นำโชค เพชรแสน
ใครจะไปรู้ว่าโชคชะตามักจะเล่นตลกกับเราอยู่เสมอ บทจะดีทุกอย่างก็ราบรื่นไปด้วยดีไม่เคยติดขัด บทจะโหดหลายสิ่งหลายอย่างต่างพาบททดสอบมาให้ร่วมผ่านด่านกันได้ไม่รู้จบ แต่เหนือสิ่งอื่นใดหากใจเราไม่มีแรงบันดาล ชีวิตที่เกิดขึ้น
ตั้งอยู่แล้วดับไปนั้นก็คงไม่มีความหมายอะไร ...
เหมือนที่คุณนำโชค เพชรแสน คนพิการนั่งวีลแชร์ผู้ไม่เคยย่อท้อในโชคชะตา แม้เขาจะล้มมาหลายต่อหลายครั้งแต่เขาก็ไม่คิดหยุดเดินต่อกลางคัน
“นึกภาพออกไหม วันหนึ่งเราเป็นหัวหน้าทีมแตะฟุตบอลอยู่ดีๆ เด็กอายุ 14 ปี พอประสบอุบัติเหตุแล้วต้องมานั่งวีลแชร์ อารมณ์ตอนนั้นคือทำใจไม่ได้เป็นอย่างมาก ตกใจกับสภาพที่เกิดขึ้น เห็นเพื่อนมาเยี่ยมเราก็ไม่อยากเจอ ทำให้เรากลายเป็นคนมีปมด้อยทันที เรายังยอมรับตัวเองไม่ได้ เก็บตัวอยู่กับบ้านอย่างเดียวเลย ประมาณสองปีไม่ออกไปไหน
“ด้วยความที่พ่อกับแม่เป็นชาวนา เราเห็นความลำบากมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านเป็นหนี้เพราะต้องเอาเงินมารักษาผม ทุกวันต้องตื่นแต่เช้าเตรียมของไปขาย ทำงานก็หนัก เวลาพักผ่อนน้อยมากแต่กลับได้เงินไม่เยอะ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้หมด เลยจินตนาการกับตัวเองว่า อีกสิบปีข้างหน้าถ้าเรายังอยู่ในสภาพแบบนี้ พ่อแม่จะทำงานไหวอยู่หรือเปล่า มันเกิดภาพในหัวว่า ‘ยังไงก็ไม่รอด’ สุดท้ายเราต้องกลายมาเป็นขอทานอย่างนั้นเหรอ แค่นั้นใช่ไหม ... ซึ่งเมื่อคิดทบทวนแล้ว ผมก็รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วตัวเองชอบการเรียนมาก เพราะพ่อแม่เรียนจบเพียง ป.4 ดังนั้นต้องไปให้ได้ไกลกว่าพ่อแม่ นั่นเลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราคิดได้ ต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อ จนเราเริ่มสนใจที่จะเรียนต่อครับ”
นั่นเหมือนเป็นแสงสว่างเพียงจุดแรกจุดเดียว ที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนทันที เขาสามารถขจัดอคติภายในจิตใจออกไปได้ทีละนิด เดินหน้าเรียนต่อระดับชั้น ม.3 ให้จบ แม้จะโดนเพื่อนแกล้ง หรือพบกับความลำบากใดๆ แต่ก็พร้อมที่จะลุยต่อ จนสามารถไปเรียนต่อด้านวิชาชีพที่พัทยา วันหนึ่งเขาเปิดโทรทัศน์แล้วเห็นพิธีกรไทยอ่านข่าวภาษาอังกฤษ เขาจึงบอกกับตัวเองว่าจะต้องขวนขวายที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ จากนั้นเขาก็สามารถหาทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ในที่สุดเขาก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน
“ตอนนั้นที่อยู่สหรัฐอเมริกา ผมเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด เรียนรู้จากโลกภายนอก เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาให้ได้มากที่สุด ทุกอย่างดูกำลังจะไปได้ด้วยดี ผมเรียนหนักมาก จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด วันหนึ่งแม่โทรมาร้องไห้ บอกว่าทำใจดีๆ ไว้นะ ตอนนี้พ่ออยู่ห้องไอซียู เส้นเลือดในสมองแตก ตอนนั้นสมองเราตื้อมาก ต้องเลือกว่าจะกลับไทยไปดูอาการพ่อหรือจะทิ้งการเรียนที่นี่ สุดท้ายจึงตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อ เพราะถ้ากลับไปคือที่เราพยายามไปทั้งหมดมันสูญเปล่า จากนั้นสามเดือนต่อมาพ่อก็จากไป หัวใจคนเป็นลูกแทบสลาย พ่อทำงานหนักมากเพื่อที่จะเอาเงินมาใช้หนี้ที่เราเป็นคนสร้าง เราขอโทษที่เราเป็นต้นเหตุให้พ่อเหนื่อย พ่อบอกกลับมาแค่ว่า ต้องเรียนให้จบกลับมานะ เราเลยตั้งมั่นไว้ว่า ยังไงก็ต้องเรียนให้จบ”
เพราะชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร เขาจึงหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ หลังจากเรียนจบ เขากลับมาเรียนที่ไทยต่อ แถมล่าสุดเขาได้เป็นตัวแทนคนพิการประเทศไทยไปอบรมหลักสูตรการพัฒนาความเป็นผู้นำในเอเชียแปซิฟิกที่แดนปลาดิบ ระยะเวลา 10 เดือน เมื่อกลับมาไทยเขาได้หอบประสบการณ์อันเข้มข้นพร้อมทัศนคติใหม่ ที่เปิดโลกทัศน์ให้แก่เขา
“เวลาไปไหนมาไหนผมไปคนเดียว อย่างเวลาขึ้นบันได ผมจะให้คนอื่นช่วยแต่จะให้คนช่วยแบบไม่ซ้ำหน้ากัน เพราะผมอยากให้เขารู้ว่า เราต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสถาบัน หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อคนพิการ คนท้อง คนชรา เหมือนเป็นการสร้างจิตสำนึก ข้อคิด ให้แก่คนทั่วไปว่า ‘ถ้าผมไม่ออกมาข้างนอกวันนี้ แล้วพวกคุณจะรู้ไหมว่าคนพิการเหล่านั้นที่อยู่บ้าน เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร’ คนที่นั่งวีลแชร์ยังมีอีกเยอะ เราเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของพวกเขา อาจเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำ
“มองย้อนกลับไป หากวันนั้นผมคิดไม่ได้ ไม่เดินออกจากสิ่งที่ยึดติดภายในจิตใจ ผมก็คงจะเป็นภาระให้แม่เลี้ยงดูไปตลอดชีวิต สิบปีที่อยู่กับแม่กับสิบปีที่ได้เรียนรู้โลกกว้าง ผมได้อะไรที่ต่างกันมาก โลกใบนี้มันกว้าง เมื่อก่อนแม่เป็นห่วงผมอยู่เสมอว่าเดินทางลำบากไหม แต่ทุกวันนี้แม่รับรู้แล้วว่าผมไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่แม่กังวลมาตลอดชีวิตก็ไม่ห่วงแล้ว”
มีอยู่ 4 อย่างในชีวิตที่เขาอยากทำก่อนหมดลมหายใจ คือเรียน ทำธุรกิจ ทำงานรับผิดชอบเพื่อสังคม และจัดตั้งมูลนิธิของตัวเอง สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมา ถ่ายทอดความรู้ที่มีให้แก่ผู้คนในสังคมไม่มากก็น้อย เขายังฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า
“จริงๆ แล้วคนพิการหรือไม่พิการ ผมเชื่อว่าคนๆ หนึ่งต้องมีความฝัน ถ้าไม่มีความฝันก็ไม่มีความสำเร็จ และเมื่อมีความฝันก็ต้องมีความรู้ ต้องเรียนรู้ว่าทำยังไงให้มันสำเร็จ ฝันยิ่งใหญ่ได้แต่ต้องลงมือทำ ผมไม่ได้เป็นคนเก่ง แค่เป็นคนที่อยากลอง ผมเชื่อว่าอ่านหนังสือสิบเล่มก็ไม่เท่าเดินทางสิบประเทศ การเดินทางออกไปครั้งหนึ่ง เจอผู้คนมากมาย เห็นอะไรรอบตัว ทำให้เราได้จินตนาการ มีความฝัน และพร้อมที่จะส่งมอบแรงบันดาลใจนี้ต่อไป”
Know Him
• เขาได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ชลบุรี หลักสูตรการจัดการธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ
• อนุปริญญาที่ Eastern Florida State College, Florida, USA วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
• ปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
• ปริญญาโทที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
• ประกาศนียบัตรจากโปรแกรม Duskin Leadership Training in Japan
• และตอนนี้เขากำลังวางแผนที่จะกำลังศึกษาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ
• ปัจจุบันเขากำลังเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค เรื่องราวคนพิการในต่างแดน
• ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่ www.facebook.com/NamchokPetsaen หรือ www.namchok.com