สายนํ้าที่ไหลกลับ ตอนที่สิบสาม
มหะหรํ่าเรียมคอยเคร่า ไม่เห็นเจ้าเศร้าเสียใจ
“ย่าใหญ่...เป็นคนสมัยกรุงเก่า บ้านคุณย่าอยู่ริมคลองบางหลวง ช่วงสะพานเจริญพาศน์
ย่ามีความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวแต่หนหลัง ตั้งแต่พวกเรายังไม่เกิด
วันไหนที่มีเวลาว่าง ย่าก็จะพาเดินมาจากบ้านปู่ในคลองสมเด็จเจ้าพระยา มาหาย่าใหญ่ที่คลองบางหลวง
ในช่วงเวลาที่มีความสุข ของย่าใหญ่ที่มีเรื่องมากมายเล่าให้ลูกหลาน นัยน์ตาปริบ...ปริบนั่งบ้างนอนบ้างฟัง
ความผูกพันของพวกเราจึงมีอยู่กับย่าใหญ่ ที่เราเรียกกันว่า “บ้านเจริญพาศน์”
มองข้ามจากคลองบางหลวง หน้าบ้านของย่าใหญ่ จะเห็นสุเหร่าแขกรูปร่างแปลกแตกต่างไปจากบ้านเรือนริมคลอง
สุเหร่านั้นก่อสร้างด้วยไม้มีสลัก เสลาลวดลายแบบบ้านขุนนาง ที่ปลูกสร้างสองฝั่งคลอง ย่าบอกว่า
“สุเหร่าแขกมาจากกรุงศรีอยุธยา”แขกพวกนี่ก็คือคนที่มาจากเปอร์เซีย เคยรับราชการตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระนารายณ์เมื่อกรุงแตก
แขกพวกนี้ช่วยกู้ชาติร่วมกับพระเจ้าตากสินเมื่อสิ้นศึกสงคราม จึงได้รับพระราชทานที่ดินให้สร้างเป็นถิ่นฐานบ้านช่องอยู่อาศัย ทำนองเดียวกับคนจีนที่ช่วยทำสงครามกับไอ้พม่าข้าศึก
จีนเก่าเหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า “จีนหลวง”
แขกพวกนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “แขกหลวง” ได้เช่นกัน “ย่าใหญ่” บอกเช่นนั้น
แต่เดิมแขกพวกนี้อยู่ที่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา แต่ภายหลังถูกเวนคืนที่ดิน ก็โยกย้ายเข้ามาสร้างสุเหร่าอยู่ในคลองบางหลวง
เหมือนพวกจีนกับพวกฝรั่งโปรตุเกสจะอยู่ปากคลอง แต่แขกจะถอยล่องมาอยู่ครึ่งทาง
เมื่อมีการสร้างสะพานแรกข้ามคลองแห่งนี้ คือ “สะพานเจริญพาศน์” ในแผ่นดินของ
“สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” (รัชกาลที่ 6)
คลองในคลองบางหลวง ก็เรียกแขกพวกนี้ว่า “แขกกุฎีเจริญพาศน์”
แต่คนแขกจะเรียกว่า “กุฎีกลาง”
“ย่าใหญ่” ลำดับความเรื่องกุฎีของแขกอิสลามว่า
กุฎีแรกอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา จึงเรียก “กุฎีบน”
กุฎีสองก็คือกุฎีที่อยู่ริมคลองบางหลวง จึงเรียกว่า “กุฎีกลาง”
ส่วนที่ถัดไปก็ยังมีอีก กุฎีล่างเป็น “กุฎีต้นสน”
คำว่า “กุฎี” คนละแวกแถบนี้จะรู้ว่าแตกต่างไปจากคำว่า “กระดี” แตกต่างกันตรงที่
กุฎีจะใช้กับสุเหร่าหรือมัสยิดอิสลาม
คำว่า “กระดี” มักจะใช้กับวิหารหรือศาลเจ้าของพุทธศาสนา อย่างจีนปากคลองบางหลวง
ที่อยู่ติดกับ “วัดกัลยาฯ” ก็จะถูกเรียกว่า “กระดีจีน”
เรื่อง “กุฎีแขกหรือกระดีจีน” มีเรื่องเล่าจากความช่างคิดประดิษฐ์คำของย่าใหญ่ที่มักจะเล่าคำคล้องจองให้จดจำกันง่ายว่า
“พวกสามกระดีสี่สุเหร่า”
เมื่อเยาว์วัยก็ไม่เข้าใจคำที่ย่าสรุปเอาไว้ แต่เมื่อเติบใหญ่ได้ศึกษาจึงได้รู้ว่า
สามกระดี...สี่สุเหร่า ก็คือชุมชนชาวมุสลิมอิสลาม ที่มาอยู่รวมกันในคลองบางหลวง
ที่จะมีทั้ง “กุฎีบน...กุฎีกลาง และกุฎีล่าง” เมื่อรวมความนับแล้วก็ได้สี่กุฎีหรือสี่สุเหร่าอย่างที่ย่าเล่า
แต่หากจะรวมความก็ต้องเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “แขกหลวง” ได้เช่นเดียวกันกับพวกจีน
“ย่าใหญ่” เล่าว่า ที่มีความรู้เรื่องชาวมุสลิมทั้งหลาย ก็เพราะเชื้อสายของย่าก็เป็นแขกที่มาจากเปอร์เซีย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา
จะเห็นได้จากอาหารหวานคาวที่ย่าทำให้เด็กกินกัน มักจะมีกลิ่นอายของแขก
อย่างแรกที่พวกเราจดจำกันได้คือ “แกงมัสมั่น” สมัยย่านั้นเรียกแกงนี้ว่า “แกงสะระหมั่น”
แต่หลังจากกาพย์เห่เรืออาหารหวานคาวของ “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ” ทรงพระราชนิพนธ์ว่า
“มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา”
คำว่า “แกงสะระหมั่น” ก็ถูกเรียกตามมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากทำแกงแบบมุสลิมได้อร่อยลํ้าแล้ว “ย่าใหญ่” ยังมีฝีมือในการปรุงนํ้าหวาน
ให้เด็ก...เด็กดื่มกินกัน ย่าเรียกว่า “นํ้าชะระบัด”
นํ้าชะระบัดจะมีรสหวานและมีกลิ่นหอมเครื่องแขก เด็กจะเรียกกลิ่นอายของอาหาร
ที่มีเครื่องเทศแปลก...แปลกว่า “เครื่องแขก”
ย่าเล่าว่าความหวานของนํ้าระบันมาจากนํ้าอ้อยแดงคั้น ส่วนกลิ่นหอมมาจากการเผาไหม้กำยานกับเครื่องเทศของอิสลาม
อาหารหวานคาวของอิสลามที่ย่าทำก็มีอีกชนิดเรียกว่า “ขนมกวนซูมอ”
ย่าเล่าว่าจดจำมาจากพวกแขกทำกินกันในเทศกาล “อาซูรออ์” คนในคลองบางหลวงก็จะได้รับแจกแบ่งปันมาจากพวกอิสลามที่ทำกินกันในเทศกาลนี้
เรื่อง”วันอาซูรออ์” ที่ย่าเล่า พวกเด็ก...เด็กจะเรียกว่า “วันแห่เจ้าเซ็น”
เป็นงานแห่ของคนมุสลิมในคลองบางหลวงจะทำปีละครั้ง
พวกเด็กเราก็จะตื่นเต้นที่จะไปดูแขกเต้นเจ้าเซ็น เป็นสิ่งแปลกแตกต่างไปจากแห่ไทยแห่จีน เมื่อคนที่จะร่วมพิธีจะต้องแต่งชุดดำ แล้วจะเดินทุบอกชกตัว
บางคนเอาของมีคมกรีดหัวกรีดศีรษะ ย่าใหญ่เรียกว่า “พิธีขวั่นหัว” ให้เลือดออกเต็มตัว
ดูแล้วน่ากลัว บางทีก็จะมีพิธีลุยไฟ แขกเจ้าเซ็นจะร้องรำทำเพลง อย่างที่เด็กไม่เข้าใจ ใครใจกล้าก็ยืนดูหรือบางทีก็ต้องแอบดู
ใครใจไม่ถึงก็จะรีบกลับบ้าน
จากพิธีการทางศาสนานี้ จึงมีพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ว่า
“ดลเดือนเรียกมหะหรํ่า ขึ้นสองคํ่าแขกตั้งการ
เจ้าเซ็นสิบวันวาร ประหารอกฟกฟูมนัยน์”
แต่พระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ทรงไว้อย่างอ่อนหวานเช่นกันว่า
“มหะหรํ่าเรียมคอยเคร่า ไม่เห็นเจ้าเศร้าเสียใจ
ลูบอกโอ้อาลัย ลาลดลํ้ากำสรวลเซ็น”
...“ย่าใหญ่” จากคลองบางหลวงไปแล้ว แต่ความทรงจำก่อนเก่าที่ได้มาจากคำบอกเล่าของย่า
ยังเรียกวันวาร คืนกลับมาได้ไม่ลืมเลือน...
TEXT : สันติ เศวตวิมล