ธีรภาพ โลหิตกุล

ธีรภาพ โลหิตกุล

หากใครชื่นชอบงานแนวสารคดีของไทย ชื่อของคุณธีรภาพ โลหิตกุล “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558 ย่อมเป็นชื่อที่คุ้นเคยและชื่นชม ผลงานสารคดีของท่านหลายต่อหลายชิ้น ทั้งในฐานะนักเขียน คอลัมนิสต์ โปรดิวเซอร์ ผู้เขียนบทรายการสารคดี เช่น รายการโลกสลับสี, อสท. ฯลฯ ยังคงตราตรึงในจิตใจของผู้อ่านเป็นอย่างดี

ย้อนไปในปี 2556 ท่านได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่มอบให้แก่นักเขียนผู้มีผลงานอันทรงคุณค่าและมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ต่อมาในปี 2557สามารถคว้ารางวัลวรรณกรรมนานาชาติลุ่มน้ำโขง (แม่โขงอะวอร์ด) ซึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า และส่งเสริมความสัมพันธ์หรือความเข้าใจอันดีของประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และต่อด้วยรางวัลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2558

ไม่บ่อยนักที่นักเขียนในสายสารคดีจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แม้โรคพากินสันจะเป็นอุปสรรคบ้างในการทำงานสารคดี แต่ทุกวันนี้ท่านก็ยังคงทำหน้าที่นักเขียนสารคดีเฉกเช่นเดิม หากเพียงไม่สามารถลงพื้นที่ได้ดังเดิมเท่านั้น ด้วยใจที่เข้มแข็งและความตั้งใจอันแน่วแน่ ทำให้เรารู้สึกได้ว่ารางวัลศิลปินแห่งชาตินั้นเหมาะสมกับท่านเป็นอย่างยิ่ง

“วัยเด็กของผมก็เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมด้วยหนังสือ ในห้องรับแขกเดิมเป็นห้องสมุด คุณพ่อเป็นนักสะสมหนังสือ เพราะฉะนั้นจึงมีหนังสือดี ๆรวมทั้งวรรณคดีชั้นเยี่ยมอยู่หลายเรื่อง ตื่นเช้าขึ้นมาก็เห็นแม่อ่านนิตยสารสกุลไทย พ่อนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ พี่ชายชอบอ่านสามก๊ก ส่วนผมเริ่มรักการอ่านจากรวมเรื่องสั้นชุดครูเขียว ของพันตำรวจโทปกรณ์ ปิ่นเฉลียว พออ่านมาก ๆ เข้าก็อยากเขียนหนังสือเองบ้าง 

“เมื่อเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ช่วง มศ.2 เพื่อนก็ชวนทำหนังสือ ตั้งชื่อหนังสือว่าเทพสนุก หมายความว่าให้เขียนเรื่องสนุก ๆ พอ มศ.3 ก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่ในหอสมุด คราวนี้ได้อ่านเยอะเลย ก็สงสัยว่าทำไมหนังสือบางเล่มที่เพื่อนนักเรียนยืมไปอ่านบ่อยมาก อย่างเช่น เพชรพระอุมา มีอะไรดีนะถึงมีคนยืมเยอะ ก็เลยอ่านบ้างทำให้ได้อ่านวรรณกรรมดี ๆ อยู่เสมอ พออ่านมาก ๆ เข้าก็อยากจะเขียน พอขึ้น มศ.4 ก็เข้าไปอยู่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ก็รับหน้าที่เป็นสาราณียกรทำหนังสือของชมรม ชื่อหนังสืออนุรักษ์ รายงานสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ทำให้นักเรียนโรงเรียนที่มีแต่ผู้ชายได้มีโอกาสเข้าไปในโรงเรียนที่มีผู้หญิงล้วนเพื่อจะขายหนังสือ พอกลับมาเพื่อน ๆ เรียกเราเป็นฮีโร่เลย ก็เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต ทำให้เราอยูกับการเขียนการอ่านมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนจบประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ตัดสินใจไม่ยากเลยเมื่อเพื่อนชวนไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์  

“เนื่องจากว่าเรามีประสบการณ์เขียนได้มากกว่าข่าวแล้ว ฉะนั้นเป็นนักข่าวได้แค่ 3 เดือนก็ถูกชวนไปเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารไฮคลาสในเวลานั้น ซึ่งเป็นนิตยสารไม่กี่ฉบับ(เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) ที่มีคอลัมน์สารคดี ผมรับผิดชอบเขียนสารคดี คือเป็นนักเขียนสารคดีไม่กี่คนในประเทศไทยในเวลานั้น เพราะว่าหนังสือต่าง ๆ ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสารคดี เราไปต่างจังหวัดเพื่อทำบทความสารคดีต่าง ๆ จ้างช่างภาพที่มีความสามารถไปทำงานคู่กับเรา ผมก็ได้เรียนรู้การถ่ายภาพจากช่างภาพด้วย ได้ทำสารคดีดี ๆ อยู่หลายปีจนกระทั่งมีคนชวนไปทำคอลัมน์สารคดีในนิตยสาร อสท. ทำอยู่ได้ไม่นานก็ถูกชวนให้ไปทำรายการทีวีโดยท่านอาจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นชีวิตวัยหนุ่มที่อยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ 

“ได้ข้ามห้วยจากการเป็นนักเขียนสารคดีอย่างเดียวมาทำรายการทีวี แล้วก็ได้ประสบการณ์อีกมากมาย โดยเฉพาะการที่ได้เปิดโลกของเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับตัวเราเอง และให้กับผู้ชมในสังคมเมืองไทย เริ่มจากลาวกัมพูชา ฯลฯ ทำให้ผมได้คลุกคลีทำความรู้จักประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนบ้านมานับตั้งแต่นั้นจวบจนบัดนี้ครับ”

โลกสลับสี

“หน้าที่ของผมในรายการทีวีก็คือ Script Writer เขียนบทสารคดี เวลาลงพื้นก็จะเป็นโปรดิวเซอร์ควบคู่ไปด้วย คือเป็นผู้ควบคุมการผลิตภาคสนาม เพราะฉะนั้นเราจะควบคุมทิศทางว่าจะถ่ายทำอะไร ถ่ายที่ไหน ถืองบประมาณไปด้วย ควบคุมการทำงานของทีมงานไปด้วย ประสบการณ์ในช่วงที่ทำสารคดีทีวีนั้น รู้สึกว่าเวลาหนึ่งปีของผมมี 24 เดือน คือใช้ประสบการณ์ทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นผู้นำ ปลุกเร้าทีมงานให้ไปทำงานยาก ๆ ที่ปัจจุบันนี้ไม่กล้าไปแล้ว เช่น การค้นหาต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตชายแดนไทย-พม่า ซึ่งใกล้กับพื้นที่อิทธิพลของขุนส่า ราชายาเสพติดของโลกในเวลานั้น มีเรื่องราวหลากหลายให้เราเรียนรู้ไม่รู้จบ ทำให้ชีวิตเหมือนกับคูณสอง 

“กลับจากภาคสนามก็เข้าไปคุมอยู่ในห้องตัดต่อเพื่อที่จะไปลิสต์รายการว่าไปถ่ายอะไรมาบ้าง บางครั้งหลับคามอนิเตอร์เพราะว่าเทปมันเยอะมาก มีนโยบายผลิตเพลงประกอบสารคดีเอง เราก็ต้องไปทำงานกับนักแต่งเพลง เช่น พี่จรัล มโนเพ็ชร ว่าเราต้องการเพลงอารมณ์ไหน ก็ต้องมานั่งคัดภาพ เขียนพล็อตเรื่องให้ พอเขาแต่งเสร็จก็ต้องไปนั่งฟัง มันเป็นงานที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อน แล้วมันก็ทำให้ผมเติบโตแทบจะในทุกสาขาเลย ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้ก็ทำให้ได้มีโอกาสต่อยอดจัดรายการวิทยุ เล่าประสบการณ์ที่เราได้เดินทางลงพื้นที่ อย่างเรารู้ว่านครวัดไปช่วงไหนถึงจะสวยก็เลยทำให้มีวิชาชีพอีกแขนงหนึ่งคือเป็นวิทยากรนำชม หรือว่าเป็นมัคคุเทศก์ทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบประวัติศาสตร์โบราณคดีซึ่งต้องการคำอธิบาย ผมก็จะไปเป็นผู้บรรยาย ยกตัวอย่างการไปนครวัด ผมไม่สามารถนับครั้งได้ เพราะว่ามันฮิตมากในช่วงนั้น ช่วงที่ไปถ่ายทำยังอันตรายอยู่ เพราะว่ายังมีการสู้รบ ช่วงประมาณปี 2532 จากนั้นก็กลับไปนำทัวร์ประมาณปี 2540 ซึ่งเขาเปิดประเทศแล้ว ไม่อันตราย

“เพราะฉะนั้นจากพื้นฐานของการเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักสะสมหนังสือ คุณแม่เป็นครู พี่ชายก็เป็นนักอ่าน ทำให้ผมได้ทำงานทั้งทางด้านทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แล้วก็รวมทั้งนำเที่ยวด้วย การที่ถูกปลูกฝังให้รักการอ่าน พาผมไปเรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย และพาผมไปสู่วิชาชีพที่หลากหลายมาก ถามว่าวิชาชีพสารคดีให้อะไรกับผม ผมบอกว่าเหมือนเป็นตั๋วเครื่องบินพาผมไปทั่วโลกเลย เพราะว่ามีโอกาสได้เรียนรู้และนำทัวร์ไปหลาย ๆ ประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศไทย”

สารคดีที่ดี

“ประเด็นต้องคม ข้อมูลต้องแน่น คุณลักษณะวิธีการนำเสนอต้องเฉียบ ประเด็นดี น่าสนใจ สะกิดต่อมความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์ แต่ข้อมูลต้องแม่นยำที่สุด หากผิด ๆ ถูก ๆ นำเสนอแย่ น่าเบื่อ ก็ไม่มีประโยชน์ หรือนำเสนอดี เทคนิคตัดต่ออย่างเยี่ยม เพลงเพราะมาก แต่ประเด็นไม่น่าสนใจ ข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ ก็ออกมาไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเนื้อหากับรูปแบบในระดับที่เท่า ๆ กันสารคดีที่ดีต้องมีเนื้อหาที่ดีแล้วก็มีรูปแบบมีการนำเสนอที่ดีด้วย อันนี้ผมเห็นว่าเป็นหัวใจอย่างยิ่งในการทำงาน 

“มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการนิตยสารอสท.ให้เขียนเรื่องโขง ชี มูล ก็นั่งคิดกันหัวแตกสุดท้ายก็ใช้วิธีไปสืบหาว่าใครที่จะมีโอกาสที่จะเดินทางทั้งสามลุ่มน้ำนี้ ใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ไปอยู่ที่โขงเจียม ผมถือว่าเป็นเมืองหลวงของโขง ชี มูล ก็พบว่ามีอาชีพอยู่อาชีพหนึ่งในอดีต ภาษาอีสานเรียกว่านายฮ้อย คือหัวหน้าคุมขบวนสินค้า ผมไปเจอนายฮ้อยคุมขบวนเรือเกลือสินเทา ไปเอาเกลือจากลุ่มน้ำชี แล้วก็ล่องเรือผ่านลุ่มน้ำมูล จนกระทั่งไปออกแม่น้ำโขง เอาเกลือไปขายที่เมืองปากเซฝั่งลาว พอเจอตัวละครตัวนี้เข้าถือว่าใช่เลยครับ ผมก็นำเสนอทัศนียภาพหรือธรรมชาติของโขง ชี มูล ผ่านสายตาพ่อเฒ่าคนนี้ซึ่งอดีตเป็นนายฮ้อยคุมเรือสินค้าผ่านลุ่มน้ำนี้ทั้งสามลุ่มน้ำ 

“ข้อมูลที่มีอยู่ในเอกสารวิชาการอยู่แล้ว มันทื่อ ๆ ไม่สนุกแต่พอเราจับจุดที่จะค้นหาวิธีการทำเสนอได้ ก็จะทำให้สารคดีมีชีวิตชีวา ผมตั้งชื่อสารคดีเรื่องนี้ว่าเพลงชีวิตอดีตนายฮ้อย นักเดินทางแห่งลุ่มน้ำสองสี ชื่อเรื่องนี้สามารถเป็นได้ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น หรือสารคดีก็ได้ แต่ว่าผมนำเสนอสารคดี แต่ด้วยกลวิธีแบบเรื่องสั้นและนวนิยาย ทำให้เรื่องมันไม่ทื่อ ทำให้สารคดีมีชีวิต”

เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย 

“ในบรรดาหนังสือที่พ่อมีอยู่ ผมชอบเรื่องที่มันอิงเรื่องจริงอย่างเช่น ลูกอีสาน จัดเป็นนวนิยายที่อิงชีวิตจริงของคำพูนบุญทวี เรื่องตำรวจภูธร เขียนโดย พันตำราจโท ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ผมมีความรู้สึกว่าเอาเข้าจริง ๆ ชีวิตจริงมันน่าตื่นเต้นบางทีมันสนุกยิ่งกว่านิยายอีก นิยายมันสนุกเพราะเรารู้ว่าเขาแต่งขึ้นมา แต่นี่มันเรื่องจริง! จนกระทั่งมาอ่านงานเขียนชุดเดินป่าเสาะหาชีวิตจริง มหาวิทยาลัยชีวิต ของ ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่อยู่ในป่า ก็ทำให้ผมได้ข้อสรุปเลยว่าเราสามารถนำเสนอเรื่องจริง
ด้วยกลวิธีฟิกชั่นได้ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วบ่อยครั้งที่ชีวิตจริงมันน่าตื่นเต้นยิ่งกว่านิยาย มีหลากหลายอารมณ์แล้วก็มีความรู้สอดแทรกอยู่ด้วย ตัวละครและเนื้อหาสาระนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่แต่งขึ้นมา แต่ว่าภาษาสำนวน กลวิธีการเล่าเรื่อง เราสามารถใช้แบบนวนิยายได้  

“ในกระบวนการทำงานหรือระหว่างการทำงาน บางทีก็เป็นสารคดีอีกเรื่องหนึ่ง หลายครั้งที่การถ่ายรูปด้วยตัวเองทำให้ผมได้เรื่องมาเขียนกลายเป็นสารคดีอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นคำว่าชีวิตของผม บางครั้งไม่ใช่หมายถึงชีวิตชาวบ้านอย่างเดียว ไปบางที่มีเวลาน้อยมากไม่ได้มีเวลาคุยกับชาวบ้านเลย แล้วจะดำเนินเรื่องอย่างไร ก็ต้องใช้ชีวิตตัวเอง ต้องใช้ตัวเองเป็นตัวละครเดินเรื่อง เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ว่าสารคดีต้องมีชีวิตไม่ใช่เอาข้อมูลทื่อ ๆ มาเขียนอย่างเดียว 

“ในยุคหนึ่งมีการเข้าใจว่าสารคดีคือการเอาข้อมูลทางวิชาการมาเขียนใหม่ แต่ว่าเรายืนยันว่าไม่ใช่ มันต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ถ้าผมคิดพล็อตไม่ได้ผมจะไม่เปิดเครื่องพิมพ์ดีด ผมจะคิดพล็อตก่อน แล้วจึงจะลงมือ การวางแผนการทำงามีความสำคัญ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องพล็อตทำเป็นโครงเรื่องอย่างละเอียด และท้ายที่สุดแล้วสารคดีเรื่องนี้บอกอะไรกับเรา ให้อะไรกับผู้อ่านของเรา ไม่ใช่เล่าเพื่อความสนุกอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเวลาจะเล่าเรื่องอะไรมันต้องถามตัวเองอยู่เสมอ ทิศทางมันจะไปทางไหน ถ้าเรามีทิศทางตรงนี้แล้ว ผมคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรก็ได้ 

“วิธีการที่เราจะบอกให้คนเชื่อ เราจะไม่บอกตรง ๆ แต่จะบอกเล่าอะไรที่เป็นความงดงาม เช่น ทองที่หุ้มเจดีย์ชเวดากองมาจากไหนไม่มีใครรู้ แต่ว่ามีธรรมเนียมของกษัตริย์มอญและพม่ามานับพันปีแล้ว ว่าเมื่อคุณขึ้นครองราชย์จะต้องถวายทองอย่างน้อยหนักเท่าพระองค์ไปหุ้มเจดีย์ชเวดากอง ผมไม่กล้าบอกหรอกว่าทองนี้ไม่ได้มาจากกรุงศรีอยุธยา แต่ผมอยากจะบอกว่ามันมีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามันมีการหุ้มทองมานานแล้ว คือจะไม่บอกตรง ๆแต่จะเอาอย่างอื่นเป็นตัวแทนในการนำเสนอ”

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด    

“สมัยก่อนก็มีคอลัมน์เป็นสิบเล่มเลย ตอนนี้ก็ลดลงไปตามสภาพด้วย มีหนังสือพิมพ์อยู่สองฉบับ คือคมชัดลึก คอลัมน์ท่องไปกับใจตน และ กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ความยอกย้อนของกาลเวลา เอาเรื่องของประวัติศาสตร์มาเขียน ทุกวันนี้ก็เป็นจิตด้วยอาสาครับ เขียนโดยไม่รับค่าต้นฉบับอยู่ 3 เล่ม เพราะว่าชื่นชมในแนวคิดของบรรณาธิการ ที่ตั้งใจจะทำหนังสือให้ดีมีสาระ มีคอลัมน์ห้องศิลป์อีสาน อยู่ในนิตยสารทางอีสานคอลัมน์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในนิตยสาร @surat อีกเล่มหนึ่งก็คือเรื่องเล่าวันวาน อยู่ในนิตยสารอนุรักษ์ อันนี้เป็นกึ่งสารคดีภาพ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย

“ผลงานในช่วงนี้ถือว่าน้อยมากครับหากเทียบกับสมัยก่อน เพราะว่าผมนั่งเครื่องบินยังไม่ได้ ยังไม่มั่นใจขนาดนั้นนั่งรถไกล ๆ ถ้าเกิดมีอาการแล้วจะลำบาก ผมจึงเน้นเดินทางใกล้ ๆ ไปในจังหวัดใกล้บ้าน อาทิ สมุทรสาคร นครปฐมสามพราน แปดริ้ว แล้วก็ไม่รู้สึกซึมเศร้าหรือว่าเสียใจว่าเดินทางไกลไม่ได้ เพราะว่ามีสิ่งดี ๆ ที่เราเคยมองข้ามไป ที่เคยใกล้ตาแต่ไกลใจ แต่ตอนนี้เราไปหยิบมาเขียน อย่างเช่นเขียนถึงหอไตรกลางน้ำองค์หนึ่งที่สวยมากของวัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี เขียนลงในนิตยสารอนุรักษ์
ก่อนครับ พอลงแล้วสัก 2-3 เดือนผมก็ย่อให้สั้นลงมาลงเฟซบุ๊กคือทุกคนที่มาคอมเม้นต์บอกว่า ‘ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มีหอไตรงาม ๆ อย่างนี้อยู่ใกล้กรุงเทพ’ เรารู้สึกดีใจ 

“เพราะฉะนั้นใครอยากจะศึกษางานของผม ในเฟซบุ๊กนี่ชัดเจนที่สุดแล้ว แล้วไม่ได้มีแต่เรื่องสั้น ๆ บางทีเรื่องยาว ๆก็ลง สั้นบ้างยาวบ้าง แต่ว่าในการที่เราย่อให้สั้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทิ้งความงามของภาษาไป มันกลับท้าทายเราว่าคุณจะเขียนให้สั้นและให้งามได้อย่างไร ใช้พรรณนาโวหารที่กระชับ แต่ว่าคนอ่านแล้วมีความรู้สึกกินใจ ซึ่งก็คิดว่านี่คงจะเป็นการทำหน้าที่หนึ่งของศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่ได้รับรางวัลมา ถ่ายทอดประสบการณ์ หรือถ่ายทอดเรื่องราวสั้น ๆ ลงในเฟซบุ๊ก ในเชิง
ศิลปวัฒนธรรมที่เราถนัด ก็ถือว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ไปสู่สาธารณชนวงกว้าง

“เวลาที่เรานำเสนอข้อมูลไป หลายครั้งที่เราจะได้พบคำตอบแบบว่าไม่ทราบมาก่อนเลยหรือเข้าใจผิด จนกระทั่งมาอ่านวันนี้เขาก็เข้าใจได้มากขึ้น ในเฟซบุ๊กมีทั้งความจริง และความจริงลวง คุณต้องระมัดระวังในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ โดยเฉพาะการที่จะแชร์หรือไม่แชร์ ก็ถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่พูดได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ เป็นความเต็มใจที่เราจะทำเอง โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่เดินทางไม่ได้ ในช่วงปีที่ผ่านมาพอมีเรี่ยวแรงเมื่อไหร่ก็จะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ลงในเฟซบุ๊กด้านหนึ่งมันทำให้เราอย่างน้อยที่สุดมีความรู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า

โขงนทีสีทันดร

“ขอฝากผลงานรวมเล่ม โขงนทีสีทันดร ซึ่งเป็นเล่มล่าสุดไว้ด้วยครับ เป็นความภาคภูมิใจ เพราะเขียนถึงแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งตั้งแต่ต้นแม่น้ำจากจุดกำเนิดบนที่ราบสูงหลังคาโลก แล้วก็ไหลผ่านเมืองสำคัญ จนกระทั่งไหลไปออกทะเลจีนใต้ที่เวียดนามตอนใต้ในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการเดินทางเพียงครั้งเดียว ไม่มีใครเดินทางผ่านแม่น้ำสายนี้ได้ในครั้งเดียว เพราะว่าถึงบริเวณนี้ไม่มีเรือลำไหนผ่านไปได้เลย เป็นแก่งน้ำตกกลางลำน้ำโขง ซึ่งอันตรายมาก ผมใช้เวลาในการเดินทางเข้าไปในจุดสำคัญ ๆ ของแม่น้ำสายนี้ 27 ปี เกือบ 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2530 จนกระทั่งครั้งสุดท้ายก็คือไปหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำโขงและเป็นเมืองมรดกโลก

“สถานที่สำคัญ เมืองสำคัญ วัฒนธรรมประเพณีสำคัญ ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ แม้กระทั่งที่มาของเพลง รวมไปถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ อย่างเช่น แม่น้ำโขงไหลมา4,900 กิโลเมตร พอช่วงที่จะออกถึงทะเล แรงดันน้ำมหาศาลทำให้พอเจอที่ราบแล้วแม่น้ำแตกเป็นหลายสาย แต่ละสายนี่กว้างมาก แต่ทีนี้ในเชิงสารคดีนั้นมันมีวิธีการบอกสองแบบนะครับ แบบที่หนึ่งคือบอกแบบวิชาการหรือว่าการให้ข้อมูลเชิงกายภาพ ก็คือพูดง่าย ๆ ว่าใช้เครื่องมือวัดกันเลยว่ามันกว้างเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าบอกแค่นั้นมันก็จะจืดชืดมันมีวิธีการบอกอีกแบบหนึ่งคือการให้ข้อมูลเชิงจินตภาพ 

“นั่นหมายความว่าผมก็ไปค้นพบมาว่าแม่น้ำโขงช่วงที่จะไหลออกทะเลนั้น มันกว้างจนกระทั่งหนุ่มสาวเริ่มจีบกันตอนที่รอเรือ รักกันตอนที่ลงเรือ และแต่งงานกันเมื่อขึ้นฝั่งพอดี นี่เป็นวิธีการบอกเล่าแบบการใช้ข้อมูลทางจินตภาพ ซึ่งจะใช้วิธีนี้อยู่ในนี้เยอะมาก ซึ่งทำให้งานมันมีชีวิตชีวา แล้วก็เอาฉากเหล่านั้นมาเขียนเป็นนวนิยาย สิ่งเหล่านี้ทำให้งานมันมีสีสัน มีความหลากหลาย ไม่ใช่ข้อมูล นี่ก็คือเคล็ดวิธีที่ไม่เคยหวง นี่เป็นเทคนิควิธีที่ผมทำสารคดีมาโดยตลอด ข้อมูลทางจินตภาพนี่สำคัญมาก”

ความภูมิใจของศิลปิน

“ในระหว่างที่มีการพิจารณา ศิลปินแห่งชาติ บางท่านจะรู้ก่อนว่าถูกเสนอชื่อ บางท่านต้องให้ความร่วมมือในการเอารูปภาพเก่า ๆ หรือให้ข้อมูลกับผู้ที่เสนอ แต่ผมนี่ไม่รู้มาก่อนเลย อาจจะเป็นเพราะว่าคณะกรรมการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากตอนที่ได้รางวัลศรีบูรพา จากรางวัลแม่น้ำโขง ฉะนั้นผมจึงรู้ในวันที่ประกาศ โดยการที่ผู้สื่อข่าวออกมาจากที่ประชุมแล้วก็โทรหาผม ต้องเรียนว่าไม่คิดไม่ฝันนะครับ ไม่ได้มีความคาดหวังมาก่อน แต่เมื่อได้รับแล้วก็ได้อ่านในรายละเอียดที่คณะกรรมการเขียนเหตุผล ก็รู้สึกดีใจที่ว่าความมุ่งมั่นในการทำสารคดีมาตลอดไม่ว่างเปล่า อย่างน้อยก็คือมีคนเห็นแล้วก็ดีใจที่งานเขียนสารคดีได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นจากในอดีตที่ถูกมองว่าเป็นการเอาข้อมูลมาเขียน ไม่ใช้จินตนาการ 

“เพราะฉะนั้นศิลปินแห่งชาติที่ได้รับนี่ ถ้าหากว่าอยากจะมอบให้กับใครก็คืออยากจะมอบให้กับนักสร้างสรรค์สารคดีอีกมากมายหลายคนในประเทศนี้ที่มีความมุ่งมั่นในการทำสารคดีแต่ยังไม่ได้รับรางวัลรางวัลทั้งหมด สารคดีในเมืองไทยพัฒนามาไกลมากครับ ก็ยังมีแค่บางเรื่องที่ยังย่ำ ๆ อยู่ แต่ว่ามันมาถึงขั้นที่มีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ อย่างเช่นการนำเสนอสารคดีชีวิตคนที่ไม่ใช่คนสำคัญ ในรายการคนค้นฅน สารคดีเดินทางท่องเที่ยวหลายรายการ เพราะฉะนั้นพัฒนาการของสารคดีปัจจุบันนี้พัฒนาไปไกลครับ ซึ่งผมก็ดีใจที่สารคดีมีบทบาท ทำให้สื่อแทบทุกสื่อจะต้องมีคอลัมน์สารคดี สารคดีเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่ใช่น่าเบื่ออีกแล้ว โลกทุกวันนี้ยอมรับแล้วว่าสารคดีคือ Entertainment ที่มีคุณค่า ความบันเทิงที่ให้ความรู้ เป็นความรู้ที่ให้ความบันเทิง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไปแล้ว”  

NON-FICTION WRITER เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย