เศกพล อุ่นสำราญ
โก้ มิสเตอร์แซกแมน ศิลปินแถวหน้าผู้ได้ชื่อว่ายอดฝีมือของเมืองไทย ปลายเดือนที่แล้วชายคนนี้เพิ่งจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในชีวิต งานนี้เสมือนเป็นบันทึกการเดินทางและประสบการณ์ดนตรีทั้งชีวิตของเขา ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสุดแสนประทับใจ ดำเนินการเองแทบทุกขั้นตอน และที่สำคัญชื่อคอนเสิร์ตครั้งนี้ตรงกับชื่อคอลัมน์ของเราอีกด้วย!
“อัลบั้มที่ผมยกให้เป็น Masterpiece โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นอัลบั้มชุดแรกที่ออกกับค่ายแกรมมี่ครับ เพราะใช้เวลาทำนานมาก เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 26 ได้ออกวางจำหน่ายตอนอายุเกือบสามสิบ ใช้เวลาทำ 4 ปี จนพี่สมเล็ก (สมชาย ศักดิกุล) บอกว่านี่คืออัลบั้มเจ็ดชั่วโคตร ตอนนั้นจำได้ว่าเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งที่พอจะอัดเสียงแล้วก็พอที่จะปั้มเทปได้ คิดว่าจะฝากขายที่ร้านน้องท่าพระจันทร์ ตอนนั้นเพลงเสร็จเกือบหมดแล้วกำลังจะดีไซน์ปก เรื่องที่ผมทำเพลงไปเข้าหูพี่นิ่ม สีฟ้า, พี่ดี้ นิติพงษ์ และก็พี่ฉ่าย สมชัย ขำเลิศกุล ซึ่งเป็นระดับบิ๊กของแกรมมี่ทำให้เขาสนใจ
“ตอนแรกคิดเลยว่าถ้าแกรมมี่ออกชุดนี้เจ๊งแน่ ขายยาก เพราะเป็นเพลงบรรเลงล้วนๆ ตอนพี่ฉ่ายเรียกเข้าไปคุยเรื่องผลงานที่แกรมมี่ คำตอบที่ได้คือ ‘พวกเราคุยกันแล้ว เราจะสนับสนุนนักดนตรี’ เป็นคำพูดที่กินใจผมมาก สรุปว่าแกรมมี่ทำให้แต่ต้องไปเพิ่มเพลงร้องเข้ามาด้วย คือเพลงภาวนาที่ผมแต่งไว้นานแล้ว ทำร่วมกับพี่หมีนักแต่งเพลงอีกท่านหนึ่ง และเพิ่มเนื้อร้องเพลงคิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียว ซึ่งตอนแรกเป็นเพลงบรรเลงให้พี่เจนนิเฟอร์ คิ้ม มาร้อง สองเพลงนี้ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ต้องยกให้อัลบั้มชุดนี้ครับ”
“ผลงานล่าสุดมีสามอัลบั้มด้วยกันครับ อัลบั้มแรกชื่อว่า Jazz Dance ที่ได้ไอเดียจากการเดินทางไปเล่นดนตรีหลายๆ ที่ในยุโรป อัลบั้มที่สองเป็น Acoustic Jazz ชื่อว่า Coffee Time ดนตรีน้อยชิ้นมีกีตาร์ แซกโซโฟนแล้วก็ดับเบิ้ลเบส ส่วนอัลบั้มสุดท้ายเป็นความภูมิใจเลยครับ ผมเติบโตมากับบทเพลงไทยในยุค 70-80 ซึ่งมีเพลงลูกกรุงและป็อบขึ้นหิ้งของเมืองไทยเกิดขึ้นมากมาย เพลงเหล่านี้เหมือนเป็นสมบัติของชาติ ผมนำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่ในสไตล์แจ๊ส แล้วก็บันทึกเสียงร้องใหม่ หนึ่งแผ่นเป็นร้องอีกหนึ่งแผ่นเป็นบรรเลงคู่กัน ใช้ชื่อว่า Timeless หรือว่าอัลบั้มที่เหนือกาลเวลา ผมอยากให้นักดนตรีและคนรุ่นใหม่ได้ฟังเพลงไทยที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ เพลงไทยที่มีการเขียนมีภาษาที่สละสลวยมีทวงทำนองที่ไพเราะ อยากจะให้สืบสานต่อไปเรื่อยๆ
“บันทึกของเหล่านักดนตรีก็จะเป็นบทเพลง เป็นผลงานอัลบั้ม เป็น Recording สมัยนี้นักดนตรีไม่ค่อยออกแผ่น แม้กระทั่งนักร้องเองก็ตาม เพราะขายไม่ได้เลย ขายยากมาก ร้านซีดีก็น้อยลง อย่างวงผมเองอาทิตย์หนึ่งเราจะออกไปเล่นดนตรี
ที่แซกโซโฟนผับที่อนุเสาวรีย์หนึ่งครั้ง เพื่อแฟนเพลงจะได้ไปเจอกันที่นั่น ขายซีดีได้สิบแผ่นยี่สิบแผ่น ถือว่าเป็นการส่งต่อเรื่องราวดนตรีให้กับคนฟัง การออกผลงานยังต้องทำอยู่ เสียดายศิลปินหลายคนที่ต้องผันตัวเองไปทำอย่างอื่น เสียดายแทนแฟนเพลงเขาด้วย สำหรับผมเองผมยังโชคดีที่เป็นนักดนตรีมาก่อน แล้วก็ยังคงความเป็นนักดนตรีเอาไว้ คือทุกวันจันทร์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมจะไปที่แซกโซโฟนผับ เพราะนักดนตรีไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หรือชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาดูดนตรีในเมืองไทยจะมาเจอกันที่นั่น ถ้าอยู่เมืองไทยเหนื่อยขนาดไหนก็ต้องกลับมาเล่นที่นี่
“ผลงานอัลบั้มของผมทั้งหมดจะมี 11 ชุดครับ ค่อยๆ ทำไป แม้ว่าจะขายได้ยากมาก รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเล่นดนตรีและงานอีเว้นท์ คือไม่ได้มองเรื่องยอดขายอยู่แล้ว ทำด้วยใจรักและยังมีงานสอนดนตรีที่ผมรัก ผมหวังเสมอว่าในวันข้างหน้าจะเห็นมิสเตอร์แซกแมนรุ่นใหม่เยอะๆ ผมเรียนด้านครูมาโดยตรงจิตวิญญาณความเป็นครูมันยังคงอยู่ไม่ว่าเราจะไปเล่นดนตรีที่ไหนมากมายก็ยังอยากสอนอยู่ ตอนนี้ยังสอนอยู่ที่ Sax Society ซึ่งตอนนี้ก็มีอายุครบสิบปีแล้วครับ สาขาหลักเลยจะอยู่ที่รัตนาธิเบศ แล้วก็ที่นี่สีลมซอย 19 ครับ”
นอกจากจะเป็นศิลปินที่สร้างผลงานคุณภาพไว้ในวงการเพลงไทยแล้ว ในคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งล่าสุด The Masterpiece By Koh Mr.Saxman มีช่วงหนึ่งที่คุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม พูดว่า “คนอื่นทำงานเพื่อหาเงินแต่โก้ มิสเตอร์แซกแมน หาเงินเพื่อนำมาทำงาน” ยิ่งตอกย้ำถึงการทุ่มเททั้งแรงใจและแรงกายเพื่อคำว่าคุณภาพ
“เขาหวังดีครับ ไม่อยากให้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ บอกได้เลยว่าครั้งนี้ครั้งที่สาม และสองครั้งแรกเจ๊งไม่เป็นท่าครับ ถึงคนจะแน่นคนจะเต็ม แต่ไม่มีสปอนเซอร์เลย แต่ครั้งนี้ผมโชคดีมากคือมีสปอนเซอร์สนับสนุนหลายเจ้า และสปอนเซอร์ทุกคนเป็นนักดนตรี เป็นครั้งแรกในชีวิตเลยครับที่ไม่บาดเจ็บ พี่คิ้มถึงไม่อยากให้ทำ สมมติครั้งที่หนึ่งครั้งที่สองผมไม่ทำคอนเสิร์ต แล้วมันจะมีครั้งที่สามไหม แล้วมันจะมีตัวอย่างให้เด็กทำไหม มันไม่มีไงครับ พี่คิ้มเป็นคนพูดเองว่าในหนึ่งเจนเนอเรชั่นจะต้องมีใครสักคนหนึ่งที่ยอมเสียสละ ผมแค่อยากให้คนดูได้มาดูดนตรีดีๆ ที่มาจากนักดนตรีจริงๆ ไม่ต้องรอศิลปินต่างชาติมาเปิดคอนเสิร์ตเท่านั้น
“เรื่องลิขสิทธิ์เพลงตอนนี้หลายศิลปินแทบจะไม่กล้าที่จะนำเพลงที่ตัวเองเคยร้องจนโด่งดังมาเล่นในคอนเสิร์ตแล้ว อย่างการบันทึกลงซีดีในอัลบั้มล่าสุด ยกตัวอย่างถ้าทำห้าร้อยแผ่น ค่าลิขสิทธิ์ประมาณสามหมื่นบาท ถ้าเล่นสดครั้งละหมื่นห้า ถ้าบันทึกการแสดงสดเพื่อจำหน่ายก็ต้องจ่ายอีกสามหมื่น ถ้าบันทึกอีกเพิ่มรอบละหนึ่งหมื่น โดนไปประมาณหนึ่งแสนบาทต่อเพลง กลัวเหมือนกันว่าวันหนึ่งเพลงดีๆ มันจะหายไปในที่สุด แต่เจ้าของลิขสิทธิ์บางเจ้าก็ดีมากเลยครับ อย่างเพลงของพี่บอย โกสิยพงษ์ แกก็ให้เล่นฟรีเลยถือว่าเป็นน้ำใจมากๆ ครับ แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ส่วนบางเจ้าเขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เขาซื้อไว้เราก็เข้าใจว่าเขาต้องหารายได้ แต่ถ้ามันไม่มากมายจนเกินไปก็พอรับได้ครับ คิดว่าในอนาคตคงมีทางออกที่เป็นมาตรฐานครับ
“ผมไม่ได้สนใจว่าดนตรีที่ผมเล่นเป็นดนตรีประเภทไหน ผมว่าดนตรีถูกผสมอยู่ในทุกๆ วินาทีที่ผมมีลมหายใจ ดนตรีคือการดำเนินชีวิตครับ หลังจากที่ได้ตระเวนเล่นดนตรีหลายแห่งทั่วโลก ผมว่าความเป็นตัวตนของเรานั้นคือที่สุดแล้ว ถ้าเราเล่นแจ๊สยังไงก็สู้นักดนตรีอเมริกันไม่ได้ แต่ถ้านำมาผสมเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้าไป นำเสนอตัวตนเราฝรั่งจะชอบมาก คือวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนและเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของเราครับ”