Zaha HAdid

Zaha HAdid

ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้รับข่าวเศร้าในวงการนักออกแบบ ด้วยการจากไปของ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงชื่อก้องโลกชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักในวัย 65 ปี ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะงงและสงสัยว่าเธอคนนี้เป็นใครและมีความสำคัญในวงการออกแบบอย่างไร ทำไมทั่วโลกให้ความสนใจและไว้อาลัยถึงการจากไปของเธอ ผมบอกได้คำเดียวว่าเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัล Pritzker Architecture Prize และได้รับการขนานนามว่า “Queen of the Curve” ของโลก ความสามารถของเธอจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อกันได้เลยครับ      

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนั้นสมัยผมอยู่ปี 2 ในตอนนั้นเป็นเวลาที่ผมได้ยินชื่อของ Zaha Hadid เป็นครั้งแรกจากอาจารย์ที่มา Critic งานของเพื่อนผมคนหนึ่ง เพื่อนผมคนนี้เป็นผู้หญิง เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มีผลการเรียนและความคิดในเชิงออกแบบระดับ Top ของรุ่น งานออกแบบต่าง ๆ ของเธอมักมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง ลวดลายที่ออกรุนแรงและดูล้ำสมัย จนอาจารย์ท่านหนึ่งได้กล่าวกับเธอว่า ผลงานของเธอนั้นเหมือน Zaha Hadid ยุคแรก ๆ 

ในตอนนั้นพวกผมถึงกับงงกันเป็นไก่ตาแตก ใครกัน...Zaha Hadid ในสมัยนั้นหนังสืองานที่รวบรวมผลงานออกแบบก็มีน้อย และ Search engine ก็ยังไม่ทันสมัยมีตัวช่วยเหมือนสมัยนี้ กว่าจะหามาได้แต่ละผลงานของเธอ ช่างรากเลือดเสียเหลือเกิน และด้วยความเวทนาจากอาจารย์ผู้สอน จึงได้ไปเสาะหาหนังสือภาพงานของเธอในราคาแสนแพงมาให้นักศึกษาดู ซึ่งเมื่อเห็นผลงานของเธอนั้น ทุกคนต่างอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า “โห...นี่มันเทพอะไรเบอร์นั้น” 

ผลงานของเธอเทพจริง ๆ ครับ แต่น่าเสียดายที่เธอแจ้งเกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สร้างเสร็จช้าไปหน่อย เพราะผลงานของเธอนั้นล้ำ และ Modern เกินยุคสมัยจนไม่มีใครกล้านำไปสร้าง ในตอนแรก ๆ มีหลายผลงานที่ชนะการประกวด และเตรียมที่จะสร้างหลายต่อหลายงานแล้ว แต่เธอกลับถูกยกเลิกไม่สร้างเอาดื้อ ๆ ผลงานของ Hadid ที่ออกแบบนั้นเป็นไปในรูปแบบ Deconstructivism คือไม่ยึดติดกับแบบโครงสร้างของตึกหรืออาคารสิ่งก่อสร้างเดิม ๆ แต่เธอจะเอาความคิดในเรื่องของ Function การใช้งานประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก และออกแบบรูปลักษณ์ให้เป็นไปในเชิงล้ำสมัยเหมือนหยิบเอาโลกอนาคตมาใส่ในแบบปัจจุบัน 

เอกลักษณ์ของผลงานที่สังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ รูปแบบอาคารที่มีโครงสร้างแบบโค้งเว้าอย่างหนักหน่วง และรายละเอียด Texture ที่แพรวพราว ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ผลงานหลาย ๆ ชิ้นของเธอจึงยังคงอยู่ในกระดาษเป็น Idea Design ที่ยังไม่ถูกสร้างจริง และกว่าจะสร้างจริงได้นั้นก็ปาเข้าไปเมื่อเธออายุ 43 ปี กับผลงานชิ้นแรกที่มีชื่อว่า “Vitra Fire Station” ของประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างในปี 1993 และแม้จะเป็นผลงานการแจ้งเกิดชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็ถือได้ว่าแจ้งเกิดได้อย่างสวยงาม 

หลังจากนั้นก็มีผลงานการออกแบบของเธอที่สร้างจริง เกิดขึ้นตามมาอีกเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ordrupgaard Museum Denmark 2005, Phaeno Science Center in Wolfsburg Germany 2005 หรือ Central building leipzig Germany 2005 และผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Hadid นั่นคือ London Aquatics Centre สนามแข่งขันกีฬาว่ายน้ำในงานโอลิมปิก 2008 ซึ่งโดดเด่นด้านการดีไซน์ด้วยเส้นโค้งในลักษณะคลื่นบนผิวน้ำ จนเธอได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งเส้นโค้ง Queen of the Curve ซึ่งอาคารดังกล่าว
หลังการใช้งานในโอลิมปิกและพาราลิมปิกแล้ว ก็ได้เปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไปในปี 2014 ที่ผ่านมา

และยังมีโครงการงานออกแบบที่เป็นผลงานของ Zaha Hadid ที่สร้างเสร็จแล้ว ที่กำลังสร้าง และที่กำลังวางแผนอีกนับไม่ถ้วนทั่วโลก การสูญเสียในครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแต่ในวงการออกแบบสถาปนิกเท่านั้น แม้แต่ในวงการออกแบบส่วนอื่น ๆ อาทิแฟชั่น เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ หลาย ๆ แบรนด์โดยเฉพาะแบรนด์ของผู้หญิง ต่างล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากเธอคนนี้ทั้งสิ้น Zaha Hadid จึงนับได้ว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ สิ่งที่เธอทำนั้นล้วนทรงคุณค่า และเราก็ได้สูญเสียดวงดาวอันทรงค่าไปแล้วในวันนี้...ขอให้วิญญาณของเธอไปสู่สุขคติ และขอให้ได้ไปช่วยเหลือพระเจ้าออกแบบสวรรค์ให้สวยงามด้วยเถิด... 

 

Queen of the Curve