ก่อนอื่นต้องขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนปรารถนาเหมือนกันก็คือการมีสุขภาพดีมีความสุขตลอดปีใหม่นี้วันนี้ผมขอนำเทคนิคการรักษาสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่หน้าจอไม่ว่าจะจอเล็กอย่างสมาร์ทโฟนหรือจอใหญ่อย่างคอมพิวเตอร์เป็นประจำมาฝาก
ชีวิตที่คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนมีส่วนกับทุกเรื่องในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องขลุกอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานๆ นับรวมแล้วเป็นเวลาหลายพันชั่วโมงต่อปี หรือมีไม่น้อยที่ติดสมาร์ทโฟน เล่นเกมบนจอ 5 นิ้วแบบข้ามวันข้ามคืน เรื่องนี้แม้แต่ในพระไตรปิฎกยังมีบันทึกไว้ว่า แม้แต่เทวดา นางฟ้า ที่เสวยสุขในสวรรค์ ยังสามารถหมดอายุขัยได้ก่อนกำหนด เพราะเพลิดเพลินอยู่ในความสุขจนลืมรับประทานอาหารทิพย์ เรานั้นเป็นแค่มนุษย์ปุถุชนธรรมดา คงหนีไม่พ้นที่ร่างกายจะเสื่อม และทรุดโทรมลงถ้าไม่ดูแลหรือปฏิบัติต่อร่างกายอย่างถูกวิธี
โดยเฉพาะอาการปวดคอปวดหลัง ที่ระยะหลังกลายเป็นโรคฮิตในหมู่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน ถึงขั้นที่นายแพทย์ชาวสหรัฐอเมริกา Kenneth K. Hansraj ได้ลงมือศึกษาเก็บผลวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของผู้คนในยุคนี้ว่ามันใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังและคอหรือไม่?
และผลการวิจัยก็ได้คำตอบว่า ‘ใช่’ เพราะพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนที่ต้องก้มหน้าดูจอเป็นประจำนั้น ส่งผลโดยตรงต่อกระดูกสันหลังที่จะต้องแบกภาระรับน้ำหนักจากศีรษะที่อยู่ในตำแหน่งผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติถึง 5 เท่า!
โดยปกติแล้วกระดูกสันหลังแลกระดูกคอรวมไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวจะต้องรับน้ำหนักของศีรษะที่อยู่ในตำแหน่งธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่น้ำหนักที่ว่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้หลายเท่า หากเราโน้มหรือก้มศีรษะไปข้างหน้าเพื่อจ้องดูสมาร์ทโฟน ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการกดทับกระดูกสันหลังกล้ามเนื้อคอแบบไม่คาดคิด
ตัวเลขจากผลวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า หากโน้มศีรษะไปข้างหน้า (จากตำแหน่งที่เหมาะสมตามธรรมชาติ) ประมาณ 15 องศา น้ำหนักที่กดทับกล้ามกระดูกสันหลังและคอจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12 กิโลกรัม และเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัมหากโน้มไป 30 องศา, 22 กิโลกรัมที่ตำแหน่ง 45 องศา และ 27 กิโลกรัมถ้าโน้มไป 60 องศา เทียบเท่ากับเอาข้าวสารถุง 5 กิโลมาพาดคอไว้เกือบ 6 ถุง
ยิ่งนำเอาน้ำหนักที่ว่ามารวมกับสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยของผู้ใช้ทั่วไปในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 700-1,400 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่กลุ่มติดเกมที่ใช้เวลาก้มหน้าถึง 5,000 ชั่วโมงต่อปี ลองนึกดูว่ากล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังของเราจะต้องอดทนขนาดไหน จึงไม่แปลกที่หลายคนต้องพกยาคลายกล้ามเนื้อ หรือครีมแก้ปวดมาถูหลังถูคออยู่เป็นประจำ
นอกจากเรื่องปวดหลังปวดคอแล้ว การจ้องหน้าจอเป็นเวลานานยังมีผลกระทบทางตรงต่อดวงตา ที่อาจเกิดอาการเบลอๆ มองภาพไม่ชัดเจนเป็นบางขณะ อาการนี้มีชื่อว่าComputer Vision Syndrome (CVS) เกิดจากการเพ่งจอมากๆ และทำให้รู้สึกปวดตา
อาการต่อมาที่พนักงานออฟฟิศหลายคนเจอะเจอก็คือ Repetitive Strain Injury (RSI) ซึ่งสามารถเป็นได้กับทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แขน ข้อมือ ข้อนิ้ว แผ่นหลัง ต้นคอหัวไหล่ และสายตา จากการนั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบไม่ถูกสุขลักษณะ อวัยวะส่วนที่มีปัญหาถูกวางค้าง ถูกทิ้งน้ำหนัก หรือกดทับนานๆ จนอักเสบ หากไม่รีบปรับพฤติกรรมอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเส้นเอ็น
อีกโรคที่หลายคนคิดไม่ถึงก็คือ Qwerty Tummy ที่ตั้งชื่อตามตัวอักษรชุดแรกบนแป้นคีย์บอร์ด เกิดจากแป้นคีย์บอร์ดที่สกปรกและมีแบคทีเรีย ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษหากผู้ใช้งานชอบกินอาหารหรือขนมระหว่างใช้งาน
สถิติที่รวบรวมโดยสถาบันสุขภาพหลายแห่ง ระบุแทบจะตรงกันว่า แป้นคีย์บอร์ดเป็นแหล่งเพาะแบคทีเรียที่น่าสะพรึง เพราะ 1 ใน 10 ไม่เคยทำความสะอาดคีย์บอร์ดเลยและ 20% ไม่เคยทำความสะอาดเมาส์ ขณะที่ 50% ไม่เคยทำความสะอาดคีย์บอร์ดภายในเวลาหนึ่งเดือน ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดคีย์บอร์ดเป็นประจำไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดหมาดๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงต้นตอของปัญหาที่อาจส่งผลต่อร่างกายคือสิ่งสำคัญและดีที่สุด มาเริ่มต้นปีใหม่นี้ด้วยการดูแลตัวเองและคนที่คุณรักอย่างถูกวิธีกันครับ