ไร้

ไร้

ความสนุกและคึกคะนองที่อยากจะทดสอบความเร็วของรถคันหรู กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ฝังจำในจิตใจของญาติมิตรผู้สูญเสีย คนแล้ว คนเล่า และไม่มีทีท่าว่าจะหายไปจากสังคม

หนุ่มใหญ่เจ้าของบริษัทนำเข้ารถหรู กว่าเขาจะฝ่าฟันให้มีวันนี้ได้ ต้องผ่านอะไรมามากมาย ทำให้เขามีความเครียดสะสมอยู่มาก และหนึ่งในทางออกของเขาสำหรับผ่อนคลายความเครียดก็คือ ออกท่องราตรี

การท่องราตรีของเขาคงเป็นเรื่องปกติของหนุ่มในวัยนี้ เขายังไม่แต่งงาน และไม่ได้ถูกใจใครเป็นพิเศษ มีหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจำนวนไม่น้อยแต่เขาก็ไม่ได้คิดจริงจังอะไร 

มีบางวันที่เขาเจอเรื่องหนัก และการออกไปเที่ยวกลางคืนเป็นวิธีที่เขาเลือก เมื่อการดื่มสุราอย่างเต็มที่ มันอาจจะช่วยให้เขาลืมเรื่องราวหนัก ๆ ลงไปบ้าง แต่มันก็ทำให้สติลดลงไปด้วยเช่นกันเมื่องานเลี้ยงมีวันเลิกรา

เขาขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ด้วยรถยนต์หรูที่เขานำเข้ามาเองกับมือ 

“ตู้ม”

เสียงดังสนั่นหวั่นไหว รถที่อยู่ข้างหน้าของเขากระเด็นไปยังถนนอีกฝั่ง พร้อม ๆ กับถุงลมนิรภัยทำงานทั่วทั้งคัน ถึงแม้ว่ารถยนต์ของเขาจะเสียหายแต่เขายังมีลมหายใจ ทว่ารถยนต์ที่เขาชนไปอย่างเต็มที่เกิดไฟลุกท่วม และระเบิดขึ้นในไม่กี่วินาทีต่อมาเป็นเหตุให้คนขับถูกไฟคลอกเสียชีวิต ถึงเขาจะบาดเจ็บแต่ก็ไม่หมดสติ จึงได้พยายามติดต่อคนมารับ

เวลาผ่านไปไม่นานเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ
ตำรวจ    :    คุณครับเป็นอย่างไรบ้าง ผมตรวจที่เกิดเหตุแล้วปรากฏว่ารถยนต์ที่คุณชน คนในรถถูกไฟคลอกเสียชีวิตแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวพจน์ไปส่งโรงพยาบาล
ตำรวจ    :    ผมขออนุญาตตรวจวัดหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของคุณนะครับ
พจน์    :    ผมไม่ให้ตรวจ ผมไม่เมา
Q    :    การปฏิเสธการตรวจแอลกอฮอล์ของพจน์จะมีความผิดหรือไม่อย่างไร
A    :    จากอุทาหรณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของพจน์เพื่อทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่ ซึ่งสามารถใช้วิธีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการจราจรทางบกนั้น แต่พจน์ปฏิเสธการตรวจตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นพจน์มีพฤติกรรมอันควรเชื่อว่าขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นจึงขอตรวจ เมื่อพจน์ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เมาสุราตามมาตรา 43 (2) เมื่อพจน์ขับขี่ในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อาจจะได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2550 ฉบับที่ 7 ก็ได้นะครับ

การขับรถในขณะที่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นรวมถึงสิ่งเสพติดอื่นใดก็ตาม เมื่อมีปริมาณมากพอที่จะไปกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นเหตุให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ หย่อนสมรรถภาพ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อตนเองและผู้อื่นได้ทุกวินาทีอย่างเช่น พจน์ 

พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 
มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(2)    ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

พระราชบัญญัติการจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) 2557
มาตรา 142    เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ 
(1)    รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6
(2)    เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)

การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงฉบับที่ 16 (2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522
ข้อ 1  การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่โดยใช้วิธีการตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(1)    ตรวจวัดลมหายใจด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจหรือทดสอบให้ใช้เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZERTEST) และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์วิธีการตรวจหรือทดสอบ ให้ปฏิบัติตามวิธีการตรวจสอบของเครื่องตรวจแต่ละชนิด
(2)    ตรวจวัดจากปัสสาวะ
(3)    ตรวจวัดจากเลือด

การตรวจวัดตาม (2) หรือ (3) ให้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบตาม (1) ได้เท่านั้น

ข้อ 2    กรณีที่ต้องทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากเลือดตามข้อ 1 (3) ให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และทำการเจาะเลือดภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
ข้อ 3    ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเมาสุรา
(1)    กรณีตรวจวัดจากเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
(2)    กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ให้เทียบปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐานดังนี้
(ก)    กรณีตรวจวัดจากลมหายใจให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000
(ข)    กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3

WORD OF WISDOM

กฎหมายหรือข้อบังคับใดย่อมปรารถนาให้ถูกการเคารพด้วยความสมัครใจมิใช่เกรงกลัว นิติธัช

 

จิตสำนึก