จันทบุรี...

จันทบุรี...

หลายวันที่เราพาตัวเองมาทำความรู้จักเหล่าชาวสวนผลไม้แห่งหัวเมืองตะวันออกอย่างจันทบุรี กลางห้วงยามที่พืชพรรณบนภูเขาสุกงอม และหล่อหลอมให้ชีวิตเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ไม่มีใครปฏิเสธรอยยิ้มแห่งผลิตผล แม้ว่าทางเดินของมันจะแทรกซ่อนไว้ด้วยเงื่อนไขประเภทใด

1 ...

เราสืบเท้าตามเธอเข้าไปในโอบล้อมของสวนผลไม้แห่งชุมชนเขาบายศรี ภูเขาเนินเตี้ยๆ ที่แผ่ขยายเป็นดั่งตะกร้าผลไม้ของคนอำเภอท่าใหม่ นาทีเช่นนี้ราวกับโลกทวนย้อนไปสู่วันวาน

ทางเดินไต่ลัดไปตามเรือกสวนที่แผ่ขยาย ทุเรียนพื้นบ้านอย่างพวงมณีหยัดยืนต้นสูงสะท้อนอายุเป็นร้อยปีอยู่ในแวดล้อมของหมอนทอง ก้านยาว นาทีต้นฤดูฝนเช่นนี้ หากในอากาศอัดครึ้มของเมืองที่ล้อมด้วยขุนเขาและทะเลอย่างเมืองจันท์ ความอัดอ้าวไม่อาจกั้นขวางหนทางชีวิต เสียงเก็บทุเรียนจากสวนนั้น สวนนี้ แว่วให้ได้ยินอยู่ตลอดเส้นทาง

ชาวบ้านที่นี่ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อยอดให้สวนผลไม้และผู้คนได้มีทางเลือก จึงเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี (บ้านแซงลึก) ที่มีกลุ่มสวนผลไม้เข้าร่วม หันหน้าเข้าหาการท่องเที่ยวเพื่อเดินหน้าควบคู่ไปกับราคาผลไม้ในตลาดหลัก ที่บางทีชาวสวนผู้ลงแรงกลับไม่ได้เป็นผู้กำหนด

หากมองจากกิจกรรมที่กลุ่มรักเขาบายศรีทำ อาจคล้ายหลายสวนผลไม้ในเมืองจันท์ ที่การเที่ยวชมและชิมผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด เงาะ ระกำ ที่สุกงอมตามฤดูกาลจะเป็นจุดเด่น ทว่าลึกลงไป พวกเขาล้วนมุ่งหมายให้หลายอย่างดำเนินไปมากกว่านั้น

ลัดเลาะผ่านสวนระกำ กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เจืออยู่ในโคนต้นที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พวงระกำอันเกิดจากการตัดดอกระกำตัวผู้เพื่อผสมเกสรสละตัวเมียติดพราว คนที่นี่รู้จักและเข้าใจการแตกยอดในงานเกษตรกรรมมาอย่างชาญฉลาด “เอาเอกลักษณ์เด่นของสละ คือออกผลเป็นพวง เป็นเครือ มาให้ระกำ” ซึ่งที่นี่ยังมีอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดิน ที่หล่อเลี้ยงสวนโบราณเหล่านี้ไว้ได้ในยามน้ำแล้ง

ใครสักคนนั่งลงตรงโคนต้นทุเรียนโบราณอย่างพวงมณี ผลสุกติดอยู่ตามต้นที่เหยียดสูงขึ้นไปชนิดมองคอตั้งบ่า อายุร้อยกว่าปีของมันก่อเกิดเป็นความครึ้มร่ม ครั้นเมื่อตัดขั้วและเปิดเปลือกแหลมคมสู่พูด้านใน เราได้ลองความอร่อยหอมอันแสนเก่าแก่ ว่ากันตามตรง นาทีเช่นนี้เราอาจเหมือนเด็กน้อยที่ได้รับรางวัลอันโอชะจากผู้ใหญ่ใจดี

สวนผสมไล่เรียงกันจนเกิดเป็นเส้นทางอันหนาตาและหอมหวาน เงาะโรงเรียน มังคุดที่ขนาดกำลังสวยกำลังเขียวนวลรอวันสุก ปลายทางของมันไม่ได้อยู่ในบ้านเราแล้วเท่าไหร่นัก

บ้านไม้ริมถนนสายสงบในหมู่ 4 หลังนี้ ไม่เคยจางหายผู้มาเยือน เรากลับมาคลายร้อนท่ามกลางทุเรียนส่งกลิ่นหอม พี่นงลักษณ์คะยั้นคะยอให้ชิมทุเรียนหลากหลายชนิดพันธุ์ โลกแห่งการงานไหลเวียนไปพร้อมๆ กับคนเข้ามาท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

บ้านพักโฮมสเตย์ในสวนผลไม้ด้านหลังวางตัวเรียบง่ายในความร่มรื่น ขณะที่คนในครอบครัวล้วนพร้อมหน้าในยามเย็น การงานจากสวนผลไม้กลายเป็นภาพชีวิตตรงหน้า ทั้งคัดมังคุด แยกทุเรียนที่สุกคาต้นและหล่นช้ำเตรียมทำทุเรียนกวน

หากวันเวลาผลักพาผู้คนให้เติบโต ภูเขาและเงาไม้ใหญ่ของผลไม้โบราณ ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งอาจคล้ายโลกที่หล่อหลอมผู้คนตรงนี้ขึ้นมา ผู้คนที่ลืมตาขึ้นมาเพื่อพบว่า พืชผลล้วนมีค่าและเต็มไปด้วยความอบอุ่น หากพวกเขาไม่หันหน้าหนีหายไปจากมัน

2 ...

มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างคันนั้นวนเวียนอยู่ในทางดินที่บ้านหมู่ 8 แห่งตำบลเขาบายศรี เรามองเห็นใบหน้าเข้มแดดลมและรอยยิ้มของเขามาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง สงสัยเหลือเกินว่า การเวียนวนอยู่ตามเส้นทางเดิมๆ ทั้งวี่วันนั้นมันให้ความรู้สึกเช่นไร ...

เราเข้ามาที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี ห้วงยามแห่งการเก็บเกี่ยวสะท้อนอยู่ตรงกองทุเรียนหมอนทองตรงหน้า มันราวกับกำแพงสีเขียวอันแหลมคม ทว่าก็เปี่ยมอยู่ด้วยความหวังและหยาดเหงื่อแรงงานอันแสนจริงแท้

หากไม่นับมังคุด ลองกอง หรือระกำแล้ว ทุเรียนก็เหมือนจะเป็นหัวใจหลักของชาวสวนจันทบุรี และฤดูกาลเก็บผลไม้ราวเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนนั้น คือสิ่งตอบแทนสำหรับแรงกายแรงใจที่พวกเขาลงกันไปทั้งช่วงปี

ด้านบนกิ่งก้านที่เหยียดสูงแทบทุกต้นมีชายคล่องแคล่วป่ายปีนไปราวกับมันเป็นทางเดินเล่นเหนือที่สูง ต่ำลงมาเบื้องล่างนั้นราวแยกกันไม่ได้ ผ้ากระสอบในมือคนที่คอยรอยามทุเรียนหล่นร่วงสะท้อนเสียงดังป้าบๆ เมื่อคนข้างบนตัดปลิด

มันเป็นสัมพันธภาพกลางสวนอันน่าเพ่งมองทำความเข้าใจ คนข้างบนเฝ้ามองทุเรียน ดูและกะเอากับลูกที่ใกล้สุก ได้ขนาด ขณะข้างล่างนั้นเต็มไปด้วยสมาธิท่ามกลางความขวักไขว่ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ปะปนไปในสารทุกข์สุกดิบและความหวังสำหรับเรี่ยวแรงในแต่ละวัน

ไม่เพียงทุเรียนคละขนาด ที่ส่วนใหญ่แต่ละสวนจะคัดลูกสวยๆ เพื่อส่งออกขายไปไกลถึงเมืองจีน หากเป็นลูกที่หล่นร่วง หรือหนามไม่สวย ไม่ได้หมายความว่าข้างในนั้นจางคลายความอร่อยหอมหวาน

ในฤดูกาลที่พืชผลผ่านพาตัวเองมาถึงเวลา เราอาจไม่ต้องการคำอธิบายใดเลยหากเห็นชายหน้าคมเข้มขับเวียนมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่ก่ายกองไปด้วยทุเรียนเพียบพูน วนเวียนไปมาอยู่ในทางดินราวกับมันไม่มีวันสิ้นสุดในแต่ละห้วงวัน

อาจเพราะมันเป็นโมงยามที่พืชผลและฤดูกาลได้มีค่าถึงที่สุดกับผู้ที่เพาะบ่มมันขึ้นมา

3 ...

ฝนพรำในยามสายคลายแดดจัดลงบ้าง เรือกสวนและลานหญ้าเต็มไปด้วยหมอกชื้นลอยจางๆ เมื่อเราเลือกจักรยานคันเล็กๆ พาตัวเองไปรู้จักกับอีกด้านของสวนผลไม้แห่งหนึ่งในอำเภอมะขาม ด้านที่ใครสักคนเลือกมันให้เหมาะกับสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยว

ที่ดินกว่า 50 ไร่ ถูกพลิกฟื้นให้กลายเป็นบ้านของทุเรียน มังคุด และสละ สวนเคพี การ์เด้น จันทบุรี กลับกลายเป็นที่ทางของพืชผลชั้นดีที่มีปลายทางอยู่ในตัวเมืองจันทบุรี

“เราใช้ทั้งผัก ผลไม้ ให้กับลูกค้าผู้มาเยือนโรงแรม มันปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง” ใครสักคนที่นั่นเล่าถึงโรงแรมเก่าแก่คู่เมืองจันทบุรีอย่าง เคพี แกรนด์ ที่มีจุดเด่นหนึ่งคือผลไม้และผักปลอดสารพิษต่างๆ อันเป็นวัตถุดิบ

แปลงผักไฮโดรโพนิกส์เล็กๆ แต่เต็มไปด้วยการดูแลเอาใจใส่แทรกตัวอยู่ข้างเรือนไม้ที่เป็นส่วนรับรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอาณาจักรสีเขียว ก่อนใครสักคนจะชักชวนกันปั่นจักรยานคันเล็กๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสวนผลไม้ที่รับประกันได้ถึงการปลอดสารเคมีในทุกอณูภายใต้ “โครงการเคพี กรีน” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

อากาศสดสะอาดและความรื่นรมย์นั้นเพียงพอจะนำพาเราเข้าสู่แดนดินแห่งความหอมหวาน ลองกองติดพวงสวยอยู่ที่กิ่งก้าน เงาะและมังคุดก็เช่นกัน ที่นักท่องเที่ยวสักคนเลือกปลิดหยิบมันออกจากขั้วผล ลิ้มชิมมันอย่างเพลิดเพลินกับรสชาติแห่งแผ่นผืนดิน

ลมบ่ายกวัดไกวรื่นรมย์ รอบด้านเต็มไปด้วยสีเขียวรื่นตา และห่มคลุมอยู่ด้วยความตั้งใจประเภทหนึ่ง

ความตั้งใจที่จะเห็นผู้คนและเหล่าพืชพรรณเติบโตร่วมกันไปในความยั่งยืน

4 ...

ภายในพื้นที่ 109 ไร่ ในเขตบ้านโตนด อำเภอมะขาม นั้นเต็มไปด้วยภาพแห่งการศึกษาพัฒนาและความห่วงใยในแผ่นผืนดิน

ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ.2521 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่ในแถบเมืองจันทบุรีนั้นจะเติบโตด้วยการทำสวนผลไม้ แผ่นดินหลายผืนถูกพลิกฟื้น เปลี่ยนแปลง และเต็มไปด้วยการขยับขยายทั้งจากคนเมืองจันท์และคนจากต่างถิ่น การก้าวเดินควบคู่ทั้งการเกษตรและการชลประทานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้

ยามนั้นศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เกิดขึ้นภายในพื้นที่ 109 ไร่ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่ดินสวนผลไม้ซึ่งมีลำคลองรื่นเย็นไหลผ่านจึงเกิดก่อขึ้นเพื่อเป็น “ทางหลัก” ให้พสกนิกรได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาและรู้จักดูแลผืนแผ่นดินที่เป็นที่ทำกิน

พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาไม้ผลฯ เป็นตัวอย่างของการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่เดินร่วมกันระหว่างดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งห้วงยามนั้นหลายคนอาจยังมองไปไม่ถึง

เราค่อยๆ ก้าวเข้าสู่แนวสวนศึกษา แปลงทุเรียนจันทบุรี 1, 2 และ 3 เรียงรายผ่านการทดลองพัฒนาสายพันธุ์และเริ่มเป็นที่นิยมของชาวสวนหลายพื้นที่ ขณะที่ทุเรียนพันธุ์เก่าแก่อย่างนวลทองจันทร์ พวงมณี แทรกแปลงปลูกอยู่ในสวนผลไม้ผสมอันหลากหลาย เป็นการสะท้อนถึงการทำสวนผสม ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันเต็มไปด้วยความใส่ใจดูคุณภาพดิน

มันคล้ายอาณาจักรเล็กๆ ของพืชผลและการเรียนรู้แหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก รวมไปถึงเทคโนโลยีการเกษตร ถูกแบ่งสัดส่วนไว้ท่ามกลางการก้าวเดินสัมผัสอีกมิติของสวนผลไม้อย่างรื่นรมย์

มันคล้ายสวนในอุดมคติที่ทุกอย่างเกื้อกูลกันตั้งแต่ ลม น้ำ เนื้อดิน และพืชพรรณ โดยมีคนตัวเล็กๆ เฝ้าเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าการเติบโตเปลี่ยนผ่าน

โฉนดที่ดิน 109 ไร่ อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ฉายชัดอยู่ที่บอร์ดนิทรรศการ ครั้นใครสักคนก้าวเดินผ่านเส้นทางที่พาไปรู้จักการศึกษาและพัฒนาในหลายภาคส่วนมาเมื่อครู่ ยืนมองประวัติที่มาของแผ่นดินเล็กๆ ผืนนี้

นาทีนั้น ท่ามกลางสวนผลไม้ที่โอบล้อมอยู่ด้วยขุนเขา อาจคล้ายความสมบูรณ์ได้ห่มคลุมพื้นที่ คล้ายสายธารชื่นเย็นและรสชาติแห่งผืนแผ่นดินแห่งหนึ่งนั้นห่มคลุมอยู่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

หลายวันแล้วที่เราพาตัวเองมาทำความรู้จักกับพวกเขา ชาวสวนผลไม้แห่งจันทบุรี ไม่มีนาทีใดงดงามไปกว่ายามที่ใครสักคนปลิดปลดผลไม้ลงจากขั้ว ค่อยๆ คัดแยกละทยอยลำเลียงลงตะกร้า และเฝ้าดูมันเดินทางออกไปจากผืนดินที่บ่มเพาะมันขึ้นมาอย่างเปี่ยมความหวัง 

How to Go?

การเดินทาง

จากตัวเมืองจันทบุรี สามารถเดินทางไปเที่ยวสวนผลไม้ต่างๆ ทั้งแบบทัวร์วันเดย์ทริป หรือนอนค้างแบบโฮมสเตย์ สามารถเที่ยวชิมผลไม้ เรียนรู้วิถีภูมิปัญญาของชาวสวนเมืองจันทบุรี รวมไปถึงสัมผัสความร่มรื่นงดงามของสวนเก่าแก่ของเมืองที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคตะวันออก

สวนผลไม้แนะนำ

สวนเคพี การ์เด้น หมู่ที่ 2 ตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทร. 0 - 3932 - 3201 -10 หรือ 08 - 9833 - 0645  www.kpgrand.com

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี (บ้านแซงลึก) เลขที่ 11/1 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทร. 08 - 3078 - 8002 และ 08 - 6834 - 9604

สวนป้าแกลบ เลขที่ 42 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทร. 0 - 3935- 694, 08 - 6366 3097 และ 08 - 1936 - 4585

ศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เที่ยวชมโครงการศึกษาและพัฒนาพันธุ์ไม้ผลในเมืองจันทบุรี หมู่ที่ 8 ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทร. 0 - 3937 - 3136

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดจันทบุรี) โทร. 0 - 3865 - 5420 - 1

ระหว่างฤดูกาลอันหวานหอม