ชีวิต ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม "ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร
การพัฒนาเมืองทําให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทําลายลงไปเรื่อย ๆ ตรงส่วนนี้เองมนุษย์ทุกคนต้องช่วยกันดูแลและแก้ไข แต่เราต้องยอมรับความจริงว่ามนุษย์ไม่มีทางที่จะกลับเข้าไปอยู่ในป่าธรรมชาติได้เหมือนในอดีต สิ่งที่ทําได้คือการพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่เหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การกินการอยู่การใช้ชีวิตในแบบฉบับของคนที่รักษ์โลก
ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร คืออีกหนึ่งคนที่ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเต็มขั้น แต่แนวทางของเขาก็ช่วยให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างการเปิดร้าน The Eco Shop ขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดบริษัท คิดคิด จํากัด ทําแอปพลิเคชันชื่อ Eco Life เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก แบบ Single-use โดยเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ผมมีความเชื่อว่า อยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี เราเริ่มต้นจากการอยากให้คนลดการใช้ Single use Plastic พวกถุงหลอดแก้วช้อนส้อมที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ผมรู้สึกเสียดายคือบางทีเราใช้มันไม่กี่วินาที ซึ่งจริง ๆ แล้วพลาสติกน่าจะมีอายุหรือมีการใช้งานที่นานกว่านี้ได้ ก็เลยใช้วิธีการคือลดการใช้ตั้งแต่ต้นทาง เวลาไปที่ร้านขายน้ำก็เอากระบอกน้ำไปเอง จะได้ไม่ต้องรับแก้วพลาสติก
“ตอนนี้ผมทํา MOU กับ 156 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อที่จะทําให้นิสิตนักศึกษา : ในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสในการใช้ตัว Application Eco Life ก็เริ่มในการสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media มากขึ้นอย่างเช่น Eco Life ที่เป็นทั้ง Facebook YouTube เรามีกลุ่มน้องที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม จากการนําเครื่องมือที่ช่วยเขาทําให้ง่ายให้มีความสนุกมากขึ้น ได้สร้างการมีส่วนร่วม Application ของเราสามารถสร้าง Community กับน้อง ๆ ก็เริ่มจาก กลุ่มที่อินมาก ก่อนจะตั้งเป็นชมรมสิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้ Application นี้ได้เช่นกัน เราอยากทําให้เห็นว่าทุก ๆ กลุ่มสามารถช่วยกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
“การทําธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มันเกิดจากความสนใจของผมตั้งแต่แรกว่าผมอยากทําเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันคือผมอยากทําให้มันยั่งยืนด้วย โดยให้ตัวเองอยู่ได้ เราจึงมีโอกาสทําสิ่งที่ชอบต่อไปได้เรื่อย ๆ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราก็ได้รับผลกระทบพอสมควร ปกติแล้วผมทํางานกับองค์กรใหญ่เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือว่าบริษัทที่เขาอยากจะทําเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่บริษัทที่ขายเพื่อทํากําไรอย่างเดียว ดังนั้นพอเวลาที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเข้ามา แน่นอนว่าเงินส่วนที่จะแบ่งไปทําเรื่องของสิ่งแวดล้อมต้องโยกเพื่อที่จะเอามาทําในเรื่องของธุรกิจหลักก่อน”
ชีวิตคนเมือง
“ผมเกิดและเติบโตที่ตึกแถวริมถนนสุขุมวิท อยู่บริเวณซอยนานาติดกับโรงแรมแลนด์มาร์ค ย้อนกลับไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว สุขุมวิทก็ยังไม่ได้เป็นแบบนี้ไม่มีรถไฟฟ้า แต่เราก็สามารถออกมาแล้วก็เจอเพื่อน ๆ ของคนในยุคนั้นมีพี่ ๆ รุ่นใหญ่ ที่เดินทางเข้ามาสุขุมวิทเพื่อขายของแผงลอย ผมอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ ต่างจากเด็กทั่วไปคือไม่ได้มีที่วิ่งเล่นหรือมีแก๊งปั่นจักรยาน เพราะผมเดินออกมาก็เจอถนนใหญ่เลย
“แต่มันเป็นช่วงชีวิตที่เราสามารถได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง คือคนที่ทํามาหากินย่านสุขุมวิทเขาจะเอาประสบการณ์มาแชร์กัน อย่างเรื่องราวชีวิตในต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไร แล้วผมได้พบกับพี่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเด็ก ๆ จะเรียกเขาว่าพี่ใบ้ แต่เขาก็สามารถขายของได้ เขาก็จะสนิทกับครอบครัวผม มีการช่วยเหลือกันตลอด เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ขับรถพร้อมกันเป็นคาราวานกับพรรคพวก คือผมเห็นความเท่าเทียมโดยที่ไม่มีการแบ่งแยก
“แล้วที่ที่ผมอยู่จะพบกับชาวต่างชาติเยอะ ก็เลยทําให้เราเห็นถึงความหลากหลาย เพื่อนวัยเดียวกันจึงมีน้อยทําให้เรารู้สึกว่าเราสามารถที่จะอยู่ในสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างได้ ผมปรับตัวและมีความสนใจในเรื่องความหลากหลาย รวมถึงความเท่าเทียมที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ
“โดยครอบครัวของผมถือได้ว่ามีฐานะที่ไม่ได้ลําบาก แต่ผมกลับไม่ชอบในช่วงเวลาที่บางครั้งพ่อแม่จะต้องหาเงินเพื่อไปผ่อนธนาคาร ตอนที่พ่อแม่ทําธุรกิจมีเรื่องของการกู้เงินการหมุนเงินแล้วทุก ๆ สิ้นเดือนผมเห็นว่าต้องมานั่งคุยกันในเรื่องนี้ คือมีความเครียดมันส่งผลมาถึงปัจจุบันที่ทําให้ผมระวังเรื่องการเงินมาก จะมีการบริหารเงินเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นหนี้
“ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระมหาไถ่ศึกษาอยู่ในซอยร่วมฤดี คือเรื่องทุกอย่างมันใกล้บ้านหมด เพราะว่าเป็นเด็กขี้เกียจ คือขี้เกียจเดินทาง แล้วพอ ม.ปลาย เข้าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แต่ว่าเราย้ายบ้านไปอยู่แถวรัชดา สุทธิสาร พอเข้ามหาวิทยาลัยกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ในช่วงปีสุดท้ายที่ต้องฝึกงาน ผมไปพบโกดังที่เขาเก็บของค้างสต๊อก หรือว่าจะมีตําหนิอยู่นิดเดียว ผมคิดไอเดียไต้เลยบอกเขาว่า พี่ผมขอเอาของพวกนี้มาตั้งขายที่หน้าบ้านได้ไหม คือขอของจากโกดังมาขาย เพื่อช่วยเขาเครียร์สต๊อก ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมนําของมาขายหน้าบ้าน
“แล้ววันหนึ่งมีผู้จัดละครเดินมาเจอผมกําลังขายแก้วปลอกหมอน จาน ชาม ที่เป็นของดีไซน์ เขาก็เลยชวนไปลองเล่นละคร พี่เขาก็คุยกับคุณแม่เลย แม่บอกคือใกล้เรียนจบแล้วไม่มีปัญหา ผมเลยเริ่มต้นได้เข้ามาลองเล่นละครเรื่องแรก คือเรื่อง GIRL CLUB รับเอาคืน ทางช่อง ITV จากนั้นก็ได้แสดงหนังต่อเรื่องบอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม แล้วก็เป็นพิธีกร ดีเจ ฯลฯ
“ผมรู้สึกว่าเมื่อมีโอกาสได้ทํางานในวงการบันเทิง ผมพยายามที่จะลองดูว่าตัวเองชอบหรือเปล่า คือผมไม่ได้ชอบงานแสดงนัก ก็เลยพยายามลองเลือกหลาย ๆ อย่าง มีโอกาสอะไรที่ได้ทําผมลองทําหมด แล้วก็พยายามที่จะคัดกรองว่าอะไรที่เราชอบแล้วอยากทํา สุดท้ายก็มีพิธีกรนั่นแหละที่ชอบ ได้เรียนรู้วิธีในการที่จะ สัมภาษณ์การพูดคุยการสื่อสาร”
จุดเริ่มต้นเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ความจริงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เด็กผมแทบไม่ได้สนใจเลย เพราะหน้าบ้านผมไม่มีต้นไม้ อย่างมากสุดก็ถนนสุขุมวิทผ่านไป 10 ปีมันยังเท่าเดิม ผมเลยไม่ได้รู้สึกถึงความสําคัญ แต่วันที่ผมโตขึ้นแล้วมีโอกาสได้ เรียนปริญญาโท คือช่วงนั้นอยู่ในวงการบันเทิงแล้ว ประมาณปี 2007 2008 ผมดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ก็คิดว่าอนาคตถ้าเราไม่ได้ทําอะไร มันจะเกิดแบบในหนังจริง ๆ หรือเปล่า ก็เลยเอามาทําเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ชื่อว่าแนวโน้มพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคต่อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นงานออกแบบนําสิ่งที่ผมชอบและสนใจ คือเรื่องสิ่งแวดล้อมเอามาบวกกัน ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นทําให้สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม
“หลังจากนั้นผมเริ่มทํางานออกแบบได้ร่วมงานกับทาง สวทช. (สํานักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) แล้วเห็นช่องทางก็เลยเปิดร้านเล็ก ๆ ชื่อ The Eco Shop เป็นร้านรวบรวมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้น้องที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาเป็นพนักงานขายที่ร้าน เพราะว่าตอนเด็ก ๆ เราเห็นว่าพี่ ๆ ที่อยู่หน้าบ้านซึ่งพิการทางการได้ยินสามารถทําได้ ผมเขียนประโยคหนึ่งที่ร้านว่าฟังไม่ได้ยินแต่อ่านปากได้ มันแปลว่าลูกค้าทุกคนเข้ามาถึงเวลาเห็นอันนี้ก็พูดช้า ๆ ปากกว้าง ๆ แล้วก็อ่านรายละเอียดของสินค้าแต่ละชิ้นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็เป็นการทําร้านที่สนุกมาก
“ความจริงผมไม่ได้เริ่มต้นจากการคิดอะไรที่มันดีตั้งแต่แรกนะ คือผมเริ่มคิดว่าผมได้ทําในสิ่งที่ผมอยากทํา แล้วสิ่งที่ผมอยากทําหรือประสบการณ์ตอนเด็ก มันเป็นกิมมิคเป็นสิ่งที่คนเห็นแล้วมองกลับเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องดี จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทําเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยที่มองถึงตัวเองก่อนว่า ทําสิ่งแวดล้อมแบบเห็นแก่ตัวคือเราสนุกเราชอบ เราไม่ได้เริ่มต้นทําเพราะว่าปลายทางสิ่งแวดล้อมต้องเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นเรื่องดีแน่ ๆ”
ความจริงสิ่งแวดล้อมยังน่าเป็นห่วง
“ผมเคยไปประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก เขาบอกว่าถ้าโลกของเราถ้ามีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากกว่า 2 องศามันก็จะเป็นวิกฤต จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่นถ้าน้ำแข็งขั้วโลกละลายน้ำทะเลในมหาสมุทรจะเพิ่ม ปริมาณขึ้น มีผลต่อสัตว์ คน มีเชื้อโรคที่เราอาจไม่เคยเจอ คือหากเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ มันไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาเหมือนเดิมได้แล้ว
“อุณหภูมิเปลี่ยนฟังดูนิดเดียว แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เช่นเราเปลี่ยนอุณหภูมิแอร์นิด ๆ หน่อย ๆ ในห้องก็จะหนาวขึ้นหรือร้อนขึ้นได้ ถ้าเกิดเป็นแบบนี้บนโลกมันจะมันจะกระทบหมดเป็นลูกโซ่ ซึ่งแต่ละประเทศพยายามลดการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็น 0 ผมคิดว่ามันจะเริ่มดีขึ้น ตอนนี้มีบางประเทศที่ขยับตัวแล้ว บางประเทศพยายามลดการปล่อยก๊าซ ประเทศไทยเราเองก็เหมือนกัน จําเป็นที่จะต้องปรับตัว หลาย ๆ บริษัทก็ต้องลดปริมาณคาร์บอน หรือว่าต้องมีการชดเชยคาร์บอนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการใช้พลังทดแทน การปลูกต้นไม้ ฯลฯ
“ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนแรกให้ได้แบบเร็วแล้วก็ชัดเจนหวังผลได้ คือ นโยบายของภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่นภาครัฐบอกว่าไม่จําเป็นที่ต้องมีแคปซีล ที่อยู่ที่ฝาขวดน้ำ อาจจะต้องเลิกผลิตก็ได้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่บอกว่ารณรงค์ ให้ทุกที่ไม่ต้องแจกถุงพลาสติกก็เห็นผลได้เร็ว แล้วก็มีอีกหลายเรื่องถ้าเกิดเป็นนโยบายออกเป็นกฎหมาย อย่างนี้มันไปได้เร็ว ผมเข้าใจดีกว่าถ้ารัฐมีความเข้มงวดในการออกกฎหมาย ก็มีสิทธิ์ในการที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นส่วนต่อมาที่จะต้องช่วยกันคือในภาคของธุรกิจ ต้องลองดูว่าสามารถทําอะไรได้บ้างเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนสุดท้ายคือภาคประชาชน ต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักต่อปัญหาด้วย”
ช่วยปลูกจิตสํานึก
“วันนี้ผมเลือกสื่อสารโดยใช้แอปพลิเคชัน EcoLife กับน้อง ๆ ที่เป็นนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมพยายามหาเครื่องมือว่าพวกเขาอยู่กับเครื่องมืออะไรเป็นหลัก และใช้วิธีในการสื่อสารพูดภาษาเดียวกับเขา ว่าควรจะต้องทําแบบไหนเรื่องอะไรที่เขาสนใจ เอามาเป็นเรื่องที่จะชวนเขาให้หันมาทําสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่น ถ้าเกิดผมจะต้องพูดกับพ่อแม่ผมในวัย 70 ปี ผมจะเอาวิธีการที่ผมสื่อสารกับเด็กมหาลัยไปพูดไม่ได้ ก็ต้องเป็นอีกแบบนึงหรือจะพูดกับคนทํางานในอาชีพที่แตกต่างกัน ก็ต้องพูดในอีกบริบท ผมว่าการสื่อสารไปถึงพวกเขาเป็นเรื่องที่สําคัญ
“ผมต้องบอกก่อนว่าผมกับนุ่น คนจะมองว่าเราเป็นสามีภรรยา ที่ดูแล้วเป็นน่าจะ Eco แบบเต็มเหนี่ยวแน่ ๆ แต่เราไม่ได้เป็นมนุษย์ Eco ได้แบบ 100% เราไม่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือว่าเราไม่ได้เป็นประเภทสีเขียวเข้มขนาดนั้น เรายังคงมีกิเลส อยากกิน อยากใช้ อยากได้ อยากมี เรากินอาหารมังสวิรัติไม่ได้ทุกมื้อ แล้วเราไม่ถึงกับปฏิเสธถุงพลาสติกเลย ถ้าเกิดวันดีคืนดีที่เราต้องถือของร้อน เราก็ต้องใส่ถุงพลาสติก แต่เราใช้วิธีการคือรับมาแล้วแทนที่จะทิ้ง ก็ทําความสะอาดก่อนแล้วก็แยกขยะเพื่อให้มันสามารถที่จะมีการจัดการที่ถูกต้อง
“ตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องการแยกขยะเป็นสิ่งที่ดีเศษอาหาร ถ้ามันปนเปื้อน จะทําให้พี่ ๆ ที่เขาเป็นคนเก็บขยะไม่อยากเก็บเพราะมันสกปรก ขั้นต้นก็คือการแยกเศษอาหารออกจากภาชนะที่จะทิ้ง ผมก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการคือ ไปซื้อถังที่เอาเศษอาหารที่สามารถ หมักทําเป็นปุ๋ยใช้ในบ้านผมได้เลย เพราะมันสะดวกสบาย แล้วแม่ผมก็ทํากับข้าวมีเศษอาหารที่เหลือบางอย่างเขาก็เทใส่ในถัง เพราะว่าพอเทใส่ในถังนี้ต่อไปเดี๋ยวจะเป็นปุ๋ย เอาไปใส่ต้นไม้ได้โดยที่ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเพิ่ม หรือว่าบางทีแล้วผมใช้กระบอกน้ำส่วนตัวเวล ที่ไปตามร้านต่าง ๆ บางคนอาจปิดน้ำ ปิดไฟประหยัดพลังงานแล้วก็ช่วยลดค่าไฟในช่วงแบบสิ้นเดือน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้เช่นกัน
พลังงานทดแทนต้องมา
“ในส่วนของพลังงานทดแทนนั้นมีหลายประเภท ทางภาครัฐและเอกชนของเราได้มีการขยับตัวกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคนได้ใช้งานแล้วก็มีรถยนต์ EV รถยนต์ไฟฟ้าบางค่ายเห็นเลยว่ายังไม่ทันไรหุ้นขึ้นนํามาก่อนแล้ว แต่ว่าถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องสัมพันธ์กันกับสถานีชาร์ต มันต้องขยับไปพร้อมกันเพื่อจูงใจทําให้คนอยากใช้มากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็สําคัญ คือเทรนด์เรื่องพลังงานทดแทนมาแน่ ๆ ก็เป็นโอกาสของบ้านเรา เพราะก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์สันดาป แต่ตอนนี้พอมันเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เราสามารถที่จะผลิตได้ แต่ก็ต้องอยู่ที่ตัวกฎหมายบางข้อหรือว่ากําแพงภาษีหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะต้องมาช่วยกันดูตรงนี้ แต่ผมเชื่อว่ามันมีจุดเริ่มต้นแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ ประเทศไทยจะมีการพัฒนาในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
“ในส่วนของโซล่าเซลล์ เรื่องนี้คุยมาหลายปีมากเป็นเรื่องที่เราจะลดใช้พลังงานด้านอื่นในการผลิตไฟฟ้า เราอยากหันมาใช้โซล่าเซลล์ที่มาจากแสงอาทิตย์ แต่ด้วยระบบที่ยังไม่ชัดเจนว่า ถ้าไฟฟ้าเหลือ สามารถขายคืนภาครัฐได้ไหม ตกลงแล้วมันขายคืนได้ด้วยวิธีการอย่างไร ต้องลงทุนขนาดไหนถึงจะสามารถที่จะคืนทุน กี่ปีมันถึงจะสามารถได้กําไรจากสิ่งที่เราลงทุนไป ผมคิดว่าเรื่องนี้ถ้าทําให้ชัดเจน สื่อสารให้ความรู้มีวิธีในการเชิญชวนให้คนมาใช้ ผมว่าเกิดแน่เพราะว่าประเทศไทยเรามีแดดเหลือเฟือ”
นักอนุรักษ์ต้องสู้ต่อไป
“คนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือว่านักอนุรักษ์นั้นมีจํานวนน้อย ผมเห็นภาพแล้วก็เข้าใจได้ แต่ผมไม่ได้อยากทําให้หมดกําลังใจ คืออย่างคนที่สนใจ เรามองเห็นว่าถ้าเกิดเราไม่ได้ทําอะไรเลยอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นในโลกใบนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่ผมอยากบอกว่าถ้าเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมอยากให้ทําต่อไป อย่างผมเริ่มต้นจากสนใจเปิดร้านเล็ก ๆ แล้ววันนี้ผมสามารถขยายให้มันกลายเป็นธุรกิจ ผมมีโอกาสได้เจอผู้คนมากมาย แล้วก็ร่วมทํางานด้วย เหมือนกับเราได้ทํางานที่เราชอบแล้วได้เงินเป็นการตอบแทน ถึงแม้ว่ามันจะมีปัญหาก็ตาม ทําไมผมยังทําเรื่องนี้มา 10 กว่าปีแล้วก็ยังทําต่อเนื่อง เพราะผมไม่ได้รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นผิด แต่ผมเชื่อว่าทุกคนในวันนี้รู้อยู่แล้วว่าเราต้องช่วยกัน แต่ว่าวิธีการที่เหมาะสมของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน
“เราอาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่นการกินให้น้อยลง แล้วค่อยขยับไปในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ทําในสิ่งที่เราสามารถจะทําได้ ส่วนถ้าเกิดใครที่อยากจะเข้ามาแล้วทําเป็นธุรกิจหรือกิจการเพื่อสังคม ผมคิดว่ามันมีอีกหลายเวทีที่สามารถจะเล่นได้ อย่างผมทํา Application ก็เป็นอีกเมนูหนึ่งที่เราใช้เทคโนโลยีเข้ามา ที่สามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ โดยใช้เครื่องมือที่มันทันสมัย
“ผมเห็นพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการออกแบบก็ทําผลิตภัณฑ์ที่คํานึงในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถไปได้แล้วมันสนุกด้วย ก็เลยคิดว่าอยากจะให้ลองหาเวลาดูว่า ถ้าเราทําเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอะไรที่เราสนใจแล้วมันทําให้เราสนุกได้ ก็อยากจะให้ทําต่อเนื่องและทําต่อไป แน่นอนว่ารัฐบาลหลายโครงการพยายามจะสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว มีเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม การศึกษา ฯลฯ
“ในวันนี้เราสามารถที่จะทําเรื่องสิ่งดี ๆ ควบคู่ไปกับการทําให้มันเกิดความยั่งยืน โดยจะเป็นในแง่ธุรกิจหรือความชอบส่วนตัวผมคิดว่ามันไปต่อได้ ก็เลยมองว่าคนกลุ่มน้อย ๆ ที่อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในสังคม น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนหมู่มากได้”