สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

1 ใน 3 อาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือเครื่องมือปรุงรสที่เกือบทุกบ้านต้องมีติดครัวคือ ผลิตภัณฑ์จากบริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือชื่อที่คนทั่วไปเรียกกันจนติดหูว่า ‘โรซ่า’ ด้วยความอร่อยมัดใจผู้บริโภคมาเป็นระยะเวลากว่าหลายสิบปี 
ภายใต้การดูแลของ คุณสุวิทย์ วังพัฒนมงคล กรรมการผู้จัดการ ที่ไม่หยุดยั้งการพัฒนายิ่งทำให้รสชาติโรซ่าถูกปากถูกใจชาวไทยเป็นทวีคูณ

พื้นฐานที่หล่อหลอม

ทุกสิ่งทุกอย่างที่หล่อหลอมให้เขากลายมาเป็นนักบริหารจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีจากคนในครอบครัว ที่สำคัญประสบการณ์ที่พบเจอเป็นใบเบิกทางอันล้ำค่า ที่เขาไม่สามารถหาได้ที่ไหน 

“ผมโชคดีที่คุณพ่อเลี้ยงผมมาแบบต้องทำงาน ด้วยความที่เป็นครอบครัวคนจีน บ้านจึงมีกฎเหล็กอยู่หนึ่งข้อว่า ‘เรียนให้เรียน แต่เรียนไม่ได้ก็ให้มาทำงาน มาทำงานก็ไม่ได้หมายความว่ามานั่งแท่นเป็นผู้จัดการ’ อย่างช่วงปิดเทอมผมไม่ได้ไปซัมเมอร์เมืองนอกหรอกนะ ปิดเทอมผมต้องไปแบกปลากระป๋องไปส่ง ตอนเย็นผมก็ต้องนำของไปส่งลูกค้า คนโน้นคนนี้สั่งของก็ต้องเข็นไปส่งบ้างแบกไปส่งบ้างก็มีวิถีชีวิตแบบนี้ทุกปิดเทอม ผมถูกเลี้ยงดูมาแบบนั้น ผมคิดว่านี่คือภูมิต้านทานที่ทำให้เราเห็นว่าชีวิตไม่ได้สวยหรูแค่ด้านเดียว วันที่มันลำบากก็ทำให้เรามีภูมิต้านทานมากขึ้น

สุวิทย์ วังพัฒนมงคล
สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

“พอมาสมัยมัธยมผมเรียนที่สวนกุหลาบวิทยาลัย นี่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน ต้องบอกเลยว่าสวนกุหลาบให้อะไรผมเยอะมาก นอกจากความรู้ที่ได้ ผมได้เพื่อน ได้เห็นโลกกว้างมีความรู้ความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น เพราะว่าเราเจอคนหลากหลายรูปแบบ จากนั้นผมไปเรียนต่อเภสัชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงนี้เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของแนวคิดการทำงานด้วย ได้เรียนรู้กิจกรรมเพื่อสังคม ยิ่งช่วงนั้นเป็นช่วงฟื้นฟูบ้านเมืองด้วย ซึ่งผมทำกิจกรรมตลอด ทำค่ายอาสา ดูแล้วขัดกับการเป็นลูกเจ้าของธุรกิจของพ่อผมที่ไม่น่าจะมาทำตรงนี้ แต่ด้วยความที่เราชอบและได้แนวคิดจากสิ่งที่ทำ การทำอะไรที่ไม่เอาเปรียบสังคมจนเกินไป ผมถือว่าเรามีโอกาสที่ดีที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ และสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้จนถึงปัจจุบัน”ธุรกิจโรซ่าแรกเริ่มก่อตั้ง มาจากการเป็นธุรกิจภายในครอบครัว แต่ก่อนจะกลายเป็นบริษัทโรซ่าที่มีชื่อเสียง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ทำงานแบกหาม จนมีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเองคือธุรกิจค้าส่งนมข้นหวาน น้ำตาลทราย มีการเติบโตและขยับขยายจนเกิดการเปลี่ยนแปลง

“คุณพ่อถือเป็นไอดอลของผมในด้านการทำงาน ท่านมองเห็นการณ์ไกล ท่านคิดว่ามีลูกทั้งหมดหกคน ลำพังเพียงธุรกิจค้าส่งไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ จะส่งลูกๆ ให้เรียนสูงๆ ก็ลำบาก ท่านเลยเกิดความคิดว่าต้องทำแบรนด์สินค้าของตัวเองขึ้นมา ในสมัยนั้นไม่มีตำราการตลาดไม่มีอะไรทั้งนั้น ผมว่าคนที่คิดได้แบบนี้คือต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ด้วยความที่อยู่กับธุรกิจค้าส่งนมข้นหวานคุณพ่อเลยคิดว่าจะมีอะไรที่สามารถต่อยอดได้ ท่านเลยเริ่มทำชาขึ้นมาก่อน ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ‘ชาตราสามแพะ’ เป็นชาที่เราเรียกว่าชาโบราณในสมัยนี้ สำหรับชงเป็นเครื่องดื่มในร้านกาแฟนี่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าขาย โดยอาศัยจุดแข็งที่เรารู้จักร้านค้า มีลูกค้าประจำอย่างพวกร้านกาแฟ การที่ชาตราสามแพะไปอยู่ในร้านกาแฟจึงไม่ใช่เรื่องยาก เราสั่งใบชาจากต่างประเทศเข้ามาแล้วใช้สีผสมอาหารให้มีสีแดงนิดๆ ซึ่งเรียกได้ว่าธุรกิจนี้ได้รับความสนใจมาก เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว”

ล้มแต่ไม่ท้อ

หลังจากชาตราสามแพะประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเขาจึงปรับโฉมธุรกิจ ขยายฐานการผลิตด้วยการเปิดโรงงาน แล้วเริ่มผลิตซอสปรุงรส ภายใต้ชื่อ ‘ตราแพะ’ จากนั้นมองหาช่องทางการตลาดอื่นด้วยการผลิตซอสมะเขือเทศควบคู่ไปด้วย

“สมัยนั้นซอสมะเขือเทศบ้านเรานำเข้าหมดเลย ราคาค่อนข้างสูง เราจึงลงมือทำซอสมะเขือเทศสูตรของเราขึ้นมาโดยการลองผิดลองถูก แล้วพัฒนาสินค้าจนมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เมื่อสินค้าเราเป็นซอสมะเขือเทศ ซึ่งค่อนข้างไฮโซ
แบบต่างประเทศ แต่ใช้ชื่อว่าตราแพะมันก็ไม่เข้ากัน เราจึงกลับมาคิดชื่อแบรนด์กันใหม่ จนได้ชื่อ ‘โรซ่า’ แต่ตอนนั้นทั้งหมดผมยังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง พี่ชายเป็นผู้บริหาร เป็นคนที่ช่วยเหลือคุณพ่อและเป็นคนที่ร่วมมือกันสร้างมาตั้งแต่แรก

“เท่าที่ผมจำได้ตอนนั้น เรามองว่าสินค้าพวกนี้ในอนาคตจะขยายตัวสูงมาก เพราะตอนนั้นผู้คนเริ่มนิยมรับประทานอาหารฝรั่ง อีกทั้งสินค้านำเข้าราคาค่อนข้างสูง แต่วิสัยทัศน์ของคุณพ่อผมมองว่าเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ เพราะการเป็นคนแรกมักได้เปรียบและเป็นที่จดจำเสมอ นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้ ซึ่งมันก็ได้พิสูจน์ด้วยการที่ผ่านมาสี่สิบกว่าปี ว่าถ้าพูดถึงซอสมะเขือเทศของคนไทย ทุกคนต้องนึกถึงโรซ่าแน่นอน”แต่ว่าหนทางการทำธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป หากแต่พบเจอขวากหนามมากมายจนบริษัทถึงกับต้องล้มละลาย เพียงเพราะความผิดพลาดทางการเงิน

สุวิทย์ วังพัฒนมงคล
สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

“จากธุรกิจซอสมะเขือเทศลงตัว เลยขยายการผลิตสู่การทำปลากระป๋องพูดได้ว่าของเราเป็นปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศแท้ๆ เป็นสินค้าที่นิยมมากอีกหนึ่งตัว แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีหลักสูตร MBA ไม่มี Financial Management คือเป็นธุรกิจครอบครัว ทุกอย่างเลยทำกันเองภายในครอบครัว ต้องยอมรับว่ามีความผิดพลาดด้านการบริหารการเงิน ไม่ได้ล้มบนฟูก เรื่องนี้ผมทราบดีเพราะตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยปริญญาโท พอทราบเรื่องการเงินบ้าง แต่เราก็ไม่ได้อะไร ช่วงนั้นเป็นผมคนเดียวที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในธุรกิจครอบครัว พี่ๆ คนอื่นทำหมด ขณะที่ธุรกิจล้มละลาย ผมกำลังเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ ผมเลยกลายเป็นคนที่เข้ามาดูแลในช่วงท้ายๆ ของธุรกิจโรซ่า

“ถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย และถูกธนาคารที่เราจดสินทรัพย์ไว้บังคับให้เราจำนองโรงงาน โอนเครื่องหมายการค้าให้เขา ครอบครัวก็แตกกระจัดกระจายตอนนั้นคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีใครดูแลท่านนอกจากผมและพี่สาวเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก คือตอนเริ่มสร้างบริษัทผมเป็นคนที่เฝ้าดูด้วยความชื่นชม แต่ตอนที่ปิดบริษัทผมเป็นคนไปปิดเอง ตอนนั้นเรียนจบปริญญาโทพอดี ผมได้บทเรียนสำหรับคนเพิ่งจบ ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวดนะ เห็นธุรกิจที่ครอบครัวสร้างมากับมือมันหายไปกับตาของเรา เป็นเรื่องหนักมากสำหรับเด็กเพิ่งเรียนจบ แต่มันก็ผ่านมาสามสิบสี่สิบปีแล้ว พอกลับมามองในวันนี้ผมถือว่าโชคดี เราทำโจทย์ยากแล้วผ่านมันมาได้ เราก็เก่งกว่าคนที่ทำโจทย์ง่ายมาตั้งแต่แรก”แต่ในความโชคร้ายกลับพบความโชคดี เมื่อพี่ชายคนหนึ่งที่ได้ลาออกจากโรซ่าก่อนที่จะล้มละลาย ซึ่งเป็นผู้คิดสูตรคิดแบรนด์โรซ่า ได้กลับมาเปิดบริษัทใหม่ในชื่อว่า บริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นธุรกิจแบบเดียวกับของครอบครัว ในขณะที่ตัวเขาเองก็กำลังวางแผนเรียนต่อในระดับดอกเตอร์ที่ต่างประเทศ

“ตอนนั้นผมไม่ได้คิดจะอยู่ในธุรกิจครอบครัวเลย ผมทำงานในบริษัทยาเพราะผมจบเภสัช แต่ตอนเรียนบริหารธุรกิจผมทำเกรดไว้ค่อนข้างสูง เลยตั้งใจจะไปเมืองนอกโดยการชิงทุน แต่บังเอิญที่บ้านมีปัญหาขึ้นมา ผมเลยต้องลาออกจากงานที่บริษัทยา เข้ามาช่วยเคลียร์เจ้าหนี้กับคนงาน ประจวบกับพี่ชายชวนให้มาร่วมงานที่บริษัทไฮคิว เพื่อให้เติบโตแข่งกับโรซ่า ซึ่งตอนนั้นโรซ่าโดนยึดเครื่องหมายการค้าไปด้วย

“แน่นอนเราต้องเจอกับเจ้าตลาดคือโรซ่า ซึ่งคิดได้สองมุมคือมุม ที่เราเจ็บปวดเพราะเราต้องสู่กับแบรนด์ที่เราสร้างไว้ กับมุมที่ท้าทายให้เราทำสำเร็จ เพราะตอนนั้นผู้บริหารโรซ่ามีชื่อเสียงมาก เป็นอาจารย์สอนการตลาดผมด้วย ในใจผมคิดว่าถ้าแพ้ก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าชนะขึ้นมาเราก็จะกลายเป็นผู้ล้มยักษ์ใหญ่เลยนะ แต่ความจริงเราก็ไม่มีอะไรไปสู้เขา คือมันเพิ่งเริ่มต้น มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เริ่มขายสินค้ากันใหม่ ผมก็ไปดึงลูกน้องเก่าที่อยู่โรซ่ากลับมาให้เยอะที่สุด ด้วยความที่เราพอมีคอนเนคชั่นเก่าบ้าง ก็มีคนรู้จักเราหมด เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นของที่มีคุณภาพจริง เพียงแต่แบรนด์ใหม่ยังไงก็สู้ของเก่าไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันเป็นเรื่องกดดันแต่ก็สนุกนะ มันท้าทายเรา เมื่อกลับมามองย้อนไปมันก็สอนคนรุ่นหลังได้เหมือนกัน”สุดท้ายไม่ว่าปัญหาจะหนักแค่ไหน เขามักคิดบวกแบบสมเหตุสมผลเสมอ ประจวบกับธุรกิจไฮคิวเริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2530 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ธุรกิจไฮคิวขยายตัวได้เร็วโดยเฉพาะเรื่องการส่งออก

สุวิทย์ วังพัฒนมงคล
สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักไฮคิวจริงๆ คือผมเอาสิ่งที่คุณพ่อสอนมาว่าเราต้องคิดก่อนทำก่อน ใครทำคนแรกได้เปรียบเสมอ ด้วยความที่เราทำธุรกิจส่งออก ลูกค้าบอกมาว่าอยากได้ปลากระป๋องที่มีฝาเปิดง่าย ซึ่งตอนนั้นตลาดบ้านเราไม่มีใครใช้ฝาเปิดเลย เป็นฝาเรียบๆ ไม่มีที่เปิด ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย ถ้าไม่มีที่เปิดก็ยุ่งเลย เราเลยเป็นคนแรกที่ผลิตปลากระป๋องแบบมีฝาเปิดประกอบกับคุณภาพสินค้าที่เป็นต้นตำรับอยู่แล้ว ทำให้ไฮคิวเติบโตแบบก้าวกระโดด ผมคิดว่ามันเป็นปีข้อสอบที่ง่าย อยู่ที่ว่านักเรียนไม่ขี้เกียจอ่านหนังสือและสามารถทำข้อสอบได้หมดทุกคน แต่คะแนนจะออกมาดีหรือไม่ดีก็ว่ากันไป

“ช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตก เจอต้มยำกุ้ง ต้องบอกว่าตั้งแต่เป็นไฮคิว ทุกอย่างค่อนข้างราบรื่น เพราะเราได้บทเรียนมา ทำให้เราบริหารการเงินอย่างรอบคอบ เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สอนเราให้ได้เรียนรู้เมื่อธุรกิจของเราเติบโตก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น สถาบันการเงินให้การยอมรับ”

ต่อยอดวันนั้นจนถึงวันนี้

ในปีพ.ศ. 2538 บริษัทไฮคิวก่อตั้งได้มาครบสิบปี ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีมีความแข็งแกร่ง บวกกับเป็นช่วงที่คดีความของบริษัทโรซ่าเดิมถึงจุดสิ้นสุด ต้องนำแบรนด์โรซ่ามาขายทอดตลาด จนเขาได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลสมบัติเดิมชิ้นสำคัญของครอบครัว

“ช่วงเวลาแห่งการประมูลเราเสนอราคาไปที่ 30 ล้านบาท สมัยนั้น30 ล้านถือว่าเยอะมาก อีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าไฮคิวจะมีเงินมากถึง 30 ล้านทางศาลเลยนัดมาเจอกัน พร้อมให้มีการประมูลแข่งวันนั้นเลย ก็เริ่มจาก 31 ล้าน เพิ่มกันไปทีละล้านๆ จนถึง 91 ล้าน อีกฝ่ายเขาบอกว่าเกินกว่านี้เขาไม่สู้แล้วนะ เราเลยเสนอ 92 ล้าน ศาลตัดสินเคาะให้เราได้โรซ่ากลับมา ในวันนั้นผมถือว่าคุ้ม เพราะทุกวันนี้ 100 ล้าน มาสร้างแบรนด์ๆ หนึ่ง ไม่รู้จะอยู่หรือเปล่า วันนั้นเข้าไปกับพี่ชาย ผมนั่งอยู่ด้วยแล้วผมขนลุกทั้งวัน เพราะเชื่อว่าวันนั้นคุณพ่ออยู่กับพวกผมด้วยทั้งๆ ที่ตอนนั้นคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว

“วินาทีนั้นคือเราสมองตื้อไปหมด ในวันที่เราตั้งบริษัทไฮคิวถึงเราจะคิดบวก แต่ไม่เคยตั้งเป้าไว้ขนาดนี้ว่าเราจะได้โรซ่ากลับคืนมา ตอนนั้นคิดแค่ว่าเอาไฮคิวให้รอดก่อน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือสิ่งที่เกินความคาดหมายมาก และ 92 ล้าน ตรงนั้นเป็นเงินที่ไปใช้หนี้จากที่มีอยู่เดิมได้หมดเลย ถึงแม้มันจะช้าแต่เราก็ได้จ่ายมัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ปลดครอบครัวจากคำว่าล้มละลาย คือได้สองเด้งเลย ได้ทั้งโรซ่าคืนมาและได้ล้างมลทินด้วย”จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เขาได้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนมาอยู่ในมือ พัฒนาผลิตภัณฑ์กันมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคิดที่ว่าพระเจ้าไม่ให้โอกาสใครเป็นครั้งที่สอง เมื่อได้มาแล้วเขาต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ปัจจุบันโรซ่าและไฮคิวรวมกันเป็นหนึ่งเดียว มีกำลังการผลิตมากขึ้นเป็นหลาย
สิบเท่า เมื่อบริษัทเติบโตอย่างยิ่งใหญ่เขาจึงคิดอยากตอบแทนสังคม ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ

“กิจกรรมหนึ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องนานกว่าสิบปีแล้วคือโครงการ ‘โฮมฮัก รักลูกหลานโภชนาการดี’ ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกิดมาจากการที่ผมไปช่วยงานที่กรมอนามัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางโภชนาการพร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืนในแถบภาคอีสานตอนบน เมื่อโรงเรียนที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการแล้วก็จะได้เข้าเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร เด็กที่จะเข้าไปเรียนจะเป็นเด็กที่มีคุณภาพ มีโภชนาการดี มีพื้นฐานทางสติปัญญาดี ซึ่งปัจจุบันนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกับเราผ่านการประเมินถึง 7 โรงเรียน ขณะที่ทั้งประเทศมีโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรเพียงแค่ร้อยกว่าโรงเรียนเท่านั้น

“ผมไม่คิดว่าประสบการณ์จากการเป็นนักกิจกรรมจะได้นำมาใช้ เพราะตั้งแต่สร้างไฮคิวสร้างโรซ่าขึ้นมา ผมก็มองแต่เรื่องธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ มาวันนี้เรามีความพร้อมประมาณหนึ่ง อะไรที่เราทำได้ตามกำลังก็อยากตอบแทนให้สังคม ซึ่งสิ่งที่เราได้รับจากสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนในโรงเรียน การทำกิจกรรมมันถูกหล่อหลอมและในวันหนึ่งถ้าเราไม่ลืม ก็สามารถนำออกมาใช้ได้”

ด้านการบริหารงานบริษัทในอนาคต เขามองว่ามันคือความท้าทายที่ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับคนรุ่นต่อไป เพราะวงการธุรกิจในปัจจุบันหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว

สุวิทย์ วังพัฒนมงคล
สุวิทย์ วังพัฒนมงคล

“สิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กรก็คือคน คนน้อยกว่าอาจจะไม่เก่งเท่าหลายคน แต่ทำยังไงให้คนที่น้อยกว่าเมื่อรวมกันแล้วสามารถสู้ได้ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยาก เป็นสิ่งที่ผมสร้างและพยายามวางรากฐาน ให้กับคนรุ่นต่อไปที่จะมาดูแลบริษัทรับช่วงต่อไปจากผม เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันท้าทายมากๆ สำหรับคนรุ่นต่อไป สิ่งที่หวังตอนนี้หวังว่าธุรกิจนี้จะตกทอดให้รุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

“ในวงการธุรกิจ เราเริ่มจากธุรกิจเล็กๆ จนมาเป็นธุรกิจขนาดกลาง ผมเชื่อว่าต่อไปธุรกิจขนาดกลางจะอยู่ยากที่สุด เพราะคุณจะเล็กลงไม่ได้แต่การที่คุณจะใหญ่ขึ้นมันก็มีคู่ต่อสู้ที่เก่ง คุณต้องหนักหนาสาหัสอีกมาก คุณไม่ได้สู้กับธุรกิจเล็กๆ แต่คุณต้องสู้กับยักษ์ใหญ่ซึ่งเขามีความพร้อมกว่าคุณมากในหลายด้าน เพราะฉะนั้นคุณจะทำยังไงให้ธุรกิจซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสามารถแข่งขันกับธุรกิจที่ขนาดใหญ่กว่าได้”  

และแน่นอนการบริหารงานหรือการทำงานอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งวัน ต้องมีเหนื่อยเมื่อยล้ากันบ้าง แต่เมื่อเขากลับมาถึงบ้าน เขาจะเปลี่ยนโหมดสลับสวิตซ์ตัวเองทันที

“ในตัวผมมีสวิตซ์ เมื่อไหร่ที่ผมขับรถเข้าประตูบ้าน ผมจะปิดสวิตซ์การทำงาน ลูกน้องที่บริษัทจะทราบดีว่าถ้าไม่มีเรื่องด่วนห้ามโทรมารบกวน เพราะเมื่อเดินเข้าบ้านมันจะเป็นเวลาของครอบครัว มีเวลาให้เขาเหมือนเราได้ชาร์จแบตฯเวลาเราเดินเข้าที่ทำงานก็เปิดสวิตช์ใหม่ คือเราต้องทำให้ชัดเจน ถ้าคุณเอาเรื่องบ้านไว้ที่ทำงาน เอาเรื่องที่ทำงานไว้ที่บ้าน คุณจะทำอะไรไม่ได้เลย 

“ด้วยความที่ผมถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่ใช่ลูกคุณหนูไลฟ์สไตล์ของผมก็เลยไม่ใช้อะไรที่ฟุ่มเฟือย วันหยุดก็สบายๆ กินอาหารที่ชอบ เที่ยวเมืองไทย เวลาว่างผมก็ออกกำลังกายให้ร่างกายสามารถรับใช้เราได้อีกนาน ผมชอบวิ่งวันหยุดของผมคือวันพักผ่อน ไม่มีอะไรมากแค่เพียงหนังสือหนึ่งเล่มในมุมโปรด แล้วก็นอนอ่านพร้อมกาแฟแก้วอร่อย พบปะเพื่อนฝูงบ้างตกค่ำก็อาจจะมีฟุตบอลเเมทช์สำคัญที่อยากดู และก็หาเวลาท่องเที่ยวกับครอบครัวบ้าง วางแผนไว้เลยว่าปีละกี่ครั้ง ช่วงพักผ่อนก็พักจริงๆ แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ ชีวิตผมก็มีความสุขอยู่ไม่กี่อย่างแบบนี้แหละ” 

ปลุกพลังบวก ฟื้นวิกฤตชีวิต