นิจ หิญชีระนันทน์

นิจ หิญชีระนันทน์

ชายผู้นี้เปรียบดังเสาหลักของวงการภูมิสถาปัตยกรรมเมืองไทยท่านเคยเป็นถึงอดีตผู้อำนวยการสำนักผังเมือง อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และอุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านมีผลงาน
โดดเด่นมากมาย และล่าสุดกับการได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2557 ในสาขาทัศนศิลป์ ด้านการออกแบบผังเมือง

ผลงานสำคัญๆ ของท่านมีมากมาย อาทิ เป็นผู้เชี่ยวชาญการผังเมืองที่เป็นตัวแทนไปปฏิบัติหน้าที่ยังต่างประเทศ ค้นพบเมืองโบราณ “จันเสน” สมัยทวารวดีที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผลให้กรมศิลปากรได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการงบประมาณในการขุดค้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

ในยุคหนึ่งท่านเป็นผู้ผลักดันให้ตั้งกฎกติกาการสร้างตึกสูงในกรุงเทพฯ โดยไม่อนุญาตให้สร้างในเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะเกรงว่าจะบดบังทัศนียภาพอันสวยงามพร้อมกันนี้ท่านยังเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้อนุรักษ์ตึกเก่าอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จนทำให้กรุงเทพฯ หรือเกาะรัตนโกสินทร์ กลายเป็นเพชรเม็ดงามของสยามดังเช่นในปัจจุบัน 

“ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ผมได้เป็นกรรมการหลายแห่งได้พบเจออะไรมามาก ความประทับใจล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วตอนที่ผมอายุครบ 90 ปี ทางกรมเขาได้เห็นว่าผมมีคุณูปการต่อหน่วยราชการ จึงร่วมกันจัดสัมมนาให้ที่หอสมุดแห่งชาติ ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดอกไม้ โดยให้องคมนตรีเชิญไปให้ ทุกๆ คนในที่ประชุมลุกขึ้นยืนรับ พวกเพื่อนๆ เหล่านี้เป็นมิตรสหายที่เราช่วยกันทำงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง มีให้ไปช่วยงานกรรมการอยู่หลายชุด เราเองก็มีจิตใจในทางอนุรักษ์อยู่แล้ว เสมือนเป็นรางวัลแห่งความปลาบปลื้มอย่างที่สุด

“เรื่องการอนุรักษ์มีเยอะครับ ยกตัวอย่างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2533 ผมไปเชียงใหม่เพื่อซื้อทาวน์เฮ้าส์พร้อมกับเพื่อนๆ ระหว่างทางก็เห็นภูเขาที่สวยมาก รูปร่างคล้ายกับภูเขาร็อกเนสที่สก็อตแลนด์ ชื่อเขาแก้วเขาหน่ออยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ตอนนั้นมีการระเบิดหิน แต่เขาไม่รอบคอบในการทำงานทำให้กระทบกระเทือนกับสิ่งแวดล้อมและภูเขา เมื่อกลับมาผมพยายามเอาเรื่องเข้าที่ประชุม พยายามต่อสู้ ซึ่งตอนนั้นเกษียณแล้วนะครับ ผมติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมทางหลวงและทางจังหวัด ผลที่สุดก็สั่งให้ระงับการระเบิดหินที่นั่น เขาแก้วเขาหน่อนั้นหลังเขาจะเป็นแม่น้ำปิง มีวัดที่รัชกาลที่ 5 ท่านเคยเสด็จประพาสอยู่ด้วย 

“นอกจากนั้นยังมีกรณีวัดสระเกศ ที่เขาจะทำตึกแถว ผมได้ไปหาท่านอาจารย์หม่อมหลวงปิ่น ซึ่งท่านเคยเป็นอาจารย์ตอนผมเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดม และในขณะนั้นท่านเป็นรัฐมนตรี เราจึงไปร้องเรียนกับท่าน ท่านบอกดีแล้วที่พวกคุณเป็นห่วงชาติบ้านเมือง แต่ท่านเป็นรัฐมนตรีจะให้ไปยุ่งเรื่องวัดวาอารามคงไม่เหมาะ ผมก็อธิบายให้ท่านฟังว่าในการประชุมที่ฮ่องกง เขาคุยกันว่าประเทศเราดีมีทรัพยากรการท่องเที่ยวเยอะ ของประเทศเขาหรืออย่างสิงคโปร์นี่เรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย เวลาที่ต้องรื้อตึกเก่าๆ และสร้างใหม่ หากไปเจอศาลเจ้าหรืออะไร เขาจะรีบอนุรักษ์ไว้ จำเป็นต้องอนุรักษ์ทันที 

“ต่อมาผมมารู้ภายหลังว่าท่านมีใจที่จะช่วยเช่นกัน ท่านพาท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ไปเที่ยวสิงคโปร์ เพื่อไปเห็นอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง หม่อมหลวงปิ่นท่านเขียนนิราศเลี้ยวเที่ยวท่องกับน้องแก้ว ซึ่งผมบังเอิญไปเจอที่ร้านหนังสือหลังจากที่ผมไปหาท่านสัก 4-5 เดือนแล้ว เท่ากับท่านได้เปิดใจแล้ว ผมสามารถท่องได้เลยว่า ‘เมืองเรามีปูชนียสถาน สร้างอาคารบังเล่นเป็นนิสัย สิงคโปร์พัฒนาก้าวหน้าไกล ถึงสมัยรู้เล่นเห็นของดี’ แสดงว่าท่านฟังเรา แต่ท่านก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเช่นกัน”

“ปัจจุบันนี้เมืองไทยของเราไม่เคยให้ความสำคัญกับภูมิสถาปัตย์ใดๆ เลย สิ่งที่มีอยู่โดดเด่นเป็นสง่ามักถูกบดบังด้วยความไม่เข้าใจ หากเป็นโบสถ์ของฝรั่งนั้นจะไม่มีการสร้างอะไรไปบดบังเลย วัดเขาอ้างว่าไม่มีเงินที่จะทำนุบำรุง ซ่อมแซม มันจึงเกี่ยวกับข้อจำกัดของงบประมาณด้วยที่คณะสถาปัตย์จุฬาฯ เขาเห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ จึงตั้งแผนก Landscape Architecture ขึ้น ซึ่งอาจารย์เดชา บุญค้ำ ท่านได้ไปเรียนมาจากมหาวิทยาลัย Harvard ท่านสนใจเรื่องเหล่านี้มาก ผมว่าจะเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้ท่าน (The Landscape of Man) เล่มนี้ดีมาก คือมีตัวอย่างจากทั่วโลกเลย สิ่งเหล่านี้จะช่วยบ้านเมืองได้เยอะ 

“แต่ความสำคัญเหล่านี้กลับไม่บังเกิดขึ้นจริงในสังคมของเมืองไทย เมื่อก่อนผมเห็นชัดเลยว่าที่เราทำงานสำเร็จได้นั้นเป็นเพราะ Team Work เราจึงได้ตั้งเป็นสมาคมชื่อว่า สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาในปี พ.ศ.2514”

สิ่งที่ท่านยังห่วงและเป็นห่วงมาโดยตลอดก็คือเรื่องของโบราณสถานซึ่งกำลังถูกย่ำยี แต่ประชาชนกลับไม่รู้สึกรักหรือเดือดร้อนในสิ่งที่พวกเขาต้องหวงแหน 

“บ้านเมืองของเราประชาชนไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เลยไม่รู้ว่าสถานที่สำคัญๆ กำลังโดนทำลายกันอยู่ ก่อนที่จะฉลอง 200 ปี กรุงเทพฯ ผมรู้สึกเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องให้ความรู้คน ผมจึงไปขอร้องกับทาง อสท. ที่ผมได้เขียนลงข่าวสารสำนักผังเมือง ผมจะขอเขียนเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ ผมเขียนล่วงหน้าก่อนงานฉลองประมาณ 5 - 6 ปี อยุธยาสวยกว่ากรุงเทพฯ เยอะเลย ก่อนที่กรุงจะแตกนะ ผมขอเปรียบว่าเสมือนหนึ่งต้นไม้แก่ต้นหนึ่งกำลังจะตาย แต่กลับมีผลเหลืออยู่ผลหนึ่งหลุดจากขั้วลงในแม่น้ำอยุธยา ล่องลอยมาจนเจอเชิงเลนที่บางปะกอก เลยติดอยู่และงอกขึ้นมาใหม่กลายเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ของเราทุกวันนี้แต่ว่ามันก็ไม่สวยเท่าเดิม 

“ถึงอย่างไรก็ดีมันก็ได้กลายเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของโลก เนื้อที่ 150 ไร่แห่งนี้ เป็นเนื้อที่ๆ สำคัญที่สุดของประเทศไทย คนในยุโรปพลาดไม่ได้ที่จะมาดูวัดพระแก้วพระบรมมหาราชวัง เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้หรือ ตอนนั้นสนามหลวงนี่เป็นตลาดนัด เอาตะปูตอกต้นมะขามกลายเป็นตลาดเข้าไปทุกที มีการรื้อวังสราญรมย์บางส่วนเพื่อสร้างเป็นตึกสูง 6 ชั้น ประจันหน้ากับพระบรมมหาราชวัง ผมว่าถ้าปล่อยไปเพชรน้ำงามของเราซึ่งผมตั้งชื่อว่าเป็นเหมือนหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์คงถูกบดบัง

“ผมจึงเขียนบทความและไปขอให้หม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ซึ่งตอนนี้เป็นคณบดีคณะสถาปัตย์ที่ศิลปากร เขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเหมือนกับผม ผมบอกเขาว่าอยากให้สร้างหุ่นจำลองของเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเราไม่มีเงินทุนเราเป็นหน่วยราชการ หม่อมราชวงศ์ทองใหญ่กับคุณเจตกําจร พรหมโยธี ก็ได้ช่วยกันจัดสร้างนำใส่รถบรรทุกแล้วนัดท่านรัฐมนตรีประภาส ว่าเรามีจิตใจที่อยากจะอนุรักษ์พระบรมมหาราชวังกับวัดพระแก้วไว้ 

“หุ่นจำลองนี้มีประโยชน์มาก ท่านประภาสดูแล้วท่านชอบจึงเรียกให้คุณชํานาญ ยุวบูรณ์ มาดูด้วย ถามว่าอีกกี่ปีถึงจะเป็นเหมือนในหุ่นจำลอง ผมบอกว่าอีก 30 ปี ท่านบอกทำไมถึงนานสัก 10 ปีไม่ได้หรือ ผมบอกแล้วแต่เรื่องงบประมาณและการบริหาร หุ่นจำลองนั้นทำมาเป็นรูปแบบแปลนในกระดาษ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ตอนนั้นเมืองเสื่อมโทรมมาก 

“ตอนนั้นถ้าไม่มีอะไรมาหยุดไว้ก่อน ตอนนี้คงมีหลายสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้น ถ้าผมอยู่อย่างนี้ผมก็คงคิดเหมือนเขา แต่ผมไปอยู่อเมริกามา 6 ปีที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เพื่อเรียนปริญญาตรีสถาปัตย์และปริญญาโทผังเมือง ตามความต้องการของรัฐบาล ขากลับแวะดูงานในยุโรปอีก 4 เดือน โดยให้หัวข้อว่าสวนสาธารณะ การจราจร การเคหะฯ ตอนนั้นเขาต้อนรับดีมาก อย่างที่เดนมาร์กเขาพาไปที่บ้านเลย เขารักษาคูเมืองกำแพงเมืองดีมาก เห็นแล้วเกิดศรัทธา จากการที่ไปดูงาน 4 เดือน ใน 8 ประเทศครั้งนั้น ทำให้เห็นว่าที่ประเทศอย่าง อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, เยอรมนี, เดนมาร์ก, และอิตาลี นั้นมีความเป็นไปอย่างไร 

“อย่างที่ประเทศเดนมาร์กเขาจะใช้จักรยานกันมาก คูคลองของเขาวางผังเมืองเป็นรูปนิ้ว แบ่งฝั่งเมืองกับฝั่งชนบทจนแทบเหมือนฝาแฝดอยู่ด้วยกัน เป็นเมืองตัวอย่างที่ลงตัวมาก สมดุลระหว่างความเจริญและวีถีการเกษตร หรือเรียกว่าชนบทและเมืองอยู่ร่วมกันก็ว่าได้ ผมขอยกคำขวัญของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ที่ได้การยกย่องว่าบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่มาอ้างอิงสักหน่อยครับ ท่านเป็นผู้ที่รักการเกษตรมาก ท่านจึงมีคำขวัญว่า ‘ความเจริญเดินตามหางยามไถ’
หมายถึงความเจริญนั้นเกิดขึ้นจากการเกษตรนั่นเอง ของผังเมืองเราเองก็มีคำขวัญเช่นกัน คือ City are man’s supreme creation แปลว่า เมืองคือสิ่งสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมของมนุษย์” 

การไปดูงานจาก 8 ประเทศในครั้งนั้นได้จุดประกายให้ท่านเห็นว่าแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันของการจัดผังเมือง แต่จะให้บอกว่าผังเมืองของประเทศไหนดีที่สุดหรือเหมาะที่จะนำกลับมาใช้ในประเทศไทยที่สุดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของคนที่นั่น

“ดีที่สุดอาจจะพูดยาก เพราะผังเมืองไม่ใช่อิฐ หินปูน ทราย ตึก แต่มันคือชีวิต เป็นวีถีของมนุษย์ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาและยังสะท้อนภาพของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงโรม ปารีส และลอนดอน อย่างโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ของกรุงโรม ผมมองเห็นตั้งแต่อยู่บนเครื่องทั้งที่สนามบินก็ไกล เพราะโรมเขาถือว่าศาสนาเป็นแก่นของเมือง อาคารและโบสถ์มีอยู่เต็มไปหมด คนที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินแต่คือพระสันตะปาปา ไปทางไหนจะมีแต่โบสถ์ ส่วนฝรั่งเศส บรรยากาศเปลี่ยนเลย เพราะกษัตริย์จะเป็นใหญ่ไม่ใช่ศาสนา ไปทางไหนจะเห็นแต่วัง ส่วนลอนดอนไม่ใช่ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและศาสนา แต่คือประชากรทั้งหลาย มันจึงสะท้อนภาพของผังเมืองที่มีสวนสาธารณะเต็มไปหมด

“เชียงใหม่ก็มีคูเมืองเช่นเดียวกับที่ศรีสัชนาลัย แทบทุกที่จะมีคูเมือง แต่กรุงเทพฯ กลับถมคูเมือง นี่แหละที่เราไม่เข้าใจ เพราะต่างประเทศเขาจะพยายามอนุรักษ์ไว้ อย่างที่แฟรงเฟิร์ตเมื่อคูเมืองเขาโดนทำลายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็สร้างใหม่โดยเทียบกับของเดิมเป็นหลัก คำว่าเวนิสตะวันออกในสมัยก่อนของเมืองเรา ฝรั่งเขามองว่าเราล้าสมัยยังไม่พัฒนา เราจึงไปจ้างบริษัทจากอเมริกามาทำผังเมืองให้ แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้ภูมิศาสตร์ของบ้านเราจึงไม่คิดที่จะสงวนลำคลองเอาไว้เลย คิดสั้น ไม่คิดอนุรักษ์เลย มองแต่ความเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว อย่างบางจังหวัดจะเอาอิฐที่สร้างกำแพงเมืองมาใช้ แล้วมีคนต่อต้าน คือเขาไม่ได้หวงอิฐ แต่หวงประวัติของอิฐต่างหาก” 

“ภูมิสถาปัตย์มีความสำคัญกับกรุงเทพฯ ดังคำขวัญที่ว่า เมืองคือสิ่งสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมของมนุษย์ ทิศทางของการอนุรักษ์ที่แท้จริงควรไปในทิศทางของการร่วมพัฒนากรุงเทพฯ สร้างเมืองใหม่และร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองอย่างมีศักยภาพ 

“กรุงเทพคือเมืองโตเดี่ยว การพัฒนาที่เป็นภาพรวมทั้งประเทศนั้นเหลว คล้ายกับต้นไม้ที่มีผลโตอยู่เพียงลูกเดียวคือกรุงเทพฯ นอกนั้นเป็นเมืองเล็กๆ อย่างเชียงใหม่ตอนนี้เริ่มเป็นเหมือนกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับภูเก็ต คือไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ผมเคยไปทางอีสานพร้อมคนขับรถที่เคยเป็นชาวนา วันนั้นเขาขอผมว่าขอแวะที่บ้านเขาได้ไหมหากผมไม่รังเกียจ ผมก็ให้เขาแวะตามความต้องการ วันนั้นผมไม่นึกเลยว่าผมจะได้เห็นของที่สวยที่สุดในโลก ฟ้าคืนนั้นเป็นข้างแรม ในชีวิตไม่เคยเห็นและจะไม่ได้เห็นอีกเลยถ้าไม่ไปที่ทุ่งกุลา ดาวเป็นหมื่นเป็นแสนดวง ผมโชคดีมากที่ได้เห็น”

“งานด้านสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่การก่อสร้างเพราะบางครั้งก็สร้างผลกระทบและกำลังทำลายประวัติศาสตร์ของชาติอยู่ คนที่มีอำนาจเขาไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้เราต้องหยุดความเจริญของมันไว้ก่อน คือ Freeze มันเอาไว้บ้านเรามีอะไรดีๆ เยอะ ถ้าเกิดใหม่อีกครั้งผมก็อยากมาเกิดที่เมืองไทย งานภูมิสถาปัตย์ถือเป็นวิชาหนึ่งในฐานะของศิลปินแห่งชาติซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต งานด้านนี้เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง คนที่เข้ามาดูแลต้องมีความรู้ มีความสุจริตซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเหมือนเป็นพระเจ้ากำหนดพื้นที่นั้นๆ ได้ ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม 

“มุมมองคำว่าศิลปะของผมมีความหมายสองอย่าง อย่างแรกคือเรื่องของวังและวัด สองคือสถาปัตยกรรมใดๆที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศและวิถีชีวิตของคน เป็นวิทยาการสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในสายเลือด” 

เมืองคือสิ่งสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมของมนุษย์