อัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ
นับวันผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือสารเคมีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ผู้คนจะมองผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นตัวร้าย แต่เชื่อเถอะว่า! ทุกอย่างมักมีสองด้านเสมอ เพียงแค่เปิดใจยอมรับ และลองมาร่วมค้นหาโลกอีกใบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับ คุณอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์
PTTGC (PTT Global Chemical Public Company Limited) เรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งในวงการธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ด้วยการดำเนินงานที่โดดเด่น ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างไม่มีเงื่อนไข
“PTTGC เกิดจากการควบรวบของ 4 บริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น เป็นธุรกิจที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย ต้องบอกว่าธุรกิจที่เราทำอยู่ มีความหลากหลาย จะใช้วัตถุดิบที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันก็ได้ หรือก๊าซจากอ่าวไทยก็ได้ นำมาผลิตเป็นสารโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติกที่เรานำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ ส่วนประกอบภายในรถยนต์ หรืออุปกรณ์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกที่ทำจากพืช/Green รวมถึงการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มด้วย”
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ PTTGC ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันคือการมุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่ยั่งยืนด้วยการเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ พร้อมมุ่งเน้นด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่นำสมัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพทัดเทียมจากต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ตามสโลแกนที่ว่า ‘Chemicals Come Alive Through Innovation’
“ผมเชื่อว่าความยั่งยืนทางธุรกิจไม่ได้เกิดจากความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการรับรองมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด เพราะเรามักถูกโจมตีเสมอ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เรากลับมานั่งคิดว่าการทำงานด้านนี้ หากทำแต่เพียงการรอ เมื่อมีปัญหาแล้วจึงแก้ไขเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เราต้องทำงานแบบ Proactive ควบคู่กันไปด้วย โดยการสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ปลูกจิตสำนึกทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการที่บริษัทฯ แสดงเจตนารมณ์อย่างแนวแน่ โดยมีผู้บริหารเป็น Role Model
“เมื่อพูดถึงสิ่งแวดล้อม โรงงานของเราได้นำหลักการ 3R คือ Reuse, Reduce และ Recycle มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ สำหรับพลาสติกอาจดูเหมือนเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ย่อยสลาย มีการทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี จริงๆ ต้องบอกว่าถ้าเรารู้จักการบริหารจัดการ มีการปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน ให้ตระหนักถึง 3R ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าพลาสติกคือตัวทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เมื่อเราดื่มน้ำขวดเสร็จแล้ว ต้องทิ้งให้ถูกที่ เพื่อที่ขวดพลาสติกนั้นจะได้ถูกนำไปคัดแยกให้สามารถ Recycle และนำกลับมา Reuse ซึ่งจะช่วย Reduce การใช้เม็ดพลาสติกและพลังงานได้ ดังนั้นถ้าเรารู้จักการบริหารและจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น”
อีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ไทยด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีใครคาดคิดกับกรณีน้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทย เกาะเสม็ด จ.ระยอง ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับ PTTGC ซึ่งผู้บริหารและพนักงานต่างร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขและเยียวยาให้กับชุมชน โดยชายผู้นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น
“ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ บทบาทที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำ คือการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา อย่างที่รู้ว่าเกาะเสม็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ฉะนั้นปัญหาที่เกิดผมต้องเข้าไปช่วยฟื้นฟูในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมการท่องเที่ยว หรือโรงแรม พยายามกระตุ้นให้คนมา สร้างกิจกรรมร่วมกับทางจังหวัด ทั้งยังช่วยในเรื่องของการโปรโมต ให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าสวยงามเหมือนเดิม จนกระทั่งตอนนี้เราก็ยังมีการจัดกิจกรรมกับทางจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเราทำให้เขาเสียหายจะให้มาปัดความรับผิดชอบไปก็ไม่ได้ ผ่านมาสองปีแล้วปัจจุบันทุกอย่างฟื้นฟู 100% แล้วครับ”
ไม่เพียงแค่นั้น PTTGC ยังได้มุ่งสู่การเป็นโรงงานสีเขียว โดยได้พัฒนาเครือข่ายการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนแบบยั่งยืน ด้วยการสร้างความร่วมมือในแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ระหว่างกลุ่มโรงงานพื้นที่มาบตาพุด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเครื่องมือที่จะช่วยกันดูแลให้การดำเนินงานมีความปลอดภัยสูงสุด รวมถึงยกระดับการดูแลสิ่งแวดล้อมในกิจกรรมหลายๆ ด้าน และผลักดันให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยร่วมมือกันในกลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนมีการดูแลชุมชนและสังคมให้มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น
ความใส่ใจ ... สิ่งสำคัญในการบริหาร
เมื่อทุกวันนี้โลกหมุนเร็วไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีอันทันสมัย ในฐานะผู้บริหารองค์กรระดับประเทศมองว่าการปรับองค์กรให้เข้ากับสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ ย่อมต้องเริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรก
“คนเรามักยึดติดอยู่กับอะไรเดิมๆ กลัวการเปลี่ยนแปลงแต่ผมกลับมองว่ามันเป็นความท้าทาย ถ้าเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เราจะพัฒนาตัวเองไปอีกขั้น นอกจากนี้ผมคิดว่าการมองภาพธุรกิจในมุมกว้างและไกลออกไป เป็นอีกคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้บริหาร แต่ไม่ว่าอย่างไรผมก็ไม่เคยลืมที่จะใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือความใส่ใจลูกน้อง ต้องพิจารณาคนให้เป็น เชื่อในความสามารถของพวกเขา เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอ ผู้บริหารที่ดีจึงต้องมองเห็นคุณค่าของคน ใช้คนให้ถูกกับงาน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องใจกว้างที่จะยอมรับความแตกต่างทางความคิด พร้อมทั้งนำความคิดที่แตกต่างนั้นมารวมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์มากที่สุด”
จังหวะชีวิตที่ลงตัว
กว่าจะมาเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ เขาต้องผ่านการเรียนรู้มาแล้วหลายบทเรียนของชีวิต ผ่านความท้าทายที่มีวิชาชีพเป็นเดิมพัน มีบ้างที่คิดท้อแต่เขาก็ไม่เคยถอย กลับกันเขาคิดเสมอว่าหากไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองวันนั้นก็คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้
เขาเป็นลูกคนเล็กในครอบครัวข้าราชการ มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยที่บ้านเป็นข้าราชการกันเกือบทุกคน ทำให้เขาเลือกมาทำงานรัฐวิสาหกิจที่ ปตท. เป็นหนุ่มวิศวกรตั้งแต่เริ่มต้น และอยู่ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยสำนักงานใหญ่มาโดยตลอด จนกระทั่งทำงานได้ประมาณ 10 ปี จึงมีโอกาสได้ไปทำงานด้านปิโตรเคมีในรูปแบบของบริษัทเอกชน ภายใต้บริษัทในเครือปตท. แม้ที่บ้านจะไม่เห็นด้วยในช่วงแรก แต่เขาก็แสดงให้เห็นว่างานที่เขาทำมีความหมายต่อเขามากเพียงใด
“จากวิศวกรคุมงานก่อสร้าง จนกลายมาเป็น Project Control Manager ซึ่งดูแลด้านการบริหารจัดการ Cost & Schedule ของโครงการ รวมทั้งการบริหารสัญญา การเจรจากับผู้รับเหมา เป็นงานที่ได้นำความรู้มาใช้การทำงานปัจจุบันนี้ เพราะว่างานหลากหลายมาก สามารถนำมาประยุกต์ได้เสมอ จนได้เลื่อนขั้นเป็นระดับผู้จัดการฝ่าย ดูแลด้านการจัดหา อาจเป็นเพราะผมค่อนข้างมีทักษะเรื่องการเจรจา หัวหน้าเลยให้โอกาสผมทำหลายอย่าง”
โอกาสหลายอย่างที่เขาบอก รวมไปถึงการจัดสรรบุคลากรในองค์กร นั่นคืองานด้าน Human Resource จากหนุ่มวิศวกรกลายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทายตัวเขาอย่างมาก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ได้เรียนรู้พฤติกรรมของคนแต่ละประเภท รู้จักมองคนให้เข้ากับงาน และทำให้เขาเข้าใจนิสัยของคนมากขึ้น เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ที่เขาดูแลด้านนี้ จนได้รับโอกาสโยกย้ายตำแหน่งอีกครั้ง เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างองค์กร ตาม Business Model ใหม่ หลังจากที่มีการควบรวมในครั้งแรกก่อนที่จะมาเป็น PTTGC โดยในครั้งนั้นบริษัทฯ มีการควบรวมระหว่าง TOC กับ NPC เป็น PTTCHEM ทำให้ต้องมีการสื่อความในทุกระดับอย่างชัดเจน ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมทั้งต้องหล่อหลอมวัฒนธรรมใหม่ควบคู่ไปกับการทำ Change Management ทั่วทั้งองค์กร ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายมาก
“ในช่วงแรก ผมมีความกังวลเหมือนกัน เพราะเป็น Area ใหม่ ทั้งด้านการตลาดและโรงงาน แต่ก็พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ผมไม่ได้เรียนการตลาดมาโดยตรง ผมเรียนวิศวะ ดังนั้นผมจึงเรียนรู้งานด้านนี้มาจากทีมงานโดยตรง ผมอยากบอกทุกคนว่าอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ที่คุณอาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้
“ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ชอบเปลี่ยนงาน เพราะต้องเข้าไปในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ กลุ่มคนใหม่ๆ เจอสิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย บางทีก็เกิดเป็นความทุกข์ เครียด กลายเป็นต้องคิดเยอะ เราต้องทำยังไงกับคนกลุ่มนี้ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่รู้ว่าเขาจะคิดอะไร เราไปข้ามหัวใครขึ้นมาหรือเปล่า ผมถือว่าตอนนั้นทุกข์ แต่ก็ต้องสู้ ชีวิตตอนนั้นบางครั้งก็มีความรู้สึกที่ว่าทำไมเราถึงโดนเปลี่ยนงาน ทำงานไม่ดีเหรอถึงย้ายผมมาอยู่ตรงนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรากลับต้องขอบคุณผู้บริหาร เพราะการเปลี่ยนงานทำให้เราได้เรียนรู้งานที่หลากหลาย และหน้างานที่กว้างขึ้น ทำให้เราได้ออกจากอะไรเดิมๆ พอถึงวันนี้ที่เปลี่ยนไปแล้ว มันทำให้ผมรู้สึกว่าเราผ่านมาได้ด้วยความสามารถที่หัวหน้าเล็งเห็นในตัวผม”
ความสุขรอบตัว
สิ่งที่ทำให้คนหนึ่งคนมีความสุขได้ นอกจากได้ทำงานที่รักแล้ว ครอบครัวถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความสุข พ่วงด้วยงานอดิเรกที่สามารถทำซ้ำๆ ได้ไม่มีเบื่อ เมื่อความสุขอยู่ที่ใจไม่ว่าจะหันมองไปทางไหน ความสุขก็อยู่รอบตัว
“หลายคนอาจจะบอกว่าผมบ้างานหรือเปล่า แต่ผมว่าผมไม่บ้างานนะ แค่ผมแบ่งงานมากกว่า เพราะชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวมันแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เวลากลับบ้านจะไม่เห็นผมถือแฟ้มงานหรือหอบเอกสารกลับบ้านแน่นอน ยกเว้นจะมีประชุมกับผู้ใหญ่ หรืองานอะไรที่เร่งด่วน ผมก็จะอยู่อีกโหมดหนึ่ง โหมดทำงาน ก็จะมีความสุขกับคนที่ทำงาน แต่ถ้าเสาร์-อาทิตย์ ผมก็จะเป็นโหมดหัวหน้าครอบครัว เวลาว่างผมก็ชอบร้องเพลง ฟังเพลง หรือไม่ก็ตระเวนหาร้านอาหารอร่อยๆ กับครอบครัว อีกอย่างผมชอบอ่านหนังสือ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือท่องเที่ยว ชอบจัดทริปไปเที่ยวกันเอง ตื่นเต้นดีครับ
“ถ้าถามว่าตอนนี้ผมยังอยากทำอะไรอีกไหม ผมคิดว่าผมเป็นคนเรียบง่าย ไม่ได้มีความอยากอะไรมากมาย เหมือนชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ได้ฝันถึงขนาดที่จะต้องไปให้ถึงอะไรขนาดนั้น ให้จังหวะชีวิตมันมาของมันเอง
จะดีกว่า ผมเป็นคนไม่ค่อยมีความทุกข์หรอก มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เดี๋ยวโชคชะตาชีวิตก็จะนำพาไปเอง เราจัดการเองได้ส่วนหนึ่งที่เหลือก็เป็นไปตามครรลองของชีวิต พอไม่ได้คาดหวังอะไรมาก สิ่งที่เข้ามาในชีวิตแต่ละเรื่องถือเป็นกำไรของชีวิตแล้ว”
เรื่องราวเปี่ยมด้วยประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว ถูกเล่าออกมาจากใจด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยความสุข ปฏิเสธไม่ได้ว่าชายผู้นี้ได้ให้ข้อคิดกับเราเพื่อกลับไปทบทวนตนเอง ว่าสิ่งที่แต่ละคนทำอยู่มีความสุขมากน้อยแค่ไหน และเปิดหัวใจ
ให้เรียนรู้ พร้อมรับสิ่งใหม่ได้หรือเปล่า อย่างที่เคยกล่าวไว้ ทุกอย่างเหมือนเหรียญสองด้านเสมอ เพียงแค่เปิดใจยอมรับ อย่างเช่นที่เราได้เห็นมุมมองอีกด้านของ PTTGC ที่ใส่ใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง