ลินดา เจริญลาภ
ผ้าฝ้ายถักทอด้วยมือลวดลายตาราง หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า ผ้าขาวม้า นอกจากจะไว้นุ่งห่มแล้วยังสามารถผูกทำเปล โพกศีรษะกันแดด นุ่งอาบน้ำ ทำผ้าอ้อมสำหรับเด็ก ฯลฯ เรียกได้ว่าคุณประโยชน์เอนกประสงค์เลยทีเดียวและอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน
แต่วันนี้ผ้าขาวม้าบ้าน ๆ ของเราได้สร้างความฮือฮาขึ้นตื่นตาตื่นใจที่รันเวย์งาน Amazon Fashion Week Tokyo 2017 ดังไกลถึงญี่ปุ่นเลยทีเดียว ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่ารันเวย์นี้ติดอันดับ 1 ใน 5 เวทีแฟชั่นโลกรวมยังยังได้นางเอกร้อยล้าน ออกแบบ ชุติมณฑน์ ใส่เสื้อผ้าลายเก๋ไก๋ขึ้นปก MiX มาแล้วใน Issue 127
ด้วยความฝันของ ลินดา เจริญลาภ จริง ๆ แล้ววัยเด็กเธอนั้นมีความฝันที่จะเป็นดีไซน์เนอร์ แต่ในช่วงนั้นที่เมืองไทยยังไม่มีคณะแฟชั่นดีไซน์ เธอก็เลยเลือกที่จะเรียนสาขาวิชาโฆษณาที่ ม.รังสิต พอหลังจากเรียนจบเธอก็ได้มีโอกาสทำงานอยู่ที่เมืองไทยสักพัก ก่อนที่จะขยับขยายมุ่งไปเรียนตรงสายที่ตัวเองชอบ
“หลังจากนั้นก็เลยไปเรียนต่อทางด้านถ่ายภาพและดีไซน์ที่ London College of Fashion สังกัด University of the Arts London ในระหว่างเรียนนั้น เราก็ทำงานเสริมไปด้วยก็คือไปเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร ระหว่างนั้นก็ได้ทำ Curriculum Vitae (CV) ไปยื่นให้กับร้านเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ ๆ โรงเรียน โชคดีด้วยว่าร้านเสื้อผ้าแถวนั้นเป็นร้าน Super Brand หมดเลย จากนั้นก็มีโอกาสไปทำงานที่ Shop Gucci เป็นพนักงานขายนะ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย
“ประสบการณ์ที่เราได้จากการทำงานในตำแหน่ง Sale Advice มันก็ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ Luxury Brand ทั้งการขาย การจัดวาง ทุกอย่าง ก็คิดว่ามันตรงจุดเพราะเราเรียน Styling ไปด้วย หลังจากเรียนจบก็เป็นการก้าวอีกสเต็ป จากพนักงานขาย ได้ไปเป็น Visual Merchandiser ที่ Shop Moschino ดูแลในเรื่องการจัดร้าน จัดหน้าร้าน จัดหลังร้าน
“การทำงานที่เมืองนอกมันไม่ได้เงินนะคะ เพราะว่าเราเพิ่งจบมาด้วยแล้วอยากจะมีชื่อ เราก็ต้องยอมทำให้ฟรี เพราะคนเข้าไปก็ยาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ตอนนั้นทำงานช่วงจันทร์-ศุกร์ มีทั้งงานประจำ ก็เลยคิดว่าน่าจะหารายได้พิเศษช่วง เสาร์- อาทิตย์ ก็เลยออกแบบลายเสื้อยืดและก็ทำเสื้อยืดขายที่ตลาดนัดสุดสัปดาห์ Spitalfields Markets กับ Portobello Market ซึ่งตลาดทั้งสองก็เปิดมาแล้วร้อยกว่าปี จะเป็นสถานที่ให้ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่เอาของไปเสนอขาย ถ้าเขาโอเค เราก็จะได้ขาย ใช้ระยะเวลาหลายเดือนกว่าที่เราจะได้เข้าไปขาย
“พอเข้าไปขายแล้วปรากฏว่าสามารถขายได้ เพื่อนก็ไปอุดหนุนกัน ทำให้ได้เม็ดเงินจำนวนหนึ่งมา จนไม่ต้องทำงานประจำที่ Shop Moschino ก็ได้ จึงลาออกจากงานประจำ แล้วมาทำงาน Stylish เต็มตัว ควบคู่กับการขายเสื้อยืด จากนั้นก็ได้ขยับขยายเป็นแบรนด์ LALALOVE เราก็ต้องออกแบบเสื้อผ้าหลากหลายทรงมากขึ้น ก็เลยเปิดเป็นร้านที่ Topshop บนถนน Oxford Street เป็นที่แรก ตอนแรกชื่อ LALALOVE LONDON ค่ะ แต่พอย้ายกลับมาที่ไทย ก็เลยตัดเป็น LALALOVE เฉย ๆ
“ด้วยงานของเราหรือคอนเซ็ปต์ของเราก็จะเป็นลายพริ้นต์แบบสนุก ๆ ค่ะ ทางบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ไปเห็น เขาอยากได้แบรนด์ที่ค่อนข้างมีความสนุก และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็สอดคล้องกับแบรนด์ของเรา ก็เลยตัดสินใจหยิบผ้าไทยมานำเสนอ ซึ่งจริง ๆ แล้วผ้าไทยก็เป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ แต่เราไม่มีเวลาทำ เพราะ Cotton ที่เราใช้ทำอยู่ก็ใช้จากเมืองไทยนี่แหละ บางอันก็เป็น Organic ด้วยซ้ำ โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจมาก เพราะมันดีกับชุมชน ดีกับประเทศชาติด้วย ในการที่เราใช้ผ้าที่มาจากชาวบ้านจริง ๆ นำมาแปรรูปให้มันเป็นอัตลักษณ์ใหม่ แล้วทำให้ Global มากขึ้น โดดเด่นทันสมัย เพื่อที่คนไทยจะได้หันกลับมามอง ก็เลยทำเป็นคอลเลคชั่นออกมา
“ทำทุกอย่างค่ะ ทั้ง PR Concept การลงพื้นที่หมู่บ้าน เลือกผ้า ทั่วไทยเลยค่ะ จากมือคุณลุงคุณป้า เราเห็นแล้วมันอิน เมื่ออินแล้วเราก็อยากจะทำให้มันออกมาดี ๆ ถามว่าดีที่สุดไหม มันไม่มีคอลเลคชั่นไหนที่ดีที่สุดหรอก มันต้องดีไปเรื่อย ๆ มันคือการพัฒนาร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้ง LALALOVE, ประชารัฐ รวมถึงชาวบ้าน ผลตอบตอบรับดีมาก ๆ ตอนนั้นเราก็ตัดสินใจที่จะไปจัดแฟชั่นโชว์ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพราะว่าเขาสนใจในเรื่องของผ้าใยธรรมชาติมาก แต่ว่าก็ต้องผ่านการคัดเลือกหลายรอบกว่าจะได้เข้าไป ซึ่งผลงานที่คิดว่าระดับมาสเตอร์พีซ ก็ที่ Amazon Fashion Week Tokyo 2017 นี่แหละค่ะ
“ท้ายนี้อยากจะฝากให้ให้ดีไซน์เนอร์คนอื่น ๆ รวมถึงน้อง ๆ รุ่นใหม่ ได้เข้ามาช่วยนำเสนอผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะตัวพี่เอง มันต้องช่วยกันค่ะ เพราะว่าผ้าใยธรรมชาติในเมืองไทยมีเยอะมาก หลากหลายชนิด ถ้าหาเราช่วยกันเงินก็จะหมุนเวียนในประเทศไทยเรานี่แหละ ไม่รั่วไหลไปที่อื่นแน่นอน”