พาสปอร์ต
คนพูดภาษาจีนมี คนจีน, คนฮ่องกง, คนไต้หวัน, คนจีนสิงคโปร์, คนจีนมาเลเซีย เวลาเดินทางไปต่างประเทศคนจีนเหล่านี้ถือหนังสือเดินทางแตกต่างกัน
แน่นอนว่าคนจีนสิงคโปร์ก็ต้องถือหนังสือเดินทางสิงคโปร์, คนจีนมาเลเซียก็ต้องถือหนังสือเดินทางมาเลเซีย, คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องถือหนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน People Republic of China หรือ 中华人民共和国 แต่...
คนฮ่องกงถือหนังสือเดินทางอะไร?
คนไต้หวันถือหนังสือเดินทางอะไร?
เรื่องมันน่าจะตอบง่าย ๆ ถ้าองค์กรระหว่างประเทศจะคิดแบบบ้าน ๆ ว่าคนฮ่องกงก็ถือพาสปอร์ตฮ่องกง คนไต้หวันก็ถือพาสปอร์ตไต้หวัน
เรื่องมันซับซ้อนยุ่งเหยิงกันขึ้นมาก็ตรงที่เขาว่ามันไม่มีประเทศฮ่องกง / ไม่มีประเทศไต้หวัน
การมีหรือไม่มีอะไรแบบนี้เป็นประเด็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ หลังปี 1997 ที่ฮ่องกงเปลี่ยนธง
ก่อนหน้านั้นคนฮ่องกงถือพาสปอร์ตฮ่องกงแบบเดิมซึ่งระบุไว้บนปกหนังสือเดินทางว่า HONGKONG
คนไต้หวันซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนธงของฮ่องกงโดยตรงถือพาสปอร์ตที่พิมพ์ว่า Rebupblic of China หรือ 中華民國 มาตั้งแต่ก๊กมินตั๋ง (กว๋อหมินตั่ง 國民黨) ของเจียงไคเชคมาตั้งมั่นทางการเมืองบนเกาะฟอร์โมซา หรือ เกาะไต้หวัน
ที่ฮ่องกงปัญหาเรื่องคำที่พิมพ์บนปกพาสปอร์ตมีปี 1997 เป็นเส้นชัดเจน
ไต้หวันเดิมมีสถานเป็นประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ จนคอมมิวนิสต์ของพลพรรคเหมาเจ๋อตงสามารถสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน People Republic of China ในปี 1949 จากนั้นรัฐบาลทางจีนแผ่นดินใหญ่จึงแสดงตัวต้องการสิทธิ์ความเป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ จนในปี 1971 ไต้หวันก็เสียสมาชิกภาพสหประชาชาติแก่จีนแผ่นดินใหญ่ จีนชูแนวนโยบายจีนเดียวต่อเนื่องจนถึงปี 1978 สหประชาชาติก็รับรองนโยบายจีนเดียวอย่างเป็นทางการ
พอต้องพ้นออกจากสมาชิกภาพของสหประชาชาติในปี 1971 คำว่า Rebupblic of China หรือ 中華民國 ของไต้หวันก็เป็นประเด็นขึ้นมาทันที
ตอนนี้มันมี People Republic of China หรือ 中华人民共和国 ของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นประเทศจีนใหม่ในองค์กรโลกบาลที่นานาชาติรับรอง กับ Rebupblic of China หรือ 中華民國 ซึ่งเป็นชื่อเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่การปฏิวัติซินไฮ่ของดร.ซุนยัตเซนประสบความสำเร็จเมื่อปี 1912 โดยรัฐบาลพรรคชาตินิยม (กว๋อหมินตั่ง) นำมาใช้ต่อเมื่อมาตั้งอำนาจรัฐที่ไต้หวัน
จากปี 1978 โลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา การเดินทางของคนประเทศต่าง ๆ เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ การเมืองในประเทศแต่ละพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ อารมณ์ความคิดของผู้คนนั้นไม่หยุดนิ่ง ฝ่ายรัฐ ฝ่ายประชาชน ล้วนแต่ไม่หยุดนิ่ง
เมื่อโลกเปิด การเดินทางก็ไหลถ่ายเท ยิ่งเศรษฐกิจคลี่คลายไปในทางที่ดี คนก็มีเงินพอจะเดินทางออกไปข้างนอก
ม่านไม้ไผ่หรือม่านเหล็กที่กางกั้นโลกคอมมิวนิสต์กับโลกทุนนิยมสลายหายไปจนไร้พลังแล้ว แต่ปัญหาเรื่องชื่อประเทศบนพาสปอร์ตยังเป็นปัญหารูปธรรม
ที่ฮ่องกง หลังปี 1997 คนจำนวนหนึ่งถือพาสปอร์ตอังกฤษ อีกจำนวนหนึ่งถือพาสต์เขตปกครองพิเศษซึ่งมีตราสัญลักษณ์วงรวงข้าวและดาว 5 ดวง
ที่ไต้หวัน เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง 民進黨) แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถได้รับเลือกข้างมากในยุคของเฉินสุยเปี่ยน 陳水扁 ในปี 2000-2008 แนวความคิด “ประเทศไต้หวัน” ที่ฟักตัวอยู่ในใจคนไต้หวันจำนวนหนึ่งเป็นเวลานานก็แสดงออกชัดแจ้งยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแง่การแสดงออกอย่างปัจเจกบุคคล และแนวทางการของรัฐภายใต้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กระทั่งเฉินสุยเปี่ยนลงจากอำนาจด้วยคดีฉ้อโกงเงินรัฐ จนต้องติดคุก และการเลือกตั้งหลังจากนั้นอำนาจรัฐไปอยู่ในมือของ “พรรคชาตินิยม” (ก๊กมินตั๋ง-กว๋อหมินตั่ง) โดยนายหม่าอิงจิ่ว 馬英九 ดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไต้หวัน 2 สมัยตั้งแต่ปี 2008-2016
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไต้หวันมีขึ้นเมื่อปลายปี 2015 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งนำโดย ไช่อิงเหวิน 蔡英文 ได้รับคะแนนมากกว่า และเธอกำลังจะก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน โดยแนวคิดหลักของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามุ่งไปในทิศทางที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระที่ไม่ใช่ทั้ง Rebupblic of China หรือ 中華民國 และไม่ใช่ People Republic of China หรือ 中华人民共和国 หากแต่เป็น คน TAWAN Republic ซึ่งทางรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทางปักกิ่งก็กำลังจับตามองทว่ายังไม่ได้แสดงท่าทีโจ่งแจ้งออกมาในทันที
ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการเมืองเรื่องอำนาจรัฐ การเคลื่อนไหวปฏิวัติร่ม Umbellar Revolution ที่ฮ่องกงในปี 2015 และการเคลื่อนไหว Sunflower Movement ที่ไต้หวันในปี 2014 ล้วนเป็นการแสดงท่าทีทัศนะในฐานะปัจเจกที่ส่งสัญญาณต่อจีนแผ่นดินใหญ่ว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ใต้พรมรอวันเวลาคลี่คลาย
เรื่องชื่อประเทศที่อยู่บนปกหนังสือเดินทางไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายเสียทีเดียวนัก