วันนี้ถ้าใครคิดจะชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแม้แต่แสดงความคิดเห็น ก็ไม่สามารถกระทำได้เหมือนเดิมอีก เพราะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้มีการบังคับใช้แล้ว ดังนั้นข้อจำกัดต่างๆ จึงมีมากขึ้นหากใครขืนไปรวมตัวกันเพื่อชุมนุมสุ่มสี่สุ่มห้า ในวันนี้อาจจะต้องไปนอนอยู่ในคุกก็ได้นะครับ

คราวนี้เรามาดูกันคร่าวๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ว่าถ้าไม่เป็นไปตามมาตรา 3 ได้กำหนดการใช้สิทธิและเสรีภาพรวมถึงข้อห้ามไว้อย่างไรบ้าง แน่นอนอย่างแรกการชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามมาตรา 6

ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง...ตามมาตรา 7 วรรคแรก และในสถานที่ต่อไปนี้ถ้าไม่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะไว้ไม่สามารถชุมนุมได้ คือรัฐสภาทำเนียบรัฐบาล และศาล อีกทั้งหากจำเป็นเพื่อประโยชน์

การรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายยังสามารถห้ามไม่ให้ชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตร ตามสถานที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นอีกด้วยการชุมนุมใดๆ ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ดังต่อไปนี้ตามมาตรา 8

ต้องมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องมีการแจ้งต่อผู้รับแจ้งซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึง หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ไม่น้อยกว่ายี่สิบชั่วโมงตามมาตรา 10

เหตุผลในการประกาศประราชบัญญัตินี้ ก็เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยไม่กระทบกระเทือนต่อความความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ฉบับหน้ามาติดตามดูว่า แล้วเพื่อนบ้านเราในภูมิภาคนี้เขามีหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับประเทศเรา 

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้ 

(1)    การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2)    การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมตามประเพณี หรือตามวัฒนธรรม แห่งท้องถิ่น 
(3)    การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น 
(4)    การชุมนุมภายในสถานศึกษา 
(5)    การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 6 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้ การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี ไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจํานวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ ในการชุมนุมด้วย

มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้ 

(1) สถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ 
(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 
(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน 
(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ 
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

มาตรา 10  ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวก ในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง

การแจ้งการชุมนุมสาธารณะต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ ตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดซึ่งต้องเป็นวิธีที่สะดวกแก่ผู้แจ้ง และต้องให้แจ้งผ่านระบบเทคโนโลยี สารสนเทศได้ด้วย

WORD OF WISDOM

การที่ไม่ยอมเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นก็อย่างหวังว่าใครเขาจะให้ความเคารพเช่นกัน

สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม (ตอนที่ 1)