เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์
หลากเรื่องราวมักถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของหนังสือ “คุณเอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโนโพเอท จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งพิมพ์ของไทยมานาน มีนามปากกามากมาย อาทิ เอก อัคคี, สุริยฉัตร แก้วทอง, เอกรงค์ ภาณุพงษ์, มิสเตอร์ QC เป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารชื่อดังหลายฉบับ ในหลากหลายเรื่องราว อาทิ ธุรกิจสิ่งพิมพ์, พระเครื่อง, วรรณกรรม, ซุบซิบดารา, แนะนำแผ่นเสียง,บรรณาธิการนิตยสาร, ทำรายการทีวี, ผู้จัดรายการวิทยุ ฯลฯ
เขาเติบโตมาจากกลุ่มบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ทำงานในเครือสยามกีฬามากว่า 20 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากชายคาใหญ่คือผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่แล้วลูกชายของเขาป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในไขกระดูก ทำให้มีความจำเป็นต้องออกมาดูแลอย่างใกล้ชิด (ซึ่งในท้ายที่สุดลูกชายของเขาก็หายเป็นปกติ) ในช่วงที่ออกจากงานประจำมานี่เอง เขาจำเป็นต้องหารายได้มาสู่ครอบครัวจึงเปิดบริษัท โมโน โพเอท จำกัดเพื่อทำสำนักพิมพ์ของตัวเองขึ้นมา
“บริษัทโมโน โพเอท จำกัด เกิดมาจากสิ่งสำคัญของชีวิตผมคือ โมโนมาจากลูกชายโมโม่กับโนริซึ่งเป็นชื่อลูกสาว โพเอทก็คือกวี ผมก็เอามาผสมกันตอนแรกผมออกมาไม่มั่นใจเลยว่าจะไปรอด แต่ด้วยที่ผมเองอยู่ในวงการหนังสือมานาน เรารู้ว่าจะทำหนังสือต้องเริ่มจากอะไร อย่างแรกต้องเริ่มจากต้นฉบับที่ดีคือมีจุดขาย จึงได้ออกหนังสือแปลชื่อวว่า 30 Days of Night หรือ 30 วันสยองขวัญซึ่งผลตอบรับก็ดีพอสมควร คือประสบการณ์มันสอนให้เรารู้ว่าต้องหาที่ยืนในตลาดให้ได้
“ผมออกจากงานมาด้วยนโยบายทำให้ตัวเองตัวเล็กที่สุด ผมสามารถทำงานคนเดียวได้ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิตยันกระบวนการขาย เพราะผมมีพี่น้องเพื่อนฝูงให้การช่วยเหลือมากพอสมควร แต่ผมจะไม่ทำแบบหว่านมั่วแต่จะทำแบบ Sniper คือไม่มั่นใจเราไม่ทำ เราต้องมีกลยุทธ์คือเคลื่อนไหวเร็วปรับตัวได้ยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ทุกด้าน
“ผมเคยเขียนเรื่องทฤษฎีวิชาตัวเบาเมื่อสัก 2-3 ปีที่ผ่านมาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีวิชาตัวเบา ต้องเหยียบน้ำโดยที่ไม่กระเพื่อม ทำให้ตัวเองเบาที่สุดไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเยอะ อะไรทำเองได้ควรทำ หรือถ้ามีภาระต้องดูแลให้น้อยที่สุด อย่างหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเองเดิมเคยพิมพ์หนังสือ ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 16 ก็ไม่เกิน 3,000 เล่ม ต่อมาก็มีผลิต 5,000-8,000 เล่ม ซึ่งความเป็นจริงมันขายได้เพียง 2 พันเล่ม แล้วทำไมคุณไม่ผลิตแค่นี้ล่ะ ซึ่งคนอาจแย้งว่าต้นทุนมันสูงแต่สมัยนี้ด้วยระบบการผลิตแบบใหม่สามารถทำได้แล้ว หรือการใช้ระบบนีชมาร์เก็ต การพรีออเดอร์ การขายตรง สร้างกลุ่มลูกค้าของตัวพิมพ์เฉพาะที่มีการจอง ตอนนี้ธุรกิจหนังสือจะเหนื่อยมากสำหรับค่ายใหญ่ ที่มีต้นทุนและภาระเยอะในขณะที่ค่ายเล็กต้นทุน
ต่ำกว่า ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้าง วงการหนังสือตอนนี้ยุบตัวลงตอนนี้ทุกค่ายมุ่งตรงไปสู่โซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดการขายตรงมากที่สุด
“ในอนาคตหนังสือเล็กอย่างพ็อกเก็ตบุ๊กยังอยู่ได้แต่ตลาดหนังสือจะเล็กลงเราอย่าไปโทษว่าคนว่าคนทิ้งขยะทั้งเมืองเพราะคนทิ้งเขาไม่ได้ผลิตขยะออกมาบริษัทที่ผลิตหนังสือต้องยอมรับว่าได้ผลิตสิ่งที่ไม่มีคุณภาพออกมาด้วยเช่นกันตอนนี้ฟองสบู่ของวงการสิ่งพิมพ์มาถึงแล้ว จะมีคนในกลุ่มนี้ตกงานมากขึ้น เม็ดเงินโฆษณาเองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”อย่างที่รู้กันว่าวงการหนังสือตอนนี้อยู่ในช่วงซบเซาทำให้หลายองค์กรต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ตรงนี้เองคุณเอกจึงได้พยายามคิดทดลองผสมผสานระหว่างหนังสือกับบทเพลงและเทคโนโลยี ให้เกิดสิ่งใหม่ในวงการหนังสืออีกครั้ง
“ล่าสุดผมเพิ่งมีโปรเจ็กต์เป็นหนังสือรวมบทกวีชื่อ นิทานเมือง ที่พยายามผสมแนวคิดสองสามส่วนเข้าด้วยกัน ผมมาจากวงการวรรณกรรมเชิงสาระ และก็อยู่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้วย นอกจากนี้ผมมีพี่น้องในวงการดนตรี ผมก็เอาสิ่งเหล่านี้มาผสมกันในผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น คือทำเป็นหนังสือ โจทย์คือคิดว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือมันต่อยอดธุรกิจได้ ผมเขียนบทกวีร่วมกับเพื่อนสนิทคือ คุณคฑาวุธ ทองไทย (อ.ไข่ มาลีฮวนน่า เขียนเรื่องเมืองหิว) และได้ต่อยอดไอเดียจากบทกวีที่ผมเขียน ทำเพลงชื่อนิทานเมืองออกมาประกอบกับหนังสือ โดยได้วงมาลีฮวนน่ามาเป็นโต้โผ ร่วมด้วยแขกรับเชิญ อาทิ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี,พี่อี๊ด โอภากุล, พี่นกน้อย ชูเกียรติ ฉาไธสง, พี่ต๋วง จามิกร ซึ่งในปกหลังของหนังสือจะมีคิวอาร์โค้ดลิงก์เข้าไปฟังเพลงนิทานเมือง ซาวด์แทร็คของหนังสือในยูทูปเพื่อเพิ่มอรรถรสได้อีกด้วย
“ความพิเศษอีกอย่างคือ บทกวีไร้ฉันทลักษณ์เรื่องนิทานเมือง ยังมีการแปลเป็นภาษาต่างประทศ อาทิ ภาษาอังกฤษ, จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น จากนักแปลชั้นครูหลายท่านของไทย บทกวีชิ้นนี้จะถูกส่งไปออกสู่งานบุ๊กแฟร์ต่างประทศ ซึ่งทำให้โอกาสของการถูกซื้อลิขสิทธิ์มีความเป็นไปได้สูง ทั้งหมดนี้ถ้าเป็นสมัย 10 ปีก่อนจะต้องใช้เงินมหาศาลในการทำมีเดีย แต่ตอนนี้ต้นทุนมันต่ำกว่ามาก มันสะท้อนให้เห็นธุรกิจสมัยมันจะมีทฤษฏีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ”
นอกจากการสร้างโปรเจ็กต์ที่แหวกแนว ความสำเร็จของเขาส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งเกิดมาจากคอนเน็กชั่น ในความหมายที่จริงใจจากพี่น้องในทุกวงการที่เขาคลุกคลี โดยมีการตลาดที่ชัดเจนล้ำลึก จึงทำให้งานแต่ละชิ้นออกมาอย่างงดงาม ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตามแต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือตัวตนของคนทำหนังสือ ที่พยายามทำให้ผู้อ่านมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้สัมผัสงานของเขา