ปัญญา วิจินธนสาร

ปัญญา วิจินธนสาร

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ของการได้พูดคุยกับศิลปินระดับชาติมาแล้วมากมาย หลากหลายมุมมองที่เราได้ซึมซับและถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้อิ่มเอมไปกับเรื่องราวคุณค่าแห่งศิลปะผ่านประสบการณ์ของศิลปินเหล่านี้ ในฐานะผู้ถ่ายทอดเราหวังเพียงเพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดถึงความหมายแห่งชีวิตที่แท้จริงจากธรรมชาติ และธรรมชาติที่พร้อมจะจรรโลงเราได้มากที่สุดนั้นก็คือศิลปะ ...

ไม่ว่าจะกี่ล้านกี่หมื่นตัวอักษรที่เคยได้ใช้บอกเรื่องราวของศิลปินแห่งแผ่นดินเหล่านั้น สิ่งที่ย่อยออกมาและเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้นก็คือ ‘ศิลปะ มันคือชีวิต’ มันคือสิ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นไปได้อย่างแยบยล พร้อมกับกระตุ้นเตือนรากเหง้าที่แท้จริงของเราไม่ให้ขาดหายไป และแน่นอนในประเทศที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม จารีต ประเพณีอย่างไทยเรา ศิลปะจึงได้ถูกหลอมรวมเข้ากับสิ่งเหล่านี้จนก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่เรามักจะตีค่าความสำคัญมันไปในแง่ของโลกธุรกิจเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน

ซึ่งการที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่สอบถามถึงความหวังของศิลปะในอนาคตของไทยเราเมื่อต้องเยื้องย่างเข้าสู่ห้วงวงจรแห่ง AEC ...

เขาคือผู้ที่ปวารณาตนแล้วซึ่งความเป็นศิลปิน ในวันที่เริ่มหัดเรียนรู้วิชาวาดเขียนกลับเป็นความสนใจแรกที่เขาให้น้ำหนักกับมัน ชีวิตวัยเด็กในชนบท (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ของอาจารย์เป็นช่วงเวลาซึมซับความสวยงามจากศิลปะที่แวดล้อมรอบตัว ใบปิดหนังของ ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ คือหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เข้มข้น สีสันที่ถูกนำมาใช้ตัวละครที่ถูกวาดราวกับกำลังเคลื่อนไหวมีชีวิตถ่ายทอดให้เขาหลงใหลไปกับมัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขาค้นพบนอกห้องเรียน 

ปัญญา วิจินธนสาร
ปัญญา วิจินธนสาร

จากจุดเล็กๆ ของศิลปะรอบๆ ตัวอย่างใบปิดหนัง เขามองเห็นนัยยะของเส้นทางชีวิตในนั้น จากลายเซ็น ‘เปี๊ยก โปสเตอร์โรงเรียนเพาะช่าง’ สิ่งที่เรียกร้องในใจเริ่มแน่ชัดแล้วว่าอยากเรียนรู้คำว่าศิลปะให้มากกว่านี้ โรงเรียนเพาะช่างจึงเป็นเป้าหมายชีวิตตอนนั้นทั้งๆ ยังไม่รู้ว่าที่นั่นคืออะไรก็ตาม

“จะว่าไปการเข้าไปเรียนศิลปะในสมัยนั้นทางครอบครัวก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศิลปะมันคืออะไร บางทีเขาอาจไม่อยากให้เราเรียนหนังสือด้วยซ้ำไป อยากจะให้ลูกประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองไปตามอย่างที่พวกเขาทำมาซึ่งก็คือการทำเกษตรกรรม และแม้ว่าได้เข้ามาเรียนแล้วพวกท่านก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ผมจึงอาศัยการเขียนรูปกลับไปให้ดูทุกครั้งที่กลับบ้านช่วงปิดเทอม เพื่อให้ท่านมีความเข้าใจว่าไอ้ที่เราไปเรียนนั้นมันคืออะไร ตอนนั้นผมเองยังไม่รู้หรอกนะว่ามันจะไปประกอบอาชีพอะไรได้หลังจากเรียนจบ แต่ก็อยากให้เขาเห็นในสิ่งที่เราได้ทุ่มเทเท่านั้น

“เส้นทางผมมันไม่ง่ายตั้งแต่ช่วงที่สอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างแล้ว เพราะเราไม่เคยเรียนเขียนรูปจากของจริงๆ เลย เคยแต่ หัดเขียนรูปจากนิตยสารตามรูปภาพต่างๆ เท่านั้นเอง ไม่เคยเข้าใจว่าการเขียนภาพจากของจริงนั้นมันมีหลักเกณฑ์อย่างไร ก็เลยใช้วิธีสังเกตเพื่อนข้างๆ ขณะที่สอบว่าเขาใช้วิธีการ เทคนิค และทักษะอย่างไรในการมองภาพของจริง 

แล้วมาเขียนลงบนกระดาษ ตอนนั้นก็ยังไม่นึกว่าตัวเองจะสอบได้ แต่เมื่อสอบได้เลยคิดว่าสวรรค์นี่แหล่ะที่ช่วยไว้แท้ๆ (หัวเราะ)

“แต่พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ มันก็หนักมากเลยนะ เพราะพื้นฐานเราอ่อนมาก เราเขียนรูปได้แบบครูพักลักจำ หัดเอาเองทั้งนั้น มาเจอเพื่อนๆ ที่เขาเรียนมาทางนี้โดยตรงมันก็ด้อยกว่าเขา แต่เราไม่ยอมแพ้จึงต้องพยายามมากกว่าเขา เขาเขียนงานกัน 1 แผ่น เราก็เขียนมากกว่าเขา 3-4 แผ่น ทำแค่ในเวลาเรียนไม่พอ กลับมาบ้านก็ต้องฝึกเขียนเพิ่มอีก เพราะเราตามเพื่อนไม่ทัน การฝึกฝนนี้สำคัญมากนะมันทำให้เราเกิดทักษะ มีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนมาด้วยกันที่เพาะช่าง เขาก็บอกว่าผมเนี่ยะ ‘ไม่มีพรสวรรค์ มีแต่ความขยัน’ มันจริงนะ ผมนี่จำได้แม่นเลย เพราะผมไม่เก่ง ฝีมือยังอ่อน แต่ก็พยายามที่จะเขียน”    

เมื่อได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ขณะนั้น ก็ต้องเจอกับความลำบากด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ถึงอย่างนั้นเขาเองก็คงเอาเวลาไป ‘ฝึกงานที่ไม่ได้เงิน’ ด้วยเพราะเขาคิดอยู่เสมอว่าตนเองนั้นมีพื้นฐานที่อ่อนกว่าคนอื่น จึงต้องการทำงานฝึกทักษะและประสบการณ์ให้เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่า 

“เป็นอย่างนี้ทั้งช่วงที่เรียนที่เพาะช่างและที่เข้าม.ศิลปากรเลยนะ ปิดเทอมหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ผมก็จะไปช่วยอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เมืองโบราณ เริ่มจากการฝึกลงสีง่ายๆ เขียนต้นไม้กับภูเขา ตั้งแต่นั้นมาเลยทำให้ผมเริ่มผูกพันและชอบในงานศิลปะไทย เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเรียนเกี่ยวกับศิลปะไทยมาก่อน ไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย แค่อยากจะเขียนรูปเหมือนอย่างที่เปี๊ยก โปสเตอร์เขียนแค่นั้นเอง ยิ่งเมื่อได้เรียนรู้จากอ.ไพบูลย์ ได้รับการถ่ายทอดเรื่องมุมมองทางด้านศิลปะ แนวความคิดเดิมก็เริ่มเปลี่ยน ได้รู้จักกับอะไรที่เป็นศิลปะมากขึ้น ไม่ได้มองงานแค่ความสวยงามแล้ว เริ่มมองหาความหมายของงานศิลปะที่มากขึ้นกว่านั้น เมื่อมีโอกาสผมก็เอางานที่เขียนในเพาะช่างมาให้ท่านดูอยู่เสมอๆ จนครั้งหนึ่งท่านได้บอกว่าผมเขียนรูปมีชีวิต ‘เป็นศิลปินได้’ ทีนี้เราก็เริ่มมั่นใจ 

“ตอนที่เรียนอยู่เพาะช่าง เราจะใช้ชีวิตแบบรู้จักคลุกคลีกับศิลปินอิสระมากมาย เช่น พี่หวัน (ถวัลย์ ดัชนี) พี่เทือง (ประเทือง เอมเจริญ) สมชาย หัตถกิจโกศล ฯลฯ มันเป็นช่วงแสวงหาชีวิตของการเป็นศิลปินอิสระ หรือการทำงานศิลปะ คนที่แนะนำผมเข้าวงการศิลปะจริงๆ นั้น คืออาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ท่านไปดูงานศิลปะของนักศึกษาที่เพาะช่าง อาจารย์ได้สอนให้เราได้มองเห็นอารมณ์ ความรู้สึก หรือที่เรียกว่าสุนทรียะภาพในงานมากกว่าแค่ที่เราพยายามถ่ายทอดความเหมือนจริง ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานเขียนรูปวิวทิวทัศน์หรืออะไรก็ตาม ท่านได้แนะนำผมให้เริ่มไปดูงานศิลปะที่โน่นที่นี่ 

ปัญญา วิจินธนสาร
ปัญญา วิจินธนสาร

“ผมมักชอบไปดูงานศิลปะในวันเปิดงาน เพราะเราจะได้พูดคุยกับศิลปินเยอะ มันเป็นโอกาสดีที่เราจะถามเขาเรื่องเกี่ยวกับศิลปะทั้งหลาย ที่เพาะช่างค่อนข้างจะสอนแบบอิสระ บางทีผมก็ใช้โอกาสนี้ไปการหนีไปหาศิลปิน (หัวเราะ) เพราะงั้นชีวิตของการเป็นศิลปินนี้ผมเรียนรู้สมัยที่อยู่เพาะช่างมากกว่า ทีนี้เมื่อไปดูงานศิลปกรรมแห่งชาติผมก็วิเคราะห์แล้วว่าศิลปินส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเรียนจบจากศิลปากร ผมก็เลยตั้งเป้าหมายว่าต้องเข้ามาเรียนต่อที่นี่ให้ได้ คือมันไม่มีใครแนะแนวนะว่าจะต้องเรียนที่ไหนอะไร ผมไม่รู้อะไรเลยปล่อยให้ศิลปะนำทาง

“แต่การไปดูงานที่งานศิลปกรรมแห่งชาติก็จะดูไม่ค่อยออกหรอกนะ เพราะส่วนใหญ่เป็นงานแนว Abstract แต่ครั้งหนึ่งเมื่ออยู่ปี 3 (โรงเรียนเพาะช่าง) ผมได้มีโอกาสมาดูงานนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้เห็นว่าที่นี่นักศึกษาเขามีทั้งฝีมือ ทั้งแนวความคิด มันมีงานที่หลากหลาย เลยเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะงานมากขึ้น และคิดว่าที่นี่แหละที่ผมจะต้องมาศึกษาต่อให้ได้

“ถึงแม้จะได้เรียนศิลปะมาแล้ว แต่เพราะแนวการเรียนการสอนที่โรงเรียนเพาะช่างนั้นไม่เหมือนกับโรงเรียนช่างศิลป์ที่เขามีหลักสูตรสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมต้องฝึกฝนเพิ่มเติมอย่างหนัก โชคดีที่ตอนนั้นมีอาจารย์ปรีชา เถาว์ทอง อาจารย์สันติ สายพุฒิกสิกร ที่เพิ่งจบมาจากศิลปากรมาใหม่ๆ แล้วได้เอาหลักสูตรแนวทางที่นั่นมาสอนก่อน 1 ปี เลยมีความเข้าใจ และมีแนวทางมากขึ้น เพียง 7 วันก่อนสอบผมก็ได้มาฝึกมืออยู่กับรุ่นพี่ที่ม.ศิลปากร เขาก็ได้อธิบาย สอนเพิ่มเติมในบางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นพวกพี่ๆ เขาก็ยังบอกว่าผมยังเขียนใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้หลักในการเขียน Figure และวิชาที่ผมทำได้ดีคือวิชาองค์ประกอบศิลป์ 

“ผมตั้งใจไว้แล้วว่าอยากจะเป็นศิลปิน ทั้งที่ไม่รู้หรอกนะว่ามันจะอยู่ได้ไหมกับศิลปะที่ไม่มีความแน่นอนในการดำรงชีพ แต่ผมต้องพยายาม การเรียนศิลปะสำหรับผม ผมว่ามันยาก แม้จะเป็นความชอบ เป็นความสุขที่ได้ทำ แต่มันเป็นความสุขที่ระคนทุกข์ เพราะเราต้องบากบั่นทำให้ได้สมกับที่อาจารย์เขาตั้งความหวังหรือสั่งงานให้เราทำ” 

พอได้เข้ามาเรียนที่ศิลปากร อาจารย์ปัญญาบอกว่านั่นคือช่วงเวลาชีวิตที่สนุกที่สุด เขาได้พัฒนาตัวเอง แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ ช่วงเวลาทำงานในสตูดิโอเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเขา 

“ในช่วงนั้นจะมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก เป็นยุคทองของศิลปะแนว Abstract งานของนักศึกษาจะไม่ค่อยมีที่จะได้ไปแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติ แตกต่างกับปัจจุบันมาก ผมเองก็เริ่มส่งงานเข้าประกวดตั้งแต่อยู่ปี 3 ก็ได้มีโอกาสแสดงงานในงานศิลปกรรมแห่งชาติ จึงเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น 

“การเป็นศิลปินนั้นมันต้องเสียสละจริงๆ เพราะในยุคนั้นก็จะเห็นศิลปินรุ่นพี่ก็จะอยู่กันแบบที่เรียกได้ว่าศิลปินไส้แห้งกันทั้งนั้น งานดีๆ ก็ยังขายยาก แต่ถ้าขายได้ง่ายขึ้นมานิดนึงก็จะเป็นงานประกวด ยิ่งถ้าได้รางวัลก็จะมีชีวิตอยู่ได้ปีนึง ศิลปินอยู่ได้ด้วยการเขียนรูปแล้วขายถูกๆ ให้กับ Commercial Gallery ทั้งหลาย (ซึ่งงานเหล่านั้นกลับมีราคาแพงมากในยุคนี้)”   

จากความชื่นชอบในงานศิลปะไทยตั้งแต่ครั้งที่เรียนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อมีโอกาสได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็ได้เปิดโลกศึกษาศิลปะตะวันตกตามรูปแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้นำเข้ามา ด้วยการเรียนรู้ สังเกตและฉุกคิด เขาจึงเกิดความคิดที่ว่า ‘จะทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในแบบของตัวเองให้ได้’ ในขณะที่ยุคนั้นงานศิลปะไทยยังมีช่องว่างระหว่างศิลปะไทยประเพณีกับศิลปะไทยสมัยใหม่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เขากลับสนใจในช่องว่างตรงนี้ ตั้งแต่นั้นมาในทุกวิชาเขาจึงเน้นทำงานศิลปะไทยที่เป็นไปในทางสมัยใหม่ ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเอง จนกระทั่งปี 3 ที่กำลังจะขึ้นปี 4 เขาจึงตัดสินใจเลือกเรียนศิลปะไทย ทั้งๆ ที่เขาทำวิชาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานปั้น หรืองานสถาปัตยกรรมไทยได้ดีกว่า 

ปัญญา วิจินธนสาร
ปัญญา วิจินธนสาร

“ตอนนั้นวิชาศิลปะไทยมีเรียนน้อยมาก เป็นเพียงวิชาเลือกเท่านั้น ยังไม่เปิดเป็นภาควิชาหลักอย่างทุกวันนี้ มาเปิดเป็นภาควิชาเลยก็ช่วงที่พี่เหลิม (เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) เรียนเป็นรุ่นแรก ผมเป็นรุ่นที่สอง มีคนเรียนอยู่ 2-3 คน ผมเคยถามพี่เหลิมขณะกำลังนั่งเขียนรูปอยู่ว่า “พี่ ผมเรียนศิลปะไทยดีไหม” เขาหันมาตอบผมว่า “เอ็งเรียนสมัยใหม่ไม่ดีกว่าเหรอ” เพราะเขารู้ว่าพื้นฐานของผมนั้นยังไม่พอ และสามารถทำวิชาศิลปะสมัยใหม่ได้ดีกว่า 

“ผมคิดว่าตัวเองมาประสบความสำเร็จจริงๆ จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เมื่อผมเคยส่งงานไปประกวดรางวัลจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 4 แล้วได้รางวัลที่ 1 มันเป็นงานที่ผมคิดขึ้นมาใหม่ บอกเล่าเรื่องราวใหม่ ใช้เนื้อหาที่เป็นปัจจุบันแทนที่จะเป็นเรื่องประเพณี หรือพุทธประวัติแบบเดิมๆ ตอนนั้นคนที่เห็นงานเขาไม่รู้จัก ก็คิดว่าผมต้องอายุเยอะ เป็นช่างโบราณนะ นั่นยิ่งทำให้ผมต้องแหวกออกจากศิลปะไทยแบบเดิมเพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น แล้วเด็กยุคใหม่จะได้ให้ความสนใจและเข้าถึงได้ง่าย ก่อนหน้านั้นผมส่งมาสามครั้งแล้ว เขาไม่ยอมรับและบอกว่างานของผมมันสมัยใหม่เกินไปจนกระทั่งเลือกเข้ามาเรียนศิลปะไทย เขาก็จะสอนลึกลงไปถึงรากเหง้าของความเป็นไทย ความเข้าใจเราก็มีมากขึ้น ก็ค่อยๆ นำมาใช้ปรับพัฒนางานขึ้นเรื่อยๆ  

“เราต้องเข้าใจว่าด้วยรูปแบบ หรือการสื่อความหมายของศิลปะไทยนั้นมันเข้าถึงยาก มันจึงต้องมีการปรับให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่าย บางคนอาจมองว่าแล้วความเป็นไทยที่เป็นรากเหง้าเด็กรุ่นใหม่ๆ นั้นจะสัมผัสได้ไหม เขาจะรู้หรือเปล่า มันก็ต้องย้อนกลับมาที่รากฐานคือการเรียน ยุคผมทางภาควิชาศิลปะไทยได้พยายามปูพื้นฐานทางประเพณีให้ผมจนเข้าใจดีแล้วจึงที่จะคิดขึ้นใหม่ได้ แต่สมัยนี้เด็กรุ่นใหม่เขาก็จะมาต่อยอดจากเราแล้ว คิดจากสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เพราะงั้นมันก็อาจมีส่วนหนึ่งที่ผมเห็นว่ารากฐานทางวัฒนธรรมมันเจือจางไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาบ้างแล้ว” 

โดยทัศนคติส่วนตัว อาจารย์ปัญญาเชื่อว่าศิลปะนั้นเปรียบเสมือนกับการเพาะต้นไม้จากเมล็ด ต้นไม้จะเติบโตแข็งแรงกว่าการเพาะจากการตอนกิ่งหรือตัดแต่งใดๆ เช่นกันกับสภาพการณ์ของศิลปินและศิลปะในปัจจุบันที่เป็นไปตามสภาพสังคม ต่างจากยุคเก่าๆ ที่คนทำงานศิลปะนั้นมักจะมีอุดมการณ์เป็นขับเคลื่อน เป็นการขับเคลื่อนด้วยการเสียสละความยากลำบากส่วนตนเพื่อทำหน้าที่หนึ่งในสังคม ในขณะที่ทุกวันนี้มักจะมีเงื่อนไขใหม่ๆ เข้ามาเพื่อท้าทายอุดมการณ์เหล่านั้น

“อย่างนักศึกษาที่จบไปรุ่นใหม่ๆ เขาก็จะถามผมแล้วว่า “เพื่อนจบไปแล้วผม/หนูจะอยู่ได้ไหม หากจะเป็นศิลปินต่อไป?” ผมก็บอกว่า “เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองดู จบไปแล้วก็ลองเขียนรูปอย่างอิสระสัก 2-3 ปี เราจะอยู่ได้ไหม เรามีความมั่นคงพอจะทำงานศิลปะต่อไปหรือเปล่า ถ้าได้ก็จะอยู่ได้ ถ้าไม่ได้ก็น่าจะเบนไปทำอาชีพอื่น” เพราะเราเรียนศิลปากร อ.ศิลป์ ท่านวางรากฐานที่ดีไว้ให้และบอกพวกเราว่า “ลูกศิษย์ของฉันต้องไม่อดตาย” จะต้องมีทักษะพอที่จะประกอบอาชีพให้ได้” 

อาจารย์ปัญญาตอกย้ำความตั้งใจเดิมของตนเองที่อยากเป็นศิลปินด้วยการมุ่งสู่เส้นทางของการทำงานศิลปะอย่างอิสระ เขาใช้เวลากว่า 10 ปีอย่างอิสระที่ไทยไปต่างประเทศแล้วจึงไปเรียนต่อที่อังกฤษก่อนจะกลับมาสอนที่คณะก็เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์สำหรับการถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ เมื่อเขากลับมาก็พบว่านักศึกษามีการเปลี่ยนทุกยุคทุกสมัย ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น มีโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้ไว แต่สิ่งที่เขาพบว่ามันขาดหายไปนั้นก็คือ ‘ความอดทนและความมุ่งมั่นที่อยากจะใช้ชีวิตเพื่อศิลปะ’ 

ปัญญา วิจินธนสาร
ปัญญา วิจินธนสาร

“มีเสียดายบ้างเหมือนกันนะที่ลูกศิษย์มากมายที่เขามีพรสวรรค์และความสามารถ เมื่อเรียนจบก็ได้เบนเข็มหรือเปลี่ยนอาชีพไป เสียดายที่ ... เขาไม่ได้เป็นศิลปิน แต่มันก็มีส่วนหนึ่งที่ผันตัวไปในงานสาย Commercial Arts มากขึ้นเพื่อการดำรงชีพ เราจะเห็นได้ว่างานศิลปะไทยที่เป็นงานร่วมสมัยนั้นมีการเติบโตขึ้นมากในสังคมศิลปะของบ้านเรา เพราะกระแสของสังคมโลก แต่สุดท้ายทุกคนก็จะต้องถามหาว่า “ศิลปะที่เป็นรากเหง้านั้นคืออะไร?

“เมื่อครั้งที่ผมเขียนรูปที่วัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอยู่ 3-4 ปีนั้น ผมได้สังเกตเห็นคนที่มาไหว้พระประธานส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อ ‘ขอ’ ‘บูชา’ และ‘อธิษฐาน’ เท่านั้นเอง ไม่มีใครที่หยุดนิ่งเพ่งพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าที่งดงามเลย ทั้งๆ ที่เป็นพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ผมเลยเห็นว่า ‘คนเราคงละเลยความงดงามที่อยู่ตรงหน้าไป’ หลังจากนั้นผมจึงมีความคิดเขียนหน้าพระ แต่ก็มีความลังเลใจอยู่นะ ที่เมื่อเขียนแล้ว คนเขาจะเอารูปของเราไปไว้ที่ไหนกัน? (หัวเราะ) คือมันชักไม่มั่นใจในความเชื่อความศรัทธาของคนที่มีต่อพระพุทธศาสนาเท่าไหร่แล้ว

เป็นสัจธรรมที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ แต่เรากลับถูกพัฒนาทางกายภาพมากกว่าเรื่องจิต จึงไม่แปลกที่เรามักจะนิยมความสุขที่มองเห็นด้วยตา อีกทั้งยังเอาใจไปสนองความต้องการทางร่างกายเสียมากกว่า ในเมื่อเราสามารถเอื้อมมือถึงกันได้ในทุกซอกหลืบของมุมโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจึงมักจะเป็นไปในทิศทางที่คล้ายๆ กัน เช่นทุกวันนี้ที่มันเป็นโลกของเทคโนโลยีและทุนนิยม งานศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้าน Commercial มากขึ้น นั่นก็หมายความว่างานศิลปวัฒนธรรมมันก็หนีไม่พ้นโลกของธุรกิจ มันมักธุรกิจเข้ามาจัดการอยู่ทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นหากเราไม่ยึดหลักรากเหง้าอย่างเข้าใจ มันก็จะเป็นหลักลอยที่จะค่อยๆ เลือนหายไปในสักวัน  

งานศิลปะทุกวันนี้มันมีความเป็น Applied Arts ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของคน แต่มันยังไม่เป็นศิลปะขั้นที่จะพัฒนาความคิด การสร้างสรรค์ หรือจิตใจที่มันสูงขึ้นไป ซึ่งมันจะเป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าถึง เพราะสังคมเราไม่เคยปูพื้นฐานให้ความสำคัญเรื่องเกี่ยวศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างในหลายๆ ประเทศที่เขามีการเสพ

ศิลปะเป็นเรื่องปกติของชีวิต ศิลปะเป็นเรื่องสร้างสรรค์ เป็นเรื่องความคิด จิต อารมณ์ คือพื้นฐานในการพัฒนาคน แต่ทุกวันนี้หลักสูตรการเรียนและสภาพสังคมกลับสอนให้เข้าใจว่า เรียนเพื่อมีอาชีพเท่านั้นเอง แต่สอนให้คิดไม่เป็น

“ผมยังสนับสนุนการพัฒนาจิตใจก่อนนะเป็นอันดับแรก เราทำตัวให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เรายังไม่ต้องไปแข่งกับใครเขาเมื่อเรายังไม่พร้อม เรายังไม่ควรคาดหวังจะเป็นผู้นำเมื่อเรายังตามเขาอยู่เสมอพร้อมกับไม่เคยสร้างหรือคิดอะไรใหม่ด้วยตัวเองเลย เราซื้อนวัตกรรมเขามาตลอดเวลาเพื่อแลกกับทรัพยากรที่มันกำลังจะหมดไป ยิ่งเข้ามาสู่ AEC ถ้าเราเอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ละทิ้งความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมมันก็จะเสื่อมถอยลงไป 

“ผมพูดทุกครั้งว่า ‘ศิลปะมันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคน มันจะขาดหายไปไหนไม่ได้’ ผมจึงเพียรทำงานทุกวันนี้เพื่อให้คนเห็นคุณค่าเหล่านั้นอยู่เสมอ” 

 

ศิลปะคือรากฐานของชีวิต