เชื่อหรือไม่ว่าทีมฟุตบอลของประเทศภูฏาน เคยรั้งอันดับบ๊วยของโลกในการจัดอันดับโดยฟีฟ่ามาแล้วหลายปี เรียกว่าสมัยก่อนกีฬาชนิดนี้แทบไม่เป็นที่นิยมภายในประเทศมากนัก เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่นภูมิศาสตร์ที่มีแต่ภูเขาล้อมรอบจะสร้างสนามฟุตบอลขึ้นมาแต่ละสนามจึงเป็นเรื่องยากพอสมควร เรื่องของการสนับสนุนงบประมาณ หรือแม้กระทั่งจำนวนประชากรเองที่มีเพียง 7 แสนกว่าคนเท่านั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการกีฬาชนิดนี้
อย่างไรก็ตามทีมฟุตบอลของภูฏานเข้าเป็นสมาชิกทีมที่ 204 ของฟีฟ่า ในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งถือว่าเข้าร่วมช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ทว่าในวันที่ 30 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2002 ประวัติศาสตร์ของทีมชาติภูฏานต้องถูกจารึกไว้เมื่อพวกเขาชนะแมตช์อย่างเป็นทางการครั้งแรกเหนือทีม มอนต์เซอร์รัต ประเทศเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียน 4 - 0 และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แนวสารคดีเรื่อง The Other Final ที่ตีแผ่วิถีชีวิตกับกีฬาฟุตบอลของคนภูฏานสู่สังคมภายนอกให้รับรู้แบบซาบซึ้ง
หลังจากที่ประเทศภูฏานเริ่มเปิดประเทศสู่ภายนอก ทีมฟุตบอลที่เคยจมอยู่อันดับบ๊วยสุดของโลก ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นเอาจริงเอาจังมากขึ้น ไม่นานนักความสำเร็จก้าวแรกก็มาถึง เมื่อทีมชาติภูฏานผ่านเข้ารอบคัดเลือกฟุตบอลโลกโซนเอเชียรอบแรกได้สำเร็จ จากการชนะศรีลังกานอกบ้าน 0 - 1 และกลับมาเปิดบ้านชนะ 2 - 1 ด้วยสกอร์รวม 3 - 1 ซึ่งนักเตะคนสำคัญของภูฎานก็มี เจนโจว เกลเซ็น ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นโรนัลโดแห่งภูฏาน เขาอยู่ในสังกัดบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรจากประเทศไทย โดยปัจจุบันถูกสโมสรสุรินทร์ ซิตี้ ยืมตัวไปใช้งาน
กลับมาเรื่องของฟุตบอลภูฏาน เมื่อสามารถผ่านเข้ามาเล่นในรอบ 2 ของการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าพวกเขาไปอยู่ในกลุ่ม C ที่ประกอบไปด้วย การ์ตา, จีน, ฮ่องกง และมัลดีฟ ด้วยผลการแข่งขันที่เรียกว่าไม่พลิกโผ หลังจากแข่งกันไป 3 นัด ภูฏานโดนการ์ต้าถล่มไป 15 - 0 แพ้จีน 6 - 0 โดนฮ่องกงถล่มยับอีก 7 - 0 (ณ วันที่12/9/58) เรียกว่าฝีเท้ายังห่างชั้นกับทีมชั้นนำในเอเชียอยู่มาก
แต่เชื่อว่าแฟนฟุตบอลคงไม่มีใครซีเรียสด้วยผลการแข่งขันที่เละเทะขนาดนี้ เพราะแค่ก้าวผ่านคำว่าบ๊วยของโลก ก็ถือว่ากำลังก้าวผ่านไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น และได้เล่นฟุตบอลอย่างเต็มที่ในแมชต์เป็นทางการที่ฟีฟ่ารับรอง เพียงเท่านี้ก็เป็นที่ภาคภูมิใจของคนในชาติได้แล้ว