นักสู้บนลู่วิ่ง "เอ๋ พิชชานันท์ มหาโชติ"

นักสู้บนลู่วิ่ง "เอ๋ พิชชานันท์ มหาโชติ"

   ตั้งแต่รายการวิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย มีการจัดงานแทบทุกอาทิตย์ ก็ทําให้วงการวิ่งนั้นเติบโต เพราะนอกจากการวิ่งเพื่อสุขภาพแบบคนปกติทั่วไปทํากันแล้ว การจัดการแข่งขันก็ทําให้นักวิ่งมือสมัครเล่น และมืออาชีพต่างมีเป้าหมายในการผ่านเข้าสู่เส้นชัย ปัจจุบันมีรายการวิ่งมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งรายการเล็กรายการใหญ่ในประเทศ และต่างประเทศ มีหลายรูปแบบแล้วแต่ความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคลที่เข้าร่วมแข่งขัน

   โดยประเภทการวิ่งที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือ วิ่งเทรล (Trail Running) เป็นการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณหรือพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งต่างจากการวิ่งบนพื้นถนนที่เรียบ เรียกว่าต้องผ่านป่าเขาความลําบากมากกว่าการวิ่งปกติอยู่พอสมควร ซึ่งรายการสําคัญอย่าง Ultra Trail du Mont Blanc ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานวิ่งเทรลระดับโลก ที่คุณเอ๋ พิชชานันท์ มหาโชติ ได้เข้าร่วมการแข่งขัน และกลายเป็นหญิงไทยคนแรกที่ผ่านเข้าเส้นชัยได้สําเร็จ ความยากของรายการนี้คือต้องวิ่งบนเทือกเขา มีความสูงสะสม 10,042 เมตร ผ่าน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเธอเข้าแข่งขัน UTMB ระยะทางรวม ประมาณ 171 กิโลเมตร โดยมีเวลาวิ่งจํากัดเวลาที่ 46.30 ชม.จากผู้เข้าแข่งขัน 2,347 คน แม้หนทางจะลําบากยากเข็ญ แต่คุณเอ๋ก็ ทําสําเร็จด้วยเวลา 42.10.56 ชม.

   กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้เรียกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องราวชีวิตของคุณเอ๋นั้นเหมือนบทละครดราม่า ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคความยากลําบากตลอดเวลา คุณเอ๋เกิดมาเป็นลูกคนเล็กในครอบครัวฐานะยากจน ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยอยู่บ้านเช่า โดยคุณพ่อจากไปในช่วงเวลาที่เธอเกิดเพียงไม่กี่เดือน ทําให้เหลือเพียงคุณแม่ต้องเป็นคนที่ดูแลลูกด้วยความลําบาก

   เมื่อเรียนจบระดับมัธยม คุณเอ๋ต้องออกมาทํางานที่โรงงานอยู่หลายปี จนกระทั่งในช่วงปี 2558 คุณแม่ของเธอล้มป่วย ทําให้มีความจําเป็นต้องลาออกจากโรงงานเพื่อมาดูแลแม่ ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทําให้ระหว่างที่เฝ้าดูอาการคุณแม่คุณเอ๋จึงได้ลองเดินขึ้นลงบันไดชั้น 1-6 แทนการใช้ลิฟต์เพื่อออกกําลังกายและช่วยโรงพยาบาลประหยัดไฟฟ้า ซึ่งพอทําไปเรื่อย ๆ เธอก็คิดว่าถ้าตัวเองมีร่างกายแข็งแรงจะสามารถดูแลคุณแม่ต่อไปได้อีกหลายปี จุดนี้เองทําให้เธอเริ่มออกไปซ้อมวิ่งด้วยรองเท้าผ้าใบราคาถูก โดยในช่วงแรกใช้การเดินสลับวิ่ง เน้นซ้อมตามความคิดของตัวเองเท่านั้น

   จนกระทั่งวันหนึ่งคุณเอ๋ได้มาพบกับป้ายโฆษณางานวิ่งจอมบึงมาราธอน จึงคิดอยากเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ตัวเองไม่รู้ว่าต้องมีการสมัครล่วงหน้าเป็นเดือน ทําให้ไม่ได้เข้าสมัครในระบบของรายการ แต่สามารถลงวิ่งได้ด้วยการรับผิดชอบสุขภาพของตัวเอง โดยไม่มีรางวัลหากเข้าเส้นชัย นับว่าเป็นรายการแรกในการเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร

   หลังจากการแข่งขันจบลงเธอกลับมาซ้อมอย่างหนัก ด้วยความที่ต้องดูแลคุณแม่และไม่ได้ทํางานประจําทําให้ไม่มีรายได้เข้ามา ระหว่างนี้จึงหาเงินจากการรับจ้างทั่วไป อย่างการรับจ้างส่งของหรือการดูแลผู้ป่วยที่อยู่เคียงติดกับ คุณแม่ โดยยังไม่ทิ้งความหวังที่จะกลับมาวิ่งบนในสนามแข่งขันอีกครั้ง

   “เอ๋กลับมาจอมบึงมาราธอนอีกปี จําได้ว่าสมัครครั้งแรกด้วยเงิน 600 บาท คือไม่มีเงินต้องยืมเพื่อน ก็บอกเขาว่าเดี๋ยวเราจะหาเงินไปคืนให้ วันแข่งก็ต้องเอาเต็นท์ไปนอนกางที่จุดปล่อยตัว คือคิดว่าเราไม่มีอะไรจะเสียแค่ตั้งเป้าหมาย ตอนออกตัวก็ตามเขาไป ไม่ได้วิ่งแรงอะไรเลย แต่พอวิ่งไปเรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ แซง จากคนกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่ม จนมารู้ตัวอีกทีก็กิโลเมตรที่ 35 ตามผู้หญิงแค่คนเดียว คือเราอยู่คนที่ 2 ก็คิดในใจว่าจะเกาะเขาไปเรื่อย ๆ หรือว่าแซงเขาดี แต่ตอนนั้นดูแล้วว่าพอมีกําลังก็เลยแซง วิ่งมาเหลืออีกประมาณ 7 กิโลเมตรก็ใส่หมด ก่อนจะเข้าเส้นชัยประมาณซัก 200 เมตร เริ่มได้ยินเสียงพิธีกรพูดว่า ผู้หญิงมาแล้วคนแรกเลย เราก็คิดในใจว่ามันเป็นไปได้ยังไง มันก็ยิ่งมีกําลังใจเราก็เร่งเครื่องเข้าเส้นไปเลย พิธีกรไม่เคยรู้จักเรามาก่อน ไม่เคยวิ่งมาราธอน นี่เป็นมาราธอนแรกก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในวงการ ว่าเราเป็นม้ามืดที่มาวิ่งมาราธอนแรกแล้วก็ได้แชมป์มาราธอนปีนั้น

   “เรามีความพยายามมีความมุ่งมั่นใฝ่หาความรู้ แต่เราอาจจะไม่มีเงินไปซื้ออุปกรณ์เหมือนคนอื่น แต่สามารถปรับปรุงดัดแปลง ยกตัวอย่างเช่นเอ๋ไม่มีนาฬิกา แต่เราใช้ความรู้สึกว่าถ้ามันเหนื่อยเราก็แค่ผ่อน ถ้าเราไม่มีแรงก็เพิ่มของกิน คือ ไม่มีโปรตีนแบบนักกีฬาก็กินไข่ต้มกับผักน้ำพริก ผลไม้ก็กล้วยน้ำว้า สิ่งสําคัญคือ เป้าหมาย เรามาวิ่งเพื่ออะไร อยากสําเร็จแข็งแรงอยากวิ่งมาราธอนให้จบ คือ คิดแค่นั้นอาจไม่ได้คิดเยอะ แต่ไป ๆ มา ๆแล้วพอเราได้ลงมือทําเหมือนว่าเสพติดการวิ่งไปแล้ว วันไหนไม่ได้วิ่งจะหงุดหงิด

จุดเริ่มต้นวิ่งเทรล

   “พอวิ่งทางเรียบอยู่ประมาณ 8-9 เดือน ก็ทราบว่ามีการจัดวิ่งเทรลที่เขาประทับช้างในจังหวัดราชบุรี จึงได้เข้าแข่งขัน ตอนแรกไม่ทราบหรอกว่าเป็นยังไง รู้แต่ว่าไม่ต้องเดินทางไกล ก็อยากลองวิ่งดูในระยะ 32 กิโลเมตร ก็ไม่คิดว่าจะวิ่งทางวิบากอย่างนั้นได้ เพราะไม่ได้คาดหวัง ไม่รู้ว่าเป็นยังไงด้วย คิดแค่ว่าอยากไปวิ่งเท่านั้น คือมีขึ้นเขาลอดใต้อุโมงค์เจอทราย ฯลฯ มีความรู้สึกว่าชอบมาก วิ่งไปเห็นธรรมชาติ มันคนละฟิวกับวิ่งมาราธอน ที่ต้องคุมความเร็วตั้งตาวิ่งอยู่บนถนน พอวิ่งไปเราไม่รู้หรอกว่าเราได้อะไร รู้แต่ว่าเข้าเส้นมาปุ๊บก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ชนะ

   “หลังจากนั้นก็เข้าแข่งขันวิ่งเทรลในหลายรายการ เริ่มวิ่งไปเรื่อย ๆ เพิ่มระยะจาก 50 กิโลเมตร เป็น 66 ไป 100 จนไปถึง 170 กิโลเมตร เริ่มชนะการแข่งขัน จนมันมีรายการใหญ่ระดับโลก หรือที่เรียกว่า UTMB ซึ่งเป็นโอลิมปิกเทรล มันเป็นความฝันของนักวิ่งเกือบทุกคนที่ต้องไปถึงจุดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าร่วมได้ เพราะต้องไปวิ่งเก็บแต้มตามสนามที่เขาเข้าร่วม พอมีแต้มเสร็จแล้วก็ต้องทําการสมัคร มีการจับฉลากเสี่ยงดวงกว่าจะได้เข้าร่วมแข่งขันมันยาก คือมันเป็นอะไรที่ท้าทายตรงที่ว่าเราต้องเป็นผู้โชคดีและมีเงินไปด้วย เพราะการเข้าแข่งขันต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเราไม่มีเงินแต่ต้องสมัครไว้ก่อนเดี๋ยวเงินค่อยหาทีหลัง

   “เอ๋ก็ไม่ได้อยากรับสปอนเซอร์จะได้ไม่ต้องมากดดัน เลยตัดสินใจว่าจะไปเปิด Talk เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง มีบริษัทที่เขาสนับสนุนรองเท้าช่วยเหลือ ไปพูดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอเงินบริจาคมีคนมาฟังแค่ 30 คน แต่ก็มีคนโอนเงินมาให้ ก็ได้เงินจํานวนหนึ่งพอที่จะเดินทางไปแข่งขัน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายอย่างตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าที่พัก ค่าอาหารรวมถึงอุปกรณ์การวิ่ง นอกจากนี้อย่าลืมว่ายังมีคุณแม่ เพราะเอ่ยังต้องจ้างคนดูแลแม่อีกส่วนหนึ่งด้วยระหว่างทําการซ้อมและแข่งขัน

   “พอใกล้จะไปก็คุณแม่ป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล เราก็จะขึ้นเครื่องเพื่อบินไปแข่ง พอแม่เข้าโรงพยาบาลตรวจ PCR ก็รู้ว่าคุณแม่ติดโควิด เราก็ไม่อยากไปแล้ว แต่ว่าเคยคุยไว้กับคุณแม่แล้วท่านรู้ว่ามันเป็นความฝันของเราที่รอมา 3 ปี ทําทุกวิธีเพื่อจะได้แข่งรายการนี้ พี่สาวบอกว่าถึงเราจะอยู่หรือเราจะไป ถ้าแม่เขาพูดได้เขาจะบอกว่าให้เราไปทําความฝัน คือตอนที่คุยกันคือตอนคุณแม่ยังได้สติ ก็เลยตัดสินใจเดินทางไปฝรั่งเศสซึ่งคุณแม่ก็เสียตอนที่เราไปถึง แต่คนที่เขาดูแลคุณแม่ปิดข่าว เอาไว้เพื่อให้เอ๋มีสมาธิกับการแข่งขัน เพราะต้องไปอยู่ถึง 14 วัน เก็บตัว 7 วัน คือ อีกประมาณ 6 วันจะแข่ง แต่มารู้ความจริงว่าแม่เสียแล้วจากหน้า LINE ของพี่สาว เลยนั่งร้องไห้ไปสักพักหนึ่ง พอร้องให้เสร็จก็บอกว่าพรุ่งนี้เราจะต้องเข้มแข็ง เราจะอ่อนแอได้ แต่ต้องรอให้เราแข่งเสร็จก่อนคือวันที่แข่งทําให้เต็มที่”

ประสบการณ์จากฝรั่งเศส

   “รายการ UTMB ต้องวิ่ง 3 ประเทศ ออกตัว 17:00 น. ปล่อยตัวที่ฝรั่งเศส เข้าอิตาลีมาสวิตเซอร์แลนด์ เทือกเขาที่นั่นรู้สึกว่าภูเขาสูงมาก ยิ่งกว่าอินทนนท์ ต่อกัน 2 ยอด จุดนั้นตรงหน้าเส้น Start up คือเราคิดแค่อย่างเดียวว่าเดี๋ยวฉันจะต้องกลับมาตรงนี้ เหมือนกับว่าเราเป็นคนบ้าน ๆ ได้ไปตรงนั้นก็เหมือนได้ไปเหยียบดวงจันทร์ คือภูเขาสูงมีความหนาวที่เราไม่เคยเจอระดับติดลบ 3 องศา ต้องใส่เสื้อ 3 ชั้นเหมือนเป็นมัมมี่ ฝรั่งก็มองแบบตลกว่าทําไมเราต้องแต่งตัวอย่างนั้น เมื่อเราปีนเขาเหมือนจะยิ่งเข้าใกล้แม่ที่อยู่บนสวรรค์ นี่คือความคิดที่ทําให้มีแรงวิ่ง

   “วิ่งก็ไปเรื่อย ๆ มีหยุดพักล้างหน้าแปรงฟันเปลี่ยนถุงเท้า แล้วดูที่เท้าว่าตรงไหนพองก็เอาเข็มจิ้มเอาน้ำตุ่มพองออกแล้วก็ทาเบตาดีน กินข้าวไป 1 ครั้ง แล้วก็มีเดินหลับใน โชคดีที่ฝรั่งเขามาเห็นตะโกนเรียกเลยสะดุ้งตื่น ไม่อย่างนั้นคงตกเขาไปแล้ว ผู้จัดเขาจะผูกริบบิ้นให้เราวิ่งไปตามทางเพื่อจะได้ไม่หลง คือปล่อยตัว วันที่ 27 ตอน 17:00 น เข้าเส้นชัยวันที่ 29 ตอนเที่ยง ด้วยเวลา 42 ชั่วโมง

   “ระยะทางที่ผ่านมามันสอนเราหมดไม่ว่าจะเป็นความยากลําบากที่เราเจอมาในเมืองไทย เราจะเอาตัวรอดยังไงจากจุดที่วิ่งทั้งเรื่องของการสื่อสารด้านภาษา รวมถึงสภาพอากาศที่หนาวเย็น สําหรับนักวิ่งเทรลผู้หญิงคือความทรมานต้องเต็มที่ทุกอย่างใน 42 ชั่วโมง มีความสุขแค่ 400 เมตร ตอนเข้าเส้นชัยเพราะ มีการปูพรมและมีเสียงเชียร์ได้ยินเสียงคนไทยแล้วน้ำตาเริ่มไหล ตอนเข้าเส้นชัยมันปลดล็อกทุกอย่าง คือในสิ่งที่ฝันไว้ทําได้แล้ว แล้วอยากให้คนรู้ว่า คนจนก็ไปวิ่งเทรลได้ในระดับโลก

   “พอกลับมาจากฝรั่งเศส ก็ไม่คิดว่าจะไปไหนอีกเพราะมันสูงสุด เป้าหมายคือเราแค่อยากไปเข้าเส้นชัยเป็นผู้หญิงไทยคนแรก เรามีความรู้สึกว่า ที่ทําสําเร็จกับการที่เราสูญเสียมันเสมอกัน ซึ่งบอกตัวเองไม่ถูกว่าสุขหรือเราทุกข์กันแน่ รู้แต่ว่าความทรมานที่ฝรั่งเศสมันสอนให้แข็งแกร่งขึ้น ฝ่าฟันความยากลําบากทําให้เรามีความพยายามในการที่จะทําให้สําเร็จ ในท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้เองทําให้คิดได้ว่าอยากจะกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งซึ่งจะแข่งปลายเดือนสิงหาคมนี้”

ใช้ใจในการวิ่ง

   “สิ่งที่อยากทําตอนนี้คือกลับไปวิ่งที่ประเทศฝรั่งเศส มันคือที่สุดของการวิ่งเทรล เป้าหมายเราก็คือ อยากไปทําเวลาให้มันดีกว่าเก่า หลังจากนั้นคงกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่าย อย่างการทําสวนแล้วก็ออกกําลังกายเพื่อสุขภาพ เพราะการวิ่งเพื่อชัยชนะต้องซ้อมหนัก มีความอดทนสูง ซึ่งทําให้ร่างกายแย่ลงได้

   “ความจริงการวิ่งเอ๋ก็วิ่งเหมือนคนปกติ มีเหนื่อย หิว ง่วง แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรามีความอดทนมากกว่า คนอื่นอดทนต่อการเจ็บปวด คือความเหนื่อยล้าจะคิดถึงความยากลําบากที่เราเจอ ว่าตรงหน้านี้กับสิ่งที่ผ่านมาอย่างไหนมันลําบากกว่ากัน คือไม่มีอะไรจะเสีย คือต้องสู้อย่างเดียว ซึ่งคนอื่นเขาอาจจะมีตรงนั้นพร้อมอยู่แล้ว คนเรามีต้นทุนไม่เท่ากัน แต่เรามีความรู้สึกที่เหนือกว่าคนอื่น เพราะมีความอดทนมากกว่า คือใช้ความอดทนให้กลายเป็นความสม่ำเสมอ

   “สําหรับคนที่อยากวิ่ง แนะนําให้ถามตัวเองก่อนว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน เพื่อออกกําลังกายหรือต้องการติดโพเดียม ฉะนั้นตั้งเป้าหมายก่อน เราถึงจะไปถูกว่าจะต้องฝึกซ้อมยังไง ถ้าเป้าหมายคือการออกกําลังกายเฉย ๆ ก็แค่วิ่งครึ่งชั่วโมงหรือ 15 นาที ก็ทําให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว แต่ถ้าเราอยากติดโพเดียม แล้วก็ต้องมาดูเรื่องของการฝึกซ้อม ดูวิธีเทคนิคต่าง ๆ ว่าเราอาจจะต้องซ้อมยังไงใน YouTube มีข้อมูลเยอะแยะ คือถามตัวเองก่อนเลยว่าต้องการอะไรแล้ว ก็จะทําตามสเต็ปเลยค่ะ หรืออยากวิ่งเทรลซึ่งต้องใช้เงินส่วนนี้ก็ต้องวางแผนค่อย ๆ ไต่ระดับไปสะสมประสบการณ์แล้วสักวันหนึ่งทุกคนก็จะทําได้ เหมือนกับที่เอ๋ไปแข่งระดับโลกได้ค่ะ

   “ชีวิตที่ผ่านมาเอ๋ต้องขอบคุณความจนที่พ่อแม่ให้ชีวิตเราเกิดมา ตอนเด็ก ๆ ก็เคยท้อแท้ว่าทําไมเราถึงไม่มีเหมือนคนอื่น แต่พอเริ่มโตได้ใช้ชีวิต เรามีความรู้สึกว่าขอบคุณความยากจนทําให้แข็งแกร่ง ถ้าไม่มีความยากจนจะไม่มีความพยายาม ไม่มีความ อดทน ขอบคุณความยากจน ขอบคุณทุกความยากลําบากอุปสรรคที่เข้ามา ทําให้เรามีภูมิเวลาเจอเรื่องอะไรที่บั่นทอนจิตใจ เราจะสามารถต่อสู้กับมันได้ ชีวิตเอ๋ไม่ได้เกิดมาเพื่อวิ่งแต่เกิดมาเพื่อสู้แล้ว ก็รักที่จะวิ่งค่ะ”

นักสู้บนลู่วิ่ง "เอ๋ พิชชานันท์ มหาโชติ"