คมกฤช ตระกูลทิวากร

คมกฤช ตระกูลทิวากร

ชีวิตของคนเราทุกคนอาจเคยชินกับการเป็นผู้รับมากกว่าเป็นผู้ให้ ตั้งแต่วัยเด็กเรามักจะได้รับสิ่งต่างๆ จากผู้คนรอบข้างเสมอ เมื่อเติบใหญ่เราจึงได้ลิ้มรสการเป็นผู้ให้บ้างและค้นพบว่าการให้ทำจิตใจให้ผ่องใส เบิกบาน เพราะการให้ที่ดีที่สุด คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เช่นเดียวกับกิจการเพื่อสังคม   ๑4๑ เลือกการให้ผ่านของเล่นไม้สุดสร้างสรรค์อันมุ่งเสริมพัฒนาการเด็กให้คงอยู่กับธรรมชาติและจิตนาการอันเยาว์วัย

๑4๑ เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ประเภทของใช้ตกแต่งในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา ที่กั้นหนังสือ เก้าอี้ กล่องใส่ของ โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่ลายฉลุซึ่งถูกออกแบบให้เป็นรูปร่างต้นไม้หรือสัตว์ต่างๆ ช่องว่างที่ถูกฉลุออกไปนี้เปรียบเสมือนช่องว่างแห่งการให้ เพราะจะนำชิ้นส่วนที่ถูกฉลุเหล่านี้ไปผลิตเป็นของเล่นเชิงสร้างสรรค์ส่งมอบให้กับเด็กด้อยโอกาส ฉะนั้นทุกๆ หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ซื้อไป เด็กเหล่านั้นก็จะได้รับของเล่นชิ้นนั้นไปด้วยเช่นกัน

“เริ่มมาจากตอนที่ผมมีลูก ได้ยินเรื่องกิจการเพื่อสังคมเลยรู้สึกสนใจ ยิ่งสนใจทำให้ผมมองเห็นปัญหาเรื่องการคัดของบริจาคทิ้งเกินครึ่ง เพราะของเล่นส่วนมากเป็นอันตรายต่อเด็ก อย่างของเล่นปืนพลาสติก ดาบ อาวุธ ที่ปลูกฝังให้เด็กใช้ความรุนแรงและความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุนิยม ผมกับภรรยาเลยคิดกันว่าอยากทำของเล่นที่เป็นธรรมชาติ ส่งผลดีแก่ตัวเด็ก นั่นเลยกลายเป็นโจทย์เริ่มต้นในการคิดกิจการนี้ขึ้นมา

“สิ่งที่เราทำคือออกแบบให้ผู้ซื้อได้ทั้งผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการให้ ซึ่งผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากรองเท้า TOMS ที่ซื้อรองเท้าหนึ่งคู่อีกคู่หนึ่งก็นำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ โดยเราพยายามใช้สีที่ปลอดภัยกับเด็ก ใช้สีผสมอาหาร สีย้อมไม้ ไม่มีสารระเหย ใช้ไม้ยางพาราประสานจากโรงงานที่เกษียณอายุแล้ว กระบวนการผลิตก็ใช้การออกแบบทำให้วัสดุชิ้นเดียวกันมีทั้งนอกและใน สามารถนำไปใช้ได้ทั้งสองด้าน”

๑4๑ หากเรียกเป็นภาษาอังกฤษจะอ่านได้ว่า One for One ตามคอนเส็ปต์ที่คิดไว้ บวกกับเมื่อดัดแปลงลองเขียนเป็นเลขไทยตามด้วยเลขอารบิกจะเห็นเป็นหน้าคนพอดี จึงกลายเป็นโลโก้เรียบง่าย แม้ในช่วงแรกของการเปิดกิจการเขากับภรรยาต้องลงมือลงแรงทำเองทุกกระบวนการแต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเริ่มมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยแล้วขยับขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น

“ตอนนั้นเรามีผลิตภัณฑ์เพียงกลุ่มเดียว ค่อนข้างขายยากและต้องใช้เวลาอธิบายเยอะ บวกกับมีคนต้องการของเล่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เราเลยคิดผลิตภัณฑ์ประเภท D.I.Y. ขึ้นมา ให้ผู้ซื้อไปทำเอง มันเป็นประสบการณ์ที่ดี เราเลยอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้เวลาทำร่วมกันกับลูกโดยกลุ่มนี้ยังคงคอนเส็ปต์ One for One อยู่ ซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่ขายดีที่สุดอีกด้วย”

เข้าปีที่สอง พวกเขายิ่งได้รู้จักเครือข่ายเพื่อสังคมมากขึ้น และความต้องการที่จะให้เกิดแรงกระตุ้นทางสังคมนั้นมีมากขึ้น จึงเริ่มโฟกัสไปในเรื่องของเล่นของเด็กในเมือง จนเกิดผลิตภัณฑ์ Slow Play ขึ้นมา

“จริงๆ เด็กในเมืองเหมือนด้อยโอกาสที่จะได้เล่นของเล่นแบบธรรมชาติแบบนี้ เพราะเด็กในเมืองถูกกล่องกระแสหลักครอบงำ อะไรที่มาเร็วมากๆ อย่างเทคโนโลยีเข้ามาหาแบบพรั่งพรูเกินไป เราเลยมีแนวคิดอีกอย่างหนึ่งผุดขึ้นมา ชื่อว่า Slow Play ให้เด็กสามารถใช้จินตนาการวัยเด็ก ได้เล่นอะไรง่ายๆ เข้าใจง่าย จับต้องได้ ก็เลยทำของเล่นที่เน้นธรรมชาติเป็นหลัก อย่างเช่น กล้องถ่ายรูป มองผ่านรูไฟเดอร์ได้ หมุนเลนส์กล้องได้ เหมือนได้สัมผัสของจริง แต่อย่างแรกเลยคือต้องให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจว่าไม่ควรให้เขาเล่นกล้องจริง สิ่งที่เขาเห็นด้วยตามันควรจะเก็บไว้ในความทรงจำ ไม่จำเป็นต้องรีบถ่ายรีบดู ฉะนั้นเราก็คิดกันว่า อยากทำของเล่นที่ช่วยเด็กๆ ให้หลุดออกมาจากอะไรที่เร็วเกินไป อย่างสีที่เราใช้ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีสีแล้ว ใช้สีจากเนื้อไม้เลย แบบนี้เราก็ใช้สีน้ำผึ้งธรรมชาติกับน้ำมันมะพร้าวออแกนิกส์ 

“จากวันแรกๆ ที่เพิ่งเปิดกิจการ เราขายผลิตภัณฑ์ไม่ได้เลย เพราะต้องสื่อสารเยอะ พอเริ่มอธิบายเรื่องสังคม คนก็เดินหนี แต่เราก็พยายามกันมากขึ้น ลองผิดลองถูก ลองขายในหลายๆ รูปแบบ ต้องเลือกโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย ผมเคยเปิดมาหลายบริษัท ทำออกแบบรถ ออกแบบกราฟิก เป็นอาจารย์ด้วยพร้อมกับทำงานออกแบบ วิถีชีวิตผมอยู่ในกระแสหลักมาก่อน พอมาจับงานเพื่อสังคม เราก็เจอแต่คนดีๆ สังคมดีๆ มีคนเข้ามาช่วยเหลือหางานแฟร์มาให้ตลอด แบบนี้สบายใจดี ค่าใช้จ่ายน้อยลง มีเวลาปั่นจักรยานดูแลตัวเองมากขึ้น อยู่อย่างนี้แบบพอเพียง ชีวิตมีความสุขก็พอแล้ว” 

Know ๑4๑

ผลิตภัณฑ์ของ ๑4๑ มุ่งไปที่เด็กต่ำกว่าหรือเทียบเท่าอนุบาล เพราะเด็กยิ่งโตกระบวนการเล่นก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนไปตามการเจริญเติบโตของเด็ก

ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเสื้อยืดสองชีวิต ชีวิตแรกคือใส่จนเก่า ใส่จนพอ กลายมาเป็นชีวิตที่สอง ข้างในเสื้อยืดมีลาย Pattern สามารถตัดเป็นรูปตุ๊กตาได้ เพราะเวลาใส่เสื้อตัวไหนก็จะรู้สึกผูกพัน ทำให้เด็กรู้สึกว่าเสื้อตัวนี้มีคุณค่าสำหรับเขา เป็นความทรงจำที่มากกว่า

เป้าหมายถัดไป เตรียมจัด Workshop จากเสื้อเก่า ทำให้คนที่เรารักกับทำให้เพื่อบริจาค เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ติดตามได้ที่ www.facebook.com/141SE

ช่องว่างแห่งการให้