหันกลับมาด่าเรา ผมเป็นคนแบบนั้นเลยครับ ใช้คำว่าคนนิสัยไม่ดีได้เลย พอย้อนมองกลับไปก็แบบเราแกล้งเขารุนแรงเน๊อะ สกัดขาให้เขาสะดุ้งบ้าง ดึงผมบ้าง คืออยากจะแกล้ง อยากจะระบายอารมณ์ใส่ ทั้งที่จริง ๆ ชอบเขา ขอแค่ให้เขาหันกลับมาด่า มาพูดว่ารำคาญ ไปไกล ๆ ดิ๊ เนีย พอเขาพูดแล้วเราก็ชอบ พูดอีกทีได้ปะ ประมาณนี้ครับ เนื้อเพลงก็จะเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นแสบ ๆ ม.ปลายเหมือนเดิมครับ
Track 6 : BENT Feat. T-NEB
เบนท์ กิตติธัช : BENT คือผม T-NEB ก็คือผม BENT จะเป็นสายร้อง T-NEB จะเป็นสายแร็ปแยกกันไปเลย ซึ่งพี่แทนเขาอยากเก็บตัวตนของ T-NEB เอาไว้ก่อน แต่คือเก็บไม่อยู่แล้วครับ ผมก็งงว่าแกจะเก็บทำไม ใครก็รู้ครับ (ฮา ๆ) แต่พี่แทนเขาแบบ เก็บไว้ก่อนนะอะไรประมาณนั้น
ผมเคยคิดนะว่าอยากให้ T-NEB มีซิงเกิลเป็นของตัวเอง แต่พี่แทนเขาคงอยากให้เราร้องเพลงก่อน เดี๋ยวรอจุดนึงที่เขาให้เราทำทุกอย่างที่ต้องการแล้ว เราค่อยทำก็แล้วกันครับ
Track 7 : Behind The Scene
เบนท์ กิตติธัช : ชีวิตผมมันน่าสนใจตรงนี้แหละครับไม่มีอะไรตรงสายเลย เรียนดนตรีพื้นบ้าน เรียนดนตรีคลาสสิก เป็นศิลปินเพลงป๊อป นี่ย้อนกลับไปผมเรียนห้องพิเศษคณิต-วิทย์ด้วยนะครับ เอาเป็นว่าผมเคยมีหลายความฝันมาก พอมาเรียนดนตรีผมก็อยากเรียนแจ๊ส แต่สาขาแจ๊สไม่มีที่จุฬาฯ ก็เลยมาเรียนคลาสสิก
ดนตรีพื้นบ้านมีส่วนช่วยที่ทำให้มีสกิลแต่งเพลงครับ ผมโปรดิวซ์เพลงได้ด้วยการที่มีเสียงอยู่ในหัว มันมีเสียงอยู่ข้างในหัวผมเยอะมากเลย แล้วการเรียนคอมโพสเซอร์ที่ต้องเขียนเพลงให้วงออเคสตร้าเนีย การมีเสียงในหัวมันช่วยให้ผมทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเสียงได้อย่างรวดเร็วเลยครับ
แม้ว่าตอนนี้ผมเรียนคลาสสิกแต่ก็คือเราชอบป๊อปนะ ผมยอมรับแล้วว่าจะไม่ได้ทำงานสายคลาสสิกแน่นอนครับ เรามาเรียนเพื่อเอาความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับดนตรีไปประยุกต์ใช้ในเพลงป๊อป ทำงานสายงานป๊อปแทน
นอกจากนี้การเรียนดนตรีมันช่วยให้การทำงานของผมดูง่ายขึ้นยกตัวอย่างเช่น มีอยู่วันหนึ่งที่ผมไปนั่ง Arrange กับทีมงาน มีพี่แทน พี่คัตโตะ (คัตโตะ อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล) แล้วก็พี่ที่เขาจบด้านดนตรีมาโดยตรงสองคน แล้วสิ่งที่เขาพูดกันมันเป็นศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับดนตรี คือเราเข้าใจหมด เข้าใจฟิลลิ่งในการทำเพลงว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป เดาออกว่าเขาจะทำอะไรเป็นสเต็ป ๆ ทำให้การทำงานของผมเร็วมาก ๆ แบบนักดนตรีจะไม่ค่อยพูดว่าคอร์ด C คอร์ด G แต่เขาจะพูดแบบต่อไปคอร์ดหนึ่ง คอร์ดสอง คอร์ดหนึ่งคีย์นี้นะ นี่แหละครับข้อดีของการเรียนดนตรี
Track 8 : ความท้าทาย
เบนท์ กิตติธัช : ความท้าทายสำหรับผมคงเป็นเรื่องของการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยครับ ซึ่งตอนนี้ผมเองยังแบ่งเวลาได้ไม่ดีพอ ใช้คำว่าแบ่งเวลาชีวิตได้แย่มาก ๆ ผมพยายามให้ความสำคัญกับทุกอย่างเท่า ๆ กันแต่มันทำไม่ได้เลย มันต้องมีอะไรที่ได้รับการให้ความสำคัญมากกว่าอีกอย่างในช่วงเวลานั้น ๆ ผมสามารถแบ่งเวลาให้ทุกอย่างสำคัญเท่ากันหมดได้นะ แต่มันก็จะแลกมาด้วยการไม่ได้พักผ่อนเลย นี่แหละครับความท้าทายแรกของผมในฐานะศิลปิน
ความท้าทายที่สองคือทุกวันนี้มีศิลปินเกิดใหม่เยอะมาก ๆ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีแค่ค่ายสองค่าย ตอนนี้มีค่ายหลากหลาย แล้วศิลปินสามารถทำเพลงได้อย่างอิสระไม่จำเป็นต้องมีสังกัดอีกด้วย เพราะว่ามีศิลปินใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยหยุดการทำงานเพลงไม่ได้ เราต้องวิ่งตลอด เหนื่อยก็เปลี่ยนมาเดินแทน ต้องหาความรู้ หาพรแสวงใหม่ ๆ หยุดวิ่งหยุดเดินเมื่อไหร่คือจบ ตามใครไม่ทันแน่นอนครับ
Track 9 : ความคาดหวัง
เบนท์ กิตติธัช : ผมมีความคาดหวังเยอะมากเลยครับ เพราะว่าผมไม่ได้ตัวคนเดียว ผมมีครอบครัวและคนข้างหลังเยอะมาก ด้วยฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยแถมยังประสบปัญหาจากการถูกโกงเงินหลักครึ่งล้าน การที่ผมมาเป็นศิลปินจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของชื่อเสียง แต่เป็นการมีอาชีพที่มั่นคง การมีชื่อเสียงสามารถทำให้เรามีงานมีอาชีพที่มั่นคงได้ครับ ซึ่งผมจะไม่บ่นเลยว่างานเยอะผมอยากทำงาน จุดประสงค์หลักของผมในฐานะศิลปินคืออยากทำงานที่ค่ายให้ดีที่สุด สร้างผลงานที่ดี ช่วยให้ค่ายเติบโตให้ได้มากที่สุด แล้วก็อยากทำงานให้ได้เยอะ ๆ หาเงินไปช่วยที่บ้านใช้หนี้ ดูแลพ่อแม่ เพราะปีหน้าผมก็อยู่ปี 4 แล้ว ใกล้จบแล้ว ผมอยากให้พ่อแม่อยู่สบาย ตอนนี้เรามีให้เขามากมายไม่ได้แต่ก็ไม่ได้ขอเขาเพิ่มเลย นาน ๆ ทีได้เงินค่าเขียนเพลง ได้เงินจาก Youtube แม้ไม่เยอะเท่าไหร่แต่ก็พยายามโอนให้เขาตลอดครับ
Track 10 : เอกลักษณ์
เบนท์ กิตติธัช : ผมคิดว่าเอกลักษณ์จำเป็นมากครับ ถ้างั้นเขาจะจำอะไรเราได้ใช่ไหม อาจจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว ผมเพิ่งมาตระหนักถึงเรื่องนี้ก็ตอนเข้ามาในวงการว่าเอกลักษณ์สำคัญต่อเรามากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้เอกลักษณ์ที่อยู่ในผลงานก็สำคัญเหมือนกัน คือเวลาฟังเพลง มันจะมีแบบฟังแค่อินโทรขึ้นมาก็รู้เลยว่าเขาเป็นใคร วงไหน แต่ไม่ใช่ว่าศิลปินคนอื่น วงอื่น เขาไม่มีเอกลักษณ์นะครับ ด้วยความที่แนวเพลงในปัจจุบันมันมีความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็ผสมผสานและมีความใกล้เคียงกันมาก ผมเลยคิดว่าผลงานของศิลปินควรมีเอกลักษณ์ครับ
Track 11 : รสนิยมและผลงาน
เบนท์ กิตติธัช : สำหรับผม รสนิยมมีผลต่อการสร้างงานครับ ยกตัวอย่างตัวผมเอง ผมมีสไตล์เพลงที่ตัวเองชื่นชอบ มีสิ่งที่เราสนใจ แม้ในตอนนี้จะหยิบนำมันออกมาสร้างผลงานได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ ยกตัวอย่าง ตอนนี้เราทำงานร่วมกับพี่ ๆ เราให้ความเคารพกับไอเดียพี่ ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขาให้มามันไม่ดีนะครับ มันเป็นความคิดที่ดีมาก แต่พอเรารับมาจากพี่เขามาก ๆ ตอนนี้ก็เลยเกิดปัญหา คือผมเริ่มตีกรอบตัวเอง แต่ก่อนเราเคยแต่งเพลงแบบไม่มีกรอบ แต่ตอนนี้ดันเริ่มมีกรอบขังตัวเอง กรอบที่ไม่กล้าออกไป ผมกำลังปรับแก้อยู่ครับพี่แทนพี่คัตเขาบอกว่าตอนนี้ผมกำลังเข้าใจผิดอยู่ ผมตีกรอบของผมเอง มันต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างคำว่าการออกนอกกรอบกับตีกรอบ เราต้องหาจุดกึ่งกลางนั้นให้เจอครับ
Outtro : ฝากทิ้งท้าย
เบนท์ กิตติธัช : ก่อนอื่นเลยผมขอฝากทุกคนว่า รักเบนท์น้อย ๆ แต่รักนาน ๆ ฮา ๆ ฝากติดตามผลงานของเบนท์ด้วยนะครับ ผมเป็นคนที่ใช้คำเทอมได้คุ้มค่ามากครับ ผมเอาความรู้จากค่าเทอมที่จ่ายไปกลับมาใช้ในเพลงเกือบทั้งหมดเลย ผมจะพยายามทำผลงานออกมาให้ได้ดีที่สุดทุกเพลง จะไม่ยอมปล่อยให้เพลงไหนออกมาแล้วรู้สึกเสียดายในภายหลังแน่นอน ขอสัญญาว่าจะให้ทุกคนได้มีความสุขกับเพลงของผมให้ได้ครับ
นอกจากนี้ฝากเป็นกำลังใจให้กัน เพราะช่วงนี้เอาจริง ๆ ผมค่อนข้างเหนื่อยเพราะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยโดยทุกคนสามารถติดตามผมได้จากทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของค่าย Kicks Records และฝากติดตาม JEANIUS (จีเนียส โนวา มาคูก์เลีย) ศิลปินคนแรกของพวกเราด้วยนะครับ คนนี้เขาเก่งเหมือนกัน อยากให้ทุกคนคอยติดตามสนับสนุนพวกเราไปเรื่อย ๆ เลย ขอบคุณมากครับ
Hidden Track : Playlists
เบนท์ กิตติธัช : คนแรกเลย พี่กานต์ The Parkinson ชอบมาก ๆ ชอบแบบชอบมากเลย ผมชอบเรื่องราวในชีวิตเขา เรียนเอกร้องแจ๊สแต่ว่ามาฝึกกีต้าร์ตอนปี 4 ฝึกมานานมากจนตอนนี้พี่กานต์เป็นนักกีต้าร์ที่เก่งมาก ๆ คนหนึ่ง ผมเองก็เกือบจะได้เป็นรุ่นน้องเอกเขาแล้ว เพราะว่าผมติดแจ๊สที่ศิลปากรเหมือนกัน แต่ว่าไม่มีโอกาสได้ไปเรียน
คนที่สอง Tom Misch เขาคือคนทำเพลงที่ตรงจริตผมที่สุดในโลกเลย เพลงดีมาก ดนตรีดีมาก โดยเฉพาะเพลง “Movie” ซึ่งผมชอบมาก ๆ โดนใจมาก ๆ
คนที่สาม B.B. King เขาคือศิลปินที่ผมเคารพครับ ถ้าให้พูดก็คือเรามี B.B. King เป็นไอดอลในการเล่นบลูส์ ผมชอบเพลงบลูส์มาก และทุกครั้งที่ฟังเพลงบลูส์ผมก็มักจะเลือกฟังเพลงของ B.B. King ครับ
ปิดท้ายด้วยศิลปินสองคนนี้ที่จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากซีอีโอของผมครับ เอาจริง ๆ ผมก็ชอบ Lipta เหมือนกันนะครับ ผมรู้จักพี่ ๆ เขาในตอนที่โตแล้วก็จริง แต่เวลาไปงานดนตรีถ้าเราเห็นว่าวง Lipta ขึ้นเล่นก็มักจะไปดูนะครับจำได้ว่าก่อนหน้านี้ผมเคยไปดูพี่แทนพี่คัตเล่นดนตรี มีคนดูเยอะมาก ๆ ต้องไปเบียดกับผู้คน ยืนมองเขาบนเวทีจากที่ไกล ๆ ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้มานั่งกินข้าวกันอย่างนี้ ได้มาทำซอยจุ๊ให้เขากินกัน
ก่อนหน้านี้เราเคยปลื้มพี่ ๆ เขามากแค่ไหน เราเคารพในความสามารถของพวกเขามากแค่ไหน พอได้มานั่งทำงานด้วยกันเรายิ่งเคารพรักพี่เขามากจริง ๆ ครับ ชอบในทุกอย่างที่เขาเป็น ยอมรับในทุกอย่างที่เขาเป็น เคารพถึงขั้นว่าถ้าเกิดวันใดวันนึงที่ผมคิดว่าจะสัก นอกจากรูปบุคคลสำคัญในชีวิตอย่างพ่อแม่พี่ชายแล้ว ผมกล้าให้มีรอยสักพี่แทนพี่คัต อยู่บนร่างกายของผม ต่อให้เกิดอะไรขึ้นมาผมก็กล้าให้รอยสักนี้ติดต่อผมไปจนตาย ผมสบายใจครับที่จะมีพี่ ๆ เขาอยู่บนร่างกายของผมครับ
Follow Him
Facebook : Bent_tneb
Facebook : Kicks records
Instagram : bent_tneb
Instagram : kicks.records
Youtube : BENT.1090p
Youtube : Kicks Records
Photo : Kicks Records