The Legend : ตำนานแห่งยากูซ่า | Issue 161
ออกตัวก่อนเลยว่าผมเองนั้นเป็นแฟนการ์ตูน One Piece มาตั้งแต่วัยรุ่น แรงบันดาลใจในการเขียน Legend เรื่องนี้ก็มาจากมังงะ One Piece ในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งหากคนที่ติดตามมังงะหรือการ์ตูนเรื่องนี้ก็จะทราบกันว่า เนื้อเรื่องได้ดำเนินมาจนถึงภาค “วาโนะคุนิ” ซึ่งดินแดนวาโนะคุนิ นั่นก็คือประเทศญี่ปุ่นในอดีตที่มีวัฒนธรรมของ โชกุนผู้ปกครองประเทศ ไดเมียวผู้ครองแคว้นซามูไร ผู้มีหน้าที่เสมือนองครักษ์และทำหน้าที่เสมือนทหารในการรบ รวมไปถึงวัฒนธรรมการปกครอง และศิลปะต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์ เออิจิโระ โอดะ ผู้สร้างสรรค์มังงะเรื่องนี้นั้น ได้ใส่รายละเอียดที่น่าสนใจ ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นลงไปในตอนนี้อย่างครบถ้วน ถึงพริกถึงขิงให้บรรดา “โอตาคุ” การ์ตูน หรือแฟน ๆ มังงะ หรือผู้ที่ชื่นชอบประเทศญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่นั้นได้ร้อง “ว้าววว” กันไปตาม ๆ กัน
ประเด็นที่เป็นต้นเรื่องในบทความนี้ก็คือในภาค “วาโนะคุนิ” นี้อาจารย์โอดะผู้วาดและเขียนเรื่อง One Piece ได้ใส่รายละเอียดตัวละครที่มีนามว่า “เฮียวโกโร่” และ “เคียวชิโร่” มาด้วย ซึ่งสองตัวละครนี้เป็นบอสของยากูซ่ารุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ทำหน้าที่ปกครองเหล่านักเลงอยู่ในเมืองหลวง และด้วยลักษณะของ “ยากูซ่า” ที่อาจารย์โอดะ สื่อออกมานั้น “ยากูซ่า” มีความเป็นนักเลง มีศักดิ์ศรี รวมไปถึงมีหลักการในการดำรงตนอยู่ในสังคมเป็นอย่างมาก ต่างจาก “ยากูซ่า” ที่เราทั้งหลายได้รับรู้มาโดยตลอดเวลา เพราะคำว่า “ยากูซ่า” ที่คนส่วนใหญ่รับรู้นั้นคือองค์กรอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในหน้าสังคมอย่างเปิดเผย วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ “ยากูซ่า” ในเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจให้ได้รับชมกันครับ
ยากูซ่านั้นมีรากฐานมาตั้งแต่ในสมัยเอโดะของญี่ปุ่น หรือในช่วงปี พ.ศ. 2146-2410 ซึ่งเป็นยุคของการปกครองแบบ “โชกุน” ปกครองประเทศทั้งหมดในแต่ละแคว้นนั้นก็จะมีตระกูล “ไดเมียว” ประจำเมืองตั้งตัวเป็นใหญ่ทำหน้าที่ปกครองแคว้น ซึ่งแตกต่างจากการปกครองของญี่ปุ่นแบบเดิม ที่จักรพรรดิและขุนนางจะมีบทบาทในการการปกครอง ซึ่ง ไดเมียวที่ว่านี้จะทำการซ่องสุมกำลังหน่วยซามูไรรับใช้ และไพร่พลทหารในปกครองของตน ไว้คอยทำหน้าที่ปกป้องดูแลความสงบเรียบร้อยในแว่นแคว้น รวมไปถึงการต่อสู้กับพวกโจรผู้ร้าย และกลุ่มอื่นที่รุกรานเข้ามา เพื่อปกป้องเมืองและชุมชนของพวกเขา หรืออีกนัยหนึ่งการซ่องสุมกำลังเอาไว้เพื่อตีแคว้นอื่นเมื่อสบโอกาสนั่นเอง
แต่ในที่นี้ก็จะซามูไรบางส่วนที่ถูกเรียกว่า “คาบูกิโมโน” ที่เป็นซามูไรเช่นกันแต่มีนิสัยประหลาดและออกจะเพี้ยน ๆ หน่อย โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งกาย ซึ่งมักจะมีทรงผมแปลก ๆ การแต่งกายสีฉูดฉาดชนิดที่เห็นแล้วต้องขยี้ตา ว่าสายตาเราเพี้ยนสีไปหรือไม่ ซึ่งซามูไรกลุ่มนี้มักจะทำการอ้างตัวเป็นผู้รับใช้โชกุน เรียกร้องค่าคุ้มครองจากชาวบ้าน ประกาศตัวเป็นผู้พิทักษ์รักษาระเบียบ และป้องกันชุมชนจากผู้คุกคามภายนอก ประหนึ่งว่าเป็นวีรบุรุษที่ยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนผู้ยากไร้และคนที่ไม่มีทางสู้ แต่แท้จริงแล้วก็เอาเงินเอาทองไปบำเรอตนนั่นเอง และนี่แหละครับต้นกำเนิดของ ยากูซ่า ที่เป็นรากฐานมาจนถึงปัจจุบัน
โดยหากพิจารณาตั้งแต่รากศัพท์นั้น คำว่า “ยา-กู- ซ่า” สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ฮาจิ-คุ-ซัน” ซึ่งทั้งหมดหมายถึงตัวเลข 8, 9 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากการเล่นไพ่ “โออิโช-คาบุ” ของญี่ปุ่น ซึ่งถ้าหากเลขชุดสามตัวนี้ปรากฎบนมือเมื่อใด ให้รู้ไว้ได้เลยว่าคุณนั้นโชคร้าย ไพ่ที่ถืออยู่บนมือนี้เป็นไพ่ที่แย่ที่สุด โอกาสที่จะชนะในเกมส์เป็นไปได้ยาก การจะพลิกเกมส์กลับมาชนะคู่ต่อสู้จะต้องใช้ฝีมืออย่างมากในการเล่น เปรียบเสมือนกับองค์กรยากูซ่า ที่รับทำหน้าที่ในเรื่องที่ยาก หรือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จโดยไม่เกี่ยงวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาวหรือดำผิดถูกอย่างไร ก็ไม่เกี่ยงและจะทำให้สำเร็จนั่นเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งความหมายของเกมไพ่ หากคุณคิดจะเผชิญหน้ากับกลุ่ม “ยากูซ่า” นั่นหมายถึงความโชคร้ายที่คุณจะได้รับจากการเป็นปฏิปักษ์นั่นเอง
ยากูซ่านั้นมีความสำคัญมากขึ้น ๆ ในแต่ละยุค จากเดิมทีที่เป็น กลุ่ม “คาบูกิโมโน” เล็ก ๆ หรือเพียงแค่กลุ่มมิจฉาชีพไม่กี่คน ที่อาศัยความรุนแรงก่อเหตุรีดไถชาวบ้าน มาในปัจจุบันนี้ ยากูซ่า ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะยากูซ่านั้นได้กลายเป็น “Fixer” หรือ “ห่วงข้อกลาง” ทำหน้าที่เป็นผู้คอยเชื่อมสัมพันธ์ในธุรกิจและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ของสังคม จากด้านสว่างไปยังด้านมืด หรือจากด้านมืดไปสู่ด้านสว่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลระดับสูงในสังคม และอำนาจของยากูซ่าในปัจจุบันไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยากูซ่าได้แฝงตัวเข้าไปอยู่ตามองค์กรใต้ดินและบนดินต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ยากูซ่าถูกยกระดับให้เป็นองค์กรอาชญากรรมระดับโลกในที่สุด
อีกทั้งยากูซ่ายังสามารถเป็นที่พบตัวและสังเกตุได้ง่าย เพราะกล่าวกันว่า “ยากูซ่า” ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันในเรื่องของการแต่งตัวมาตั้งแต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมาจากกลุ่มมาเฟียอย่าง “อัลคาโปน” นั่นเอง การแต่งตัวของยากูซ่า จะเน้นการแต่งตัวและการทำผมที่ไม่เหมือนใคร นิยมใส่สูทสีฉูดฉาด โดยเฉพาะระดับหัวหน้าจะมีเครื่องประดับระยิบระยับเต็มร่างกายไปหมด เรียกได้ว่าแต่งกายได้โอเวอร์เกินความจำเป็นอย่างมากนั่นเอง (ตามข้อมูลว่าอย่างนั้นนะครับ แต่เอาจริง ๆ ก็โอเวอร์มาตั้งแต่สมัยเป็น “คาบูกิโมโน กลุ่มซามูไรเอาแต่ใจที่แต่งตัวเพี้ยน ๆ จากยุคเอโดะแล้ว) นอกจากนี้กลุ่มยากูซ่ายังนิยมใช้รถทรงยุโรปคันโต ต่างจากคนญี่ปุ่นในชาติที่มีความชาตินิยมใช้รถที่ผลิตจากชาติของตนนั่นเอง
สิ่งที่เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของ ยากูซ่า คือ รอยสัก หรือ Irezumi ในสมัยนี้ยากูซ่าจะนิยมสักเอาไว้เปลือยโชว์ อันเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศสังกัดและประกาศศักดา ซึ่งแตกต่างจากยากูซ่าในสมัยก่อนซึ่งจะมีความเข้มงวดในเรื่องของการสักอย่างมาก รอยสักของยากูซ่าในสมัยก่อน 1 รอย จะหมายถึงการที่ยากูซ่าคนนั้น ๆ ได้ทำเรื่องชั่วร้ายหรือได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือได้ทำกระทำภารกิจครั้งยิ่งใหญ่ขององค์กรมาได้หนึ่งครั้ง ดังนั้นหมายความว่ายากูซ่า ที่มีรอยสักเต็มตัวหมายถึงผู้ที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาอย่างโชกโชนเป็นที่น่าเกรงขามนั่นเอง อันนี้เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะพ้องเหมือนกันหรือเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบของไทยจากญี่ปุ่นหรือเปล่า โดยกลุ่มอันธพาลหรือผู้ต้องหาที่ต้องคดีติดคุกในเรือนจำของไทยเองนั้น ก็มีวัฒนธรรมการสักเช่นกัน หากใครที่สักหน้าบริเวณใกล้ดวงตา มีความหมายว่าคน ๆ นั้นได้สังหาร หรือฆ่าคนตายภายในเรือนจำมาแล้วนั่นเอง
ยากูซ่านั้นแม้จะเป็นกลุ่มอาชญากรรมที่อันตราย แต่ก็เป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในเรื่องของสัจจะคำพูด ยากูซ่าจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่และคำพูดของตนอย่างเคร่งครัด สิ่งใดที่ได้รับ
มอบหมายและได้ตกปากรับคำไปแล้วจักต้องกระทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วง และสำหรับยากูซ่าที่ไร้ซึ่งสัจจะมีพฤติกรรมที่ออกนอกลู่นอกทางหรือแตกแถว ก็จะมีบทลงโทษต่าง ๆ ไล่ระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้
การลงโทษของยากูซ่ามีทั้งหมด 7 ขั้นไล่จากหนักไปหาเบา ได้แก่
1. เซทสึเอน-ตัดขาดออกจากกลุ่ม
2. อะมน-ไล่ออกจากกลุ่ม
3. โชะบาโร-การจ่ายค่าปรับ
4. ยุบิทสึเนะ-ตัดนิ้ว
5. โคคะคุ-ลดตำแหน่ง
6. คินชิน-กักบริเวณ
7. คันปะทสึ-ตัดผม
ยากูซ่านั้นเป็นกลุ่มที่ตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการและเปิดเผย ปัจจุบันมีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งมีสมาชิกมากตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น นอกนั้นจะเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามเขตและตามชุมชนต่าง ๆ มีสมาชิกเป็นจำนวนหลักร้อย แต่ถึงอย่างไรก็ตามกลุ่มอาชญากรรมก็คือกลุ่มอาชญากรรม ไม่มียากูซ่าคนใดอยู่คำฟ้า ยากูซ่าส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงวัยหนุ่มไปจนถึงช่วงวัยกลางคน น้อยนักที่จะอยู่ยืดยาวไปจนแก่เฒ่า และทั้งหมดยังถูกขึ้นบัญชีดำจากทางการอีกด้วย