ศุภสิน ลีลาฤทธิ์
อีกหนึ่งผู้บริหารที่สวมหมวกสองใบ เป็นทั้งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) และรองประธานสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี ผู้ที่ขับเคลื่อนให้สโมสรฯ พัฒนาฝีมือขึ้นมาอยู่อันดับหัวตารางฟุตบอลไทย และเป็นคนเดียวกับคนที่ถูกส่งไม้ต่อมาจาก ‘โค้ชง้วน สุรชัย จตุรภัทรพงษ์’
รู้จักกันกับโค้ชสุรชัยได้อย่างไร
ในช่วงแรกๆ ที่เราอยากให้เขาเป็นโค้ชให้ ผมเป็นคนไปตามตัวเขาที่สิงคโปร์กลับมาเมืองไทย ก็ไปปรึกษาหารือกัน เพราะตอนนั้นเราอยากได้โค้ชไทยที่ทำงานต่างประเทศ จะได้มีความเป็น Professional แล้วเขาก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ถ้าถามว่าสนิทกันมากแค่ไหน ต้องบอกว่าเราทำงานด้วยกันมาตลอด ตั้งแต่ปี 2009 โลดแล่นอยู่ในไทยลีก และเขาเองก็เป็นพนักงานของบางกอกกล๊าส ตอนหลังเราดึงให้เขากลับมาช่วยงาน มาเป็นผู้บริหารมากขึ้น ดูแลภาพรวม
เคยทำอะไรมาก่อน ถึงได้มาคลุกคลีอยู่ในวงการกีฬา
คนที่อยู่ในวงการกีฬาส่วนใหญ่มักจะมี Background อะไรมาก่อน แต่ผมคนหนึ่งแหละที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับกีฬามาก่อนเลย ชอบดูชอบเล่นบอลเหมือนเด็กธรรมดาทั่วๆไป จนผมได้รับโอกาสจากคุณปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรฯ ที่อยากจะทำกีฬาอาชีพ เราเลยร่วมกันเซ็ตอัพทีมตั้งแต่ศูนย์เลย สมัยยังไม่เข้าไทยลีก ก็ไปดูงานที่ต่างประเทศว่าเขาทำเป็นฟุตบอลอาชีพยังไง พอเราทำไปได้สักปีสองปี วันดีคืนดี คนในวงการเห็นว่าเราตั้งใจจริง มีความพร้อม ก็มีคนมาติดต่อให้เข้าไทยลีกครั้งแรก ก็ล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร เจอปัญหาต่างๆ จนกลายมาเป็นบางกอกกล๊าส เอฟซี มาถึงทุกวันนี้
ถึงวันนี้ตั้งเป้าที่จะเป็นแชมป์เลยหรือเปล่า
แน่นอน ทุกทีมฟุตบอลยังไงก็ต้องขอเป็นแชมป์สักครั้งหนึ่ง เพียงแต่ว่าระยะเวลาตรงนั้นมันจะมาถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ผมเคยพูดไว้ว่าเราต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าการแข่งขันฟุตบอลในบ้านเราแต่ละทีมมีความสามารถพอๆ กัน เป็นระดับมืออาชีพกันทั้งนั้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยจังหวะด้วย ถ้าเป็นศัพท์ฟุตบอลคงบอกว่า ต้องทั้งเก่งทั้งเฮง แล้วก็ปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรมการตัดสิน สนามเหย้า และแรงกดดัน ทุกอย่างมันมีส่วนที่จะช่วยให้ทีมนั้นเป็นแชมป์ได้
ทีมสโมสรฟุตบอลในภาคธุรกิจ มีการตั้งเป้าหมายหรือผลประกอบการอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้วเราก็อยากทำให้มันมีกำไร แต่ด้วยหลายสาเหตุ อย่างงบของการทำทีมในแต่ละส่วน เช่น ค่าตัวของนักเตะที่เมื่อมีการแข่งขันสูง ค่าตัวก็สูงขึ้นตามเช่นกัน ไหนจะเรื่องค่าตั๋ว สมมติแมทช์หนึ่งขายได้สูงสุดก็หนึ่งล้าน แต่ค่าใช้จ่าย ค่าการ์ดที่ต้องมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ประมาณ 200-300 คน ฉะนั้นกำไรค่าตั๋วนี่คือไม่มีความหมายเลย ไหนจะด้าน Merchandise เรื่องเสื้อ ถ้าขายไม่หมดก็เจ๊ง เหมือนเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ตามกันมา มีคนสนับสนุนของแท้กันน้อย มีไม่ถึงจุดคุ้มทุนที่เราดีลกับสปอนเซอร์เลย เห็นได้ว่าที่มาของรายได้กับรายจ่ายของสโมสรฟุตบอลไทยยังห่างชั้น อาจเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจไทยช่วงหลังๆ ยังไม่เฟื่องฟู คนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์ให้ก็อาจจะต้องคิดแล้วคิดอีก รวมทั้งภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุน ผมคิดว่าทุกทีมที่ทำมายังไม่มีทีมไหนได้กำไร หรือที่บอกว่ากำไรผมว่าเข้าเนื้อกันทั้งนั้น มันต้องอยู่ในงบที่ว่าบาดเจ็บน้อยหน่อย
ตอนนี้วางแผน เรื่องขยายฐานแฟนบอลอย่างไรบ้าง
ก่อนหน้านี้เราทำการตลาดทุกช่องทาง สิ่งที่เราทำบ่อยๆ คือวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวีเพื่อให้เข้าถึงคนท้องถิ่น และทำรายการในสยามกีฬา ซึ่งตอนนี้คนรู้จักเราเยอะแล้ว แต่คนที่จะมาดูบอลกับเรายังน้อย เนื่องจากผลงานที่ผ่านมา ขึ้นๆ ลงๆ เราก็หวังว่าสักวันจะทำผลงานออกมาได้ดี ถูกใจแฟนบอล เหมือนที่ผ่านมาเราถูกมองว่าเน้นเรื่องการตลาดมากกว่าผลงาน
อย่างนี้สาวกระต่ายแก้ว ก็ถือเป็นหนึ่งในแผนการตลาด
ใช่แล้วครับ มันเริ่มมาจากตอนที่เราทำบอลครั้งแรก ยอมรับว่าตอนนั้นเกณฑ์สาวๆ ที่ออฟฟิศไปเชียร์ ให้ไปช่วยกันดูหน่อย เพราะแมทช์แรกกลัวว่าที่นั่งเหลือ ปรากฏว่าเราคิดผิด คนแถวนั้นมาดูกันเต็มเลย พอนักข่าวทำข่าวมากขึ้น เราก็เลยบอกลูกน้องให้ไปสำเพ็ง ไปดูหูกระต่ายมาซิ แล้วให้ลองใส่ชุดเหมือนกันดูซิ ทีนี้คนยิ่งแห่มาดูกันใหญ่เลย เราเลยเรียกสาวๆ พวกนี้ว่าเป็น Rabbit Girl หรือ Bunnies Girl เริ่มไปทีละสเต็ป จนตอนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสโมสรฯ ไปแล้ว
เห็นว่าตัวบางกอกกล๊าสเอง ก็ทำทีมวอลเลย์บอล
เราทำทีมเหมือนกับฟุตบอลเลยครับ เราได้ปลื้มจิต พรพรรณ และหลายๆ คนเข้ามา แล้วเราก็ทำแบบมืออาชีพ มีโค้ช ทีมงาน หมอนวด มียิมของเราเองด้วย เป็นเรื่องเป็นราว มีอคาเดมี่ เอาเด็กมาซ้อมกับชุดใหญ่บ้าง สิ่งที่เราเข้าไปทำวอลเลย์ฯ เพราะว่าเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีคนดู มีกระแส สามารถทำเป็นอาชีพได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่มีคนดู มันก็ไม่มีทางเป็นธุรกิจได้ ในอนาคตเราคิดว่าธุรกิจกีฬาต้องยิ่งใหญ่ เมืองนอกธุรกิจกีฬายิ่งใหญ่จะตาย มีบทบาทมีรายได้มาก แล้วเมืองไทยจะอยู่แค่นี้เหรอ อยู่ที่ว่าใครจะเริ่มทำก่อน ต้องใจเย็นกับมัน ยอมเจ็บตัวไป ถ้ากีฬาประเภทไหนเริ่มมีคนสนใจเราก็จะโดดเข้าไปทำ
วันนี้มองอนาคตของทีมฟุตบอลอาชีพไปถึงไหน
ไปได้ไกลครับ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันอยู่ที่ทัศนคติของแฟนบอล ว่ายังมีวัฒนธรรมในการเชียร์หรือการสนับสนุนสโมสรฟุตบอลมากแค่ไหน ซึ่งผมมองว่ายังไม่มีความเป็นมาตรฐานสากล แค่มีเรื่องอะไรก็ใช้ปัญหาความรุนแรง ยอมกันไม่ได้ ไม่เหมือนต่างประเทศ การแข่งบอลเขาเปรียบเหมือนการแสดง ที่สามารถพาคนในครอบครัวไปดู ไปนั่งปิกนิก พบปะเพื่อนฝูง และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเดินทาง มีรถสาธารณะรองรับ ฟุตบอลทำให้คนเป็นหมื่นมาอยู่ด้วยกัน ร้องเพลงด้วยกัน มีความสามัคคี นี่แหละเสน่ห์ของกีฬา บางครั้งเราไม่ได้ใส่ใจกับมัน เราก็มองข้ามจุดนี้ไป ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง