ศรัณย์ เย็นปัญญา
การออกแบบผลงานหนึ่งชิ้น อาจดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายเลย เพราะต้องผ่านกระบวนการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของนักออกแบบให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับ “โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา” Designer และ Artistic Director ของ 56th Studio ผลงานดีไซน์สุดเก๋ที่กลั่นออกมาจากความตั้งใจและแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร การันตีด้วยผลงานรางวัลมากมายไม่ว่าจะเป็น “Young Designer Talent of The Year” by ELLE Decoration Thailand หรือ “Young Designer of The Year 2014” by Wallpaper Thai Edition
“คนอื่นชอบนิยามผลงานผมว่าเป็นงานแปลกประหลาดแต่จริง ๆ คือผมเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่า ทุกอย่างที่เราทำมักมีเรื่องราวแต่ว่าวิธีเล่าจะประหลาดหน่อย แทนที่จะพูดหรือวาดรูป เรากลับชอบทำเป็นสิ่งของออกมา เพราะฉะนั้นผลงานของผมจะเป็นงาน Object Design เสียส่วนใหญ่”
ผลงานที่โดดเด่นจนเริ่มเป็นที่รู้จักสำหรับเขาคือ ‘Cheap Ass Elites’ ด้วยแนวคิดของการแบ่งชนชั้นทางสังคม ถ่ายทอดออกมาเป็นตะกร้าใส่ผลไม้ของไทย แล้วผ่าครึ่งนำไปต่อขากับเก้าอี้หลุยส์ เรียกว่าเป็นความขัดแย้งกับของที่มองว่าอยู่ชั้นล่างกับของที่มองว่าสูงเสมือนเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว
“เรื่องชนชั้นในประเทศเรามันมีช่องว่างเยอะ เลยนำแนวคิดนี้มาถ่ายทอด ลองตั้งคำถามว่า ของถูกต้องไม่ดี หรือของแพงต้องดีเสมอไปรึเปล่า มันเป็นเรื่องค่านิยมของไทย ซึ่งทุกวันนี้คอลเล็กชั่นนี้น่าจะเป็นชุดที่คนรู้จักมากที่สุดแล้ว เป็นผลงานที่ทำตั้งแต่สมัยเรียนออกแบบที่ประเทศสวีเดน ตอนนั้นสื่อต่างประเทศให้ความสนใจมาก ถือว่าเป็นผลงานเรียนจบพอดี เหมือนเป็นใบเบิกทางให้กลับมาเปิดสตูดิโอที่เมืองไทย ตอนนี้ก็ยังมีจัดแสดงงานชุดนี้อยู่เรื่อย ๆ
“ผลงานชุดแรก ๆ จะเป็นงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์มากกว่า เพราะว่าช่างของเราทำแนว Conceptual Furniture เป็นเฟอร์นิเจอร์ประหลาด ๆ พอหลัง ๆ มาทำงานพวก Exhibition Design เลยเปิดสตูดิโอให้เป็นส่วน Gallery เป็นงานแสดงที่จัดหมุนเวียนกัน แล้วก็รับออกแบบงานพวก Cooperate Identity คืองานกราฟฟิกทั่วไปก็รับทำ หรือ Visual Branding เรียกว่ารับงานออกแบบทุกชนิดเลยก็ว่าได้ เพราะเราเป็นนักเล่าเรื่องคือลูกค้าที่เข้ามา เขาเห็นอยู่แล้วว่าเราทำอะไร มันก็เป็นการคัดลูกค้า แล้วลูกค้าก็คัดเลือกเราอีกที ว่างานแบบไหนเหมาะกับเรา ส่วนมากคนที่เดินเข้ามาหาจะตั้งโจทย์ไว้แล้วว่าเขาต้องการอะไรที่มันไม่ปกติ”
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น งานออกแบบไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่เขาเป็นนักสังเกตที่มักหยิบเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวใส่ลงไปในผลงาน แถมการได้พูดคุยพบปะกับผู้คนรอบข้าง นั้นยิ่งทำให้เขาได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เสมอ หากถามถึงหัวใจของนักออกแบบในมุมมองของเขาเป็นแบบไหน เขายิ้มแล้วตอบกลับมาว่า
“ผมว่าก็เป็นหัวใจของทุกอาชีพแหละ คือต้องเคารพรักในอาชีพตัวเอง รักในที่นี้มันรวมถึงทุกอย่างเลย หนึ่งคุณตั้งใจทำงานนี้จริง ๆ หรือว่าคุณก็อปงานใครมารึเปล่า ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับงานก็อปปี้ ไม่ได้เลยจริง ๆถ้ารู้ว่ามีส่วนไหนคล้ายก็จะต้องหลบ คือรักในอาชีพแล้วอย่างที่สองก็พยายามหา Input อย่างอื่นที่ไม่ใช่งานออกแบบเช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ยิ่งเราบริโภคอะไรเยอะมันทำให้องค์ความรู้เรากว้างขึ้น แล้วก็จะสะท้อนออกมาในงานออกแบบ เหมือนได้คุยกับนักการตลาด นักเขียน อะไรแบบนี้ มันก็ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ
“วงการออกแบบทั่วโลกตอนนี้ ผมมองแบบรวม ๆ ว่าโลกมันแคบลงนะ ตอนนี้แค่เด็กจบใหม่ทำงานออกมาสักหนึ่งชิ้น แล้วงานมันดีพอ งานนั้นก็จะเห็นไปทั่วโลกมันแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น คือคุณไม่ต้องส่งนกพิราบไปให้ใครดูไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นดีไซน์เนอร์จากประเทศไหน คือมันเป็นโลกเดียวกัน มันแชร์กันได้ โลกแคบลงแล้วงานก็สามารถเห็นได้ง่ายขึ้น ส่วนวงการออกแบบไทยตอนนี้ผมว่ายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ น้อง ๆ คลื่นลูกใหม่ยังไม่รู้ความสำคัญของ Social Media แต่ตอนหลัง ๆก็เริ่มเห็นบ้างแล้วครับ น้องรุ่นใหม่ที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจ ทั้ง ๆ ที่คนในประเทศยังไม่รู้จักเลย ผมว่าก็ดีเป็นความหวังใหม่แต่อยากให้มีเยอะกว่านี้ เพราะว่าประเทศอื่น ๆ เขาได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลทุกแง่ ในขณะที่เราต้องซัพพอร์ตตัวเราเอง ผมมองว่ามันก็ลำบาก”
เห็นได้ว่าแม้งานออกแบบจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่งานออกแบบช่วยให้ชีวิตมีสีสันและงดงาม ก่อนจากกันเขาทิ้งท้ายไว้ว่า งานส่วนสตูดิโอของเขาจะเน้นเรื่องการร่วมมือกับศิลปินต่างประเทศ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขามองว่าตรงนี้เป็นรูปแบบที่ใหม่มาก ศิลปินทุกคนต่างมีผลงานเป็นที่รู้จัก ร่วมงานกับองค์กรใหญ่ ๆ มารวมกันแสดงผลงานอยู่ตรงนี้ เขาอยากให้เมืองไทยมีที่แสดงงานแบบ Conceptual บ้าง ไม่อย่างนั้นหากไปเดินชมงานที่
Gallery ก็จะเห็นแต่งานจิตรกรรม เหมือนมีแค่ด้านเดียว เขามองว่าหากมีอะไรใหม่ ๆ มาสร้างสีสันให้วงการออกแบบบ้างก็คงจะดี