EYE VISION
จากการทำมิวสิควิดีโอรูปแบบใหม่เล่นๆ สนุกสนานในรั้วมหาวิทยาลัยสู่โลกของการทำงานจริงที่ผสมผสานไปด้วยสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ วันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะนำเสนองานในรูปแบบของตัวพวกเขาผ่านบทเพลงต่างๆ ในรูปแบบของ Eyedropper Fill
“จุดเริ่มต้นของกลุ่มเรามันเริ่มมาจากการเป็นเพื่อนกันที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ครับ ในตอนนั้นได้มีโอกาสจับกลุ่มกันทำงานในอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราเริ่มได้รู้แล้วว่ามีความชอบในเรื่องของภาพเคลื่อนไหวเหมือนกัน เริ่มทำงานกันเล่นๆเวลาที่คณะมีการจัดงาน ซึ่งชื่อของ Eyedropper Fill มันเกิดขึ้นตอนเรียนครับวิชาฟิสิกส์แล้วเราว่างเลยมานั่งคุยกันหลังห้องว่าจะใช้ชื่อกลุ่มอะไรดี อยากได้ชื่อเท่ๆ ครับจนไปเจอว่า Eyedropper Fill ...
“ส่วนผลงานแรกที่ทำนอกเหนือจากตอนเรียนคือ เพลงบาด ของวง LOMOSONIC ครับ ตอนที่ได้ทำส่วนตัวพวกเรารู้สึกว่าเหมือนเราทำงานส่งอาจารย์นะ มันเป็นงานที่ทุกคนเห็นผลงานพวกเราหมด คนดูเป็นคนตรวจงานก็รู้สึกดีใจที่คนชอบผลงานของเรา คนดูเข้าใจในตัวงานหรือสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็สื่อสารกับคนอื่นได้
EYE VISION
“ในตอนแรกไม่มั่นใจเลยว่างานมันจะสื่อสารกับคนดูได้รึเปล่า เพราะมีความเป็นอาร์ตมากกับสิ่งที่เราเรียนมา อันนี้เหมือนเป็นชิ้นแรกที่ทำให้เราก้าวผ่านข้ามความกังวลในการทำงานของเรามาครับ แต่ถ้าเป็นผลงานที่คนทั่วไปรู้จักพวกเราจริงๆ เลยก็น่าจะเป็น เพลง The Haunted House ของวง PART TIME MUSICIANS ครับ เราจะยกเพลงนี้ไปทุกๆ ครั้งที่เวลามีคนมาถามว่าอันไหนมันสร้างชื่อให้กับเรา เพราะว่าผลงานชิ้นนี้มันคือการทดลองเลยก็ว่าได้ครับ เป็นการทดลองทำมิวสิควิดีโอให้เป็นการนำเสนอตัวตนของเราจริงๆ ดูสักครั้ง เพราะปกติเราจะทำงานกันในรูปแบบของการจ้างงานมาแล้วเราก็ทำกลับออกไป ผลงานชิ้นนี้มันคือการที่เราได้เรียนรู้สังเกตและลองทำอะไรใหม่ๆ ดูจากประสบการณ์ที่เรามี ซึ่งเรารู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้มันคือก้าวแรกที่สำคัญของ Eyedropper Fill เลยก็ว่าได้ครับ เพราะมันเป็นเหมือนงานที่เราเริ่มเจอทางตัวเองแล้วค้นพบการทำงานของตัวเราเองแล้ว เรียกได้ว่าผลงานนี้มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยในปีนี้ก็ได้เช่นกันครับ”
แม้ว่าด้วยชื่อของทีมจะถูกหยิบยกมาใช้ในเชิงความหมายทางวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเองก็ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากนัก เพียงแต่ใช้บริบทของกระบวนการคิดการช่างสังเกตการณ์ การวิเคราะห์ และตั้งสมมุติฐาน มาใช้ในการทำงานจนกลายเป็นคอนเส็ปต์นั่นเอง
EYE VISION
“การที่เราทำงานด้วยความสงสัยมันสนุกนะครับ เพราะเมื่อเราสงสัยแล้วลองตั้งสมมุติฐาน ตั้งการค้นหาสำหรับเรื่องนั้นที่เราสนใจ เราว่ามันเป็นกระบวนการทำงานของมันมีรูปแบบที่น่าสนใจดี เราชอบช่วงเวลาที่นั่งทำงานกันแบบช้าๆ เพราะยุคนี้การทำงานในหลายส่วนมันเร็วเกินไป พอมาทำงานพวกนี้แล้วได้สัมผัสกับความช้าในการทำงาน ก็รู้ว่าผลงานที่ทำมันจะมีเวลาเติบโตของมันเอง ในปัจจุบันมันมีกระบวนการคิดให้ตัวเราเองได้เลือกใช้มากขึ้น มันจะเกิดคำถามขึ้นมาในหัวเราตลอด ซึ่งเรารู้สึกว่ากระบวนการคิดมันมีส่วนในการทำงานของเรามากครับ”
กว่า 6 ปี ที่พวกเขาเดินทางมา แม้จะเติบโตด้วยมิวสิควิดีโอแต่กลับมองว่านั่นยังเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งที่เป็นตัวปล่อยไปให้คนดูได้คิดอะไรมากขึ้นจากตัวเพลง พวกเขาได้มีส่วนทำให้เพลงกับภาพได้พัฒนาตัวคนดูไปพร้อมๆ กัน แม้จะยังไม่ทิ้งสิ่งเหล่านี้แน่นอน แต่ในรูปแบบที่แตกต่างของความต้องการอื่นๆ ต่อไปนั้น พวกเขาก็ยังคงเลือกที่จะรอผลการทดลองและตกตะกอนทางความคิดอีกสักครั้ง
EYE VISION
“ทุกครั้งที่ทำงานออกมาเราจะพยายามทำเบื้องหลังมันออกมาให้คนอื่นได้ดูตลอด แม้ว่าคนอื่นจะบอกว่ามันไม่ดีนะแต่เรารู้สึกว่าอยากจะลองแบ่งปัน อยากให้คนได้เห็นบ้าง บางคนที่มาเห็นงานเบื้องหลังการทำงานของเราแล้วเอาไปต่อยอดได้ เรามองว่ามันอย่างน้อยมันก็ยังช่วยได้ของคนที่เรียนสายเดียวกันได้ และเมื่อเราได้กลับมาดูมันอีกครั้งในเวลาที่ผ่านไป มันจะเหมือนกระจกสะท้อนตัวตนของเราว่าในตอนนั้น ปีที่แล้วเราคิดอะไรอยู่แล้วตอนนี้ล่ะคิดอะไรอยู่
“เอาจริงๆ แล้วในการทำงานของพวกเราค่อนข้างจริงใจกับตัวเอง ค่อยๆ ทำมันไป มีจรรยาบรรณในการทำงาน เปิดใจรับฟังคนอื่นและพัฒนาตัวเองตลอด แค่นี้ก็พอแล้วนะเราต้องพร้อมน้อมรับคำติและยอมรับให้ได้ เพราะการไม่หลอกตัวเองมันคือที่สุดของการทำงานแล้วครับ”