กรวิก สันติ เศวตวิมล
กรวิก คือชื่อนักแต่งเพลงที่จุดประกายกระแสเพลงป็อบเนื้อร้องภาษาไทยให้เป็นที่นิยม หลายคนที่ไม่ทันได้ฟังเพลงในช่วงยุค 80 อาจไม่คุ้นชื่อกรวิกนัก แต่ถ้าหากเอ่ยชื่อ “สันติ เศวตวิมล” ประธานสถาบัน (Chair Man) ในรายการเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย, พิธีกร, นักหนังสือพิมพ์ และคอลัมนิสต์ชื่อดังระดับต้นๆ ของประเทศ ในหลายๆ นามปากกา อาทิ แม่ช้อยนางรำ, นที สีทันดร, สามตา ฯลฯ ก็ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี
เพลงระดับซูเปอร์ฮิตส่วนหนึ่งมาจากปลายปากกาของกรวิก อาทิ ห้องสีขาว,โลกที่ไม่เท่ากัน, ลมหายใจของความคิดถึง, ฝันสีทอง, พบกันบนดวงดาว ฯลฯกว่าร้อยบทเพลงที่ตอกย้ำตัวตนและเอกลักษณ์ให้เขาขึ้นทำเนียบบรมครูอีกคนของวงการเพลงไทย การใช้ภาษาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ถึงขั้นเป็นนายของภาษา บทเพลงของเขาปลุกปั้นวงดนตรีและนักร้องดังๆ ขึ้นมาประดับวงการมากมาย อาทิ แกรนด์เอ็กซ์, แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์, รอยัล สไปรท์ ไปจนกระทั่งวงขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้นอย่าง แม็คอินทอช
“ผมชอบเรื่องการเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ คือช่วงประมาณ 7 ขวบ ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่องไอแวนโฮ (Ivanhoe) ที่สร้างมาจากวรรณกรรมเอกของโลก (อังกฤษ) ประทับใจมากกลับมาบ้านก็วาดการ์ตูนแล้วก็เขียนเล่าเรื่องที่ได้ดูมา แล้วผมฝันอยากเป็นนักเขียน เพราะไม่ชอบตัวเลข รักตัวอักษรมากกว่า เรียนเลขไม่เก่ง ระบบการศึกษาบ้านเรานั้นผิดพลาด บล็อกให้นักเรียนต้องเรียนทุกอย่าง ทำไมไม่ส่งเสริมเด็กที่ชอบเป็นอย่างๆ อย่างผมชอบหนังสือ ก็ควรส่งผมไปทางด้านนี้สุดๆ ไปเลย อย่างผมเรียนอักษรศาสตร์ ก็ต้องสอบตัวคำนวณให้ได้มากกว่า 50% มันไม่แฟร์กับคนที่รักตัวอักษร ตอนผมเรียนที่เยอรมันเขาไม่บังคับเลย การเรียนเขาไม่บังคับ เรียนในอเมริกาเขาก็ไม่บังคับ เขาจะบังคับขั้นพื้นฐานให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว ฉะนั้นนี่ก็คือสิ่งที่การศึกษาประเทศไทยไม่เข้าถึงความสามารถของเด็ก ยิ่งทุกวันนี้โอเน็ต เอเน็ตผมว่าการศึกษาไทยต้องปฏิวัติรื้อฟื้นใหม่หมด ต้องคัดเด็กไปในที่สิ่งที่เขารัก เขาทำได้ดีสิ่งนี้นี่แหละที่ผมเรียกว่าบล็อกเด็กเอาไว้
“ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ตอนนั้นผมยังเด็กประมาณ 7 - 8 ขวบ สงครามโลกเพิ่งสงบได้ 6 - 7 ปี อเมริกาแผ่อิทธิพลเข้ามา สิ่งแรกที่อเมริกาทำคือห้องสมุดอเมริกา เรียกว่า USIS เปิดแห่งแรกอยู่ถนนราชดำเนิน หลังจากนั้นอังกฤษกลับถูกแย่งความดีความเด่นก็เลยเปิด British Council อยู่หน้าโรงเรียนสวนกุหลาบที่ผมเรียน อเมริกาเป็นห้องสมุดยูซิส ซึ่งต่อมาก็เป็นองค์การยูซิส ตอนนั้นผมเดินเข้าห้องสมุดทั้งๆ ที่ผมอ่านภาษาอังกฤษไม่เป็น แต่ไปดูรูปแล้วก็ไปดูหนัง เขาจะฉายหนังอเมริกันให้เด็กๆ ดูฟรี ดูทุกอย่างตั้งแต่หนัง สารคดี ข่าว มันก็ปลูกฝังความรัก ผมก็ลองไปทางอังกฤษที่ British Council บ้าง แต่เขาไม่มีงบเหมือนอเมริกา แต่มีหนังสือดีๆ เยอะ อย่างเช่นNational Geographic ผมอ่านตั้งแต่ 7 ขวบ จนตอนนี้อายุ 70 ปี มันเลยปลูกฝังให้ผมรักการผจญภัย สิ่งเหล่านี้มันบ่มเพาะอยู่ในจิตใจของเด็ก
“ผมชอบแนวคิดของฝั่งอเมริกาคือมีความคิดใหม่ๆ ท้าทาย มีความหลากหลาย มีเสรี มีอิสรภาพ เมื่อผมอ่านภาษาอังกฤษเริ่มเป็นบ้าง ผมสามารถเรียบเรียงได้ว่าความคิดของอเมริกันเป็นยังไง ความคิดของอังกฤษเป็นยังไง ชีวิตผมช่วงที่อยู่เมืองนอก ส่วนใหญ่จะอยู่แต่ใน Smithsonian Institution อยากจะรู้อะไรก็หามาอ่าน เหมือนในสมัยนี้ที่ต้องใช้พวกสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมันเป็นเพียงแนวทาง แต่ยังดีกว่าไม่มีแนวทางเลย เหมือนกับการเดินทางที่เราควรมีเข็มทิศ แต่ว่ารายละเอียดการเดินทางมันอยู่ที่คุณต้องเดินทางไป ไม่ใช่เดินตามเข็มทิศ เข็มทิศชี้ทางไม่ให้คุณหลงเท่านั้น แต่ว่าระหว่างการเดินทางมันจะมีอะไรหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมรอดชีวิตมาทุกวันนี้ เป็นนักเขียนได้ ทุกเรื่องที่ผมเขียนผมตั้งใจ เท่านี้ผมก็มีความสุขแล้ว”
ก้าวแรกสู่สังเวียน
“เริ่มต้นเขียนหนังสือแล้วได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาครับ จากนิตยสารดรุณสารที่คุณนิลวรรณปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ เป็นบทความเกี่ยวกับเด็กๆ นิทาน แบบเด็กๆ เขียนเล่าจินตนาการของเด็ก แต่ก่อนมันมีเรื่องเทพนิยาย The Wizard of Oz เราอ่านก็ชอบ งานเขียนครั้งแรกกับดรุณสารได้ค่าตอบแทนกลับมา 50 บาท จนผมโตขึ้นได้มาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจุฬาฯ อยู่ใกล้สำนักพิมพ์สตรีสาร ดรุณสารเองก็อยู่ที่นั่น ผมจึงเอาต้นฉบับไปขายอีก แต่ไม่ได้เขียนแบบเด็กแล้วนะ ได้ลงนิตยสารสตรีสาร จำได้ว่าชื่อเรื่อง เธอกับฉัน แล้วก็ต่อยอดจินตนาการจนได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สองเรา (Two of us) ก็เป็นหนังที่โด่งดังสมัยนั้นพอสมควร เขียนเพื่อความสะใจ แล้วต่อมาก็กลายเป็นเพลงหลายเพลงที่ผมแต่ง แต่งให้กับแจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ ร้อง อาทิ โลกที่ไม่เท่ากัน เป็นต้น
“เริ่มต้นแต่งเพลงเพราะคุณน้าของผม (ครูไสล ไกรเลิศ)ท่านเป็นคนแต่งเพลง ทำเพลงให้หลายศิลปินในยุคนั้น ห้องอัดสมัยก่อนอัดทียุ่งยากมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ต้องมาบันทึกเสียงพร้อมกันทุกคน ผมเป็นคนที่พร้อมอยู่เสมอ จริงๆ คนทุกคนควรจะต้องพร้อมอยู่เสมอ ต้องพร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามา ต้องมีเวลาฝีกปรือเสมอ เราต้องใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์ คือการเตรียมพร้อมเพื่อโอกาสไม่ว่าจะมาเมื่อใดก็ตามช่วงแรกคุณน้าให้ผมไปหากลอนเพราะๆ มา ผมก็แต่งเองบ้าง
แล้วท่านก็เอาไปขายซึ่งผมไม่ได้แต่งเมโลดี้ เขียนกลอนเพราะๆแค่นั้น กลอนที่กลายเป็นเพลงก็มี ความรักทำให้โลกหมุน ผมแต่งเป็นกลอน แกก็เอาไปทำดนตรีขาย ซึ่งมีคนชอบหลายเพลง
“จุดเปลี่ยนที่กลายเป็นนักแต่งเพลง เพราะวันหนึ่งคุณสุทิน เทศารักษ์ ที่เป็นคนทำดนตรีแต่งเมโลดี้ส่งมาให้น้าผม แต่ท่านก็ไม่ได้เขียน นักดนตรีหรือนักแต่งเพลงสมัยก่อนค่อนข้างจะใช้ชีวิตหนักหน่วง น้าผมก็เช่นกันแล้ววันนั้นท่านคงจะไม่ไหวพอสามสี่ทุ่มเขาก็ถามผมว่าว่างไหม ช่วยหน่อย ท่านก็เอาโน้ตมาให้ แต่ผมอ่านโน้ตไม่เป็น เล่นดนตรีทุกชิ้นไม่เป็น น้าผมเป็นนักไวโอลิน วันนั้นผมก็เลยได้แต่งเพลง ม่านบังตาเป็นเพลงแรกในชีวิต
“มีหลายเพลงที่ผมเอาแนวความคิดมาจากที่ผมอ่านวรรณคดี งานเพลงที่ผมแต่งภาษาผมไม่เหมือนคนอื่น ผมใช้ภาษากวีแต่ตัวผมไม่ได้เป็นกวี แต่ผมพยายามทำให้มันดีที่สุดเท่าที่ผมสามารถจะทำได้ ให้ตรงเนื้อร้อง ต้องมีโครงร่าง สดับ รับ - ส่ง คือการเขียนกวีนิพนธ์เลย เพลงพ่อครูในอัลบั้มเทวดาเดินดิน ของแจ้ ดนุพล คือเพลงที่ผมแต่งเป็นเพลงสุดท้าย ซึ่งไม่คิดจะแต่งอีกแล้ว เพราะผมเห็นว่าวงการเพลงช่วงนั้นใช้ไม่ได้ นายทุนบางคนหวังแต่กอบโกยความจริงศิลปินต้องอิสระ ศิลปะจึงบริสุทธิ์ เมื่อศิลปินไม่อิสระ งานก็จะมีกรอบ ค่ายเพลงเกิดขึ้นมาในตอนนั้นเยอะมาก ผมแต่งเพลงเพื่อสนองตัณหาความอยากของผม ผมทะเลาะกับนายทุนหลายคนจนนายทุนบางคนโจมตีผมในที่สุด หาว่าผมใช้ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ไปหากินในการแต่งเพลง แต่ก่อนไม่มีค่ายเพลง มีแต่ห้างหุ้นส่วนขายเพลง ไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนในปัจจุบันนี้ ลิขสิทธิ์เกิดที่หลัง ผมคิดว่าเรื่องลิขสิทธิ์ในวงการเพลงไทยก็มีส่วนที่เกิดขึ้นเพราะผม ในอดีตผมเรียกร้องและต่อสู้มามากเพราะผมเห็นความไม่ยุติธรรม”
กำเนิดวิหคกรวิก จุดเริ่มต้นเพลงป็อบไทย
“อัลบั้มแรกที่ผมเขียนเพลงให้คือดิสโก้ลูกทุ่ง ของวงแกรนด์เอ็กซ์ เพลงทั้งอัลบั้มมาจากไอเดียของผม เริ่มจากรุ่นน้องชื่อนัดพบ นพรัตน์ ผู้จัดการวงแกรนด์เอ็กซ์เป็นแฟนงานเขียนผม ผมเขียนหนังสือเยอะมาก ช่วงอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เขียนหนังสือในมหาวิทยาลัย แล้วนัดพบก็มาประจบเอาใจผม ซึ่งผมเป็นคนบ้ายอยกตัวอย่างง่ายๆ ผมชอบเลี้ยงแมว ผมไม่ค่อยเลี้ยงหมา เพราะแมวเป็นอิสระ มันให้อิสระเราที่จะรักมัน หรือมันจะรักเรา ผมชอบการประจบสอพลอของมัน นัดพบก็มาชวนผมไปดูวงดนตรีแกรนด์เอ็กซ์ที่ร้องเพลงอยู่โรงแรมแมนฮัตตันซึ่งร้องแต่เพลงฝรั่ง แล้วนี่เมืองไทย อยู่เมืองไทยก็ต้องร้องเพลงไทยสิ แต่สมาชิกในวงแต่งเพลงกันไม่เป็นสักคน เล่นแต่เพลงฝรั่ง ผมก็เลยเอาเพลงไทยที่คุ้นหูมาเปลี่ยนเป็นแนวดิสโก้ นำเพลงลูกทุ่งมาทำเป็นจังหวะดิสโก้ ขายดีมากเป็นล้านตลับ จุดประกายเด็กในรุ่นนั้นให้อยากเป็นนักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียง
“ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน หลังจากประสบความสำเร็จในลูกทุ่งดิสโก้ทั้งสองชุด ผมเลยให้พวกเขาลองแต่งเพลงเอง แต่ก็แต่งไม่ได้ การแต่งเพลงมันไม่ง่าย มันต้องมีจินตนาการ ต้องมีเมโลดี้ ผมเลยแต่งเพลงให้ดูก่อนในอัลบั้มชุด เขิน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้แต่งขึ้นมาอีกหลายเพลงเพลงแรกที่ผมเขียนให้แกรนด์เอ็กซ์ ก็ทำให้ผมภูมิใจว่าผมได้สร้างนักร้องชื่อดังของเมืองไทยขึ้นมาคนหนึ่ง ทำให้แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ กลายเป็นนักร้องชื่อดังในยุคนั้น เพลงแรกจำได้ว่าชื่อเพลง กล่อมรัก อยู่ในชุดเขิน และเพลงชุดนั้นก็ทำให้วงแกรนด์เอ็กซ์จากนักดนตรีกลายเป็นนักร้องหลายคน
“ที่ใช้นามปากกาเพราะผมไม่ได้ต้องการให้คนมาชื่นชมผลงานกรวิก โดยคิดว่าเป็นของสันติ เศวตวิมล ที่เขียนหนังสือพิมพ์อยู่ไทยรัฐ ซึ่งชื่อนี้ดังอยู่แล้ว แล้วถ้าผมมาเขียนเนื้อร้องโดยสันติ เศวตวิมล คนก็จะหาว่าใช้อิทธิพลจากสื่อในมือได้ ผมก็เลยใช้คำว่ากรวิก เหตุที่ผมใช้ก็คือมันมันสอดคล้องกับที่ผมเขียนคอลัมน์ในไทยรัฐเกี่ยวกับเรื่อง Supernatural ธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ ผมใช้นามปากกาว่า ‘นที สีทันดร’ ถ้าไปเปิดในพจนานุกรมจะมีความหมายว่าทะเล ซึ่งตามตำนานจะมีภูเขาอยู่ครึ่งหนึ่งของสวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล มีภูเขาหลายลูกคั่นเอาไว้ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อสีทันดร และนที สีทันดร เป็นมหาสมุทรแห่งปัญญา และในภูเขาสีทันดรจะมีภูเขาเล็กๆ อยู่ในนั้นชื่อว่า กรวิก แล้วผมก็มานั่งคิดว่าอีกความหมายหนึ่งกรวิกมันเป็นนก เป็นเครื่องหมายแห่งความรัก คนไทยเรียกว่าการเวก ชาวบ้านเรียกกาเหว่า ซึ่งก็มีคำอธิบายว่านกกรวิกรักกันมาก ไปไหนไปด้วยกัน หากตัวใดตัวหนึ่งตาย อีกตัวหนึ่งมันจะกลั้นใจตายทันที เพราะฉะนั้นกรวิกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แล้วผมก็พยายามจะแต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก เพราะผมเป็นคนมากรัก เราต้องมีแรงบันดาลใจและแรงบันดาลใจอะไรจะดีเท่าผู้หญิง เราต้องการวัตถุดิบ คุณเป็นนักเขียนคุณต้องหาวัตถุดิบ คุณต้องออกเดินทาง ผมออกเดินทางแล้วผมเขียนหนังสือได้เยอะแยะ เพราะผมมีการมองเห็นโลกชัดเจน ผมเขียนบทกลอนที่เป็นเพลง บทเพลงที่เป็นกลอน
“รักไม่มีที่สิ้นสุด รักไม่มีจุดจบ รักเกิดได้ทุกวัน รักเจ็บปวดได้ทุกวัน แต่รักไม่เคยตาย ผมคิดว่าความรักไม่มีชื่อ เพราะว่ามันเป็นความรักซึ่งมันเป็นตัวของมันอยู่แล้วคุณต้องไปรู้จักความรัก และคุณต้องเข้าใจความรัก คุณจะให้ความรักเข้าใจคุณไม่ได้ ไม่มีทาง ผมจะบอกนกทั้งหลายที่จะบินไปหาความรักว่า หากเจอกรงใดก็ตาม ที่เราคิดว่าเรารักกรงนั้นบินเข้ากรงนั้นไปเลย แล้วบอกเขาด้วยให้ใส่กุญแจล็อกกรงนี้ให้ดี แต่เหลือกุญแจสำรองไว้ให้ฉันบ้าง (หัวเราะ)
“ทุกวันนี้อย่างที่ผมทำ ผมก็ยังประพฤติอยู่ ผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผมคุยได้ว่ามีครั้งเดียวที่ผมไปสมัครงานคือตอนผมอายุ 17 ปี หลังจากนั้นจนถึงอายุ 70 ปี ผมไม่เคยสมัครงานที่ไหน และกล้าหาญที่จะลาออก ช่วงผมอยู่ไทยรัฐยาวประมาณ 35 ปี ผมลาออกถึง 5 ครั้ง ซึ่งเขาก็ไม่ให้ออก สุดท้ายผมก็หนีไปอยู่แม่สาย ผมมีประสบการณ์หลายด้านจากหลายสิ่งที่เข้ามาในชีวิต อย่างในเพลง ฝันสีทอง ที่ผมแต่งให้แจ้ ผมคิดว่าสะท้อนความเป็นตัวผมลงในตัวแจ้คนอื่นนั้นกลัวอะไร กลัวคนที่มีความสามารถ ศิลปินทุกคนต้องมีอัตตา แต่อย่าถึงขนาดหลงตัวเอง อัตตาคือเชื่อมั่นในตัวเองและความเชื่อมั่นในตัวเองของเราจะต้องพิสูจน์อีกว่าเรามีความสามารถ เรายืนได้บนขาของเรา อย่างที่ผมแต่งเพลงให้แจ้ เพลงสิงโตหน้าโบสถ์ ผมสะท้อนในเรื่องพวกนี้ แจ้เป็นนักร้องที่สะท้อนความเป็นตัวของผมลงในบทเพลงที่เขาร้อง แจ้ร้องเพลงของผมมากกว่าคนอื่น จนมีคนเคยพูดว่าดนุพลกับกรวิกเป็นของคู่กัน ผมยากจนมาก่อน ผมลำบากมาก่อน
แต่ผมรู้ว่ามีแรงที่แอบแฝงอยู่ข้างหลัง แรงของคนดีที่ไม่เกลียดชัง ไม่อิจฉาผม สนับสนุนผมโดยไม่ต้องประกาศคนดีเขาไม่ประกาศตัวหรอกเขาแอบแฝงอยู่ข้างหลัง”
บทเพลงสุดท้าย
“แนวทางการแต่งเพลง ผมแต่งทำนองพร้อมกันกับเนื้อร้อง ผมแต่งทำนองเอง กฎการแต่งเพลงบางทีอินโทรยาว8 ห้อง สามารถเอาโน้ตทำนองเขามาได้นิดหน่อย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด พ่อครู คือบทเพลงสุดท้ายแล้วก็คิดว่าจะไม่แต่งอีกเป็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ ครูไม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธหรือเกลียดศิษย์ได้เลย ผมเริ่มต้นแต่งเพลงฝันสีทอง ให้แจ้เพื่อจุดประกายฝัน สุดท้ายแจ้รู้สึกถึงบุญคุณครู เพลงสุดท้ายผมก็แต่งให้เขาร้องเช่นกัน เพลงพ่อครูมีจุดเริ่มจากผมนั่งวิปัสสนา แล้วเกิดแรงบันดาลใจจากจุดนั้น ใช้วิธีการแต่งแบบเก่า การนั่งวิปัสสนา พลังจิตหรือจิตอธิษฐานนี่สำคัญมากถ้าคุณตั้งใจ ตั้งจิตสักพักเมโลดี้ก็มาเลย ผมก็ลุกขึ้นมาเขียนโดยไม่ได้แก้เลย ผมภูมิใจมากเพราะกลายเป็นเพลงที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้ร้องในวันไหว้ครู หลายโรงเรียนก็ใช้ แต่ผมชอบของโรงเรียนอัสสัมชัญที่เขาเอาไปใช้ให้เด็กเล็กๆ ร้อง ซึ่งผมอยากให้เด็กพวกนี้ได้รับการปลูกฝังว่าเราเป็นศิษย์มีครู ทุกคนเป็นศิษย์มีครู แต่ทุกคนรู้จักพระคุณของครูไหม แล้วได้ตอบแทนครูบาอาจารย์อย่างไร
“ผมแต่งเพลงนี้สุดท้ายเพื่อตอบแทนบุญคุณครูบาอาจารย์ถ้าไม่มีครูแล้วผมจะมีวันนี้ได้อย่างไร ครูผมอันดับแรกก็คือหนังสือ อันดับที่สองคือคนที่สอนหนังสือให้ผมมาเป็นครูผมหนังสือเป็นกุญแจที่เปิดประตูได้ทุกอย่าง หนังสือเป็นเหมือนคนที่ทำให้ได้เห็นโลก ผมอ่านหนังสือเพราะผมอยากเดินทางผมจึงเป็น Journalist เป็นนักเดินทาง ฉะนั้นการจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ต้องเป็นนักเดินทาง ผมเดินทางแทบจะรอบโลก ไปเมืองที่ผมรัก ไปเมืองที่ผมฝัน แล้วต่อมาผมไปทำงานบริษัททัวร์ ผมก็ทำในสิ่งที่ผมรัก ทำทัวร์กว่า 30 ปีเป็นคนแรกที่บุกเบิกการเดินทางไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน4 ไม่มีประเทศไหนที่ผมอยากไปแล้วไม่ได้ไป ผมได้เห็นทุกอย่างที่อยากเห็น ได้สัมผัสในทุกการเดินทาง นั่นแหละประสบการณ์ที่คนเราต้องออกไปค้นหา”
ส่งต่อความรัก...ลมหายใจของความคิดถึง
“นักแต่งเพลงที่ดีนั้น อันดับแรกคุณต้องรักภาษาก่อน ดนตรีที่ไร้ภาษาจะไม่มีอายุเท่ากับดนตรีที่มีภาษา ต้องมีนักแต่งและคนเขียนทำนอง แต่ถ้าคนเนื้อร้องและทำนองสามารถทำด้วยกันได้ มันก็เพอร์เฟกต์ เหมือนกับมีสองแขน
ว่ายน้ำ ช่วยกัน มันก็ไปได้นาน ฉะนั้นก่อนที่จะเป็นนักแต่งเพลงที่ดี คุณต้องอ่านหนังสือเยอะๆ โดยเฉพาะหนังสือที่เป็นบทกวี เพลงหรือบทกวีจะซ่อนเสน่ห์ไว้คือ ความไพเราะความหมายที่คุณต้องใช้ตีความ เพราะว่าการที่คุณตีความนั่นคือความสุข นั่นคือการที่คุณมีอิสระในการคิด
“หลายๆ เพลงผมแต่งล้วนมาจากประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องความรักแทบทั้งสิ้น ความรักทำให้เรามีแรงบันดาลใจอย่างเพลงลมหายใจของความคิดถึง ผมแต่งเพราะคิดถึงแฟนตอนอยู่ที่ประเทศรัสเซีย หิมะตกหนัก เราไม่สามารถออกไปหาเขาได้ แม้จะคิดถึงขนาดไหนก็ไม่สามารถเจอกันได้จึงกลั่นอารมณ์นั้นออกมาเป็นเพลง หรือในเพลง ห้องสีขาว ผมก็แต่งให้แฟนอีกคนที่เป็นชาวไทยใหญ่ ซึ่งเราพาเขาหลบเข้ามาพักในห้องเช่า เขาจะไม่สามารถออกไปไหนได้
เพราะหลบเข้าเมืองมา เวลาผมไปหาเขาจะรู้เพราะจะเห็นเงาที่ประตูจึงเป็นที่มาของเพลงนี้
“ปัจจุบันวงการดนตรีบ้านเราเก่งขึ้นเป็นฝรั่งมากขึ้นมีมาตรฐานสูงขึ้น แต่ก็สูงในแนวป็อปเท่านั้นการเล่นดนตรีน่าจะพัฒนาให้สูงกว่านี้ เพราะดนตรียังมีอีกหลากหลายแนวหนักขึ้นจนถึงดนตรีคลาสสิก อย่างผมเป็นนักเขียน เราเขียนอะไรก็เขียนได้ แต่สูงสุดของนักเขียนคือการเขียนบทกวีการเขียนบทกวีนิพนธ์ที่สูงสุดต้องเขียนฉันทลักษณ์ คุณอยากเป็นนักแต่งเพลงคุณต้องหัดอ่านบทกวีเริ่มตั้งแต่บทกลอน รู้จักการใช้ภาษา รู้จักครุ ลหุ หนักเบา เพราะเสียงหนักเบาคือเสียงดนตรี เสียงดนตรีจากธรรมชาติ เช่นเสียงน้ำตก เสียงแม่น้ำ เสียงลมเสียงฝน มีพลังขับกล่อมจิตวิญญาณของเราให้สงบ ซักฟอกความเลวร้ายทั้งหมดที่เราคิดไม่ดีกับใครให้กลายเป็นคิดดีได้ เป็นพลังที่บริสุทธิ์ครับ”