สิทธิพื้นฐาน

สิทธิพื้นฐาน

สมัยผมยังเป็นเด็กๆ เมื่อไม่กี่สิบปีมาแล้วนั้น การเดินทางไปต่างประเทศโดยเครื่องบินโดยสารถือว่าเป็นสิ่งที่เท่เหลือหลาย เมื่อก่อนยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ ไทยเรามีแต่ดอนเมืองที่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ จะเดินทางไปกันทีทั้งครอบครัวญาติสนิทมิตรสหายต้องยกโขยงแห่ไปส่งกันเป็นมหกรรมจนแน่นขนัด สวมพวงมาลัยกันจนล้นคอ กอดกันน้ำหูน้ำตาไหลนานนับชั่วโมง ก่อนจะขึ้นไปโบกมือสั่งลากันบนดาดฟ้าตึก จนกระทั่งเครื่องบินเชิดหัวขึ้นท้องฟ้าไป

หมดเวลาไปหนึ่งวันเต็มๆ แต่ก็ยังเป็นภาพความหลังที่คลาสสิกและทับใจอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คนที่ผ่านช่วงเวลานั้นด้วยกันมา

ล่วงมาจนยุคสมัยปัจจุบัน ... Now everyone can fly ... เราขึ้นเครื่องบินไปทำธุรกิจธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายพอๆ กับเรียกรถแท็กซี่ สนามบินนานาชาติต่างๆ ทยอยผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดบานหลังฝน สายการบิน Low Cost มากมายอัดแน่นไปด้วยโปรโมชั่นยั่วยวนใจกันเต็มตลอดปียาวไปจนถึง พ.ศ. หน้า ชีวิตเดินทางข้ามประเทศแสนจะง่ายดายและสะดวกรวดเร็วขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ  

แต่ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง สวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสาร หลายครั้งที่ถูกนำไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะรู้ตัวล่วงหน้า

ภาพรวมของเส้นทางอากาศยานรอบโลกในปัจจุบันโยงไยขวักไขว่ซับซ้อน แทบไม่ต่างจากตาข่ายใยแมงมุมยักษ์ขนาดมหึมา ที่ถูกแผ่ลงครอบคลุมโลกกลมๆ ของเราใบนี้ไว้อย่างแน่นหนาและเกือบถ้วนทั่ว ความปลอดภัยบนอากาศถูกตั้งไว้บนความไว้เนื้อเชื่อใจของเทคโนโลยีระดับสูง ที่ส่งเรือเหล็กขนาดยักษ์ขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศได้อย่างไร้กังวล แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเพียงแค่นั้น

หลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 17 ของสายการบินมาเลเซีย ถูกขีปนาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยูเครนสอยร่วงลงมาจากน่านฟ้ายูเครน จนเป็นข่าวสะเทือนโลกเมื่อไม่นานที่ผ่านมา สถิติการถูก “ยิงตก” ของเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ต่างๆ ทั่วโลกถูกนำมาคลี่สู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง เพื่อที่จะพบกับความขนลุกถึงความถี่และการเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างไม่น่าเชื่อของกรณีคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งสังเวยชีวิตคนบริสุทธิ์ผู้ไม่เกี่ยวข้องไปแล้วจำนวนมากมาย

ไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการบินสหรัฐ (FAA) ออกประกาศแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบินซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 แบ่งพื้นที่เส้นทางการบินทั่วโลกออกเป็น 7 ประเภท โดยวางพื้นฐานอยู่บนความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้โดยสาร ประกอบด้วย 1) พื้นที่ห้ามบิน 2) พื้นที่เข้มงวดในการบิน 3) พื้นที่ซึ่งได้รับการเตือนล่วงหน้า 4) พื้นที่การบินในเขตปฏิบัติการทางทหาร 5) พื้นที่การบินที่ต้องเตรียมพร้อมและระมัดระวัง 6) พื้นที่การบินที่ถูกควบคุม และ 7) พื้นที่การบินที่เป็นความมั่นคงแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังได้ระบุน่านฟ้าของประเทศที่ห้ามสายการบินของสหรัฐฯ บินผ่าน ได้แก่ ลิเบีย อิรัก อียิปต์ อิสราเอล เอธิโอเปีย โซมาเลีย เกาหลีเหนือ และน่านฟ้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ซีเรีย อิหร่าน อัฟกานิสถาน เยเมน เคนยา มาลี คองโก เป็นต้น

ช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่านักท่องเที่ยว นักธุรกิจรวมถึงผู้โดยสารทั่วๆ ไปที่จะต้องเดินทางไปมาระหว่างเอเชียกับยุโรป ต่างหวาดผวาถึงความปลอดภัยในชีวิตตนเองด้วยกันทั้งนั้น ก่อน MH 17 ของมาเลเซียจะถูกยิงตกไป น่าตกใจที่การบินไทยของเราเองก็มีเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ายูเครนเหมือนกันเปี๊ยบไปแล้วถึง 34 เที่ยวบิน แต่หวยไปออกที่เครื่องบินของประเทศเพื่อนบ้านเรา

รู้ทั้งรู้ครับว่า เขายิงกันอยู่โครมๆ ทั้งจรวด ทั้งขีปนาวุธ ใต้น่านฟ้านั้น แต่ไม่คิดจะเปลี่ยนเส้นทาง เพราะต้องการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง มันคุ้มกันไหมครับ?

วันนี้ถึงแม้จะมีการหลีกเลี่ยงไม่บินผ่านยูเครนแล้ว แต่ก็ยังมีน่านฟ้าอีก 15 ประเทศที่ถือว่าเป็นน่านฟ้าอันตราย ตามคำประกาศของ FAA ก่อนที่ผู้โดยสารจะควักเงินซื้อตั๋วในทุกเที่ยวบิน นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้โดยสารทุกคนต้องทราบก่อนครับ ว่าเครื่องบินที่เรากำลังจะก้าวขึ้นไป กำลังจะไปบินผ่านน่านฟ้าของประเทศอะไรบ้าง เพื่อข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่ครบถ้วน ก่อนจะนำตัวเราขึ้นไปอยู่บนพาหนะกลางฟ้า ... 

บนฟากฟ้า