The Artist

The Artist

ในขณะที่โลกแห่งภาพยนตร์กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นสามมิติ สี่มิติ จอใหญ่เท่าตึกเจ็ดชั้น พลังเสียงดิจิตอลกระหึ่ม เซอร์ราวด์ซาวนด์ ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเสียดเย้ยสิ้นดี เมื่อหนังที่กวาดรางวัลสำคัญๆ ทุกเวทีบนโลกใบนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมากลับเป็นหนังเงียบ ขาว-ดำ ในสไตล์ย้อนยุคไปเกือบๆ 100 ปีที่แล้ว
 

The Artist เป็นหนังทุนสร้างของฝรั่งเศส กำกับโดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส แสดงโดยนักแสดงนำชาวฝรั่งเศส แต่กลับมาคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีของอเมริกันชนอย่าง Academy Awards หรือรางวัลออสการ์ปีล่าสุดได้ถึง 5 รางวัลคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ยังไม่นับรางวัลจากเวทีที่ว่ากันว่า “ติสต์” สุดๆ อย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็สามารถคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมและรางวัลสุนัขแสดงยอดเยี่ยมมาได้ (รางวัลแบบนี้ก็มีด้วย!)
 

คำถามและเสียงบ่นคล้ายๆ กันสำหรับคนที่ยังไม่ดูหนังเรื่องนี้ก็คือ จะสนุกเหรอหนังขาว-ดำเนี่ยนะ? ไม่มีบทพูดด้วยเหรอ? หลับแน่ๆ! พระเอก-นางเอกก็ไม่เห็นจะสวยหล่อ หนังดูเช้ยเชย ได้รางวัลด้วยเหรอ? สงสัยดูยากแน่ๆ
 

คำตอบของคำถามเหล่านี้คงต้องยกให้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ต้องยืดอกยอมรับว่าสยามประเทศของเราไม่มีความคิดที่จะยกย่องสืบทอดศิลปะในอดีตอย่างที่ประเทศฝั่งตะวันตกเขามีกัน
 

โลกของฝั่งตะวันตกนั้นมีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องและสืบทอดมายาวนาน ศิลปินรุ่นหลังให้ความเคารพศิลปินรุ่นก่อนและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ผิดกับบ้านเราที่วัฒนธรรมยุคนี้กับยุคหลายสิบปีที่แล้ว ที่ดูจะตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะส่วนใหญ่แล้วเรา “รับ” วัฒนธรรมเข้ามา มากกว่าที่จะคิด “สร้าง” วัฒนธรรม ศิลปะในอดีตจึงมีที่อยู่แค่พิพิธภัณฑ์ (ที่ก็ไม่มีใครไปเดินดู)
 

แต่ไม่ใช่เพราะ The Artist ถูกสร้างขึ้นเพื่อสดุดีความเฟื่องฟูของหนังเงียบในยุค 1920s ก็เลยได้รับรางวัล เพราะถ้าว่ากันด้วยศิลปะของการเล่าเรื่อง (โจทย์หินก็คือหนังไม่มีเสียงพูด มีแค่บางฉากเท่านั้นที่มีตัวหนังสือขึ้นแทนบทสนทนา) หนังเรื่องนี้มีศิลปะที่ว่าอยู่เต็มเปี่ยม โดยผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส เลือกที่จะหยิบเอาสไตล์หนังเมโลดราม่า (หรือนิยายประโลมโลกย์) มาใช้ในหนังเรื่องนี้เพื่อความง่ายในการสื่อสารซึ่งอารมณ์ทางสีหน้าและท่าทาง
 

หนังเล่าเรื่องของดาราหนุ่มผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในโลกหนังเงียบอย่าง จอร์จ วาเลนติน (แสดงโดย ฌอง ดูชาร์แดง) ที่วันหนึ่งขณะกำลังยืนโปรโมทหนังเรื่องใหม่ของเขาอยู่ที่หน้าโรง ได้บังเอิญชนเข้ากับหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ เป๊ปปี้ มิลเลอร์ (แสดงโดย เบเรนีซ เบโจ-ภรรยาของผู้กำกับหนังเรื่องนี้) และนักข่าวได้ถ่ายรูปไว้
 

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้ผู้หญิงธรรมดาๆ คนนึงอย่างเป๊ปปี้แจ้งเกิดชั่วข้ามคืน มีแต่คนสนใจว่าผู้หญิงคนนี้คือใคร ในเวลาต่อมาเป๊ปปี้กลายมาเป็นนักแสดงตัวประกอบจากความช่วยเหลือของดาราใหญ่อย่างจอร์จ และจากนั้นเธอก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นดาราสมทบ และดารานำในหนังที่มีเสียงพูดในที่สุด
 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเป๊บปี้นั้นกลับสวนทางกับจอร์จโดยสิ้นเชิง ยุคของหนังเงียบกำลังจะสิ้นสุดลง เมื่อหนังเสียงเข้ามาแทนที่ แต่จอร์จดื้อดึงและพยายามบอกกับนายทุนว่าหนังเสียงนั้นเป็นแค่แฟชั่น เดี๋ยวมันก็ตาย
 

แต่คนที่ตายกลับเป็นจอร์จ เมื่อเขาออกเงินทุนสร้างหนังเงียบด้วยตัวเอง แต่มันกลับได้รับการตอบรับอย่างเงียบสนิท ผิดกับหนังของเป๊บปี้ที่คนต่อแถวกันล้นโรงออกมาหน้าถนน จอร์จกลายเป็นคนล้มละลาย ต้องขายบ้าน ขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มี แม้แต่ภรรยาก็ยังทิ้งไป เหลือเพียงสุนัขคู่ใจและคนรถผู้จงรักภักดี
 

ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าคนที่จะมาช่วยเหลือจอร์จให้พ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ย่อมเป็น เป๊ปปี้ มิลเลอร์ นั่นเอง
 

แม้จะเล่าพล็อตเรื่องคร่าวๆ ไปแล้ว หลายคนก็อาจจะยังไม่เห็นว่ามันน่าสนใจตรงไหน แต่ The Artist ก็มีลูกล่อลูกชนให้ได้น่าทึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นฉากที่จอร์จเกิดฝันร้าย เขาได้ยินเสียงข้าวของหล่นแล้วมีเสียงดังเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับคนที่อยู่ในโลกหนังเงียบอย่างเขา หรือจะเป็นฉากที่เป๊ปปี้แอบเข้ามาในห้องแต่งตัวของจอร์จตอนที่จอร์จไม่อยู่ เธอระบายความรักที่ล้นออกมาด้วยการสวมกอดกับเสื้อสูทของเขาที่แขวนไว้ราวกับมันมีชีวิต ยังไม่นับตัวละครอีกตัวที่ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างดีเยี่ยม นั่นก็คือดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่งดงามเกินจะบรรยาย แต่ก็สามารถอธิบายถึงความรู้สึกของตัวละครได้ครบถ้วน
 

สิ่งที่เสียดเย้ยอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ที่ชื่อแปลว่า “ศิลปิน” ก็คือ ตลอดเรื่องเราจะพบว่าสุดท้ายแล้วต่อให้เป็นดารายิ่งใหญ่ชื่อดังแค่ไหน ก็ไม่พ้นต้องอยู่กำมือของนักธุรกิจที่กำหนดทิศทางความเป็นไปของโลกภาพยนตร์ว่าจะให้เป็นหนังเงียบ หนังเสียง หรือหนังเพลง และดูเหมือนว่าตัวดาราเองก็ยินยอมให้เป็นอย่างนั้นเสียด้วย เหมือนกับประโยคที่เราได้ยินเสียงของจอร์จเพียงประโยคเดียวก่อนจะจบเรื่อง เขาพูดตอบนายทุนที่ถามว่า “ช่วยเต้นให้ดูอีกรอบได้ไหม?” ว่า
 

“My Pleasure” หรือ “ด้วยความยินดีครับ” 

 
The Artist ถูกสร้างขึ้นเพื่อสดุดีความเฟื่องฟู