AFTERWORD
ทุกวันนี้หากลองเข้าร้านหนังสือสักร้าน เราจะเห็นหนังสือแนะนำหรือยอดนิยม มักเป็นหนังสือประเภทเดียวกัน หากมองในแง่นี้จะพบว่าความหลากหลายของหนังสือมีให้เลือกอ่านน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการตลาดของสำนักพิมพ์ที่ต้องการหนังสือที่ขายได้มากกว่าหนังสือที่มีคุณภาพ ‘หวัง-กิตติศักดิ์ ปัญญาจิรกุล’ และ ‘แพรว-พราวพรรณราย มัลลิกะมาลย์’ ได้เล็งเห็นช่องว่างของปัญหาและมีความคิดเห็นตรงกัน จึงเกิดกิจการเพื่อสังคมที่ชื่อว่า “afterword”
afterword คือกิจการเพื่อสังคมที่ใช้แนวคิดการระดมทุนแบบใหม่เพื่อสนับสนุนให้เกิดหนังสือที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของนักอ่าน พวกเขาเชื่อว่านี่จะกลายเป็นอีกทางเลือกสำหรับช่องทางการพิมพ์และจัดส่งหนังสือในอนาคต รวมถึงความเชื่อที่ว่า ‘หนังสือที่ดีเปลี่ยนแปลงคนได้’
“จุดเริ่มต้นมาจากที่เราทั้งสองเป็นเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันที่อเมริกา เรียนเกี่ยวกับสื่อมีเดีย ออกแบบการเรียนรู้ ว่าคนจะรับรู้สื่อยังไง แล้วแพรวก็ได้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบสื่อที่นู่น ทำทั้งพวกเนื้อหาและกราฟฟิกด้วย แต่ทำเกี่ยวกับเด็ก เป็นสื่อออนไลน์ พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย ก็มาเป็นอาจารย์ที่ม.ธรรมศาสตร์ มีช่วงหนึ่งที่เราอยากทำงานเพื่อสังคมแบบเต็มตัวบ้าง พอดีช่วงนั้นหวังก็กลับมาเมืองไทย แล้วเขาก็หางานทำ เราก็เลยชวนมาลองทำดูไหม
“เรามาดูว่ามันมีปัญหาสังคมอะไรบ้างในเมืองไทย เลยคิดว่าเรื่องการเขียน การอ่าน ก็น่าสนใจดีนะ แล้วก็มาดูว่างานประเภทนี้มันเกี่ยวข้องกับใคร อะไรยังไงบ้าง เราพบว่าประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นที่ต้องการของนักอ่าน มันยังมีช่องว่างอยู่ จากการที่ได้คุยกับหลาย ๆ คนมีครั้งหนึ่งได้คุยกับเพื่อนที่เป็นหมอเด็ก เล่าว่าคุณหมอมีปัญหาที่อยากให้มีสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคภัยสำหรับเด็ก ที่อ่านแล้วสนุก เลยเอาไปเสนอสำนักพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์ก็บอกว่า มันดีนะ แต่ทำยากเพราะอาจขาดทุน พวกเราเลยคิดว่าวิธีการของ afterword น่าจะช่วยให้มีเนื้อหาแบบนี้เกิดขึ้นได้”
นับจากวันนั้น จนถึงตอนนี้ afterword กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3ซึ่งมีหนังสือได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 15 เล่ม โดยแต่ละเล่มมียอดพิมพ์หนังสือที่ต่างกัน หากขายหมดแล้วก็หมดเลย ไม่มีการพิมพ์ซ้ำนอกจากหนังสือเล่มนั้นจะเป็นที่ต้องการของนักอ่านจริง ๆ ส่วน
คนที่เข้ามาระดมทุนจะมีหลายประเภท อย่างเช่นฐานแฟนคลับของนักเขียน หรือกลุ่มคนที่สนใจคอนเซ็ปต์เหล่านี้ แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อหนังสือหรือเนื้อหาแบบนี้จากไหน
“เนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่มจะมีสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงประมาณหนึ่ง อย่าง ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หรือพี่วิภว์ บูรพาเดชะ ก็จะมีเนื้อหาที่เป็นเชิง Experiment เหมือนว่าเขาอยากจะเขียนแบบนี้ แต่รู้ว่ามันขายยาก เขาก็ไม่กล้าพิมพ์ ถึงจะพิมพ์ก็ต้องมานั่งลุ้นว่าจะขายได้รึเปล่า แล้วเราก็คิดว่า afterword สามารถตอบโจทย์แบบนี้ได้ แล้วเราก็สนับสนุนนักเขียนหน้าใหม่และคนที่ทำงาน Print ภาพสวย ๆ เพราะถ้าตีพิมพ์จริง ๆ ราคาจะสูง มีต้นทุนเยอะ
“กระบวนการก่อนที่หนังสือจะออกมาหนึ่งเล่มนั้น นักเขียนหน้าใหม่หน้าเก่าเขาก็จะส่งหัวข้อมา เขาคิดว่าหัวข้อนี้มีความสำคัญแบบนี้ ๆ แล้วเราก็ไปหาข้อมูลว่าหัวข้อนี้สำคัญจริงรึเปล่า พอเราเห็นว่ามันใช่นะ มันมีความต้องการ เราก็นัดมาคุย แล้วก็ตกลงว่าเนื้อหาเขาพร้อมแค่ไหน แล้วกลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์ของเนื้อหาตรงนี้อยู่ตรงไหน แล้วเราก็เตรียมโครงการระดมทุนของเล่มนั้นขึ้นมา ถ้าหนังสือเล่มนี้ ไม่มีบรรณาธิการ ไม่มีคนวาด เราก็จะติดต่อหาให้ หรือถ้าเขามีเป็นทีมอยู่แล้ว เราก็ยกทีมเขามาเลย”
พวกเขาขอไม่เรียกตัวเองว่าเป็นสำนักพิมพ์ แม้ว่าหน้าที่บางอย่างจะคล้ายสำนักพิมพ์ก็ตาม เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนการประชาสัมพันธ์จะเน้นช่องทางในเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นหลัก หลังจากเนื้อหาผ่าน พวกเขาก็จะเริ่มการระดมทุนถ้าไม่ผ่านการระดมทุน พวกเขาก็จะคืนเงินให้กับผู้ที่ระดมทุนมา หนังสือเล่มแรกที่ระดมทุนสำเร็จแล้วออกมาเป็นรูปเล่มคือ Creativity Hunter ของ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ และเล่มที่มีคนรู้จักมาก ๆ คือ แปดบรรทัดครึ่ง ของ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
“สิ่งที่สำคัญของการทำหนังสือแต่ละเล่ม คือความไว้ใจระหว่าง afterword กับนักเขียน และ afterword กับผู้ที่มาระดมทุน เหมือนเขาจะจ่ายเงินก่อนที่จะเห็นหนังสือ จริง ๆ มันก็เหมือนการพรีออเดอร์อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นพรีออเดอร์ที่อื่นจะค่อนข้างชัวร์ว่าได้ของแน่นอน ไม่ว่าช้าหรือเร็ว แต่ของ afterword เหมือนจ่ายเงินไป ถ้าระดมทุนไม่ผ่าน มันก็ไม่มีความแน่นอนนักอ่านก็ต้องเชื่อใจประมานหนึ่ง ซึ่งเครดิตตรงนี้ก็มาจากบางโปรเจ็กต์ด้วย จากนักเขียนด้วย จากความน่าเชื่อถือของประเด็นในเล่มนั้น ๆ อีกส่วนหนึ่งเราก็สร้างความมั่นใจให้กับคนที่ระดมทุนเข้ามา ก็อัพเดทความเคลื่อนไหวเรื่อย ๆให้เห็นทางเฟซบุ๊ก
“ช่วงนี้คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ส่วนตัวคิดว่าคนเริ่มรู้แล้วว่าเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต มันไม่ได้ถูกคัดกรองเหมือนสมัยก่อนแล้ว หน้าที่ของหนังสือยังคงมีบทบาทในแง่ความน่าเชื่อถืออยู่ ความพยายามในการค้นหาข้อมูลมันต่างกัน แล้วยังมีอีกหลายคนที่ยังชอบรสสัมผัสของหนังสือ เลยคิดว่ามันไม่น่าจะตายง่าย ๆ ส่วนอนาคตของ afterword เรายังมองว่ามีเนื้อหาอีกมากมายที่เราค้นพบว่าเป็นที่ต้องการ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงวางแผนที่จะให้เนื้อหาเหล่านั้นออกมา ยิ่งทำไป ก็ยิ่งมีคนเข้ามาหาเราเยอะมากขึ้น รู้สึกดีเหมือนกันที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายเข้าไปหาเขาฝ่ายเดียว”
พวกเขาเชื่อเสมอว่า การได้อ่านหนังสือที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ หลายอย่าง ทั้งด้านความคิดและจิตใจ ฉะนั้นการเพิ่มปริมาณหนังสือที่ดีมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของนักอ่านนั้น จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและเราควรจะสนับสนุนต่อไป
Know Them
• afterword ในความหมายของพวกเขา คือ เมื่ออ่านหนังสือจบแล้วจะเกิดสิ่งที่มีคุณค่า เป็นเรื่องราวขึ้นมาจากการอ่านนั้นโดยหวังที่จะเห็นวิธีการระดมทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกิจกรรมกลุ่มซึ่งกลายเป็นเรื่องราวดี ๆ ต่อสังคม นอกเหนือไปจากการผลิตหนังสือเพียงอย่างเดียว
• ช่องทางของการจัดจำหน่ายหนังสือ จะวางขายตามร้านหนังสือบางร้าน เช่น ร้านคิโนะคุนิยะ, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์
• รายได้ส่วนหนึ่งของ afterword มาจากการหักเปอร์เซ็นต์ ค่าที่พวกเขาจัดการให้ทุกอย่างเพื่อหนังสือหนึ่งเล่ม ส่วนคนที่ร่วมระดมทุนจะได้ราคาหนังสือถูกกว่าที่วางขายตามร้าน ถ้าระดมทุนเยอะ ก็จะมีสิทธิพิเศษให้ อาจจะเป็นลายเซ็นนักเขียน หรือพบปะพูดคุยกับนักเขียน
• ติดตามต่อได้ที่เว็บไซต์ www.afterword.co และ www.facebook.com/afterword.co