ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ท่านเป็นนักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สหรัฐอเมริกา) และอีกหลายมหาวิทยาลัย ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) อดีต ส.ส. และที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยทำงานในด้านของการขับเคลื่อนนโยบายประเทศ เคยเขียนหนังสือกว่า 200 เล่ม และนี่คือทรรศนะของท่านในเรื่องของการทำความดี
“งานด้านสังคม ผมได้ก่อตั้งกองทุนเวลาเพื่อสังคม ชวนให้คนทำความดีโดยไม่ต้องใช้เงิน ให้เวลาสักชั่วโมงต่อเดือนไปทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม หรือว่าสมัชชาสยามอารยะ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนทั้งประเทศที่มีใจเป็นห่วง อยากสร้างสรรค์ประเทศให้เจริญ ช่วยสนับสนุนประเทศชาติ รวมทั้งได้มีโอกาสเป็นประธานสมัชชาเศรษฐอารยะ เป็นสถาบันการสร้างชาติซึ่งจัดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ เพื่อจะช่วยรวมคนทั้งภาคส่วนภาครัฐภาคเอกชนภาคประชาชนมารวมตัวกันสร้างประเทศให้เจริญ อย่างนี้เป็นต้น รวมไปถึงงานด้านสื่อมวลชนตลอดชีวิตที่ผ่านมาตลอดชีวิต 60 กว่าปี
“ผมมีโมเดลเรียกว่า 4 วิน โมเดล คือ ชนะ ชนะ ชนะ ชนะ ความหมายก็คือ ส่วนตัว ส่วนร่วมส่วนเรา ส่วนรวม สี่ตัวนี้ผมนิยามไว้เหมือนกับสมมติว่าเราเป็นคนคนหนึ่งส่วนตัวคือตัวเรา ส่วนร่วมคือเรากับใคร หรือเรากับกลุ่มไหน ที่เราทำอะไรลงไปแล้วประโยชน์เกิดร่วมกันระหว่างตัวเราและกลุ่มนั้น เราเรียกว่าส่วนร่วม ส่วนเรานั้นก็คือสิ่งที่เราทำไปเราเองได้ทั้งไม่เพียงแต่ตัวเรากับคนที่เป็นส่วนร่วมกับเราแต่คนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนได้ไปด้วย นี่เรียกว่าส่วนเรา เช่นเราทำลงไปชุมชนได้ บริษัทได้ ประเทศได้ อย่างนี้เป็นต้น ส่วนรวมก็คือ ใครก็ตามที่อยู่ในปริมณฑลของจักรวาลแห่งองค์ประกอบทั้งหมดแม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เราทำเลยได้ประโยชน์เรียกว่าส่วนรวม
“ชนะ ชนะ ชนะ ชนะ คือส่วนตัวได้ ส่วนร่วมได้ ส่วนเราได้ และส่วนรวมได้ แต่ในยามที่จำเป็นเราอาจต้องยอมเสียสละส่วนตัวให้ไม่ได้ ให้แพ้ซะ แล้วให้ส่วนร่วม ส่วนเรา ส่วนรวมได้ ผมเรียกว่าแพ้ ชนะ ชนะ ชนะ เพราะฉะนั้นชีวิตของคนดี คือคนที่ถ้าจำเป็นสละส่วนตนได้ เพื่อเห็นแก่ส่วนที่ใหญ่กว่าคือคนอื่น ผมเรียกว่า Other First หรือคนอื่นก่อน ฉะนั้นความดีในสายตาของผมคือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวนั่นแหละคือคนดี
“ถ้าเข้าใจอย่างนี้เราก็จะกลายเป็นคนที่ทำความดีเพื่อความดีไม่ใช่ทำดีเพื่อดูดี ซึ่งต่างกันมาก ความดีก็ดีแล้วที่ได้ทำ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นรู้ หรือไม่จำเป็นต้องแค่สร้างภาพให้ดูดี ฉะนั้นความดีในสายตาผมต้องจริงใจ ความดีเป็นแก่นแกนที่สำคัญยิ่งในชีวิต และเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต เพราะมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้จำเป็นจะต้องตัดสินใจระหว่างดีชั่วและถูกผิดเสมอ นิยามดีชั่วถูกผิดนี่สำคัญ เพราะบางคนนึกว่าที่ทำอย่างนั้นดีด้วยจริงใจ แต่ความเป็นจริงไม่ดี เราเห็นตัวอย่างของอุดมการณ์ที่คนเอาคนไปฆ่า เมื่อไม่นานนี้เราก็เห็นตัวอย่างชัด ๆ เลยคือ ไอเอส เอาคนไปทำร้ายไปฆ่า ในใจเค้าก็นึกว่าเค้าทำดี อันนี้อันตรายมากเมื่อคนเริ่มเพี้ยนในความคิด “ผมเชื่อว่าความดีนี่สำคัญมาก ดูตัวอย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ชัดเจนในการเห็นตามนิยามนี้ เพราะท่านจะมีพระราชดำรัสให้คนได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ท่านทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรให้เห็นเลย ทรงเป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีที่สุด ที่พวกเราต้องทำตามครับ “เงินทอง ชื่อเสียง ตำแหน่ง ทั้งหมดนี้เราควรใช้มันเพื่อเป็นประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเราก็อาจจะทำไม่ได้เต็มที่ ชื่อเสียงเราไม่ดีพอคนก็อาจจะไม่เชื่อถือ เงินทองเรามีไม่พอจะทำอะไรก็ติดขัด แต่เราควรที่จะไม่แสวงหามันเพราะเป็นทาสมัน เราควรให้มันเป็นผลลัพธ์แล้วเราใช้มันให้เป็นประโยชน์ ความเข้าใจอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าคนเราเอาความดีเป็นที่ตั้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
“ผมเชื่อว่าการนินทาเป็นแก่นเบื้องต้นของการทำลายสิทธิมนุษยชน สังคมไทยเป็นคนที่ชอบซุบซิบ ผมคิดว่าเราควรที่จะเตือนสติไม่เพียงรับฟังแต่เตือนสติคนทำ จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปลี่ยนไปเอาความดีเป็นที่ตั้ง ทุกวันนี้เรายิ่งถลาไปนับถือคนรวย คนมีอำนาจ คนมีตำแหน่ง เราต้องหันไปนับถือคนที่ทำความดีแทนครับ”