“นํ้า” ของไช่มิงเหลียง “เวลา” ของ หว่อง คาร์-ไว “ขา” ของเควนติน

“นํ้า” ของไช่มิงเหลียง “เวลา” ของ หว่อง คาร์-ไว “ขา” ของเควนติน

ผมเคยเจอผู้กำกับมากมายหลายคน ในชีวิตการเป็นนักข่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับ “หนัง” อย่างหนักหน่วงกว่าเรื่องอื่น ๆ ครั้งหนึ่งเคยเจอหว่อง คาร์-ไว ที่โรงแรมแชงกรีลายังแซวว่า ทำไมหนังของเขาตัองมี “นาฬิกา” แทบทุกเรื่อง... อีกครั้งเจอ เควนติน ตารันติโน ที่คานส์ ยังหยอดว่า หนังหลายเรื่องของเขา ชอบถ่าย “ขา” ของผู้หญิง

แต่ที่ชอบมากกว่าสองคนนี้ก็คือ การนั่งคุยกับไช่มิงเหลียงที่โรงแรมสูง ๆ ฝั่งตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์ …ผมแซวเขาและนึกไปถึงครั้งหนึ่งที่เคยสัมภาษณ์ อ.กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคินเราคุยกันเรื่องสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ผู้กำกับชอบใส่เข้าไป หนึ่งในนั้นก็คือ “น้ำ” จนดูเหมือนเขาจะมีปมเกี่ยวกับน้ำ...

The River (1997) เรื่องของ “เสี่ยวกัง” หนุ่มที่เกิดเป็นโรคประหลาดที่ไม่ว่าจะเป็นหมอแขนงไหนก็รักษาไม่ได้ ในขณะที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขาก็เกินจะเยียวยา แม่ของเขามีชู้ และเสี่ยวกังก็ไปเผชิญหน้ากับพ่อในซาวน่าของพวกเกย์ 

“น้ำ” จากห้องชั้นบนรั่วไหลลงมานองในห้องของพวกเขาแต่ก็ไม่มีใครใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา เป็นที่น่าสังเกตว่า“น้ำ” มักจะมีบทบาทสำคัญในหนังของไช่หมิงเหลียง อย่างในเรื่อง  Rebel  of  the  Neon  God  ก็เช่นเดียวกัน  ห้องของอาฉือ
มีปัญหากับท่อระบายน้ำ ทำให้มีน้ำนองพื้นอยู่ตลอดเวลา 

ในหนังเรื่องนี้มีดารารับเชิญเป็นผู้กำกับหญิงชื่อดังของฮ่องกงคือ แอนน์ ฮุย เจ้าของผลงานเด่นเรื่อง Boat People เธอเล่นเป็นผู้กำกับหญิงที่ชักชวนเสี่ยวกังให้ไปแสดงเป็นศพลอยน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นโรคประหลาด 

และต่อมาหลี่กังเจิ้งก็ไปเป็นดารานำแสดงคนหนึ่งในหนังของเธอเรื่อง Ordinary Hero ปี 1998 สถาบันภาพยนตร์ฝรั่งเศสเตรียมฉลองสหัสวรรษใหม่ด้วยการเชิญผู้กำกับ 8 คนจาก 8 ประเทศทั่วโลกให้ทำหนังเกี่ยวกับปี 2000 ไช่หมิงเหลียง ก็เป็น 1 ใน 8 นั้น

เขาทำหนังเรื่อง The Hole ว่าด้วยไทเปที่มีพายุฝนจนเกิดอุทกภัย ผู้คนอพยพไปจนเกือบจะเป็นเมืองร้าง ช่างซ่อมท่อมาเจาะรูในห้องน้ำของเสี่ยวกัง แล้วก็อพยพไปโดยทิ้งรูไว้อย่างนั้น เขาใช้รูนี้เป็นที่แอบมองสาวที่อยู่ชั้นล่าง(หยางกุ้ยเหมย) 

เขาแอบฝันถึงเธอ โดยไม่รู้ว่าเธอก็แอบฝันถึงเขาเหมือนกันแล้วก็ตามเคย ทั้งสองต่างคนต่างฝันถึงกันอย่างเหงา ๆ งานที่บ่งบอกได้ชัดเจนถึงความผูกพันของไช่หมิงเหลียงกับหนังชุดอังตวน ดัวแนล ของฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ก็คือ What Time Is It There (2001) เรื่องราวของหญิงสาว (เฉินเซียงฉี)ที่เดินทางไปปารีส ซึ่งก่อนจะไปเธอได้ซื้อนาฬิกาชนิดที่บอกเวลาได้ทั้งสองประเทศจากพ่อค้าข้างถนน (เสี่ยวกัง) เธออยู่ปารีส แต่ยังคงรักษาเวลาของไต้หวัน ขณะที่เสี่ยวกังก็อยู่กับเวลาของปารีสเช่นเดียวกัน  แม่ของเขา (หลูเสี่ยวหลิง)อยู่กับเวลาของพ่อ (เหมียวเทียน) ที่ตายไปแล้ว ช่วงหนึ่งของหนังเรื่องนี้ใช้ดนตรีประกอบของจอร์จ เดอเลอรู จากเรื่อง 400 Blow ของทรุฟโฟต์ มีฉากที่เสี่ยวกังดูวิดีโอหนังเรื่องนี้อยู่ที่บ้าน และตอนท้ายของเรื่อง หญิงสาวก็ได้พบกับฌ็อง-ปิแอร์ เลโอด์ หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษอีกชื่อหนึ่งว่า 7 to 400 Blow ผลงานล่าสุดของ ไช่หมิงเหลียงคือ Goodbye Dragon Inn (2003) คราวนี้เขาไปไกลเกินกว่าใครจะคิดได้ 

เรื่องของการฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงหนังเก่า ๆ แห่งหนึ่งในไทเป (โรงหนังโรงนี้ปรากฏอยู่ในหนังของเขาหลายเรื่อง) หนังที่ฉายคือเรื่อง Dragon Inn หนังกำลังภายในยุคปี 1960 ของคิงฮู ผู้กำกับชื่อดังคนหนึ่งของฮ่องกง (ซึ่งเหมียวเทียนเป็นผู้ร่วมแสดงด้วยคนหนึ่ง) คนดูในโรงมีไม่ถึงยี่สิบคน และส่วนใหญ่ก็มาที่นี่ด้วยจุดประสงค์อื่น ไม่ใช่การดูหนังเหมือนกับตามโรงหนังชั้นสองในบ้านเรา  

คนที่มีบทมากหน่อยคือหนุ่มญี่ปุ่น (คิโยโนบุ มิตามูระ)ซึ่งเข้าไปเผชิญกับเรื่องชวนอกสั่นขวัญแขวนในโรงหนัง นอกจากนี้ก็มีเรื่องของพนักงานทำความสะอาดสาวขาพิการ(เฉินเซียงฉี) ที่แอบหลงรักคนฉายหนัง (เสี่ยวกัง) ที่ว่าเขาไปไกลเกินคาดก็เพราะว่าจากปกติที่เขาไม่ค่อยให้ผู้แสดงนำของเขามีบทพูดในหนังแล้ว คราวนี้หนังทั้งเรื่องมีบทพูดอยู่เพียงสี่ประโยค (พูดโดยหนุ่มญี่ปุ่นกับเฉินเจาจง) 

ใครสนใจลองไปหา DVD มาดูได้ และถ้าอยากจะอิน ซื้อ “น้ำ” มาด้วย...