เกาะคอเขา
แผ่นดินกลางทะเลผืนนั้นค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ ระยะห่างหดสั้น เปิดเผยภาพบางภาพสำหรับผู้ปรารถนาจะทำความรู้จักมัน
เราอยู่ห่างจากฝั่งแผ่นดินอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ไม่เกิน 2 กิโลเมตร เกาะสัณฐานแบนราบแห่งหนึ่งวางตัวตนอยู่ตรงข้ามบ้านน้ำเค็ม พื้นที่ที่เคยกอดเก็บฝันร้ายของสึนามิ มหันตภัยที่หลายคนยากจะลืมเลือนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547
ท่าเรือบ้านปากเกาะเปิดเผยภาพจริงของเกาะคอเขาด้านที่ตรงข้ามกับฝั่งแผ่นดินของอำเภอตะกั่วป่า มันคือที่พบกันของเกาะและฝั่งเมือง แพขนานยนต์เพียบแน่นด้วยรถยนต์ ขณะที่ชาวบ้านและนักเรียนตัวน้อยๆ พาตัวเองไปอยู่ในเรือไม้ลำเล็กๆ สวนกับนักท่องเที่ยวต่างชาติแถบสแกนดิเนเวียนสักกลุ่ม ที่มาถึงเกาะคอเขาในนาทีใกล้เคียงกัน
ที่นี่คือประตูสมัยใหม่อันบอกกับผู้พบเห็นว่า หลังผ่านพ้นทั้งยุคทำเหมืองแร่และก้าวเข้าสู่โลกแห่งการปรับตัวสู่การท่องเที่ยว เกาะคอเขาพลิกผันหน้าตาไปเพื่อทำความรู้จักกับโลกบนฝั่งมานานเพียงใด
จากท่าเรือที่เป็นศูนย์รวมของร้านค้า ร้านอาหาร รวมไปถึงการขนส่งหลักๆ เราคล้ายพบโลกอีกใบที่ หมู่ 4 บ้านทุ่งตึก ซอยแยกย่อยและถนนปนทรายพาตัดป่าเสม็ดลึกเข้าไปในดินแดนโบราณ ว่ากันตามตรง ภาพตรงหน้าเข้ากันกับเรื่องราวที่ฝังรากลงบนเกาะแห่งนี้อยู่ไม่น้อย
ใต้ครึ้มร่มของแมกไม้ในเขตป่าบกของเกาะคอเขา ใครสักคนพาเราเดินเข้าไปในโลกอดีตที่ยืนยันการมีตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์ของที่นี่มานับพันปี เราสืบเท้าตามกันไปในแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก ฐานเจดีย์และแนวคันคูเมืองบ่งบอกว่าความเจริญในฐานะเป็นเมืองที่ก่อเกิดขึ้นระหว่างเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในสมัยโบราณ
แนวอิฐก่อเรียงเป็นรากฐาน ขณะที่ใต้แผ่นผืนนั้นขุดค้นพบโบราณวัตถุหลากหลายยุคสมัยที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ไล่เรียงกันตั้งแต่ภาชนะดินเผาพื้นเมือง ลูกปัดหินและแก้ว เครื่องถ้วยชามจากจีนในสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องแก้วจากเปอร์เซีย รวมไปถึงรูปเคารพที่สกัดจากหิน สะท้อนความคิดความเชื่อทางศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธที่พวกเขารับมาผ่านการติดต่อการค้าทางทะเล เชื่อมโยงจากฝั่งอันดามัน ข้ามผ่านขุนเขา ต่อเนื่องไปยังแหลมโพธิ์ ที่อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี
จากซากโบราณสถานทั้งสามแห่ง แผ่นดินโบราณตรงเกาะคอเขาที่ตั้งอยู่ตรงข้ามปากแม่น้ำตะกั่วป่าตกทอดอยู่ในคำเรียกขานของชาวบ้านว่า “เหมืองทอง” บ้าง “ทุ่งตึก” บ้าง ทว่าที่สำคัญมากไปกว่านั้น ก่อนโลกจะขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่นี่คือชุมชนขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจากดินแดนต่างๆ ผ่านมาและผ่านไป เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลของโลกระหว่าง จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมไปถึงโรมัน
มันคล้ายโลกอีกใบที่ซุกซ่อนอยู่ในความสงบเงียบเรียบง่ายของเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง รอคอยการค้นพบและทำความเข้าใจในผืนดินอันเก่าแก่
ผืนดินที่มนุษย์ตัวเล็กๆ เป็นได้แค่เพียงทางผ่านของกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง
ถนนเรียบกริบสายนั้นยังคงนำเราไปในส่วนเสี้ยวต่างๆ ของเกาะคอเขา มันลากผ่านแลนด์สเคปหลากหลาย ทั้งป่าพรุ ป่าดิบชื้น บางขณะเชื่อมโยงไปสู่ป่าโกงกางอันเป็นเหมือนกำแพงธรรมชาติที่กำบังเกาะจากคลื่นลม
ที่หมู่ 5 หญิงวัยต้นชราแห่งบ้านบางเนียงอย่างป้าหลอน-ศิริวรรณ ลิ่มพาณิช เจ่าจมอยู่หน้ารางฉีดแร่โบราณ มันพาให้เรานึกย้อนตามเธอไป นึกไปถึงวันคืนที่เกาะคอเขาเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายที่มา ที่ต่างก็ฝากความหวังไว้กับสินแร่โบราณอันเนืองนอง
“แต่ก่อนใครก็มาพังงา บนเกาะนี่ก็ไม่เว้น” ป้าหลอนในวันวัยที่ขุมเหมืองหลากหลายบนเกาะที่เธอคุ้นตากลายเป็นบ่อและบึงน้ำ ประดับประดาไปทั่วพื้นที่ราบกลางทะเล หลายคนเข้ามาและจากไป ทว่ากับหญิงไทยเชื้อสายจีนผู้นี้ เธอยังคงหันหน้าให้ลงกับแผ่นดินผืนเดิม ไม่ได้เก็บเศษเสี้ยวการงานไว้แต่ในความทรงจำ
กว่า 40 ปี เกาะคอเขาเติบโตขึ้นจากยุคที่ตะกั่วป่าเป็นเหมือนเมืองหลวงของการทำแร่ดีบุกในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผู้คนทั้งท้องถิ่นใต้ จากแดนดินอีสาน หรือเพชรบุรี ต่างข้ามมาถึงเหมืองกลางทะเลอย่างเกาะคอเขา
ใครบางคนไถ่ถามถึงนางและเรียงร่อนแร่ หวังจะเห็นแง่มุมอันผ่านพ้นของชีวิตเหมือง ซึ่งคำตอบนั้นล่องลอยหายลับไปกับอดีต หลงเหลือรางไม้ที่ป้าทำขึ้นง่ายๆ กับการไปขุดหาแร่ที่ริมหาดยามมรสุม หาบมาผ่านกรรมวิธีโบราณที่หลังบ้าน กับการร่อนแร่ด้วยดวงตาและทักษะเดิมๆ
หลังการจากไปของราคาดีบุกที่ทรุดฮวบฮาบลงตามราคาตลาดโลก ราวปี พ.ศ.2535 ชีวิตบนเกาะคอเขาไม่อาจหลีกหนีผลกระทบที่เดินทางข้ามมาตามแรงเหวี่ยง ผู้คนหันหลังให้การงานแห่งผืนดิน ทว่ากับบางชีวิตการก้าวเดินไปด้วยรากฐานที่สร้างพวกเธอมาก็ดูเหมือนจะทำให้วันคืนที่ตกลับยังคงมีค่า
สำหรับคนที่นี่ อาจไม่แปลกนักหากตามหาดแสนสงบที่ราวกับโลกพักผ่อนของนักท่องเที่ยวจากต่างแดน จะเห็นชาวบ้านสักคนที่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับกองดินกองทรายในฤดูฝน
กองทรายที่ไม่ได้แทรกซ่อนอยู่แต่เพียงสินแร่ หากแต่เต็มไปด้วยริ้วรอยและความหวังจากการงานโบราณของคนที่นี่
บ้านเมืองใหม่คือหมู่บ้านแรกๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนบนเกาะคอเขา แม้จะตั้งอยู่ห่างจากบ้านปากเกาะที่เป็นท่าเรือข้ามสู่บ้านน้ำเค็มที่ฝั่งตะกั่วป่า หากแต่ที่นี่คือบ้านของลูกประมงดั้งเดิมบนเกาะแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์
สะพานซีเมนต์แห่งนั้นตัดผ่านป่าโกงกางที่เต็มไปด้วยเรือหัวโทง มันยื่นลงไปในทะเลกว้าง เรือวางลอบหมึกลอบปูจอดนิ่งสนิทรอคลื่นลมด้านนอกสงบและเวลาน้ำขึ้นตามปฏิทินข้างขึ้นข้างแรม ท่ามกลางยามเย็นที่ใครสักคนพาตัวเองไปถึง ชายชราผิวเกรียมแดดกำลังตรวจตราความเรียบร้อยของเอ็นข่ายในโครงไม้ไผ่ที่ก่ายกอง ราวกับตารางประจำวันที่ดำเนินต่อเนื่องเวียนซ้ำมาตลอดช่วงชีวิต
ไม่ไกลกันจากหมู่บ้านเมืองใหม่ ที่ชุมชนคลองโตน เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนก่อเกิดเป็นสะพานไม้ทอดลับเข้าไปในร่มครึ้มของป่าโกงกาง พืชพรรณสะท้อนความสมบูรณ์ไว้ด้วยแนวรากอากาศระโยงระยางราวโลกดึกดำบรรพ์ในนิยายลึกลับ ขณะที่ตามเลนดิน ปูราชินีสีฟ้าสด สีเหลือง สีแดง ฉวัดเฉวียนไปตามพื้นดินชื้นแฉะยามน้ำลด สายคลองโตนเชื่อมผ่านแนวป่าออกไปสู่ทะเลกว้าง มันคือภาพสะท้อนความสมบูรณ์ที่เชื่อมโยงผู้คนของที่นี่ไว้กับผืนทะเลอย่างถึงที่สุด
ท่ามกลางพื้นที่กว่า 39,375 ไร่ของเกาะคอเขาเต็มไปด้วยความหลากหลาย เราผละออกจากบ้านนอกนาเพื่อไปสู่ที่ราบกว้างใหญ่ของทุ่งสนามบิน ริมถนนสายหลักช่วงท้ายๆ เกาะเปิดวิวที่ราบสุดลูกหูลูกตา ที่เคยเป็นสนามบินของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
รันเวย์ของสนามบินในอดีตจมลับไปกับพื้นผิวของทรายและต้นสนอันเป็นผลพวงมาจากคลื่นที่หอบซัดมาครั้งสึนามิ ทว่าภาพทางตาก็งดงามเรียบง่ายไปด้วยฝูงควายไล่ทุ่งนับร้อยตัวเลาะเล็มหญ้าและแช่ปลักโคลนอยู่ในที่ราบ
กายภาพแบบแบนราบและการเสื่อมสลายของชั้นดินในยุคทำเหมืองก่อเกิดทั้งการปรับตัวของพืชพรรณและผู้คน บางนาทีมิตรเจ้าถิ่นพาเราเพลินไปกับป่าเสม็ดที่ทับถมกันด้วยเปลือกไม้และใบหยุ่นนุ่ม บางขณะก็ควบรถคันเก่าตัดเข้าไปตามทางทรายเพื่อพบกับทุ่งเสม็ดขาวขึ้นกลางป่าหญ้าย้อมแสงอุ่นราวทุ่งซาฟารี
คล้ายโลกบางใบหุ้มห่มโลกแสนสมบูรณ์ที่คนเกาะคอเขาไม่ได้ลืมตาขึ้นมาสัมผัสเพียงผืนทะเลและแดดลม ซอกซอยที่แยกย่อยออกจากถนนผ่ากลางเกาะคอเขาพาเราไปสู่ความงดงาม
ความงามของทะเลกว้าง แนวทรายราบเรียบรอยเท้าและเส้นขอบฟ้าที่ประดับดวงตะวันยามลาลับ
ฝั่งตะวันตกของเกาะคอเขาคือแนวหาดทอดยาวต่อเนื่องที่ซอกซอยต่างๆ จะพาไปสู่หาดทรายหลากหลายมุมสงบ
มันคือที่พักพิงชั่วคราวของผู้มาเยือนผมสีทองจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียนผู้หลงรักความสงบ และเป็นบ้านหลังถาวรของเหล่าชีวิตริมทะเล ทั้งเจ้าของรีสอร์ต เหล่าพนักงานที่เป็นคนพื้นถิ่น ร้านอาหารเล็กๆ รวมไปถึงซอกมุมแห่งความเงียบสงบ
ซอยซีบรีส ซอยต้นโหนด หรือซอยหาปลา และอีกหลายซอกมุม พาเราไปพบกับหาดทรายสีน้ำตาลแดงละเอียดดั่งฝุ่นแป้ง ใครสักคนจ่อมจมตัวเองอยู่กับหนังสือและเก้าอี้ชายหาด เฝ้ารอการเปลี่ยนเวียนของผืนน้ำใสและดวงตะวันเปล่าเปลือย
ยามเปลี่ยนผ่านโมงยามของกลางวันและกลางคืนดูเหมือนจะหยุดทุกอย่างไว้ริมชายหาด ท้องฟ้าเปลี่ยนสีไปไม่ซ้ำกันสักวันตั้งแต่เราเลือกข้ามฝั่งมาสู่เกาะคอเขา มันคือห้วงยามที่พบกันระหว่างการขับเคลื่อนและการหยุดพัก ที่หาดหาดปลา นักท่องเที่ยวนั่งมองภาพตรงหน้าไปพร้อมๆ กับชาวประมงพื้นบ้านเสียบหัวเรือขึ้นก่ายเกยซอนซบหาดทราย
มื้อเย็นในร้านอาหารบรรยากาศดีริมทะเลของผู้มาเยือนมีค่าและน่าจดจำไม่แตกต่างจากมื้อค่ำของคนเกาะที่มีผักหลักไก่ ปลาตะมะ หรืออาหารพื้นบ้านในวงข้าวเดิมๆ
บางวันเราเลาะไปถึงปลายเกาะด้านบ้านนอกนา หาดซันเซตยื่นออกไปในส่วนที่เป็นแหลมทรายอันปกคลุมด้วยคลื่นลม ขณะที่ใครสักคนชักชวนให้ใส่เกียร์สโลว์ ผลักพารถไปบนทางดินปนทรายลื่นไถล เพื่อไปพบกับหาดเวอร์จิ้น
อันแสนบริสุทธิ์ แนวทรายทอดโค้งไปกับผืนน้ำสวยใส ตรงข้ามกันคือบ้านทุ่งดาบแห่งเกาะพระทอง
หาดทรายและผืนทะเลอันดามัน ณ พิกัดของเกาะคอเขาทอดยาวไปตามสัณฐานแบนราบของมัน เต็มไปด้วยแง่มุมต่างๆ นานา ที่ล้วนพัดพาเหตุผลของผู้เลือกมาสู่มันอันเต็มไปด้วยความหลากหลาย
อาจเป็นนักเดินเรือ พ่อค้าวาณิชในโลกประวัติศาสตร์โบราณ แรงงานจากฝั่งและดินแดนแสนไกลที่หวังพาตัวเองมาแสวงโชคกับงานเหมืองแร่ที่เคยเรืองรุ่ง นักเดินทางจากอีกซีกโลกที่หนีหนาวมาเพื่อพบหาดทรายแดดอุ่นสุขสงบแสนงดงาม
ทว่าสำหรับบางชีวิตที่นี่ มันอาจเป็นคำตอบเดียวที่ยืนยันชัดเจนถึงการฝังรากปักหลัก และดำเนินชีวิตมาตราบหลายชั่วคน คำตอบที่อวลอยู่ในทุกฤดูกาล ทั้งโมงยามที่แดดจัดหรือมรสุมเร้ารุม คำตอบที่ไม่เคยเปลี่ยนไป ว่าเกาะเล็กๆ แห่งนี้คือบ้านหลังอุ่นอันพร้อมจะเป็นที่หยัดยืนแห่งชีวิต
How to go
จากบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีแพขนานยนต์และเรือเล็กรับจ้างพาข้ามสู่ท่าเรือบ้านปากเกาะของเกาะคอเขา
สำหรับแพขนานยนต์ มีบริการตั้งแต่ 07.30-16.00 น. ค่าโดยสาร รถยนต์ 150 บาท (รวมคนขับและผู้โดยสารทั้งหมด) รถจักรยานยนต์ ราคา 20 บาท ต่อคัน ผู้โดยสาร 20 บาท ต่อคน
สำหรับเรือหางยาว เวลา 07.00-20.00 นาฬิกา (นอกเวลาต้องเหมาลำและคิดราคาพิเศษ) ค่าโดยสาร รถจักรยานยนต์ ราคา 20 บาท ต่อคัน (รวมคนขับ) ผู้โดยสาร 10 บาท ต่อคน
Where to Sleep
C&N Kho Khao Beach Resort ที่พักแสนสบาย บรรยากาศโรแมนติก เต็มไปด้วยความพร้อมสรรพ ทั้งห้องพัก ห้องอาหาร และบริการนำเที่ยวเกาะคอเขาในรูปแบบต่างๆ โทรศัพท์ 0-7641-7098 เว็บไซต์ www.cnkhokhaobeachresort.com
The Kib Kho Khao Island Beach Resort & Spa ที่พักขนาดใหญ่ ร่มรื่น ห้องพักมากมายหลายไทป์ ทั้งสวีต, พูลแอกเซส, พูลวิลล่า รวมไปถึงบริการต่างๆ ท่ามกลางความสวยงามและเงียบสงบ โทรศัพท์ 0-7659-2666 เว็บไซต์ www.thekibresort.com