Glock

Glock

ผมมีความสุขอย่างมากครับ กับการได้เขียน Legend ในเล่มนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาวุธ “ปืน” ซึ่งผมมีความชื่นชอบอย่างมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเหตุจูงใจของการเขียนเรื่องราว Legend เรื่องนี้เป็นเพราะผมได้ยินข่าวแว่วๆ มาจากฝั่งสหรัฐอเมริกาว่า ทางกองทัพของสหรัฐนั้นจะทำการเปลี่ยนจัดซื้ออาวุธปืนพกสั้นสำหรับทหารครั้งใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ทางผู้ผลิตอาวุธปืนนั้น ยื่นซองประมูลราคา และผู้ผลิตที่เป็นตัวเต็งที่สำคัญที่หลายฝ่ายต่างคาดการณ์เอาไว้ว่าจะสามารถคว้าผลการประมูลครั้งนี้ไปก็คือ GLOCK จาก Austria นั่นเอง

เมื่อพูดมาอย่างนี้แล้ว หลายคนก็จะมีคำถามว่า อ้าว..? แล้วก่อนหน้านี้กองทัพสหรัฐใช้ปืนพกอะไร? แล้วทำไมถึงจะเปลี่ยน จากตรงนี้ขออธิบายก่อนว่าปืนแต่ละชนิด แต่ละกระบอกนั้น ล้วนมีอายุการใช้งาน และมีวันที่หมดสภาพลั่นไกไม่ออก เมื่อถึงวันที่ปืนสิ้นอายุความสามารถ ใครเขาอยากจะเอาปืนที่หมดสภาพมาใช้ปกป้องชีวิตตนเอง หรือสู้รบกัน จริงไหมครับ 

แต่ปืนกระบอกหนึ่งๆ นั้น ใช่ว่าจะพังได้ง่ายๆ ปืนแต่ละโมเดลแต่ละชนิดที่ผลิตออกมาจะ นำเข้าสู่กระบวนการทดสอบที่เรียกว่า Mean Round Before Failure (MRBF) ซึ่งเป็นการทดสอบจำนวนครั้งที่ปืนชนิดหนึ่งๆ จะสามารถทำการยิงได้ โดยปืนที่ดีจะสามารถยิงได้มากกว่า 30,000 นัด และหากดูแลรักษาดีๆ ก็จะสามารถยืดอายุจำนวนครั้งของการยิงได้มากขึ้นนั่นเอง

ของเก่ากำลังจะหมดสภาพของใหม่ก็ต้องมานั่นเป็นสัจธรรมครับ และหากว่ามีของที่มีเทคโนโลยีและคุณภาพมากกว่าก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ กองทัพสหรัฐเองก็ถือเอามาตรฐานนี้เป็นสำคัญเช่นกัน โดยที่ผ่านมานั้นกองทัพสหรัฐได้ทำการเปลี่ยนปืนพกสั้นประจำกายทหารมาแล้ว 2 ครั้ง 

ปืนชนิดแรกที่ผ่านการประมูลและบรรจุประจำกายนายทหารทุกคนคือ Colt Model 1911 ขนาด .45 ปืนที่ยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ โดยบรรจุให้ใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มาจนถึงปี พ.ศ.2528 กองทัพได้เปิดประมูลอีกครั้ง และเปลี่ยนปืนพกมาเป็น Beretta M9 ขนาดกระสุน 9 mm แม้ขนาดกระสุนจะเล็กลงมา แต่จำนวนกระสุนที่บรรจุได้มากขึ้นก็สามารถทดแทนได้อย่างดี แต่สิ่งที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ก็คือ ทำไม Glock ถึงเป็นตัวเต็ง..?

ปืน Glock เป็นปืนสัญชาติ Austria จากบริษัท Glock Ges.m.b.H. ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 รูปลักษณ์ของปืน Glock ที่ได้ถูกสร้างมาในตอนแรกนั้น เป็นที่ขบขันของบรรดาคอปืนเป็นอย่างมาก เพราะด้วยเป็นปืนกึ่งอัตโนมัติรูปทรงที่เรียบๆ เหลี่ยมๆ  โครงปืนเป็นโพลีเมอร์ส่วนคันสไลด์เป็นเหล็กรมดำ ซึ่งคำพูดแรกของคอปืนที่ได้เห็นและสัมผัสต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า “มันจะดีหรือ..?” บ้างก็ว่า “ปืนมันจะไม่แตกเอาหรือ..?” 

ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งเหมือนกันที่ตั้งคำถามเหล่านี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นคำถามในปัจจุบันนั่นก็คือ ทำไมตอนนี้ Glock ถึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกปัจจุบันบริษัท Glock ทำกำไรเป็นอันดับหนึ่งชนะคู่แข่งทั้งหมด โดยมียอดการผลิตและจำหน่ายมากถึง 5 ล้านกระบอก ในปี ค.ศ.2007 

เริ่มแรกปืนในช่วง ค.ศ.1980-1988 Glock Gen 1 ได้ถูกผลิตออกมาสู่ท้องตลาด แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก ด้วยนักยิงปืนทั้งหลายห่วงในเรื่องของความแข็งแรง อาจจะด้วยเพราะก่อนหน้านี้ก็มีปืนกึ่งอัตโนมัติที่เป็นโครงโพลีเมอร์อีกเจ้าหนึ่งทำออกมาเช่นกัน และประสบปัญหาโครงปืนแตกให้เห็นกันมาแลัว ปืน Glock ที่ผลิตออกมาทีหลัง จึงต้องรับบทหนักทางการตลาดมากพอสมควร ที่จะต้องพิสูจน์ว่าปืนดังกล่าวมีคุณภาพ แข็งแรงทนทาน และยิงได้เป็นอย่างดี 

Glock เสียเปรียบในเรื่องของรูปลักษณ์และความน่าเชื่อถือตั้งแต่แรกเริ่ม จนโดนเปรียบเปรยและเรียกขานเชิงดูถูกว่า “ปืนพลาสติก” แต่ก็ใช่ว่า Glock จะเสียเปรียบทางการตลาดไปซะหมด เพราะด้วยวัสดุการผลิต ที่เปลี่ยนจากสเตนเลสมาเป็นโพลีเมอร์ จึงทำให้ปืน Glock สามารถจำหน่ายขายปืนในราคาที่ถูกกว่ายี่ห้ออื่นได้ชนิดครึ่งต่อครึ่ง

การจำหน่ายในราคาถูกได้ผลทางการตลาดครับ ผู้ใช้ปืนที่มีต้นทุนน้อยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงกลุ่มอาชญากรด้วย จนปืน Glock มักถูกนำไปล้อในหนัง Action หลายต่อหลายเรื่อง จนมีคำที่ว่า “พระเอกใช้ Beretta ส่วนผู้ร้ายใช้ Glock”

แต่เมื่อได้มีการทดลองยิงทดลองใช้ ผลคือ Glock นั้นคุณภาพคับแก้วเสียจริงครับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความแม่น, ระยะทำการยิง, ความแน่นของตัวปืน, ความเร็วในการยิงต่อเนื่อง และความง่ายในการถอดประกอบ ทุกอย่างล้วนรวมอยู่ในตัวของปืนกระบอกนี้ 

ที่สำคัญคือระบบรางดอลลี่นกใน ที่ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน ทำให้ Glock เป็นที่ติดอกติดใจของคอคนรักปืนเป็นอย่างมาก ใครที่ได้ลองสัมผัสล้วนต่างถูกอกถูกใจ แต่ก็มีเรื่องเจ็บแสบขึ้นจนได้ เมื่อมีนักวิจารณ์ปืนกลุ่มหนึ่งได้ท้วงติงถึงเรื่องความปลอดภัยของปืน Glock ว่า “ปืน Glock เป็นปืนที่ไม่มีตัวห้ามไก หรือ Safety การผลิตปืนชนิดนี้ออกมาจะทำให้ผู้ใช้และบุคคลรอบข้างไม่ปลอดภัย”

ทางบริษัท Glock ก็ได้ตอบมาอย่างเจ็บแสบด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวว่า “ปืน Glock ผลิตขึ้นมาสำหรับ Professional เท่านั้น”   

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นพวกหัวอนุรักษ์เช่นกัน โดยคิดอยู่ตลอดว่าหากซื้อปืนแล้ว ปืนที่เป็นสเตนเลสหรือเหล็กย่อมคุ้มกว่าปืน  โพลีเมอร์เพราะสามารถเก็บได้ทนกว่า แต่เมื่อได้มาลองจับลองยิงแล้ว ไม่เกินสองเดือนผมเองก็ได้ไปถอยมาเป็นเจ้าของถึง 2 กระบอก 

จากไม้ขีดไฟในกองฟืนน้อยๆ กลับกลายเป็นไฟลามทุ่งครับ ความนิยมของปืนที่ถูกและดี ใช้ง่าย ทนทาน ของ Glock นั้น แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ ปี ค.ศ.1990 - 2009 ที่ Glock Gen.3 ได้ถูกผลิตออกมาสู่ท้องตลาด 

ยุคนี้นับว่าเป็นยุคทองของ Glock เลยก็ว่าได้ ปืน Glock ได้ถูกพัฒนากลไกจนเป็นที่ถูกมือคอคนรักปืนเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องความ “นิ่ม” , “แน่น” , “แม่น” , “พกสะดวก”, “ของแต่งครบ” จนกลายมาเป็นเหมือนของใช้คู่กาย ของใครหลายๆคน ทั้งนี้ข้าราชการทหารตำรวจในหลายๆ ประเทศได้เลือกให้ปืน Glock เป็นปืนสวัสดิการ ให้ข้าราชการซื้อได้ในราคาถูก และมีส่วนหนึ่งซื้อเข้าเป็นของหลวงใช้ในราชการด้วย (ไทยเองก็เช่นกัน) แม้แต่ตำรวจในประเทศสหรัฐต่างก็หันมาใช้ปืน Glock กันหมด ซึ่งคราวนี้ก็เป็นทีของกองทัพสหรัฐที่จะเปลี่ยน ซึ่งต้องมาดูกันว่า Glock ที่เป็นตัวเต็งของรายการ จะเข้าวินหรือร่วงหล่น   

สุดท้ายนี้ขอทิ้งท้ายให้คอคนรักปืนทราบอย่างหนึ่งว่าการเติบโตของบริษัท Glock นี้ เป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านยุคความนิยมของปืนครั้งใหญ่ โดยแต่เดิมปืนลูกโม่ที่เคยได้รับความสำคัญกลับถูกลดความนิยมลงอย่างมาก ทั้งที่เป็นปืนที่มีความแม่นยำและปลอดภัยสูง 

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปผมเชื่อว่าอีกไม่นานตลาดปืนลูกโม่จะค่อยๆ จางหายไปจากวงการ โดยสังเกตได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Smith & Wesson เจ้าพ่อวงการปืนลูกโม่ ยังเบนเข็มออกมาทำปืนกึ่งอัตโนมัติอย่าง Mp9 และ Mp9c ออกมาตีตลาดสู้กับทาง Glock และเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญที่จะชิงดำกันในการประมูลของกองทัพสหรัฐครั้งนี้ 

อย่างไรก็ตามครับปืนก็เหมือนรถ มีทั้งสมัยนิยมและไม่นิยม ปืนพลาสติกหรือปืนเหล็กนั้น แต่ละชนิดนั้นไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เอามาเทียบเอามาสู้กันไม่ได้ทั้งหมดหรอกครับ สิ่งที่สู้ปืนไม่ได้ก็มีคนเรานี่แหละครับ เพราะไม่ว่าลูกปืนจะออกมาจากปืนพลาสติกหรือปืนเหล็ก ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เราเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเพิ่มความรอบคอบระมัดระวังในการใช้งานอาวุธปืนทุกชนิดนะครับ ด้วยความหวังดี ... ฉบับนี้สวัสดีครับ 

ตำนานปืนโพลีเมอร์