พันโทวิชิต โห้ไทย
ถ้าจะเปรียบความหมายของการมีชีวิตอยู่นั่นคือลมหายใจ แต่สำหรับใครบางคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเสียงดนตรี ตัวโน้ตแต่ละตัวที่ถูกเรียบเรียงนั้นหมายถึงการเดินทางแต่ละก้าวของชีวิต และในวันที่เพลงแห่งรางวัลชีวิตได้บรรเลงขึ้น ครูเพลงท่านนี้กลับต้องการเพียงเพื่อส่งผ่านเสียงดนตรีไปยังคนรุ่นต่อไป เหมือนอย่างที่เขาบอกว่าสิ่งที่สำคัญในการก้าวเดินของทุกวันนี้นั้นมาจาก แรงบันดาลใจ และแรงบันดาลใจที่สำคัญนั้นเขาสร้าง ‘มาจากตัวเอง’ พันโทวิชิต โห้ไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-โยธวาทิต)
นักดนตรีชาวสวน
ด้วยพื้นเพครอบครัวเป็นชาวสวน แต่พันโทวิชิต โห้ไทย กลับมุ่งหน้าที่จะดำเนินชีวิตโลดแล่นไปกับเสียงดนตรี โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2489 เขาก็ได้สอบเข้าเป็นนักเรียนดุริยางค์ทหารบก รุ่น1
“ในรุ่นผมมีนักเรียน 53 คนที่สอบเข้ามาเป็นนักเรียนดุริยางค์ ยังจำได้อยู่เลยว่า เข้ามาเป็นนักเรียนเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 ตอนนั้นผมอายุ 13-14 เองเข้ามาสมัยนั้นก็ฝึกเรื่องทหารก่อน เช้าตื่นแต่เช้าครูเป่านกหวีดต้องลุกทันที เช้ามาเราต้องออกวิ่ง วิ่งเสร็จอาบน้ำแล้วก็ไปเรียนไปฝึก นึกไปแล้วภาพมันก็ยังชัดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ...
เรื่องดนตรีผมเริ่มจากศูนย์ มาหัดดนตรีเอาตอนเข้าเรียนเลย ตอนเรียนดนตรีมีครูสอนหลายคนทั้งทฤษฎีการดนตรี ศัพท์ดนตรี อ่านโน้ต โสตประสาท การดนตรีก็คือต้องเรียนเรื่องของดนตรีทั้งหมด ตอนเรียนมันเรียนจริงๆ เพลงก็ไม่ให้เป่า ต้องอ่านโน้ตออกก่อน เล่นเครื่องดนตรีก็ให้เป่าแต่แบบฝึกหัดทางดนตรี ทำแบบนั้นอยู่เป็นปีพอเราอ่านโน้ตได้เล่นเครื่องดนตรีได้แล้ว ถึงจะเริ่มให้เป่าเพลง มาได้เล่นดนตรีจริงๆ จังๆ ก็หลังจากที่พ้นจากการเป็นพลอาสาสมัคร ตอนนั้นเราเงินเดือน 8 บาท ค่าก๋วยเตี๋ยวยุคนั้นสามสตางค์เอง มีเบี้ยเลี้ยงต่างหาก แต่เขาหักเป็นค่าอาหารตอนเราอยู่ในกรม แต่พอจบมาก็รับราชการเลยแต่ยังไม่บรรจุนะ ยังไม่มียศ ต้องรออายุเข้าเกณฑ์ จะติดนายสิบต้องรออายุ 20 ปี ถึงจะได้ไปสอบติดยศนายสิบได้
พันโทวิชิต โห้ไทย
“ทีนี้พอเล่นได้ก็เริ่มไปเล่นดนตรีตามงาน มีคนชวนไปเล่นด้วยตอนนั้นก็มีสิบโทเชาว์ แคล่วคล่อง เขาเป็นนักแสดง เป็นมือกีตาร์ที่กองดุริยางค์ทหารบกด้วย สมัยนั้นมีวงไทยสากลอยู่แค่สองวงเท่านั้น (ไม่รวมถึงวงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นวงดนตรีในพระราชวัง) วงแรกเลยคือวงของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ใช้ชื่อวงว่า ‘สุนทราภรณ์’ อีกวงก็คือวงของทหารบก ครูจำปา ลิ้มสำราญ เป็นผู้ควบคุมวง หลวงพรหมโยธีตั้งชื่อวงให้ว่า ‘วงดุริยโยธิน’ เป็นวงที่ผมเล่นอยู่มีนักร้องดังก็คือ ประหยัด ชัยสิริ ร้องเพลงสยามมานุสสติ ทางกรมโฆษณาการก็มีนักร้องดังเหมือนกันแต่เป็นของวงสุนทราภรณ์นะ
“ตอนนั้นไปเล่นตามเวที เฉลิมไทย เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เวิ้งนาครเขษม พัฒนากร หลายที่เลยจำชื่อไม่ได้แล้ว เล่นเป็นบิ๊กแบนด์ด้วยคลาสสิกด้วย เล่นวงใหญ่ประกอบละครเวทีด้วย ผมจะเล่นอยู่ในหลุมข้างเวทีประกอบการแสดง ผมเป่าคาริเน็ตอยู่ในวง ผมเล่นมาก่อนยุคลูกกรุง ลูกทุ่งอีก จะว่าผมเป็นยุคแรกของลูกทุ่งก็ว่าได้ และผมก็ได้ไปเล่นที่ช่องสี่บางขุนพรหม สมัยจอขาวดำ แต่หลังจากเล่นดนตรีอะไรไปเรื่อย ก็หันมาสนใจเรียนเรียบเรียงเสียงประสาน ได้เรียนทฤษฎีกับพันตรีศรีโพธิ์ ทศนุติ และ ร้อยเอกชูชาติ พิทักษ์สาคร ท่านเรียนจบมาจากต่างประเทศแล้วมาอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารบก เป็นครูที่สอนเพิ่มเติมความรู้ต่างๆ ให้กับผม”
ครูเพลงในความหมาย
ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้ให้คำนิยามถึงความเป็นครูไว้ได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมตระหนักถึงพระคุณของผู้เป็นครูว่า คือ ผู้สอนผู้ถ่ายทอดความรู้ เมื่อแรกเริ่มได้รับโอกาสและความเมตตาจากครูผู้ให้ และเมื่อได้ก้าวมาสู่บทบาทของความเป็นครู เขาจึงสวมวิญญาณของผู้ให้ส่งผ่านความรู้และโอกาสที่มากมายต่อลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่น
พันโทวิชิต โห้ไทย
“เพลงก็คือสิ่งที่เราแต่งขึ้นมารวมกันเรียกครูผู้แต่งเพลงขึ้นมา ผู้ถ่ายทอดเพลง ครูสอนดนตรีก็มีมากทั้งครูดนตรีไทย ครูลูกทุ่งลูกกรุง ครูดนตรีสากล แต่ครูเพลงนี้เขาจะเรียกกันแต่ในลูกทุ่งลูกกรุง ของวงสากลไม่เรียกครูเพลง ของไทยเดิมก็เรียกครูเพลง เป็นครูเพลงนี้ต้องแต่งเพลงได้สอนศิษย์ได้ ต้องมีความชำนาญ ต้องสอนศิษย์ได้ รู้ว่าอันนี้เล่นถูกเล่นผิด ต้องรู้ต้องเก่ง ต้องบอกศิษย์แนะนำศิษย์ได้ถูก ไม่ใช่เล่นใหม่แล้วบอกว่าเป็นครูเพลง มันมีองค์ประกอบเยอะ
“สำหรับผมชีวิตการเป็นครู เป็นนักดนตรีเป็นราชการมันไม่มีอะไรที่ราบรื่นง่ายดาย แต่ก็มีความสุขในแบบของมันนะ พูดถึงการรับราชการนั้นมันก็ต้องไต่เต้าจากนายสิบ สิบโทสิบเอก จนเป็นจ่า พอจะมาเป็นนายทหารมันก็มีอุปสรรค แต่ก็ค่อยๆ เดินไปตามทางของมัน เรารักดนตรีก็เล่นของเราไปปลงเอา ปล่อยวาง ก็พิจารณาเอาว่าไม่ใช่ของเราผมก็ถือศีลห้ายุงยังไม่ตีเลย เอาธรรมะเข้าช่วย
“อย่างตอนนั้นผมตั้งวงดนตรีสากลวงดุริยทิพย์ สมเด็จป๋าวัดโพธิ์ (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่17) ตั้งชื่อให้ว่า “ดุริยทิพย์” วงนี้ไปประกวดดนตรีสากลครั้งแรกในประเทศไทย ได้รับรางวัลพระราชทานชนะเลิศ พอประกาศว่าเราได้รางวัลพระองค์เจ้าชัยเฉลิมพล ฑิฆัมพร บอกว่าต้องไปรับจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง ไปรับกับพระหัตถ์เลยนะ พอได้รางวัลตอนนั้นหนังสือพิมพ์มาที่บ้านเต็ม มาสัมภาษณ์ถ่ายรูป มาเอาเอกสารเราไป บางทีก็หายไปบ้าง รูปก็มีมาเอาไป ก็โด่งดังเลย”
เสน่ห์ของเสียงดนตรี
‘ดนตรี’ สำหรับเขาแล้วไม่ว่าจะเป็นสาขาใด ต่างก็มีความงามตามแบบอย่างที่เฉพาะตัว ซึ่งนั่นจึงเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่ทำให้พันโทวิชิตหลงใหลกับการดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน
“ผมหัดดนตรีสากลมาก่อน แต่ก็รักเพลงไทยด้วย จึงไปหัดดนตรีไทยแถวๆ โรงพยาบาลรามาธิบดี (สมัยก่อนยังไม่มีโรงพยาบาล มีแต่สลัม) แถวนั้นมีครูเพลงอยู่หัวถนน เขาชื่อครูพิม ‘พิม นักระนาด’ คนดนตรีไทยสมัยนั้นรู้จักหมด ท่านจับมือผมตีฆ้อง แล้วก็มาต่อเพลงกับครูนพ ศรีภักดี เขาสอนอยู่ดุริยางค์ทหารบกอยู่แล้ว มาเล่นดนตรีไทยตอนนั้นได้เป็นนายสิบแล้วพอมาเล่นดนตรีไทยชอบมาก ตอนนั้นก็มีคนรู้จักให้ไปเล่นหลายที่ ไปประชันกับเขาก็มี เราก็เลยเล่นได้ทั้งสากลทั้งดนตรีไทย
พันโทวิชิต โห้ไทย
“มันมีความแตกต่างกันเช่น การเขียนโน้ตไม่ตรงกัน ห้องเพลงก็ไม่ตรงกัน อย่างเพลงสากลจังหวะแรกจะตกจังหวะหนึ่ง สมมติห้องหนึ่งมีสี่จังหวะ ก็หนึ่งสองสามสี่ หนึ่งสองสามสี่ ไปเรื่อย แต่ห้องดนตรีไทยมันตกจังหวะที่สี่ เรื่องเสียงดนตรีสากลจะเยอะกว่า แต่ดนตรีไทยมันไม่มี เป็นเสียงตรงๆ
“ในการเล่นเพลงดนตรีไทยผมเล่นจะอยู่ฝั่งจางวางทั่ว (ครูนพเป็นศิษย์จางวางทั่ว) ดนตรีผมมีสองสาย อีกสายเป็นของทูลกระหม่อมบริพัตร พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 ท่านเรียนจบมาจากเยอรมัน ท่านทำให้ดนตรีนี้มีชื่อเสียงขึ้นมา ศร ศิลปะบรรเลงนี้มายุคเดียวกันควบคู่กันมา จากนั้นลูกสาวคนเล็กของครูจางวางทั่ว คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ท่านเป็นครูดนตรีสอนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งท่านก็เป็นคนพาผมเข้าเฝ้าฯ จากนั้นมาก็ใกล้ชิดสมเด็จพระเทพรัตนฯ ก็ทำงานถวายท่าน อัดเสียงถวายท่าน เขียนโน้ตถวาย เทียบโน้ตให้ท่าน ชำระตรวจสอบซ้อมโน้ตเพลงไทยเดิม ถวายพระเทพรัตนฯ ท่านเสมอมา”
แรงบันดาลใจคือตัวเอง
ชีวิตที่เดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ก็คือ ‘ตัวเอง’ เพราะคิดหาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง การทำงานก็ไม่ได้เอาอย่างใคร เช่น ครั้งที่แต่งเพลงให้นักร้องดังๆ มากมายอย่างคุณไวพจน์, ขวัญจิต, ยอดรัก, ท่านก็เป็นผู้อัดเสียงด้วยตัวเองทั้งสิ้น
“สมัยก่อนต้องอัดพร้อมกันทั้งนักร้องทั้งดนตรี สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว ร้องกับเพลงแยกกัน เรียบเรียงเสียงประสาน แล้วก็อัดให้ เป่าแซ็กโซโฟนให้ด้วย เมื่อก่อนเล่นจนไม่ได้กลับบ้านเลย ส่วนใหญ่ตอนนั้นจะอัดให้พวกลูกทุ่งเยอะ ช่วงนั้นสนุกมากเลย ได้รางวัลชนะเลิศลูกทุ่งแห่งประเทศไทย ก็ไปออกงานตามเวที มีคนรู้จักชอบพอเอาผลไม้มาให้หลังเวทีก็มี
“เรื่องประสบการณ์ที่ได้มาในระหว่างที่เล่นดนตรีนั้นเยอะมาก ผมเป็นหัวหน้าวงโยธวาทิตไปไหนไม่ค่อยได้ต้องคอยรับคำสั่ง ตอนหลังวงก็ยุบไป สมัยนั้นเคยไปเล่นให้จอมพลสฤษดิ์ ฟังท่านชอบเพลงเย้ยฟ้าท้าดิน ตอนหลังไปตั้งวงที่ไวยบุตรตรงกองสลากผมก็ได้ไปคุมวงที่นั่นด้วย มีครั้งหนึ่งต้องไปเล่นดนตรีที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ไปถึงแล้วเจ้าของบ้านจำไม่ได้ว่าวันนี้มีงาน ก็เลยไปนั่งกินเหล้ากัน (หัวเราะ) ส่วนจอมพลถนอมผมก็เคยไปเล่นดนตรีให้ฟัง รู้จักกันหมด ดนตรีทำให้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ รู้จักคนเยอะเลย”
รางวัลแห่งชีวิต
ชีวิตข้าราชการ ชีวิตความเป็นครู และชีวิตของการเป็นนักดนตรีวันนี้ได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ กำลังใจในการทำงานแม้ในวัยที่เกษียณไปแล้วจึงยิ่งเพิ่มพูนขึ้น แม้เรี่ยวแรงที่จะสานต่องานดนตรีแก่คนรุ่นหลังจะค่อยๆ อ่อนล้าลงไปก็ตามที
“สำหรับศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทยโยธวาทิตนี้หมายถึง ดนตรีไทยที่บรรเลงโดยเครื่องโยธวาทิต เอาเครื่องมาเทียบเสียงกัน เช่น เสียงฆ้องผมก็ใช้พวกบาริโทนมาแทนกัน ปี่ก็เป็นเครื่องเป่าพวกวู้ดวิน เครื่องทางสากลจะมีเครื่องดนตรีมากกว่า เราก็คิดไลน์ประสานได้มากกว่า ก็สามารถมาเพิ่มเสริมเติมเข้าไปได้ อยู่ที่เราจะแต่งเข้าไป เรามีเครื่องเป่า เครื่องตีได้เยอะไปหมด จะแต่งจะประสานไลน์เพลงได้เยอะมาก เอาเมโลดี้เขามาเทียบเสียงกัน ผมจะเอาเพลงทางสายจางวางทั่วกับทูลกระหม่อมบริพัตรมาประสานกัน ผมก็เอาเพลงมาแปลงใหม่ เพลงไทยเดิมนะมาแปลงเป็นเครื่องสากลน่าจะมากกว่า 60 เพลง
พันโทวิชิต โห้ไทย
“จะว่าไปรางวัลศิลปินแห่งชาตินี้ได้มาด้วยบุญวาสนานะผมว่า ผมส่งผลงานไปหลายปีแล้ว เพิ่งจะได้ กว่าจะได้ส่งต้องไปหาผลงานมา ที่ไปสอนตามมหาวิทยาลัย รวบรวมส่งไปตอนนั้นก็ไม่ได้ จนผมคิดว่าไม่ได้แน่แล้ว ตอนได้มาก็ยังไม่รู้ตัวเลย แต่พอได้รางวัลมาก็ดีใจมาก มันเป็นเกียรติประวัติในชีวิต วันที่ไปรับรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนฯ ยังทรงตรัสกับผมว่า “ไม่บอกเขาไปล่ะว่าเราก็นักแต่งเพลงเหมือนกัน” ให้ผมไปบอกกับคนประกาศ ทรงมีอารมณ์ขัน
“ชีวิตเกษียณก็เหมือนไม่ได้เกษียณ มีคนเชิญไปโน้นไปนี้ตลอด ไปสอนบ้าง เป็นวิทยากรบ้าง ตั้งแต่เกษียณไปทุกวัน จนได้ศิลปินแห่งชาติ ก็ไม่ได้ไปสอนตามโรงเรียน ได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์พิเศษไปเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย ดนตรีไม่เคยเลือกอายุเลย อายุมากก็เล่นได้ก็ดีนะ ตอนนี้ทางกองทุนส่งเสริมก็จะให้ทำเพลง ก็จะนำเพลงในสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อเพลงให้มาทำ จะมีการอัดไปให้ทั้งโยธวาทิตและแบบไทย ไปอัดที่ดุริยางคศิลป์มหิดล ผมแต่งเพลงเถาว์ไป ท่านแต่งเนื้อเทิดทูนรัชกาลที่ 5 จะอัดไปถวายท่าน ผมประพันธ์ทำนอง ท่านทรงนิพนธ์เนื้อร้อง”
มองดนตรีผ่านกาลเวลา
ด้วยความที่แทบจะเรียกได้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ได้ดำเนินอยู่ท่ามกลางเสียงของดนตรีที่มีกาลเวลาเป็นตัวแปร ในทัศนะที่เขาได้มองเห็นนั้น คำว่า ‘อนุรักษ์’ จึงยังดูห่างไกลกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาก
“เพลงไทยสมัยเก่าจริงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอนุรักษ์กัน อย่างคนเล่นตามงาน เช่น งานศพ เขามีเพลงยาวเล่นกันทั้งคืน สมัยนี้เล่นนิดเดียวจบ เดี๋ยวนี้ได้สมเด็จพระเทพรัตนฯ ช่วยอุปถัมภ์ก็ดีไป ลูกทุ่งลูกกรุงเดี๋ยวนี้ก็ไม่เหมือนก่อน เมื่อก่อนเขาเอาการเล่น เพลงลิเก ฉ่อย ดนตรีไทยมาใส่ ตัดท่อนเพลงไทยมาแล้วมาใส่เพิ่ม แต่งเพิ่มเอา ส่วนที่ว่าดนตรีเดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องใช้คนเล่นก็อย่าไปพูดถึงเขาเลย เดี๋ยวนี้ต้องถามว่า ฟังเพลงหรือดูเพลง จะฟังหรือจะดูภาพ แต่มันก็ดีไปอีกแบบนะ (หัวเราะ)
พันโทวิชิต โห้ไทย
“ถ้าจะเอาดนตรีไทยมาเล่นเพลงสากลมันต้องมีการมาเทียบเสียงใหม่ เขามีขี้ผึ้งมีอะไรอยู่ ก็เอามาเทียบเสียงให้เข้ากับสากล แต่ในเรื่องของการสืบทอดโน้ตจากเพลงไทยเป็นสากลนั้นไม่มีอุปสรรคอะไร เพลงมันก็ไปเป่าไปตามเรื่อง ปัญหาอยู่ที่นักดนตรี คนเป่าคนเล่นมันติดสากล เป่าหรือเล่นเครื่องดนตรีมาเป็นดุ้นๆ ต้องเอามาปรับมาสอนกันใหม่ ไม่เป่าไม่เล่นแข็งๆ มันก็ไม่ผิดหรอก แต่เอามาเล่นเพลงไทยต้องอ้อนหน่อย ให้ได้สำเนียงเพลงไทย เล่นเครื่องสากล
ให้ได้เหมือนเล่นเครื่องดนตรีไทย
“แล้วเดี๋ยวนี้ตามโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยเขามีสอนนะ เมื่อก่อนไปประกวดประชันชนะมาผมคิดว่ายังใช้ไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ครูเก่งขึ้นสอนเด็กเขาจบมา เขามีแข่งวงโยฯ แบบดิสเพล เมื่อก่อนเคยไปเป็นกรรมการ แต่มันกลับดึก ผมก็เลยไม่ไป เด็กเดี๋ยวนี้เก่ง ผมฟังรู้เลยว่าฝึกมากี่ปีๆ ดนตรีมันไม่ได้ฝึกหัดยากเหมือนสมัยผมแล้ว มีโรงเรียนสอนเยอะ แต่จากตัวผมเองก็หมดห่วงตรงที่ผู้สืบทอดของผมมีแล้ว เป็นลูกชายคนโต ซึ่งก็ดำเนินรอยเป็นครูอยู่ดุริยางค์ทหารบก เขาก็จะช่วยสืบสานต่อไป”