ประยูร วงษ์ชื่น
หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของภาพยนตร์ไทย ต้องรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อของชายผู้นี้เป็นแน่ คุณประยูร วงษ์ชื่น ผู้กำกับชื่อดังชั้นบรมครู ฝีมือการทำหนังของท่านระดับเอกอุ ทำภาพยนตร์ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายอาทิ ตะเคียนคะนอง, กองพันทหารเกณฑ์, ทหารเกณฑ์กิ้บก๊าบ, เวลาในขวดแก้ว ฯลฯ ในหนังแต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์ของท่านแฝงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้จัดละครในนาม บริษัท โชอิง จำกัด
เวลาในขวดแก้ว คือภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำนิยม โดยได้รับรางวัลจากสองสถาบันคือ รางวัลสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปีพ.ศ.2534 จำนวน 4 รางวัล และรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 2ประจำปี พ.ศ.2534 อีก 2 รางวัล
“ผมเป็นคนจังหวัดนครปฐม อยู่อำเภอบางเลน สมัยก่อนชอบดูหนังมากภาพยนตร์กลางแปลงหรือหนังขายยาจะเป็นสิ่งที่ชื่นชอบที่สุด คิดว่าชีวิตเราอยู่บ้านนอกมันก็คงจะไม่ก้าวหน้า ตอนอายุสัก 12 ปี ไปแสวงโชคในกรุงเทพ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าปากกัดตีนถีบ ไปตามประสาของคนยากจน ทำงานไปด้วย เรียนกวดวิชาไปด้วย แต่พออยู่กรุงเทพฯ ได้ระยะหนึ่งก็กลับไปอยู่บ้านนอกอีก ญาติผมเขาทำเวทีมวยชั่วคราวตามงานวัด ผมก็ชกมวยเรื่อยเปื่อยไป พอดีโฆษกมวยลาไปบวช ทีนี้ก็ไม่มีคนพากย์มวย ผมก็บอกว่าผมทำได้ เขาก็เลยลองให้ไปเป็นคนพากย์ ปรากฏว่าใช้ได้ผมก็เลยพากย์มวยแทนคนเก่าอยู่พักหนึ่ง จนมีอยู่วันหนึ่งแถว ๆ บ้านมีงานบวช มีหนังกลางแปลงมาฉาย จอหนังมาจากกรุงเทพฯ แต่ว่านักพากย์หลงทาง คนพากย์ไม่มี เขาก็เลยให้ไปพากย์หนังแทน ก็ดำน้ำไปจนจบเรื่อง เจ้าของจอเห็นว่าพากย์ได้ก็เลยให้ไปต่ออีกงาน เงินงวดแรกที่ผมได้จากการพากย์เสียงหนังกลางแปลงคือ 50 บาท สมัยก่อนก็ถือว่าเยอะครับ
“ต่อมาน้าชายที่เป็นนักพากย์อยู่ด้วย เขาก็เลยเอามาฝากกับบริษัท กุหลาบทิพย์ภาพยนตร์ ผมอยู่ได้หนึ่งปี รายได้มันน้อย เราก็เลยขอเป็นนักพากย์อิสระ ก็ไปเดินศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นชุมนุมของนักพากย์ ชุมนุมศิลปิน ทีนี้รายได้มันก็เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องละ 75 บาท ผมพากย์หนังกลางแปลงอยู่ประมาณ 2 ปี พอดีไปเจอกับ คุณสมพงษ์ วงศ์รักไทย นักพากย์ชื่อดัง ท่านแนะนำให้ไปพากย์ที่โรงหนังชั้นหนึ่ง หนังเรื่องนั้นชื่อเรื่อง เจ็ดพระกาฬ นักพากย์สมัยก่อนภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ต้องรับบทพากย์ทั้งหมดในเรื่อง ไม่ว่าจะเสียงหมา เสียงม้า เสียงนักแสดง
“ผมพากย์หนังในโรงหนังได้ประมาณ 7 ปี พอปี พ.ศ.2513 วงการภาพยนตร์ถึงจุดเปลี่ยน จากหนังไม่มีเสียงก็เป็นหนังที่มีเสียงในฟิล์ม นักพากย์ก็ตกงานหมด แต่โชคดีที่ผมรู้จักกับพวกรุ่นพี่ในวงการ เลยได้มาทำงานเป็น Checker คือคอยเช็กรายได้ของหนัง ผมทำได้ประมาณสักปีกว่า ๆ พอดีมีพรรคพวกเขาจะสร้างหนังแต่ไม่มีโรงฉาย ผมก็เลยเอาหนังไปเสนอให้โรงภาพยนตร์ เรื่อง แม่หม้ายใจถึง ก็ทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ แล้วเมื่อหนังจบลงไป คนที่ผมไปขอสปอนเซอร์ก็ชวนผมหุ้นทำหนังกับเขาเป็นเรื่องเป็นราว ผมก็เลยมีหน้าที่วางพล็อตเรื่อง เขียนบทของเรื่องให้ เพราะผมมีประสบการณ์ในการพากย์หนังมา ดูหนังมาเยอะ”
เส้นทางสู่ผู้กำกับเงินล้าน
“ผมชอบหนังคาวบอย ผมก็คิดพล็อตหนังเรื่อง พ่อตาปืนโต เพราะกำกับหนังยังไม่เป็นเลยต้องไปให้ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านกำกับหนังให้ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ รายได้ดีมากครับ หลังจากนั้นผมจึงมาทำเองบ้าง มาลงทุนเอง เงินลงทุนไม่พอก็ต้องหาสปอนเซอร์จากสายหนัง ก็ให้ครูรังสีกำกับเหมือนเดิม ชื่อเรื่อง แว่วเสียงนางพราย ผมคิดว่าหนังผีเยอะก็เลยเปลี่ยนมาทำหนังสไตล์วัยรุ่นหน่อย เรื่อง พ่อตาจิ๊กโก๋ ผมพล็อตเรื่องให้ท่านไปถ่ายที่เชียงใหม่ แต่ท่านไปไม่ได้เพราะเป็นโรคหัวใจผมก็พยายามหาผู้กำกับมาทำแทน ไปหาคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งเขาอยากทำให้แต่ติดสัญญากับที่อื่นอยู่ เขายุให้ทำเองผมก็เลยตัดสินใจทำเอง แต่ขอชื่อผู้กำกับชื่อดังในตอนนั้นอย่าง คุณชรินทร์ นันทนาคร, เปี๊ยก โปสเตอร์, รังสี ทัศนพยัคฆ์
มาเป็นที่ปรึกษา
“เรื่องแรกที่กำกับเองปรากฏว่าเจ๊ง ขาดทุนครับ เพราะว่ายุคนั้นแข่งกันที่ดาราแสดงนำ ตอนนั้นพระเอกที่ดังมากคือคุณสรพงษ์ ชาตรี หนังผมไปชนกับหนังที่เขาแสดง ตอนนั้นผมหมดตัวเลยครับ แต่ว่าโชคดีเจอลูกค้าใจดีให้ยืมเงินมาลงทุนแก้ตัวใหม่ แต่ยังไม่มีดาราแม่เหล็ก ก็เลยต้องทำหนังฟอร์มเล็ก กลับมาทำหนังผีเรื่อง ตะเคียนคะนอง เป็นหนังที่ไม่มีดาราดังเลย พอทำแล้วก็ไม่มีโรงฉายอีก เพราะว่าไม่มีดาราแม่เหล็ก เพราะว่าโรงสมัยก่อนมันจำเป็นต้องมีหนังที่นักแสดงแม่เหล็กคอยดึงคนมาดู ทีนี้ผมก็ไปให้ทางบริษัทสหมงคลฟิล์มเป็นคนจัดจำหน่าย ทางสหมงคลฟิล์มจะฉายหนังเป็นล็อต ล็อตละ 10 เรื่อง ซึ่งจะฉายหนังฝรั่งก่อน มี 9 เรื่องฉายได้ แต่มีเรื่องของผมฉายไม่ได้เรื่องเดียว เสี่ยเจียงก็เลยให้เอามาฉายในโรงที่ฉายหนังฝรั่งของเขาแทน แต่ให้แค่
7 วัน โรงนั้นไม่เคยฉายหนังไทย ชื่อโรงหนังสเตลล่า
“ได้ฉายแค่ 7 วันเราก็เอา แต่วิธีการของผมคือเมื่อมันเป็นของเราก็ต้องทุ่มเทเต็มที่ เราโฆษณาใหญ่โตสไตล์เรา จึงทำมาสคอตเป็นผีตัวใหญ่ มีแสงออกจากลูกตา แล้วก็มีเสียง ปรากฏว่าชาวบ้านแจ้งตำรวจจับเพราะลูกเต้าเขานอนไม่หลับ คุณเจียงก็ไปเจรจาเขาก็บอกว่าทำได้ แต่ให้งดใช้เสียง ผมเลยทำเป็นศาลเจ้าแม่ตะเคียนหน้าโรง แม่ค้าแถวนครปฐมก็มาขอหวยแล้วถูกจนเป็นที่ฮือฮา ทำให้หลังจากนั้นได้ยืนโรงฉายเกือบสองเดือน เก็บรายได้ถึงเกือบสองล้าน การตลาดเราไม่ได้ทำในกรุงเทพอย่างเดียว
ต่างจังหวัดเราก็ทำ
“โรงหนังสมัยก่อนเขาจะมีเกณฑ์วัดว่าถ้าหนังเรื่องไหนมีรายได้ต่ำกว่าสามหมื่นบาท เขาจะเอาออก พอทำเรื่องนั้นแล้วก็มาทำอีกเรื่องชื่อ ดอนตูมตื้นตัน ผลปรากฏว่าเจ๊งอีกแต่ยังพอมีทุนอยู่บ้าง ก็เลยเปลี่ยนแนวไปทำหนังทหารดูบ้างเรื่อง กองพันทหารเกณฑ์ ซึ่งได้คุณปัญญา นิรันดร์กุลมาเป็นพระเอก ก็ต้องตัดผมให้ดูจริงจังมี โน้ต เชิญยิ้ม, ไก่ วรายุฑ, เด๋อ ดอกสะเดา เอามาเล่นเป็นทหารเกณฑ์หมด ผลปรากฏว่าทำมาก็ยังไม่มีโรงฉายอีก ตอนนั้นหนังส่วนใหญ่ที่ทำจะเข้าโรงหนังเครือ APEX มีอยู่จังหวะหนึ่ง หนังที่สรพงษ์ชาตรี แสดงนั้นขาดตอน เขาก็เลยเอาหนังของผมเสริมเข้าไป ผมเขียนพล็อตเรื่องเอง ต้องไปค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องทหาร ก็เอามาเขียนบท ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้เมื่อเข้าแล้วมันย้ายโรงฉายถึงสามที่ จากสยามไปลิโด้และกลับมาสยามอีก
สมัยก่อนถ้าหนังได้เข้าสยามถือว่าดัง รายได้กว่า 10 ล้านบาทถือว่าประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น
“การกำกับภาพยนตร์นั้นผมจำมาจากผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่างครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ตอนท่านกำกับก็ดูว่าต้องทำอะไรทำงานอย่างไร ตอนนั้นเราเป็นผู้อำนวยการสร้าง ก็ต้องดูแลเองทั้งหมดเพราะเงินน้อยจ้างใครมาดูให้ไม่ได้ คือผมเป็นคนชอบหนัง ชอบงานบันเทิงทุกอย่าง ผมทำงานยึดถือ Storyถ้าเรื่องดีอะไรมันก็ง่าย เพราะฉะนั้นเนื้อเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ผมเป็นคนที่ชอบคิดอะไรที่มันมีความแตกต่าง”
เวลาในขวดแก้ว
“ช่วงนั้นเราก็ทำหนังหลากหลายประเภท แต่ผมไม่ค่อยชอบเอานวนิยายมาทำเป็นหนัง เพราะว่าเราไม่มีความชำนาญตรงนั้น แต่พอได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งคือเวลาในขวดแก้ว เนื้อเรื่องแปลกมีความหลากหลายมาก เป็นเรื่องเล่า ก็เลยติดต่อกับคุณประภัสสร เสวิกุล ผู้ประพันธ์ เขาก็ยินดีให้นำไปทำหนัง และผลงานของคุณประภัสสรยังไม่เคยถูกนำไปทำหนังมาก่อน แคสติ้งนักแสดงใหม่ได้ โก้ นฤเบศร์จินปิ่นเพชร มาเป็นพระเอก จริง ๆ คาแรกเตอร์ไม่ค่อยตรงนัก แต่อารมณ์เขาได้ผมคิดว่าน่าจะถ่ายทอดได้ดี
“ก่อนหนังจะฉาย ผมถูกแอนตี้เยอะ เขาว่าผมทำหนังผี หนังทหารไม่เคยมีเครดิต ไม่น่ามาทำหนังชีวิตอย่างนี้ แถมบทประพันธ์ยังเป็นหนังสือเรียนนอกเวลาของบางสถาบันด้วย มีการจัดสัมมนาขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ งานชื่อว่าจากวรรณกรรมเป็นภาพยนตร์ เขาไม่เชื่อว่าผมจะทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นหนังที่ดีได้ แม้กระทั่งสายหนังเขาก็ไม่ซื้อผม ขายยาก ความจริงหนังเรื่องนี้ผมควรจะฉายโปรแกรมปีใหม่ช่วงนั้นปีใหม่ไม่มีหนังแข็ง ผลปรากฏว่ามีเจ้าของหนังอีกคนเขาอยากได้โปรแกรมก็เลยเอาไปอยู่โปรแกรมตรุษจีน เจอแต่หนังแข็ง ผมก็เลยใช้วิธีโปรโมทแบบสร้างกระแส ทำใบปลิวไปแจกตามโรงเรียนบางสถาบัน ผมแพลนไว้เพื่อจะโปรโมทให้เห็นความแตกต่าง โดยการเชิญสถาบันต่าง ๆ ที่เขาแอนตี้ผมมาดูหนัง แล้วผมจัดสัมมนาที่โรงแรมอินทรา
“แผนคือเมื่อสัมมนาเสร็จก็เข้าดูหนังที่โรงหนังอินทรา แต่กลายเป็นว่าไม่ให้ผมฉายที่นั่น เขาอาจกลัวผมขาดทุนก็ได้นะเพราะโรงหนังมันใหญ่ เขาก็ให้ผมมาฉายโรงหนังพันธุ์ทิพย์แทน ผมกับคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ก็เลยต้องมาวางแผนกัน จ้างทีมกล้องวิดีโอมาเก็บภาพ ให้ผมเชิญนักศึกษาที่เขาแอนตี้ผมมา แล้วก็ให้ผมเชิญผู้กำกับในวงการมา รู้จักใครเชิญมาให้หมด เรามีจัดเลี้ยงด้วย ผมเป็นเจ้าแรกที่มีการจัดหนังรอบสื่อนะครับ เราก็เตรียมแบบฟอร์มไว้เพื่อให้คนดูหนังเสร็จคอมเม้นต์ ผลปรากฏว่าที่เขาคอมเม้นต์คือเขาไม่คาดคิดว่าคุณประยูรจะทำได้ดีขนาดนี้ พอผ่านรอบฉายจริง รอบเช้านี่เหมือนนักเรียนจะมาตีกันเลยครับ มากันหลายสถาบันมาก แต่เขามาจองตั๋วหนังกัน ก็เป็นปรากฏการณ์เพราะโรงหนังสยามตั้งแต่เริ่มกิจการไม่เคยมีรอบเช้าเสริม แต่ผมทำได้ ฉายอยู่ถึง 7 สัปดาห์
“หนังเรื่องนี้ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำเป็นหนังประกวดนะผมทำหนังเพื่อธุรกิจ พอมีการจัดงานประกวดของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเป็นปีแรก ผลปรากฏว่าเมื่อคณะกรรมการดูกันก็ให้ผ่านเข้ารอบ 5 เรื่อง เราก็ไม่หวังเพราะประกบหนังใหญ่ที่สร้างเพื่อประกวด แต่กลายเป็นว่าประกาศมาได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพลงประกอบยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
“ผมต้องให้เครดิตความดีทั้งหมดกับคุณประภัสสร เสวิกุลครับ ท่านเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก ช่วงที่หนังผมเข้า ท่านมาดูเกือบทุกวัน มาให้กำลังใจผมทุกวัน แล้วเราก็ติดต่อกันตลอด ได้เจอะเจอพูดจากันตลอด โทรหากัน มาทานข้าวด้วย แม้กระทั่งก่อนหน้าที่ท่านจะเสียชีวิตหนึ่งเดือนเราก็ยังไปทานข้าวด้วยกัน แล้วก็ผมมีแพลนที่จะทำรายการโทรทัศน์ ก็เชิญท่านมาเป็นที่ปรึกษาซึ่งท่านก็ยินดี ตอนรู้ข่าวผมก็ช็อกเลย รู้สึกเสียใจมาก พูดตรง ๆ ว่าเราเหมือนญาติกัน เป็นความผูกพันที่เราไม่สามารถจะลืมได้“
จากจอเงินสู่จอแก้ว
“หลังจากเวลาในขวดแก้วผมทำหนังอีก 2-3 เรื่อง แล้วผลปรากฏว่าช่วงนั้นวงการหนังไทยมันดาวน์มาก ก็เจ๊งติดต่อกันเลยหยุด หันมาทำโรงพิมพ์แทน ภรรยามีประสบการณ์จากการทำโรงพิมพ์ก็ตั้งโรงพิมพ์อยู่สักพักหนึ่ง พอธุรกิจเริ่มไม่ดีก็ต้องหันมาขอคุณแดง ช่อง 7 ทำละครแทน เรื่องแรกคือ นายร้อยสอยดาว ตอนนั้นละครช่วงเย็นไม่ค่อยมีเรตติ้ง พอทำแล้วมันมีเรตติ้ง คุณแดงก็เลยให้ทำมาเรื่อย
“บริษัทเปิดตั้งแต่ปี 2545 ตอนนี้ก็มีป้อนให้ช่อง 3 ช่องใหม่ ๆ ก็กำลังเสนออยู่ มีงานอีเว้นท์บ้าง งานออแกไนซ์บ้าง งานถ่ายโฆษณา ถ่ายสารคดี ให้เช่ารถไปถ่ายละครก็แล้วแต่ว่าเขาจะชอบงานเราไหม เราก็รับ เพราะว่าตอนนี้ทีวีมันเยอะ จะลงทุนทำละครตอนละล้านกว่าบาทก็ไม่ไหว เราก็ต้องชะลอ
“มันเยอะมาก เยอะเรื่องของทีมงาน เพราะว่าทีมงานต้องแยกเยอะไปหมด กองละครเราเฉพาะทีมงานอย่างเดียว40 คน แต่ถามว่างานมันสนุกไหม มันก็สนุกอีกแบบ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราฝัน เราต้องทำตามใจนายทุน
“ผมว่าอยู่กับงานครับ วันไหนที่เรามีงาน เช่น ไปกองถ่ายเราจะมีความสุขมาก ได้เห็นอากาศสดชื่น ได้เห็นพรรคพวกทักทายกัน มันก็มีความสุข ผมอยากทำมาก แต่ผมไม่มีทุน และเรื่องของงานพวกนี้ มันเป็นงานขายไอเดีย เพราะฉะนั้นไอเดียเราต้องเก็บไว้จนกว่าเราจะได้ทำ ผมคิดว่าการทำงานอย่างนี้ มันไม่ใช้เงินหรอก มันใช้สมอง ใช้ความคิด ใช้ไอเดีย ผมยังพอมีไอเดียที่จะทำ”
ศิลปะบนแผ่นฟิล์ม
“เป็นเรื่องยากที่จะใช้คำจำกัดความที่ให้มันถูกต้อง ทุกคนต่างก็มีแนวคิด มีความรู้สึกที่แตกต่างกัน แต่ในความรู้สึกของผมก็คือว่า เราจะทำยังไงให้งานศิลปะบนแผ่นฟิล์มสามารถอยู่ในใจของคน ให้คนได้ดูแล้วมีความรู้สึกว่าเขาอิ่มอกอิ่มใจ อย่าไปหลอกลวงเขา แล้วก็ต้องมีความจริงใจกับมัน ต้องทุ่มเทงานถึงจะออกมาดี เราต้องรักและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ
“ในการที่ทำธุรกิจบันเทิง มันต้องมีมารยาใส่เข้าไปบ้างเมื่อเราสร้างงานนั้น เหมือนกับคนเขียนนวนิยาย เขาก็มีจินตนาการ แต่ว่าภาพยนตร์หรือละคร มันเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ เราจะเปลี่ยนแปลงคนดูให้คิดอย่างอื่นไม่ได้ คนดูต้องคิดตามภาพที่เราเสนอไป
“ผมว่ามันเป็นการถ่ายทอดจากบทภาพยนตร์ไปสู่นักแสดง ความรู้สึกของเราก็การสร้างบทละคร บทคือหัวใจ เมื่อเราสร้างบทมาแล้วก็ต้องถ่ายทอดให้นักแสดงทำให้ได้ เมื่อทำภาพได้แล้ว เสียงประกอบก็ต้องดำเนินไปด้วยกัน ซาวด์แทร็คเป็นเรื่องสำคัญที่จะกระตุ้นอารมณ์ของคนดู
“ต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราอาจเป็นคนรุ่นเก่า เด็กรุ่นใหม่อาจทำตามความรู้สึกของเขา แต่อยากจะฝากไว้ว่าบ้านเรามีวัฒนธรรม มีประเพณี ถ้าหากว่าเราหลงลืมเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราแล้วเอาวัฒนธรรมของคนอื่นเข้ามาใส่ ตรงนี้มันจะเป็นจุดจบของภาพยนตร์ไทย อีกเรื่องหนึ่งตอนนี้ทีวีมีหลายช่องมากขึ้น อยากให้คนทำต้องเข้าใจศาสตร์ของศิลปะ ถ้าหากว่ามองเรื่องการค้าอย่างเดียว โอกาสที่จะถึงจุดจบก็มีสูงผมคิดว่าตราบใดคนไทยยังไม่หันไปกินขนมปังเป็นหลัก ยังกินอาหารไทยเราก็ควรอนุรักษ์วัฒนธรรมของเราไว้ครับ ศิลปะไทยต้องมี นี่เป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ ผมว่ามันต้องเอาศิลป์นำหน้า งานศิลปะและงานพาณิชย์ต้องผสมผสานกัน แต่ถ้าคุณเอาการค้านำหน้า ศิลปะมันหายครับ เมื่อศิลปะหายคนดูก็ดูไม่สนุก แล้วการค้าจะไปได้อย่างไรกันครับ”