Go Play on Next Street
หลายคนมักจะมองว่า Street Art คือศิลปะข้างถนน ซึ่งมันก็จริงเพราะศิลปะนั้นไม่ได้ตีกรอบอยู่แค่บนผืนผ้าใบหรือหน้ากระดาษ หากแต่ศิลปะโลดแล่นอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงมีคุณค่ามากกว่าที่สายตาของเราจะประเมินได้ ‘โอ๊ต-อัครพล มณฑาทอง’ หนึ่งในศิลปิน Street Art ของเมืองไทย หรือที่รู้จักกันในนาม ‘BONUS TMC’ และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร GO PLAY ทำให้รู้ว่า Street Art บ้านเรามีฝีมือไม่แพ้ต่างชาติเลย
“นิตยสาร GO PLAY ผมดูแลมาตั้งแต่แรกแล้วครับ เมื่อก่อนเป็นนิตยสารรายเดือน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราปรับให้กลายมาเป็น Digital Magazine ราย 2-3 เดือน สามารถดาวน์โหลดไปอ่านฟรี ๆ ได้เลย เนื้อหาในเล่มจะเน้นเรื่อง Street Culture ศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ครับส่วนใหญ่ผมก็จะดูแลภาพรวม มีช่วยเขียนคอลัมน์ ช่วยคิดงานกับน้อง ๆ บ้าง ช่วยกันคิดว่าเล่มนี้จะเป็นไงดี เดือนนี้จะทำอะไร ศิลปินคนไหนน่าสนใจ อะไรประมาณนี้ครับ
“ผมเริ่มสนใจ Street Art มาตั้งแต่ตอนเรียนลาดกระบังครับ มีกลุ่มคนรู้จักกับเพื่อน ๆ เขาเคยทำกันมาก่อน แล้วผมก็อยู่หอติดกับพี่อเล็กซ์ เฟซ (Alex Face) พี่เขาก็ชวนกันออกไปวาดนู่นนี่ เริ่มออกถนนมาเรื่อย ๆ ตอนแรกสมัยเรียน ผมเริ่มฝึกวาดคนก่อน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ต่อมาก็เริ่มวาดสัตว์ ทีนี้เริ่มรู้สึกว่าวาดสัตว์สนุกกว่าวาดคนแล้ว ก็เลยวาดสัตว์มาตลอดครับ พัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ คาแรกเตอร์ของรูปวาดผมก็จะเป็นสัตว์ ที่แทนบุคลิกทุกอย่างเป็นคน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือความรู้สึก เพราะผมมองถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับสัตว์ ปฏิสัมพันธ์ของสัตว์กับสัตว์ สิ่งที่เชื่อมโยงกัน บางทีก็อาจจะเอาการดำรงชีวิตของสัตว์มาปรับใช้ในคนก็มีครับ การสร้างบ้าน การอยู่การกิน เหมือนเป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน”
ล่าสุดเขาได้มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินวาดภาพในงาน ‘Bukruk Urban Arts Festival 2016’ เทศกาลศิลปะที่รวบรวมศิลปิน Street Art จากทั่วโลกมาวาดภาพบนกำแพงตลอดเส้นทาง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญกรุง บางรัก และตลาดน้อย
“พอดีมีทางผู้จัด สนใจผลงานผมก็เลยติดต่อเข้ามาครับ ผมก็ตอบรับทันทีเพราะเห็นว่ามีคนไทยร่วมงานนี้หลายท่านเลย ของผมทำ 2 ชิ้น ใช้เวลาทำประมาณ 4 วันเป็นรูปเสือขี่ปลาฉลามและหมาไฮยีน่ายิงปืน ซึ่งสัตว์สองตัวนี้จะสื่อว่าปีนี้ผมจะเตรียมตัวรบให้มากขึ้น หมายถึงรบกับตัวเองนี่แหละครับ (หัวเราะ) รบกับความขี้เกียจ ความง่วงแล้วจะรับงานมากขึ้น ขยันมากขึ้น บวกกับสถานที่ตรงนั้นเป็นท่าเรือด้วย ผมเลยออกแบบให้เสือใส่สน็อกเกิ้ลครับ ส่วนเทคนิคการเพ้นท์ ตอนแรกผมจะขึ้นรูปด้วยลูกกลิ้ง
เพราะมันมีขนาดใหญ่แล้วถมด้วยลูกกลิ้งต่อ ถ้าอันไหนส่วนเล็กก็จะขึ้นด้วยแปรงและพู่กัน อาจจะมีสีสเปรย์บางจุด เพื่อความนุ่มนวลสวยงามของแต่ละจุดครับ”
ผลงานของเขามีมากมายนับไม่ถ้วน แต่หากให้เขาระบุผลงานชิ้นที่เป็นระดับมาสเตอร์พีชของเขาก็คงหนีไม่พ้นกับผลงานของเทศกาลบุกรุก และงานที่ทำร่วมกับทาง W DISTRICT ตรงสุขุมวิท ปี 2014 ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Rockabilly’เขาวาดหมีทำผมทรงเอลวิส ซ้ายมือถือรังนกกระจอก เพ้นท์กันบนดาดฟ้า หากมองจาก BTS พระโขนงก็จะเห็นถึงความงดงาม โดยทำร่วมกับศิลปินท่านอื่นอีกมากมาย เมื่อเราถามถึงระยะเวลาที่เขาหมั่นสร้างสรรค์ผลงานบนท้องถนน เขานั่งนึกพร้อมตอบกลับมาว่า
“ประมาณ 10 ปีครับ ผมได้เรียนรู้อะไรจากมันเยอะเหมือนกัน ได้เจอกลุ่มพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เขาทำกันมาก่อน หรือที่เกิดใหม่ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน ที่ GO PLAY ผมก็จัดงานมีตติ้งด้วย หาสถานที่นัดพบปะสังสรรค์กัน ชักชวนให้ศิลปินที่มีชื่ออยู่แล้วมาวาดรูปด้วยกัน อีกอย่างเรามีกลุ่มทางเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ก็อยากให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ไว้ให้ศิลปินมาพูดคุยกันครับ ทั้งนี้ผมมีโอกาสได้ไปต่างประเทศมาสองสามครั้งครับ มีศิลปินจากเพื่อนบ้านชวนให้ไปทำ ล่าสุดก็จัดมีตติ้งที่สิงค์โปร์ ไปเพ้นท์ตึก ทำร่วมกันสิบกว่าคน แล้วก็ไปญี่ปุ่นกับอินโดนิเซียมาครับ เหมือนกลุ่ม Street Art บ้านเขาเป็นกลุ่มใหญ่มากกว่าบ้านเรา”
ส่วนมุมมอง Street Art ของไทยเขามองว่า ปัจจุบันเติบโตขึ้นมาก มีเด็กใหม่ ๆ พัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องสามารถเทียบเท่าผลงานต่างชาติได้ มีการพัฒนาเฉพาะตัวได้ดี แตกต่างจากเมื่อก่อน หรือจากที่เห็นทางอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่ามีแนวโน้นดีขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีช่องทางการกระจายผลงานมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานอีเว้นท์ หรือร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น รองเท้า ขวดเหล้า นาฬิกา เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าศิลปินไทยสู้ต่างชาติได้อยู่แล้วครับ แต่เหมือนกับว่ายังไม่มีผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอะไรก็ตาม เหมือนยังไม่เปิดพื้นที่ อย่างต่างประเทศเขาจะเปิดพื้นที่ให้ทำกันเลย คนไทยยังติดภาพว่าเลอะเทอะ แต่ผมว่านั่นก็อาจเป็นรากฐานของกราฟฟิตี้ทุกวันนี้ มันต้องเริ่มมาจากความชอบที่จะขีดเขียนก่อน อีกอย่างผมว่า Street Art เป็นการแสดงออกทางพื้นที่สาธารณะชัดเจนที่สุดแล้ว เพราะอย่างถ้าเป็นแกลเลอรี่ก็ต้องเดินเข้าไปดู กว่าจะเข้าไป แต่นี่หมายถึงทุกคนรับได้หมด ทั้งมอเตอร์ไซค์วินฯ แม่ค้า อะไรแบบนี้ เขาผ่านไปดึก ๆ เขาเห็นได้หมด เข้าถึงคนง่ายกว่า แล้วเมืองไทยก็มีงานเทศกาลบุกรุกนี่แหละครับ ทำให้คนไทยเห็นว่า Street Art มันมีอยู่ เพราะส่วนใหญ่เขาก็จะนึกไม่ออก เมื่อก่อนผมไปขอเขาทำ เขาก็ไม่ค่อยให้ทำ เหมือนเขาไม่รู้ว่าเรามาทำอะไรกัน”
โปรเจ็กต์ต่อไปที่เขาวางแผนไว้คือ เตรียมตัวจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ประมาณกลางปีหรือสิ้นปี เป็นงานเขียนภาพบนเฟรมและกระดาษ ตอนนี้ขอรวบรวมผลงานก่อน ด้วยคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับการเดินทาง เขายิ้มแล้วบอกว่า การเดินทางทำให้เราได้พบเจอสิ่งใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง เชื่อได้เลยว่าการเดินทางทำให้คนเราเติบโตขึ้นและสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าได้เช่นกัน