ศักดิ์สิริ มีสมสืบ รากของศิลปะมาจากแขนงเดียวกัน

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ รากของศิลปะมาจากแขนงเดียวกัน

   มีใครบางคนใช้ชีวิตอยู่ในชนบทห่างไกล โดยสร้างกระท่อมหลังเล็กอยู่ข้างแม่น้ำห้อมล้อมด้วยแมกไม้ใหญ่ปลีกวิเวกออกจากผู้คน บนความโดดเดี่ยวดูเงียบเหงามีวิถีชีวิต เหมือนเรื่องราวในนิยาย แต่นี่คือชีวิตจริงของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ บ้านของศิลปินใหญ่ ผู้เร้นกายในมุมลึก แต่กลับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

   นอกจากนี้เขายังทํางานศิลปะด้านอื่นอีก อย่างการเขียนภาพและงานเพลงที่แต่งเพลงออกมากว่า 250 เพลงด้วยความสามารถในเชิงศิลปะที่หลากหลายและทํางานอย่างต่อเนื่องหลายปี ท่านจึงได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจําปี พ.ศ. 2559 ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ล้ำค่าที่สุดรางวัลหนึ่งของชีวิต

   “ผมขอขอบคุณที่มีคนเห็นผลงานของผมจนได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ แต่รางวัลอะไรก็ตามที่มนุษย์คิดขึ้นมามันเป็นเพียงพลังภายนอกหรือแรงบันดาลใจ ไม่ว่าอย่างไรศิลปินทุกคนก็จะทําหน้าที่ของตัวเองต่อไป รางวัลต่าง ๆ ที่เข้ามาก็จะเป็นผลจากการทํางานของเรา ไม่ว่าจะเป็นรางวัล วรรณกรรม เช่นซีไรต์ หรือจากสถาบันอื่น ๆ รางวัลศิลปินแห่งชาติก็เป็นรางวัลหนึ่ง ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เป็นเจ้าภาพ ถือว่าให้เกียรติในการทํางานของผมด้วย

   “สมัยก่อนรางวัลต่าง ๆ ของผมได้มาตามวาระโอกาสในวัยหนุ่มรางวัลที่ได้มาเหมือนเป็นแรงผลัก แต่เมื่อเราอายุมากขึ้นพลังในตัวเราหรือจิตคงที่ รางวัลก็เป็นเพียงข้อสังเกตของสังคมเท่านั้น รางวัลแรกที่ผมได้รับคือรางวัลครูเผย ซึ่งวงการวรรณกรรมไม่รู้จัก จนกระทั่งผมได้มาพาดไว้หน้าปกของบท กวีที่ชื่อ “ก็พอใจอยากจะรักให้นักนา” ผมพาดไว้ที่ปกว่ากวีรางวัลครูเผย เนื่องจากท่านเป็นครูของผมระดับประถมปลาย ยกย่องให้รางวัลผมด้วยหนังสือเล่มหนึ่ง เพื่อยืนยันว่ามีเด็กชายแต่งกลอนได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ผมจะบอกว่ารางวัลที่ได้รับในช่วงแรกมันคือแรงผลักดัน แต่รางวัลที่ได้ตอนอายุมากมันคือการสรรเสริญ ทําให้เรารู้สึกว่าสังคมเขามองเราอย่างไร เพราะเราก็เป็นคนทํางานมาตลอดชีวิต

   ส่วนเรื่องราวชีวิตของอาจารย์ไวท์นั้น พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดชัยนาท (ปัจจุบัน ท่านอยู่จังหวัดนครสวรรค์) เรียกได้ว่าอยู่กับศิลปะมาตั้งแต่เกิดก็ได้ เพราะในครอบครัวของท่านเป็นศิลปินกันเกือบทั้งบ้าน ทําให้เด็กคนหนึ่งเกิดมาซึมซับเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด

   “ครอบครัวของผมคุณแม่เป็นลูกชาวนา แต่โชคดีได้เรียนหนังสือจนกระทั่งได้เป็นครู ส่วนคุณพ่อทํากิจการการศึกษาเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนซึ่งถือว่าไม่ได้ลําบากนัก ช่วงที่พอจําความได้หูของผมก็ได้ยินเสียงปีพาทย์มาจากบนบ้านเสมอซึ่งมาจากน้าชาย ผมนอนอยู่ข้างล่างทนไม่ไหวก็ต้องขึ้นไปชม พอน้าเผลอเราก็เอาเครื่องดนตรีมาลองเล่น น้าชายยังมีวงสตริงคอมโบ นอกจากนี้ท่านยังทํางานศิลปะอื่น ๆ อย่างปั้นพระ แกะสลัก แถมเล่นหุ่นกระบอกได้ด้วย บางทีผมก็ไปนั่งข้างโรงลิเกเพราะบ้านอยู่ข้างวัด บางวันพระเทศน์ หรือแหล่ก็ได้ยินมันจึงซึมซับสิ่งเหล่านี้มาตลอด

   “ความฝันของเด็กในวัยนั้น สําหรับผมไม่ต้องฝันเป็นอย่างอื่นเลย เพราะผมชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก เท่าที่รู้ตัว 10 ขวบ ผมวาดรูปเยอะมาก จุดเริ่มต้นการวาดรูปคือได้รับพลังมาจากหนังสือปกหลังของหนังสือเล่มหนึ่ง ปกหลังจะมีภาพของอาจารย์ เหม เวชกรกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนเป็นภาพประกอบวรรณคดี พอเห็นเข้าใจเราก็ฟูฟ่องเป็นละอองสีรุ้ง ผมก็วาดโดยจิตที่ปลุกเร้าด้วยงานเหล่านั้น

   “อีกด้านหนึ่งผมอ่านหนังสือเยอะ วรรณคดีผมก็อ่านหมด อ่านกระทั่งหนังสือยาก ๆ อย่างพระราชพิธี 12 เดือน หรือลิลิตรตะเลงพ่าย ผมไม่ได้เป็นหนอนหนังสือ แต่อ่านโดยธรรมชาติ ทําให้มีพื้นฐานการเขียนไปด้วย

   “ส่วนเรื่องการที่ผมทํางานเพลงได้ ก็มาจากคุณแม่มักชอบเปิดเพลงจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่วนคุณพ่อจะเปิดเพลงจากแผ่นเสียง คุณพ่อก็จะซื้อเพลงต่าง ๆ ทั้งลูกกรุงลูกทุ่ง เพลงฝรั่ง ซึ่งผมก็ฟังไปด้วย แล้วซึมซับจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ พอโตขึ้นมาผมก็ร้องเพลง วาดรูปและเขียนหนังสือโดยธรรมชาติ มันเป็นเป็นไปอย่างนั้นเลยโดยที่เราไม่ต้องมีความฝันหรือแรงบันดาลใจอะไร เพราะมันบันดานตัวเองออกมา ที่ผมพูดเพราะสิ่งแวดล้อมนั้นสําคัญ คือเราเกิดในสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

   หลังเรียนจบในระดับมัธยมปลาย อาจารย์ไวท์ก็มุ่งตรงเข้าศึกษาที่ โรงเรียนเพาะช่าง ที่นี่เองเขาได้เรียนรู้ศิลปะอย่างเป็นระบบแบบแผน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาศิลปะวรรณกรรมและปรัชญาจากจ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินคนสําคัญของประเทศอีกด้วย เมื่อเรียนจบท่านได้กลับไปรับราชการเป็นครูสอนศิลปศึกษาในปี พ.ศ. 2521 โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อ. ชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

   “ที่ผมเลือกเป็นครูเพราะพ่อแม่อยากให้ผมเป็น แต่มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะการเป็นศิลปินจะทําอาชีพอะไรก็เป็นศิลปินได้ บางคนตั้งใจจะเป็นศิลปิน แต่ก็ไม่ได้เป็นก็มี อย่างหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเป็นนักการเมือง เป็น นักธุรกิจ เล่นโขนเป็นนักเขียน และได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรมคนแรกของประเทศไทยด้วย ผมเป็นครูก็เป็นศิลปินทํางานศิลปะได้ ไม่มีใครมากําหนดว่าศิลปินต้องเป็นแบบใด

   “แต่ชีวิตการเป็นครูของผมมันมีสองแบบคือการเป็นข้าราชการกับเป็นครู จริง ๆ อย่างบางคนเป็นข้าราชการเฉย ๆ แต่อาจไม่ได้เป็นครูก็ได้ เพราะคําว่าครูมันน่าจะมีความหมายลึกไปกว่าการเป็นข้าราชการ พอเป็นข้าราชการเราก็ต้องทําให้ถูกกติกา ส่วนการเป็นครูเราก็มีวิธีสอนแบบเราที่ต้องตีความหมายให้นักเรียนคิด เป็นการให้มีความรู้สึกนอกเหนือจากการทําตามหลักสูตร ผมสอนวิชาศิลปะก็สอนเรื่องของชีวิตในการเรียนรู้จิตใจของตัวเอง ผมสอนพวกเขาเรื่องความรัก ความเหงาอกหัก ถูกเพื่อนแกล้งเพื่อนเหยียดหยามมีปมด้อย ต้องต่อสู้อย่างไร วิชาศิลปะมันไม่ได้บอกหรอกว่าต้องแก้ปัญหาทางไหน แต่ความเป็นครูของเราก็อาจจะให้เห็นทางออก แล้วใช้ศิลปะเป็นตัวช่วย ซึ่งการเป็นครูของผมก็ถือว่ามีความสุขนะ ที่ทําให้ศิลปะมันสัมพันธ์กับชีวิต

   “ชีวิตการเป็นครูของผมไม่ได้เป็นทุกข์อะไร เรามีเงินเดือนใช้ มีลูกศิษย์ที่สนุกสนาน แต่ลึก ๆ ผมก็โหยหาวันเวลาที่อยู่ในโลกของตัวเอง แล้วเมื่องานเขียนของผมมันเริ่มเติบโตขึ้น คือผมทํางานเขียนหนังสือและแต่งเพลงไปด้วย ทําจนมีคนให้แต่งเพลงประกอบรายการโทรทัศน์เป็นประจํา แล้วงานเขียนของผมก็มีคนอ่าน มีรายได้ ซึ่งตรงนี้ทางครอบครัวจะรู้ว่าถึงเราลาออกจากครูก็ไม่อดแล้ว เราก็สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจ ผมจึงลาออกจากการเป็นครูมา 15 ปี ก็ถือว่ามีความสุขดี เวลาที่ผ่านมาก็ถือว่าไม่ให้เสียเปล่าอะไร”

   หลังจากลาออกจากการเป็นข้าราชการครูในปี พ.ศ. 2536 อาจารย์ไวท์ ได้กลายเป็นเป็นศิลปินเต็มตัว ท่านสร้างผลงานที่หลากหลาย ตั้งแต่ภาพเขียน บทเพลง บท กวี เรื่องสั้น แม้จะมีผลงานไม่มากนัก เมื่อเทียบกับศิลปินท่านอื่นแต่นับได้ว่าเป็น ผลงานที่มีคุณภาพ การันตีได้จากการได้รับรางวัลระดับประเทศหลายรายการ

   “เวลาทํางานผมไม่ได้ประเมินในเชิงแข่งขันขัน ว่าเราจะเหนือกว่าคนอื่นหรือจะต้อยกว่าคนอื่น เราเขียนเพราะเป็นความเคลื่อนไหว ส่วนการประเมินคุณภาพ เป็นเรื่องของนักวิจารณ์นักอ่าน หรือของนักวิชาการด้านวรรณกรรม เพื่อไปบอกคนอื่นว่าวรรณกรรมของเรานั้นดีอย่างไรไม่ดีอย่างไร เราทําไปตามธรรมชาติ เพราะเรามีเรื่องราวที่อยากจะบอกในใจกับผู้คน ผมก็ทําหน้าที่ของตัวเองไป แต่ไม่อาจบอกได้ว่าคุณภาพของเราจะดีแค่ไหน คงเป็นหน้าที่ของคนอ่านที่เสพวรรณกรรม

   “ที่ผ่านมาหนังสือของผมมีไม่กี่สิบเล่ม ความจริงผมทํางานศิลปะหลายอย่าง ไม่ได้เป็นนักเขียนอย่างเดียว มีงานแต่งเพลงเขียนภาพประกอบ คืองานทั้ง 3 สาขาจะทําในช่วงเวลาสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ว่าคนเขาจะดูว่าเราเป็นนักเขียน มากกว่าผลงานด้านอื่น ความจริงแล้วทํามากพอ ๆ กัน แต่ผมอาจเป็นที่รู้จักจากงานเขียนบทกวีมากกว่า

   “เรื่องของศิลปะ ไม่ว่าจะแขนงอะไรมันมาจากต้นทางเดียวกัน จากนั้นจะแยกออกเป็นสาย ตัวธาตุของมันเป็นก้อนเดียว คนเราทําเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ไม่จําเป็นต้องเก่ง พอทําไปเรื่อย ๆ มันจะเติบโตด้วยตัวมันเอง เราเสมือนเป็นทางผ่านของศิลปะ เราไว้วางใจในศิลปะมันจะพาไป มันเหมือนกับตอนเด็ก ๆ ที่เราทรงตัวบนรางรถไฟพอฝึกไปเรื่อย ๆ วันหลังไปเจอมันไม้กระดานแผ่นเดียว คุณก็เดินได้เหมือนกัน ศิลปะมันจะเป็นแบบนี้ทักษะเหล่านั้นมันเป็นไปเอง แต่ว่ามนุษย์สามารถฝึกฝนได้

   “การจะทํางานศิลปะมันไม่ใช่เรื่องของปาฏิหาริย์ เราสามารถทําตามทักษะ อย่างการร้องเพลงเพราะไม่ใช่เรื่องเหนือมนุษย์ นกกางเขนร้องเพลงยังเพราะเลย แต่ในความธรรมดามันก็มีความน่าอัศจรรย์ของมันอยู่ คือการที่เรามีจิตไปสัมผัสความไพเราะของภาษา ถ้อยคําตั้งแต่วัยเยาว์ที่มาพร้อมกับดนตรีถ้าเราได้ดื่มด่ำ ถือว่ามันได้งอกงามในตัวเราแล้ว พอถึงเวลามันจะผลิบานโดยอัตโนมัติ  “เวลาไปบรรยายที่ไหนผมบอกเสมอว่า ทําอะไรก็ตามไม่ต้องเก่ง แต่เราทําไม่หยุดให้ทําตลอด เก่งไม่กลัวไม่ทํา แต่ไม่ใช่เพราะความทะเยอทะยาน ที่ทําเพราะมีความสุขเรารักมันก็ทํามันไป แล้วความสําเร็จมันไม่มีหรอก มีแต่ทําเสร็จแล้วเราทําเสร็จไปทุกวัน หากเราเขียนกลอนทุกวันปีหนึ่งก็ 3 ร้อยกว่าบท 10 ปี 3 พันบท ทําไปทั้งชีวิตมันก็มากมายคือแบบนี้ไม่ต้องเก่งก็ได้ เพราะถ้าเราวาดรูปไปทุกวัน อาจมีหลายหมื่นรูปหรือแต่งเพลงไปได้ 4-5 ร้อยเพลง เมื่อเราทําสิ่งที่เรารักเสร็จไปทุกวันความสําเร็จมันจะมาเอง ไม่ต้องไปโหยหาความสําเร็จอะไรหรอก ผมไม่ได้พูดเพราะว่าตัวเองสําเร็จแล้ว เพราะทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองสําเร็จถึงแม้ว่า จะมีคนให้ความสําเร็จมาแต่ผมก็ยังทํางานอยู่ตลอด

   “ผมมักได้รับคําถามเสมอว่าเคล็ดลับของการเป็นกวีมีชื่อเสียงคืออะไร ผมบอกว่ามีอยู่ 3 ข้อ ก็ให้คนถามเตรียมปากกามาจดเพราะผมจะพูดแค่รอบเดียว ข้อที่ 1 คือเขียน 2 เขียน 3 เขียน มันเป็นวิถีของคนที่เขียนหนังสือคุณเขียนไปเถอะ แต่ในขณะที่คุณเริ่มเขียนทุกสิ่งทุกอย่างมันหายไปหมดถ้าคุณจะมัวแต่ล้วงลิ้นชักไปเอา ข้อมูลมามันก็ไม่ได้ การมีข้อมูลมากไปอาจทําให้แข็งที่อไม่มีรสชาติกลายเป็นความข่มเขื่อง การที่คุณรู้มากเป็นเรื่องที่คุณต้องลงมือทําแล้วศิลปะจะนําทางคุณไปเอง

   “ผมอายุเริ่มมากแล้วความทะเยอทะยานจะน้อยลง เขียนน้อยลงแต่จริงจังมากขึ้น ก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ เราไม่เครียดอะไร เพราะผมเลยการแข่งขันกับตัวเองและคนอื่นมาแล้ว มันเลยช่วงที่เราเป็นนักเขียนสด ๆ ในวัยหนุ่ม พอเราอายุมากขึ้นเราคิดน้อยลง ปล่อยให้มันไหลออกมาเองแล้ว เราก็แค่รองรับมัน

   “สําหรับผมเป็นนักเขียนโดยความโดดเดี่ยว อยู่กับตัวเองเราเป็นนักเขียนเพราะอยากจะเขียนจริง ๆ อย่างที่รู้กันว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์ คนจะอ่านมากอ่านน้อยมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของนักเขียน ถึงแม้ว่าส่วนประกอบของวงการวรรณกรรมอื่น ๆ จะขึ้นลง ดีหรือแย่ นักเขียนก็ยังเขียนอยู่ต่อไป ย้อนไปในยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟู ที่มีคนอ่านหนังสือเยอะ เราอาจพิมพ์ครั้งแรกที่ 3 พันเล่ม พอต่อมาเหลือ 2 พันเล่ม 1 พันเล่ม เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่เพียง 500 เล่ม พอระยะหลังต้องพิมพ์ตามออเดอร์แทน คนที่เขียนหนังสือไม่ว่าจะบรรยากาศยังไง เขาก็ยังเขียนอยู่เหมือนเดิมไม่เลิกรา ผมก็ยังทํางานเหมือนเดิม แม้ไม่ได้เผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ก็ตาม เดี๋ยวนี้คงเผยแพร่ทางสื่อ ออนไลน์ที่มีคนอ่านมากกว่าหนังสือด้วยซ้ํา

   “ส่วนเรื่องของรายได้ นักเขียนที่มีอยู่ในเมืองไทยเกือบทั้งหมด มีอาชีพหลักอยู่แล้ว นักเขียนจึงเป็นอาชีพรองลงมา หรือบางคนเขาอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันคืออาชีพด้วยซ้ํา ดังนั้นนักเขียนในเมืองไทยไม่ได้ลำบาก เพราะการเป็นนักเขียนในช่วงที่วงการหนังสือเพื่องฟู นักเขียนจะมีคอลัมน์บางคนอาจมีถึง 10 คอลัมน์ต่อเดือนกระจายกันไป ตัวผมเองก็เคยมีอยู่ราว 4 -5 คอลัมน์ต่อเดือน อยู่กันมาราว 30 ปี แล้วก็โรยราลงเมื่อ 10 ปีนี้เอง ทุกวันนี้ตัวผมเองก็หยุดเขียนคอลัมน์ นักเขียนทุกคนรู้ดีว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ก็ต้องเขียนหนังสืออยู่ที่ทุกคนก็ปรับตัวไปตามสภาพ

   “วงการวรรณกรรมประกอบด้วยหลายส่วน ตัวผมเองเป็นส่วนหนึ่งของวงการ และไม่ได้แยกว่าวรรณกรรมเป็นงานเขียนเท่านั้น ผมถือว่ามันคือเสียงของมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิดมันอาจออกมาในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่หนังสือก็ได้ อย่างคนร้องเพลง แสดงลิเก ลําตัด อีแซวก็ถือว่าเป็นวรรณกรรม แม้แต่เราเดินไปตามถนนหนทางเราเจอผู้คน ความเป็นวรรณกรรมมันเคลื่อนไหวอยู่ทุกชีวิต เพียงแต่ความหมายของมันคือ คุณเห็นมันคุณได้อ่านมันวรรณกรรมที่เป็นตัวหนังสือเป็นเพียงช่องทางหนึ่ง ที่คุณจะเรียนรู้ชีวิตเหล่านั้นในอนาคต หนังสือมันอาจจะหายมันไปก็เป็นเหตุปัจจัยของโลกนี้ ผมจึงไม่ได้อาลัยอาวรณ์นัก 

 

 

 

ศิลปินใหญ่ ผู้เร้นกายในมุมลึก แต่กลับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ