เจี่ยงอี๋ สะพานเชื่อมวัฒนธรรมในโลกหนังสือภาษาอังกฤษ

เจี่ยงอี๋ สะพานเชื่อมวัฒนธรรมในโลกหนังสือภาษาอังกฤษ

เจี่ยงอี๋ (1903-1977) มีนามอักษร 字 ว่า จ้งหย่า 仲雅 เกิดในปี 1903 เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวกระแสความคิดใหม่ในเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 เขาอยู่ในวัยหนุ่มและได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย

ปี 1926 เขาเรียนจบจากสาขาวิชาวิศวกรรมเคมีของมหาวิทยาลัยตงเป่ย แล้วได้งานเป็นครูมัธยม ต่อมาได้งานใหม่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยจี่หนาน

ปี 1926-1931 เป็นข้ารัฐการระดับอำเภอ แต่ชีวิตการงานไม่ราบรื่นเกิดความขัดแย้งทางความคิดกับผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่มองว่าเขาเป็นพวกคนหนุ่มเลือดร้อน ปี 1933 เจี่ยงอี๋เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษโดยใช้ทุนส่วนตัว (เขาสอบชิงทุนไม่ผ่าน-ครอบครัวไม่ได้รํ่ารวย) สาเหตุการเดินทางไปเรียนหนังสือน่าจะมาจากปัญหาการงานมากกว่าอย่างอื่น

ตอนที่ออกจากเมืองจีน ภาษาอังกฤษของเจี่ยงอี๋ค่อนข้างอ่อน และเขาไม่ได้วางแผนว่าจะอยู่ต่างประเทศในระยะยาว

ปี 1931 ก่อนที่เขาจะเดินทางไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษนั้นในเมืองจีนเป็นช่วงเวลาที่เริ่มเกิดการรบกับญี่ปุ่น ปี 1933 ที่เขาเดินทางออกจากประเทศจีน สงครามกินพื้นที่ไปกว้างพอสมควร ครั้นพอถึงปี 1937 ญี่ปุ่นก็รุกรานไปทั่ว เกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่นไปทุกหนแห่ง

ช่วงสงครามญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาที่อำนาจการเมืองการทหารอยู่ในมือของกว๋อหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) พวกขุนศึกทำสงครามภายในกับกองกำลังของพลพรรคคอมมิวนิสต์จีนควบไปด้วย ช่วงเวลาที่เจี่ยงอี๋อยู่ในประเทศอังกฤษจึงเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเวลานั้น มีคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับจีนด้วยภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกอยู่ 2 คน คือ หลินอวี่ถาง (หนังสือไทยหลายเล่มเรียกเขาว่า “หลินยู่ถัง” อีกคนหนึ่งคือ เพิร์ล เอส บัค

เจี่ยงอี๋ในวัย 30 ที่มิได้รู้ภาษาอังกฤษในระดับน่าทึ่ง สามารถมีหนังสือภาษาอังกฤษออกตีพิมพ์จำหน่ายในลอนดอนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางทีอาจต้องมองว่าโชคชะตามีส่วนอยู่มากที่ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนขายดีในช่วงเวลานั้นของโลกตะวันตก

บิดาของเจี่ยงอี๋มิได้รํ่ารวย แต่มีฝีมือด้านศิลปะพอที่จะเขียนรูปขายหาเงินเข้าบ้านด้วย เจี่ยงอี๋ได้พื้นฐานวิชาอักษรศิลป์และการเขียนรูปตามขนบจีนจากบิดา นั่นทำให้เขาได้งานเรียบเรียงข้อมูลนิทรรศการศิลปครั้งใหญ่ในลอนดอน ซึ่งกำลังหาคนทำหนังสือแนะนำศิลปะจีน

เจี่ยงอี๋เดินทางไปอังกฤษในปี 1933 ในเวลานั้นเขามีความรู้ภาษาอังกฤษจำกัดมาก

แต่ในปี 1935 เขาก็มีผลงานหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรก ชื่อ “จิตรกรรมจีน” (The Chinese Eye) เป็นหนังสือที่ขายดีตีพิมพ์ซํ้าหลายครั้ง เขามี Inness Jackson หญิงสาวชาวอังกฤษเป็นผู้ช่วยตรวจทานความถูกต้องของต้นฉบับอย่างละเอียด

Inness Jackson สำเร็จการศึกษาเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Oxford สนใจศิลปะจีนและประวัติศาสตร์ศิลปะจีนอย่างลึกซึ้ง และเป็นนักเรียนสาวสวยในชั้นเรียนภาษาจีนเบื้องต้นที่แผนกบูรพาศึกษามหาวิทยาลัยลอนดอนของเจี่ยงอี๋ แจ๊คสันในเวลามากมายในการตรวจแก้ต้นฉบับ The Chinese Eye ด้วยความทุ่มเท หนังสือเล่มนี้ขายหมดภายในเวลา 1 เดือน แล้วตีพิมพ์ซํ้าในทันที พอเดือนถัดไปก็มีฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ออกตามมา

ปี 1938 เจี่ยงอี๋ออกหนังสือ”อักษรศิลป์ของจีน” เขาเขียนอุทิศให้แก่ C.Y.

Innes Jackson ใช้ชื่อภาษาจีน - เจี่ยเค่อเซียนเซิง - เจี่ยจิ้งหญู - C.Y. คือคำย่อรหัสที่เจี่ยงอี๋หมายถึงเธอ

เจี่ยงอี๋ใช้ชื่อ The Silent Traveller ออกหนังสือสารคดีได้หลายเล่ม ปี 1937 ประเทศจีนถูกญี่ปุ่นยึดครอง ตัวเขาอยู่ในอังกฤษ เกิดคิดถึงบ้านขณะกำลังเดินเล่นอยู่ริมบึง เขาเขียนรูปทิวทัศน์ที่เห็นตรงหน้าด้วยลีลาสีนํ้าแบบจีนจากพื้นฐานที่เขาได้เรียนรู้จากบิดาเมื่อครั้งยังเด็ก เขาเขียนความเรียงเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของตน เมื่อกลับไปลอนดอนแล้วเขาตั้งชื่องานเขียนชุดนี้ว่า The Silent Traveller In Lakeland นำไปเสนอสำนักพิมพ์

แต่สำนักพิมพ์ไม่มั่นใจกับการพิมพ์หนังสือของเขาออกจำหน่าย กระทั่งต่อรองว่าจ่ายค่าเรื่องด้วยหนังสือ 6 เล่มแทน ตอนแรกสำนักพิมพ์กังวลกับการใช้ชื่อ The Silent Traveller ว่าจะมีปัญหากับฝ่ายความมั่นคงของประเทศอังกฤษ แต่เจี่ยงอี๋ก็ยืนยันขอให้ใช้นามปากกานี้ ผลปรากฏว่าหนังสือขายหมดภายใน 1 เดือน และได้ตีพิมพ์ซํ้าอีก 8 ครั้ง

เจี่ยงอี๋ยอมรับด้วยตัวเองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือของเขาขายดีในโลกตะวันตก เป็นเพราะพวกทหารอเมริกันซื้อหนังสือของเขาซึ่งมีรูปสวย ๆ ส่งเป็นของขวัญคริสมาสต์กลับไปให้ครอบครัวในยามสงคราม การที่คนไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษสามารถมีหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแล้วเล่มเล่าออกจำหน่ายในโลกตะวัน ย่อมไม่ใช่เพียง “โชคดี” หรือ “บังเอิญ” หนังสือภาษาอังกฤษมากกว่า 20 เล่มของเจี่ยงอี๋ก็ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญเช่นกัน ความมานะบากบั่นและการพยายามพัฒนาตัวเองของเขาเป็นสิ่งควรค่าแก่การน้อมคารวะ

TEXT : เรืองรอง รุ่งรัศมี

สะพานเชื่อมวัฒนธรรมในโลกหนังสือภาษาอังกฤษ