บ้านนาตอง
ระหว่างหนทางบนถนนสายเล็กกลางขุนเขา โลกเช่นนี้มีอยู่จริง ... และกระตุ้นเตือนให้ใครสักคนที่ดั้นด้นขึ้นมาสัมผัสได้รับรู้ว่า นาทีจริงแท้ของคนกับภูเขานั้นแสนอบอุ่นงดงาม
สายน้ำ แมกไม้ ตลอดจนเนื้อหินและดินล้วนมากไปด้วยเรื่องราวของคืนวัน ทั้งการปักหลักดิ้นรน ต่อเนื่องถึงความผสมกลมกลืนที่พร้อมจะก้าวเดินร่วมกันกับคนอื่นๆ ผ่านเข็มนาทีปัจจุบัน
แม้ว่าหนทางรอบด้านจะชักนำสิ่งใดก้าวล้ำล่วงเลยขึ้นมา ...
ยามเช้าของวันหนึ่งในฤดูฝน เราออกจากตัวเมืองแพร่ท่ามกลางความเงียบสงบของประตูสู่ล้านนาตะวันออก ภูมิประเทศแอ่งที่ราบกลางขุนเขาชักนำให้เลือกสวนความสูงขึ้นไปหาป่าเขียวชื่นกลางนาทีฉ่ำฝน
รอบด้านรายทางคือโมงยามแรกเริ่มในผืนนา กล้าข้าวแตกยอดประปรายเป็นเส้นสีเขียวบนแผ่นดินที่ถูกพลิกฟื้น ขณะรถจี๊ปคันเล็กค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับภูเขา
ถนนเล็กๆ สายนั้นผันเปลี่ยนไปในนามของชีวิตที่ดีงาม เติบโต มันนำพาผู้คนมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ ราบเรียบงดงามไร้ที่ติ ขณะที่ผู้คนสองฟากฝั่งก็ยังจดจำตลาดเล็กๆ อันเป็นที่พบกันระหว่างเมืองและป่าเขา ณ ตำบลแห่งนี้ได้ดี
นาทีที่เราขึ้นไปถึงบ้านนาตอง หมู่บ้านในหุบเขาที่เคยเป็นดังที่ทางอันหลบเร้นในนิทานเมื่อสมัยก่อน ณ นาทีที่เข็มปัจจุบันเวียนมาถึง ไม่มีใครฟูมฟายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแผ่นผืนสีเขียวของขุนเขา
ทางหลวงหมายเลข 1022 ผันเปลี่ยนไปจากสิบปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ทางดินและหลุมบ่อหมาดโคลนคอยฉุดรั้งรถไร้กำลังถูกทดแทนด้วยพื้นผิวแอสฟัลต์ราบเรียบ ลัดเลาะลงสู่หมู่บ้านที่มี ‘ห้วยน้ำก๋อน’ ไหลผ่านกลางอย่างเย็นรื่น
รอบด้านคือที่ราบกลางหุบเขาอันน่าหลงใหลเมื่อไปถึงหมู่บ้านในนิทานคล้ายปรากฏตรงหน้าอีกครั้ง ลำห้วยสายโบราณที่เราเคยมาถึงแผ่กว้างและเติบโตด้วยการชลประทาน บ้านเรือนมั่นคงแข็งแรงทดแทนกระท่อมแบบดั้งเดิม
เมื่อลองสำรวจวิถีชีวิตชาวบ้านด้วยการเดินไปตาม สวนผลไม้ตามไหล่เขา ลัดเลาะลงไปในความเก่าแก่ของผืนแผ่นดินและป่าโบราณ เมื่อไปถึงแหล่งโบราณคดีชุมชน บ้านนาตอง โถงถ้ำตรงหน้าก็ชัดเจนด้วยหลุมขุดค้น โครงกระดูกมนุษย์โบราณ
หน้าถ้ำปู่ปันตาหมีคือร่องรอยของภูเขาที่เคยมีมนุษย์โบราณพักพิงอาศัย เครื่องมือหิน โครงกระดูก การฝังศพ และเครื่องประดับบ่งบอกว่าในถ้ำแห่งนี้เคยมีมนุษย์โบราณอย่างน้อย 8 คน ไล่เรียงอายุตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ รายรอบพบกระดูกสัตว์อย่าง เต่า ปู หอย ที่พวกเขาใช้เป็นอาหารตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่
หากใครมาเยือนบ้านนาตอง ก็มักจะได้พบกับมัคคุเทศก์ชั้นดี ซึ่งก็คือนักเรียนที่เป็นลูกหลานของพวกเขาที่เติบโตมากลางขุนเขาอันเก่าแก่ของคนรุ่นปูย่า มีคืนวันและการเรียนรู้ทำความเข้าใจแผ่นดินที่เป็นบ้านอย่างถ่องแท้
กลุ่มถ้ำอันเป็นแหล่งเรียนรู้แยกย่อยอย่าง ‘ถ้ำพระ, ถ้ำเก๊กอุ๊น, ถ้ำรันตู’ แตกย่อยเป็นความงดงามของโพรงหินและเหลื่อมลาย ขณะที่พิพิธภัณฑ์บ้านนาตองในโรงเรียนกลางหมู่บ้านกลับฉายชัดภาพเก่าแก่ในโถงถ้ำออกมาอย่างเด่นชัด
ในห้องเรียนเรียบง่าย โครงกระดูกของ ‘นาตอง แมน’ ที่ได้รับการยืนยันจากศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SPAFA) ว่าอายุของมนุษย์โบราณคนนี้เก่าแก่ราว 4,500 ปี แสงบ่ายไล้ผ่านหน้าต่างไม้ ขวนหิน ค้อนหินรวมไปถึง ‘หินโดนัต’ ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นเครื่องมือการเกษตรในยุคหินใหม่บ่งบอกว่าพวกเขาไม่เพียงล่าสัตว์ หากยังเพาะปลูกเพื่อดำรงชีพ
ความเก่าแก่ตกทอดสั่งสม ดั่งเพาะบ่มให้บ้านกลางขุนเขาแห่งนี้มีเรื่องราวและที่มา...
จากแต่เดิมที่บ้านนาตองเคยเป็นพื้นที่ทำกินของคนขมุเย้า และมลาบรี เมื่อคนเมืองจากแถบบ้านป่าแดง บ้านต้นไคร้ และอีกหลายท้องที่ในเขตเมืองแพร่รู้ว่า ที่ดินกลางหุบเขากว่า 580 ไร่แห่งนี้แสนสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า หมู่บ้านเล็กๆ จึงเกิดการก่อตั้งมากว่า 150 ปี
แผ่นดินถูกปรับเปลี่ยนจากไร่เลื่อนลอยสู่สวนเมี่ยงอันแสนเก่าแก่ นับรวมไปถึงไม้ผลพื้นถิ่นและการเติบโตของชีวิต ตามสันดอยปรากฏเป็นสวนเมี่ยงโบราณที่หล่อเลี้ยงให้คนบ้านนาตองเต็มไปด้วยทิศทางทำกิน
หากจะพูดถึงอาหารพื้นถิ่นอย่าง ‘เมี่ยงนาตอง’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้หากมาเยือนที่นี่ ซึ่งในแต่ละที่ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป อยู่ที่ช่วงการเก็บและการนึ่งหรือดอง เรียกได้ว่าพืชตระกูลชาชนิดนี้ตกทอดอยู่ในวัฒนธรรมการกินของคนในเขตภาคเหนือมาช้านาน
หากเป็นกลางวัน หมู่บ้านล้วนสงบเงียบและเป็นบ้านของเฒ่าชราและเด็กๆ ชาวบ้านหลายคนหายไปในป่าเขา เราเดินข้ามห้วยน้ำก๋อน ส่งยิ้มทักทายตามบ้านโน้น บ้านนี้ขณะที่ป่าเขาอันโอบล้อมระบายสีเขียวของฤดูฝน มันดูเป็นภาพงดงามเรียบง่ายอันฉายชัดในความเป็นอยู่ของคนกับภูเขาอย่างถึงที่สุด
ถือเป็นภาพที่พวกเขาล้วนหวงแหนและพร้อมจะส่งต่อสู่ลูกหลานไม่ว่าทิศทางของวันพรุ่งนี้จะดำเนินไปเช่นไร ...
วันที่นั่งอยู่ริมสายน้ำใสเย็น ใครสักคนกำลังเพลิดเพลินกับเต่าปูลู-เต่าสายพันธุ์ภูเขาหางยาว ที่พบมากในเขตเขาบ้านนาตอง ก็อดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงคืนวันราวฝันร้ายที่คนบ้านนาตองเพิ่งผ่านพ้น
ข่าวน้ำป่าพาพัดดินโคลนเข้าถมทับบ้านนาตองช่วงปี พ.ศ. 2549 ค่อยเลือนหายไปตามกาลเวลา ห้วยน้ำก๋อนที่เคยคดโค้งและเรียงรายด้วยบ้านไม้งดงาม กลับกลายกว้างขวางด้วยการขุดลอกและปรับเป็นฝายชะลอน้ำ
บ้านเรือนหลายหลังย้ายขึ้นไปสร้างใหม่ตามเนินเขา ฝันร้ายคืนนั้นมาน้ำและดินกวาดบ้านพังลงมาเป็นแถบๆ ชาวบ้านพบตัวตนแห่งความเสียหายและการเยียวยา ความช่วยเหลือเบื้องต้นจากภายนอกไม่เพียงพอเท่าการดูแลซึ่งกันและกัน แล้วพวกเขาก็เริ่มต้นใหม่ ด้วยการตั้งกฎ กติกา ข้อตกลง ในการอยู่ร่วมกับป่าเขาที่เป็นป่าต้นน้ำถูกทำความเข้าใจและตกลงกันในหมู่บ้าน พร้อมกับหันมาใส่ใจในห้วยน้ำก๋อน กำหนดพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตหมู่บ้าน การห้ามล่าสัตว์และตัดไม้ รวมไปถึงกรอบกฎที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกัน
ที่สำคัญชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ที่มาตั้งที่ทำการอยู่เหนือยอดเขาใกล้หมู่บ้าน ไม่เพียงร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำ หากยังเลือกทิศทางให้ที่นี่เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้เรื่องราวระหว่างคนกับป่าอย่างมีมิติ
จนหลายปีมานี้ ที่นี่กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจพากันมาปักเต็นท์ ตั้งแคมป์กันในหน้าหนาว มาเที่ยว มาดูความเป็นอยู่ สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวชนบทแบบดั้งเดิมอันมีเสน่ห์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ว่าไปแล้ว... ในความงดงาม ชีวิตของคนที่นี่อาจเปรียบคล้ายภูเขาและสายน้ำที่หล่อหลอม ทั้งเก่าแก่ คงทน รื่นเย็น ทว่าก็ผ่านพ้นทั้งริ้วรอยบาดแผลและการเรียนรู้เยียวยาตนเองจนเกิดเป็นหนทางอันแสนชัดเจน ซึ่งการหมุนผ่านของคืนวันกลางหุบเขาก็ไม่ใช่เรื่องของการร้างไร้และเปล่าดาย
How to Go?
การเดินทาง
บ้านนาตอง จากเมืองแพร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1022 ผ่านพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ ขึ้นเขาสู่บ้านนาตอง ราว 20 กิโลเมตร
การติดต่อ
ที่หมู่บ้านมีบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ พักค้างแรมกับชาวบ้าน ชิมอาหารท้องถิ่นท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมไปถึงเรียนรู้อาชีพต่างๆ ผ่านกิจกรรมมากมาย ติดต่อชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านนาตอง โทร. 0-5452-9060-1
หรือ ททท. สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452- 1127 www.tourismthailand.org/phrae