ปรากฏการณ์ “เงิน”
ช่วงตลาดนักเตะซื้อขายช่วงฤดูหนาวในยุโรปที่ผ่านมา เรื่องที่สร้างความฮือฮากลับไม่ใช่เรื่องการซื้อขายนักเตะในยุโรปเอง แต่กลับเป็นการทุ่มเงินมหาศาลของทีมต่าง ๆ ในเมืองจีนที่ใช้พลังของเงินหยวนในการซื้อนักเตะชื่อดังจากยุโรปไปเล่นใน “ไชนีส ซูเปอร์ลีก”
โดยลีกที่ใช้เงินมากที่สุดในช่วงนี้อย่าง “ไชนีส ซูเปอร์ลีก” ของจีนที่ทีมต่าง ๆ ใช้เงินในช่วงเดือนมกราคมรวมกันถึง 136 ล้านยูโรหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าหลังตลาดนักเตะยุโรปเปิดอีกครั้ง แต่ละทีมยังคงเดินหน้าต่อในทุ่มเงินซื้อนักเตะต่อ
ไม่ว่า เอเซเกล ลาเวซซี่ ของ ปารีส แซง แชร์แมง กับ ยาย่า ตูเร่ ของ แมนฯ ซิตี้ที่มีข่าว หลังจากดีลใหญ่อย่าง แจ็คสัน มาร์ติเนซ กองหน้าชาวโคลัมเบียเรียบร้อยโรงเรียน กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ด้วยค่าตัว 42 ล้านยูโรให้กับต้นสังกัดเก่าตราหมี แอตฯ มาดริด กับ อเล็กซ์ เทเซร่า ที่ย้ายจาก ชัตตาร์ โดเนตต์ มา เจียงซู เซินตี้ ด้วยค่าตัว 50 ล้านยูโร
ก่อนหน้านี้มีนักเตะชื่อดังมากมายที่ไปกินติ่มซำ ไม่ว่าจะ รามิเรส ที่ย้ายจาก เชลซี ไป เจียงซู ซูหนิง ด้วยค่าตัว 33 ล้านยูโร แชร์วินโญ่ จาก โรม่า ไป เหอเป่ย ฟอร์จูน ค่าตัว 18 ล้านยูโร หรือ เฟรดี้ กัวริน จาก อินเตอร์ มิลาน ไปเซี่ยงไฮ้ เซินหัว ค่าตัว 12 ล้านยูโร
และเชื่อว่าไม่หยุดแค่นี้แน่ แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงปิดตลาดของยุโรปซึ่งเหตุผลเดียวที่นักเตะเหล่านี้ยอมไปเล่นในลีกที่ถือว่าอ่อนชั้นกว่าในยุโรปหรือแม้กระทั่งในบ้านเกิดอย่างในอเมริกาใต้หรือในแอฟริกา ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ “เงิน” เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น
ทีมชาติจีน เผลอ ๆ เป็นรองทีมชาติไทย ของเราด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ส่วนตัวยอมรับว่า บ้ามาก ๆ เพราะนักเตะระดับเกรดบีเกรดซีของทีมในยุโรป ส่วนใหญ่ได้รับค่าเหนื่อยไม่ต่างจากนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ในทีมใหญ่ของยุโรป เมื่อไปถึงเมืองจีน
อย่างไรก็ตามความแตกต่างของการดึงนักเตะของทีมในลีกจีนต่างจากการดึงนักเตะไปเล่นในเมเจอร์ลีกของสหรัฐอเมริกาหรือในลีกตะวันออกกลาง แม้ว่าจะใช้ “เงิน” มากมายมหาศาลเหมือนกัน คือ ลีกสหรัฐฯ หรือลีกอาหรับที่ต้องการนักเตะระดับเอลิสต์
ประเภทซูเปอร์สตาร์ในยุโรปเท่านั้น บางทีอาจจะอายุเลยหลักสามกลาง ๆ แต่ชื่อยังขายได้เพื่อเป้าหมายในเรื่องของการประชาสัมพันธ์หรือเปิดตลาดภูมิภาคเป็นหลัก
แต่ลีกจีนเป้าหมายไม่ใช่แค่พีอาร์เป็นหลัก ถ้าสังเกตนักเตะที่ไปอาจจะมีสตาร์บ้างแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ประเภทที่แฟนบอลจะคลั่งไคล้ แถมหน้าตาไม่หล่ออีกต่างหากไม่ว่าจะ รามิเรส, แชร์วินโญ่, เฟรดดี้ กัวริน หรือ แจ็คสัน มาร์ติเนซ แต่ยังมีเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเอาไปช่วยให้ทีมแกร่งขึ้นและไป ๆ มา ๆ บางทีอาจจะเหมือนของสะสมสั่งสมบารมีเจ้าของสโมสรมากกว่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าสัว อาเสี่ย อาเฮียทั้งนั้น
แน่นอนว่าการมาของนักเตะเหล่านี้จะทำให้โฉมหน้าของวงการฟุตบอลจีนเปลี่ยนไป รวมทั้งภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะฟุตบอลรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกที่น่าดูมากขึ้นยามทีมจากแดนมังกรลงเตะ
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวแทนจากบ้านเราอย่าง เอสซีจี เมืองทอง ลงสนามเจอกับ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ใน เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบคัดเลือก รอบที่ 3 ก็เห็นนักเตะอย่าง อซาโมอาห์ กียาน หรือ ดาริโอ คอนก้า รายหลังเคยสร้างสถิติรับค่าเหนื่อยมากที่สุดในโลกสมัยอยู่ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ในปี 2008 ได้ 10 ล้านยูโร ปัจจุบันอายุ 32 ปีไม่เคยเล่นในยุโรปหรือติดทีมชาติอาเจนติน่าชุดใหญ่สักครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายจัดการแข่งขันของ “ไชนีส ซูเปอร์ลีก” ก็ไม่ปล่อยให้จำนวนนักเตะต่างชาติเข้ามามากเกินไป เพราะมีโควต้าจำกัดนักเตะต่างชาติใน 1 ทีม แบบ 5 บวก 1 โดยสามารถลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ 5 คนแต่ต้องเป็นนักเตะต่างชาติในโซเอเชียหรือเป็นชาวเอเชียอย่างน้อย 1 คน และเวลาแข่งขันแต่ละทีมสามารถส่งนักเตะชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนได้แค่ 4 คนลงสนาม ทำให้สามารถพัฒนานักเตะจีนควบคู่ไปได้เหมือนกัน
อีกจุดที่น่าสนใจคือ “โค้ชฟุตบอล” ซึ่งเป็นอีกข้อที่ลีกจีนต่างจากลีกสหรัฐฯ หรืออาหรับคือไม่ใช่แค่ดึงนักเตะอย่างเดียว แต่ทุ่มเงินดึงผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมาคุมทีมด้วย ไม่ว่าจะเป็น สเวน โกรัน อีริกสัน (เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี), เกรเกอริโก้ มาร์ซาโน่ (เซี่ยงไฮ้ เซินหัว), อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี่ (ปักกิ่ง กั๋วอัน), หลุยส์ ฟิลิเป้ สโคลาลี่ (กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์) หรือ มาร์เซโล่ ลิปปี้ หลังพาอิตาลีคว้าแชมป์โลกก็เคยมาทำงานที่จีนกับ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ถึง 2 ปี
สุดท้ายสรุปได้อย่างเดียวว่า ลีกจีน “บ้า” มาก ๆ ด้วยจำนวนเงินขนาดนั้น ถ้าสามารถย้ายทั้งพรีเมียร์ลีกหรือบอลถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนลีกมาแข่งที่เมืองจีน ได้คงใช้เงินทำไปแล้ว ถ้าถามว่ายุคนี้ใครครองโลกฟุตบอลระดับสโมสร คงต้องตอบว่า “เงินหยวน” ของจีนครับ