บ้านเชียง-คำชะโนด

บ้านเชียง-คำชะโนด

สายวันนั้นลมว่อนปลิวใบไม้บนถนนราบเรียบ ริมทางเขียวชื่นด้วยนาข้าวอิ่มน้ำฝน หนทางสายเก่าเต็มไปด้วยภาพที่ใครบางคนคุ้นเคย

จากอุดรธานี เราเลือกจากเมืองใหญ่แห่งนั้นออกมา วางหมุดหมายหลวมๆ ไว้มากมายสำหรับหลายวันถัดไปบางวันอาจเป็นค่ำคืนริมแผ่นดินโบราณ หรือบางขณะ ก็หมายให้การลืมตาตื่นในยามเช้าฉายภาพอันงดงามเรียบง่ายของบึงน้ำกว้างไกลสักแห่ง

แดดสายระอุร้อนขณะเราพบตัวเองอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งอันเติบโตมั่นคง คนแปลกหน้าผลัดเวียนกันเข้ามาสู่บ้านเชียง หมู่บ้านเล็กๆ แห่งอำเภอหนองหาน อันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากเรื่องราวใต้ผืนแผ่นดินที่พวกเขาลืมตาหายใจ

แดนดินที่อดีตกาลเชื่อมโยงเรื่องราวถึงชีวิตปัจจุบันผ่านภาชนะดินเผาและลวดลายอันแสนน่าทึ่ง เต็มไปด้วยปริศนาอันควรค่าแก่การทำความรู้จัก และเข้าใจถึงที่มาที่ไปของพวกเขา

ทั้งมนุษย์แห่งอดีตกาล ตราบจนถึงผู้คนตัวเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตซ้อนทับอยู่เหนือเนินดินรูปวงรีในส่วนบนของที่ราบสูงโคราช ซึ่งล้วนทอดยาวต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง คล้ายเราเดินกลับสู่โลกของพวกเขา โลกโบราณในอดีตกว่า 5,000 ปี เครื่องปั้นดินเผาสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในอดีตกาล ลวดลายทั้งลายเส้น รูปทรงเรขาคณิต หรือแม้แต่การเขียนสีอันน่าทึ่งนั้นทำให้คนยุคต่อมาพอจะรู้ได้ว่า พวกเขามีชีวิตอยู่กันเช่นไร

โลกหลายพันปีในยุคเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของบ้านเชียงไม่เพียงปรากฏอยู่ในลวดลายบนหม้อไห แต่กับปัจจัยรายรอบที่ผ่านการขุดค้นศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ไล่เลยมาจนถึงครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2517-2518 กลับทำให้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งอำเภอหนองหานราวตื่นจากหลับใหล

กรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาพากันเข้ามาบ้านเชียงเพื่อร่วมขุดค้นผืนดินอย่างละเอียด ณ หลุมขุดค้นโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน โครงกระดูกมนุษย์ที่ก่ายเกยรวมกับหม้อไหประดับลวดลายในหลุมลึกราวภาพเหนี่ยวนำไปสู่อดีต

หลักฐานทางโบราณคดีมากมายในชั้นดินของบ้านเชียงถูกศึกษาทั้งจากนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยากายภาพ นักชาติวงศ์พฤกษศาสตร์และโบราณพฤกษศาสตร์ พวกเขามีส่วนทำให้ความลับอันเร้นลึกของหมู่บ้านแห่งนี้โด่งดังไปทั่วโลก

 กุญแจสำคัญหลายดอก ทั้งเครื่องใช้โลหะ รูปแบบพิธีกรรม รวมไปถึงภาพสัตว์บนลวดลายเครื่องปั้นดินเผา ต่างนำพาให้นักโบราณคดีกระจ่างชัดถึงการดำรงชีพในสมัย 5,000 ปีก่อนของคนบ้านเชียง ว่าพวกเขารู้จักอยู่รวมกันเป็นสังคมหมู่บ้าน ล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงเพาะปลูกอันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดแรกเริ่มของพัฒนาการการดำรงชีวิตในอดีตของพื้นที่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ความชัดเจนเช่นนี้ทำให้บ้านเชียงควรค่าแก่การเป็นมรดกโลก การประกาศยกฐานะบ้านเชียงให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 35 จากยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2535 นั้นพลิกเปลี่ยนให้หมู่บ้านเล็กๆ บนแผ่นดินโบราณแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยชีวิตที่ดีขึ้น

ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของมนุษย์โบราณที่บ้านเชียงนั้นยังอยู่ในความคลุมเครือ โครงกระดูกที่ค้นพบทั้ง 130 โครงบ่งบอกว่าพวกเขาล่ำสัน ช่วงขายาว สันคิ้วโปนกระบอกตาเล็ก และโหนกแก้มใหญ่ รู้จักการอยู่เป็นสังคมต่อเนื่องจาก 5,600 ปีก่อน มาจนถึง 1,800 ปีที่แล้ว

จากใต้ผืนดินในบรรพกาล โครงกระดูกเหล่านั้นไร้ร่องรอยจากบาดแผลร้ายแรง ชี้ชัดถึงการอยู่ในสภาพสังคมอันสงบสุข นักโบราณคดีสันนิษฐานไว้ว่าพวกเขาน่าจะเผชิญกับโรคระบบเลือดผิดปกติ โรคกระดูกเสื่อม และโรคเกี่ยวกับช่องปาก แต่ก็หาใช่สาเหตุของการตายจากและหายไป

บางอย่างยังคลุมเครือ หลงเหลือเด่นชัดก็เพียงลวดลายอันน่าทึ่งบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาและภาพอดีตของมนุษย์ที่หยัดยืนมากว่า 5,000 ปี

ว่ากันว่านับจากหายสูญการตั้งถิ่นฐานมาแต่ครั้งหลายพันปีก่อน เนินดินรูปวงรีแห่งนี้ก็ยังสมบูรณ์ชุ่ม ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเนินสูง น้ำท่วมไม่ถึงในยามฝน ทว่ารายรอบก็เต็มไปด้วยแหล่งน้ำและที่ลุ่ม เช่นนั้นเองที่ผืนแผ่นดินบ้านเชียงจึงเป็นที่ปักหลักของชาวพวนส่วนหนึ่งจากแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่อพยพตามเหตุผลของสงครามและกระจัดกระจายกันปักหลักในแดนดินไทย

เราได้เดินดูเรือนไทยพวนดั้งเดิมที่บ้านของคุณพจน์ มนตรีพิทักษ์ ที่ถูกอนุรักษ์ไว้ตั้งแต่ยุคขุดค้นทางโบราณคดี มันมั่นคงคติโบราณของบ้านพวนในอดีต งดงามและทับซ้อนอยู่บนพื้นที่เดียวกับเจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงในหลายพันปีก่อน

เช่นกันกับผ้าทอและหญิงชาวพวนที่มีความผูกพันเกื้อหนุนจนแยกกันไม่ออก แม้ว่าความเป็นจริงกำลังเดินห่างทางอดีตออกไปเรื่อยๆ ก็ตาม ... 

โลกของหญิงชาวพวนในกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองตำบลบ้านเชียงนั้นเต็มไปด้วยขั้นตอนอันสอดสานสมดุลระหว่างภูมิปัญญาและการปรับเปลี่ยนของวิถีชีวิต จากเครื่องแต่งกายที่ติดตัวบรรพบุรุษมาเป็นตัวตนทางวัฒนธรรม ผ่านมาสองร้อยกว่าปี คนบ้านเชียงพัฒนาการทอผ้าของพวกเขาสู่การใช้กี่กระตุก กี่ประยุกต์ คิดค้นทดลองในด้านการถักทอคิดลายหม้อบ้านเชียงที่ผู้เฒ่าผู้แก่มักแอบเรียกกันว่าลายเต่าน้อย ผนวกกับการได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากหน่วยงานราชการมากมาย เช่น กรมส่งเสริมชุมชน หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ

เช่นเดียวกับที่บ้านปูลู ไม่ไกลกันจากบ้านเชียง คนของที่นั่นตกทอดการงานอันสะท้อนถึงการต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับแผ่นดินโบราณไว้ในงานเขียนลายตามหม้อดิน

“คนที่นี่เขาว่า คำอ้อปั้น ปูลูเขียน บ้านเชียงขาย” ตรงโค้งถนนอันร่มรื่นปรากฏร้านขายเครื่องปั้นดินเผาเลียนแบบลวดลาย ช่างเขียนลายสักคนบอกเราถึงความสัมพันธ์อันยึดโยงอยู่ด้วยแรงกระเพื่อมของโบราณวัตถุที่ขุดค้นใต้ผืนดินที่เป็นบ้านของพวกเขา

แรงกระเพื่อมที่ส่งต่อให้ผู้คนเหนือแผ่นดินแห่งนี้ตื่นจากหลับใหล พากันเหนี่ยวนำชีวิตให้ดีขึ้นด้วยมรดกที่พวกเขามีเป็นการแตกยอดและเติบโตร่วมกันเหนือแผ่นดินโบราณอันเก่าแก่กว่า 5,000 ปี

เย็นย่ำแม้จะจากบ้านเชียงตามทางหลวงหมายเลข 2096 ออกมาไกลกว่า 50 กิโลเมตร แต่อารมณ์รับรู้ประเภทแดนดินโบราณอันน่าหลงใหลก็ยังจู่จับพร่างพรู

เรามาถึงคำชะโนด หนองน้ำเคียงคู่คนอำเภอบ้านดุงในปลายเย็น เรื่องเล่าตามความเชื่อของคนอีสานสอดร้อยไปกับตำนานพื้นบ้านอันกล่าวถึงการแข่งกันของพญานาค 2 ตน ที่ขุดสร้างแม่น้ำต่อหน้าพระอินทร์ มันร้อยเรียงแม่น้ำโขงและบึน้ำตรงหน้าเข้าหากันด้วยเรื่องเล่าพื้นบ้านอันแสนปรัมปรา

ทางลูกรังเล็กๆ หลังวัดศิริสุทโธพาเราจมไปในตำนานหลากหลายที่ผุดพรายขึ้นมาในชีวิตผู้คนของที่นี่ มันปรากฏตรงหน้าเป็นภาพจริงอันงดงามแปลกตา

บึงน้ำกว้างใหญ่แสนสมบูรณ์ ตรงกลางคือเกาะโดดเด่นที่มีกลุ่มต้นชะโนดเสียดยอดขึ้นครึ้ม พืชตระกูลปาล์มกลุ่มนั้นเคียงคู่คนบ้านดุงมานับแต่รุ่นดั้งเดิม ว่ากันว่าเกาะเล็กๆ แห่งนั้นไม่เคยจมน้ำแม้ยามฝน

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกาะคำชะโนดให้ความเห็นว่าการที่เกาะนี้ลอยน้ำอยู่ก็ด้วยการสะสมของซากพืชซากไม้ที่ทับถมกันมาหลายร้อยปี ใต้น้ำเต็มไปด้วยรากไม้ที่ยึดโยงจนคล้ายผืนดินคอยอุ้มชูกลุ่มต้นชะโนดตรงหน้า

ราวกับแดนดินโบราณที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและความเชื่อ มันก้าวข้ามเหตุผลและข้อพิสูจน์ต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการก่อเกิด การมีอยู่ ตกทอดเป็นแลนด์สเคปแปลกตาและภาพการใช้ชีวิตร่วมกันของผู้คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ การหาปลาและอุปกรณ์อันหลากหลายยังคงดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไร่นารายรอบล้วนพึ่งพาความสมบูรณ์ของหนองน้ำที่พวกเขาเชื่อกันว่ามันแสนศักดิ์สิทธิ์

เรากลับออกจากบึงน้ำแห่งนั้นในยามค่ำ เส้นทางเล็กๆ ยังคงทอดยาวไปในแดนดินอันเป็นบ้านหลังอุ่นของพวกเขา

จากใต้ผืนดินสู่บึงน้ำ ความลับบางอย่างถูกเปิดเผยเรียนรู้ ขณะที่บางอย่างก็เหมาะสมที่จะเก็บมันไว้เงียบๆ และทดแทนด้วยชีวิตอันเป็นสุข

ชีวิตเป็นเรื่องแสนอัศจรรย์ และไม่มีใครเข้าใจ รวมถึงเลือกทิศทางเดินให้มันได้ดีกว่าผู้เป็นเจ้าของ 

How to Go?

การเดินทาง

จากอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 22 ผ่านอำเภอหนองหาน แวะเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ชมประวัติศาสตร์อันแสนเก่าแก่ที่ตกทอดอยู่ในหลักฐานโบราณวัตถุ เที่ยวบ้านไทยพวน ดูการทอผ้าอันมีเอกลักษณ์

จากหนองหาน แยกออกไปตามทางหลวงหมายเลข 2096 เที่ยวคำชะโนด ที่วัดศิริสุทโธ ชมแลนด์สเคปแปลกตาและเกี่ยวพันกับตำนานพญานาคของชาวอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5406-7

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง โทร. 0-4220-8381

ชมรมโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี โทร. 08-1485-1864 เฟซบุ๊ก : โฮมสเตย์บ้านเชียง อุดรธานี

ระหว่างผืนดินจรดบึงน้ำ