เกาะพยาม
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในเรือรอบบ่ายที่แดดร้อนร้ายกำลังแผดเผา เป้หลังหลากสีกองสุมระเกะระกะอยู่บนพื้นห้องโดยสารทั้งสองชั้น เหล่านักเดินทางพากันเริงร่ายามเรือบ่ายหัวสู่ทะเลกว้าง ไม่จับกลุ่มพูดคุยก็เอนหลังเงียบๆ หรืออ่านไกด์บุ๊กไปพลางๆ ชาวบ้านท้องถิ่นกระจุกตัวอยู่ตรงส่วนใกล้เคบินคนขับ รอยยิ้มและการพูดคุยด้วยสำเนียงถิ่นใต้แทรกปนอยู่เงียบๆ
ทั้งหมดกำลังจะผ่านเวลาสองชั่วโมงบนผืนทะเลอันดามันเหนือ เพื่อมุ่งสู่เกาะพยาม แผ่นดินกลางทะเลของระนอง สวรรค์ของคนรักความเงียบสงบ ผืนน้ำสวยใส และบ้านของหลายคนที่อบอุ่นแม้ในวันมรสุมย่างเยือน
สำหรับผู้มาเยือน บรรยากาศแห่งการเดินทางเริ่มขึ้นทันทีที่เรือเทียบท่าสะพานซีเมนต์ของ อ่าวแม่หม้าย สะพานที่นำผู้คนและวัฒนธรรมอันหลากหลายมาผสมผสานอยู่กลางทะเลลึก นักท่องเที่ยวพากันแบกเป้ใบโตไปเริ่มต้นตรงหัวถนนที่มีคนล้อมรุม เสียงร้องเรียกถามหาจุดหมายเป็นภาษาอังกฤษก้องระงม ผู้มาก่อนยิ้มรับพวกเขาอยู่ตรงร้านอาหารตามสั่ง ทะเลสีฟ้าอมเขียวสะท้อนแดดบ่ายวิบวับราวการต้อนรับ
เมื่อเรือโดยสารมาถึง อ่าวแม่หม้ายอันเป็นชุมชนหลักก็คึกคักเช่นนี้ หย่อมบ้านเรือนแม้ไม่ใช่ห้องแถวไม้ ทว่าสะท้อนความเก่าแก่ไว้ตามรูปแบบหมู่บ้านประมงแต่โบราณ บางมุมที่ริมหาดก่ายกองด้วยอวนปู ลอบหมึก ปะปนไปกับบ้านเรือนที่ค่อนข้างมั่นคงใหญ่โต ร้านอินเทอร์เน็ต มินิมาร์ท มากมายไปด้วยผู้คนทั้งท้องถิ่นและผู้ผ่านทาง ชีวิตที่ดีขึ้นกำลังดำเนินตัวตนอยู่บนแผ่นดินกลางทะเล
สภาพความเป็นชุมชนของเกาะพยามนั้นเริ่มจากการเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของอังกฤษซึ่งครอบครองพม่าอยู่แต่โบราณ ตามแนวคิดของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เนื่องจากหมู่เกาะพยามนั้นเรียงรายทอดยาวอยู่ติดกับชายแดนพม่า ชาวบ้านที่อยู่ในสมัยแรกเริ่มจึงเป็นพวกชาวไทยมุสลิม จากนั้นจึงฝังรากลึกเรื่อยมา คนหลากหลายเดินทางเข้ามาทั้งแสวงโชค หาบ้านเรือน รวมไปถึงแดนดินที่ฝากฝังเป็นเรือนตาย
หันหน้าสู่ทะเล จากอ่าวแม่หม้าย ถนนเล็กๆ พาเราไปทางซ้าย เลาะเรื่อยไปถึง วัดเกาะพยาม อุโบสถที่ยื่นออกไปในทะเลโดดเด่นอุ่นแดดบ่าย สีสันสดใสราวลูกกวาด ทว่าที่ริมฝั่งในเขตวัดกลับเงียบสงบ พระพุทธศาสนาหล่อหลอมให้คนบนเกาะมีที่พึ่ง ชุ่มเย็น และมีทิศทาง
ไม่นานนักเราก็ไปถึงอ่าวที่มีหินก้อนใหญ่สีขาวโพลนตั้งเด่นอยู่ริมทะเล เป็นที่ตั้งของศาลพ่อตาหินขาวและเป็นที่มาของชื่อ อ่าวหินขาว ผู้คนเกาะพยามเชื่อกันว่าพ่อตาหินขาวเป็นผู้เข้าฝันบรรพบุรุษของเขาเพื่อชี้บอกทิศทางให้มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่
ลมทะเลพัดแรง นกแก๊กฝูงเล็กๆ สะบัดปีกยามเสียงมอเตอร์ไซค์ทลายความเงียบ ทางเล็กๆ ทอดหายไปตามไหล่เขา เรือกสวน และความเป็นตัวตนของคนบนเกาะ เราจากอ่าวหินขาวและลัดเลาะกลับสู่ถนนสายหลัก อ่าวแม่หม้ายทิ้งภาพคึกคักห่างหายเมื่อเราขึ้นควนเล็กๆ ความเป็นอ่าวชาวบ้านตกค้างอยู่ตรงกลุ่ม พูดคุยตรงเพิงขายของหน้าอนามัย เมื่อลัดลงไปสักพัก รอบด้านคือความครึ้มเข้มของเรือกสวน สลับกับป้ายบอกทางไปรีสอร์ตต่างๆ บาร์เร็กเก หรือร้านกาแฟ
สามแยกตรงหัวมุมที่มีร้านขายน้ำมันตั้งอยู่เยื้องกับร้านกาแฟสดตกแต่งสวยงาม เราแยกซ้ายมุ่งเข้าสู่เส้นทางสายเล็กๆ มันแสนร่มรื่นเมื่อเราผ่านเข้าไปในสวนโบราณที่เรียงรายด้วยบ้านเรือนแท้ๆ ของคนบนเกาะ ลำต้นของกาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์โชว์รูปทรงหงิกงอ ใหญ่โต ราวกลุ่มผู้เฒ่าที่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของผืนแผ่นดิน
สองข้างทางคือภาพปรับเปลี่ยน ลูกหลานชาวเกาะหลายคนหันเข้าหาสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยว หน้าบ้านกลายเป็นร้านกาแฟ บาร์เล็กๆ ป้ายไม้วาดสีสันสดใสเรียงรายสองข้างทาง ร้านขายของแฮนด์เมด บางหลังเปิดเป็นร้านนวดให้ฝรั่งที่ตรากตรำทำความรู้จักบ้านของพวกเขาผ่านการท่องเที่ยวทั้งวันได้นอนหลับตาและผ่อนคลาย
ใช่ว่าพวกเขาจะละทิ้งสวนกาหยูนับร้อบนับพันไร่ที่คนรุ่นพ่อรุ่นปู่บุกเบิกและทุ่มเทลมหายใจให้กับมันแทบทุกฤดูกาล แต่ชีวิตล้วนมากไปด้วยทิศทางและการดิ้นรน ว่ากันตามตรง บางครั้งมันอาจลำบากไม่แตกต่าง
ถนนเล็กๆ ทอดยาวไปสุดที่ อ่าวใหญ่ หาดทรายทิ้งตัวยาวหลายกิโลเมตรมากมายไปด้วยความสุขสงบ
บังกาโลรีสอร์ตเล็กๆ เรียงราย ตามหน้าหาดเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ต่างเลือกใช้ยามเย็นแสนสงบริมทะเลไปตามแต่ความต้องการ นอนให้แดดบ่ายไล้ลูบ เล่นจานร่อน กระดานโต้คลื่น หรือแม้แต่ผ่านพ้นห้วงวันไปด้วยหนังสือเล่มเล็กต่อหน้าทะเลผืนมหึมา
ยามเย็นที่กลายเป็นสีส้มทอง ดวงอาทิตย์หยอดลงตรงหน้า ลิบลับตาคือเกาะย่านเชือกของฝั่งพม่า ทั้งหมดค่อยๆ หลอมรวมไปกับรอยต่อสีชมพูของคืนวัน
ร้านอาหารหรือบาร์เล็กๆ เริ่มเปล่งสีสันจากดวงไฟ การงานของพวกเขาดำเนินต่อไปอีกครั้ง กระแสไฟฟ้ากลับมามีบทบาทสำคัญให้ค่ำคืนไม่เงียบเหงา บนเกาะยังต้องปั่นไฟเองกันเป็นส่วนใหญ่ ตามบังกะโลจึงมีไฟให้ผู้มาเยือนได้ใช้ตั้งแต่หาโมงเย็นไปถึงเที่ยงคืน
นาทีเช่นนั้น คืนจันทร์กระจ่างสะท้อนแสงนวลลงสู่หาดทรายของอ่าวใหญ่ยิ่งดูงดงาม ไร้มายา และมากไปด้วยความเป็นจริงอันอาบคลุมอยู่อย่างจีรัง
ท่าเรือที่อ่าวแม่หม้ายในยามเช้าค่อยๆ เป็นตัวของตัวเองเมื่ออาทิตย์สีแดงเรื่อสาดแสงอุ่น เรือประมงชายฝั่งสงบนิ่งเรียงราย เช่นเดียวกับที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านแนวป่าชายเลนและควนเขาไปสู่ อ่าวมุก อ่าวทางทิศตะวันออกที่หันหน้าสู่เกาะขามอันเคยเป็นพื้นที่สัมปทานเลี้ยงหอยมุก สันทรายไล่โค้งไปตามสัณฐานเกาะ และสามารถเดินข้ามไปเที่ยวได้ยามระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ยามเช้าชัดเจนอยู่ด้วยผืนทะเลราบเรียบและอากาศอิ่มชื่น
ถนนสายหลักผ่านพ้นตัวเองไปตามทิศทางของเกาะ นำพาผู้มาเยือนออกไปสู่เวิ้งอ่าวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเกาะ เราเลาะไปตามนั้นสู่ อ่าวเขาควาย ที่เรียงรายไปด้วยรีสอร์ตนานา ทางลงไปสู่หาดทรายโค้งมนมากมายมุมพักผ่อนกว่า 4 กิโลเมตร ล้วนต้องผ่านทางเข้าของที่พักหลากหลายที่กระจายตัวกันขึ้นปกคลุมราวกำแพงที่มองไม่เห็น หากเมื่อพาตัวเองลงไปได้ เบื้องหน้าคือความงดงามของผืนน้ำสีฟ้าและหาดทรายเนียนนุ่ม หมู่หินเรียงตัวคู่เคียงอย่างมีมิติ เฝ้ารอการเป็นจุดชมอาทิตย์ย้อมแสงงดงามเมื่อยามเย็นเคลื่อนเวียนมาถึง
หัวเกาะคือ อ่าวกวางปีบ และนาทีเงียบสงบหลังจากสิ้นสุดทางคอนกรีต ลัดเลาะควนเขาไปตามทางดินลูกรังและเดินตัดดิ่งลงสู่ห้วงยามของความนิ่งเงียบ มีเพียงเสียงคลื่นและภาพแห่งการหยุดพักอันรื่นรมย์ เช่นเดียวกับโมงยามที่ใครสักคนดั้นด้นตัวเองไปสู่ อ่าวคอกิ่ว หาดเล็กๆ ไร้ที่พัก เปี่ยมไปด้วยแง่มุมของโขดหินและเวิ้งทราย และผืนทะเล ภาพตรงหน้าลงตัวราวกับโปสการ์ดสักใบที่สะท้อนฟ้าใสสดและผืนน้ำสีมรกตไว้ในนั้น
บางนาทีที่ทะเลเต็มไปด้วยแดดจัด เราเลาะตามทางเดินลึกเข้าไปในสวนอันอบอวลไปด้วยกลิ่นของผลสุกของกาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์ สีเหลืองบ้าง แดงบ้าง แขวนตัวเองพราวอยู่บนลำต้นใหญ่
ด้วยสภาพดินของเกาะ ประกอบกับมีน้ำทะเลล้อมรอบ ทำให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ของที่นี่มีขนาดใหญ่และหอมมันกว่าที่อื่น กว่ากาหยูจะให้ผลก็ราวปีที่สามนับจากปลูก แต่หากเป็นต้นใหญ่เหมือนตามทางเดินนี้ต้องมีอายุราว
10–20 ปี
“ผลมันนี่ใช้ต้มจิ้มน้ำพริกอร่อยครับ แต่ต้องทำดีๆ ระวังฝาดตามแกน บางคนเผลอกัดเข้า ปากอาจไหม้ได้ ยางของมันพิษร้าย ตั้งแต่กิ่งก้าน ผล หรือข้างในเม็ด” ใครบางคนในสวนกาหยูระหว่างเส้นทางสู่อ่าวใหญ่ไล่เรียงถึงพืชพรรณโบราณที่หล่อเลี้ยงคนที่นี่ ไม่มีสุ้มเสียงแห่งการท่องเที่ยวเล็ดรอดหลุดพ้นเข้ามา
นอกเหนือจากภูเขา เรือกสวน และภาพทะเลอันผ่อนคลาย ณ มุมเล็กๆ เหนืออ่าวเขาควาย ที่ซึ่งคลองสายใหญ่ไหลมาบรรจบทะเล ผมผ่านการเลาะลัดยาวไกลบนภูเขามาเพื่อพบกับบ้านเรือนบนแผ่นดินของพี่น้องมอแกนกลุ่มเล็กๆ บนเกาะพยาม
พวกเขานามสกุล “ทะเลลึก” หากทว่าคือกลุ่ม “มอเกล็น” หรือมอแกนบก ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่ง ไม่ได้ใช้ชีวิตแรมรอนกลางทะเลด้วยการล่องเรือหรือก่าบางเป็นเหมือนบ้านเช่นเดียวกับ “มอเก็น” แถบเกาะสุรินทร์
กลางถ้อยคำอันยากจะสื่อสาร หว่าฮับ ทะเลลึก และเหล่าพี่น้องมอแกนสามสิบกว่าคนล้วนรู้จักทะเลมากกว่าโลกแห่งการท่องเที่ยวที่แวะมาเยือนพวกเขาในรูปแบบของฝรั่งขี่มอเตอร์ไซค์ตากแดดตัวแดงพร้อมกล้องดิจิทัล
“เราอยู่ที่นี่มานาน” หว่าฮับหมายถึงแถบอ่าวตาเหงี่ยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวเขาควาย ที่ตรงนั้นตาเหงี่ยมคือชาวมอแกนผู้เคยร่อนเร่และขึ้นปลา หอยเม่น หรือสินทรัพย์นานาจากทะเลจนได้ครอบครองที่ดินผืนเล็ก
กลางกระท่อมผนังกกขัดแตะ หลังคาจาก ชีวิตข้างในมากไปด้วยการปรับเปลี่ยนและต่อสู้กับความคิดความเชื่อที่หลากไหล ไล่เลยไปถึงบ้านคอนเทนเนอร์ที่มั่นคงแข็งแรงด้านประชิดภูเขา ซึ่งหากมอแกนคนไหนเลือกที่จะเข้าสู่คริสต์ มิชชันนารีที่มาเผยแผ่ศาสนายินดีที่จะให้พวกเขาได้เข้าอยู่ เช่นเดียวกับโบสถ์ง่าย ๆ ที่ก่อสร้างขึ้นใกล้สายคลอง ทว่าร้างไร้และมากด้วยฝุ่นทราย
แม้ชีวิตที่ดีจะเดินทางมาถึงพวกเขาผ่านการได้รับนามสกุล การมีโอกาสไปโรงเรียนของเด็กๆ อันน่าทึ่งว่าพวกเขาว่ายน้ำผ่านคลอง ออกทะเล ไปขึ้นที่อ่าวแม่หม้าย ก่อนเดินเท้าไปเข้าโรงเรียน จะแสนน่าทำความเข้าใจกับการดิ้นรน ทว่าเมื่อกลับสู่โลกแห่งความเป็นบ้านอันมากด้วยความคิดความเชื่อ ทะเลและชีวิตอาจมีค่ายิ่งกว่าพระเจ้า และคือหนทางอันจริงแท้
“ทะเลเป็นทุกอย่างของเรา” หว่าฮับพูดไม่ชัดนัก แต่หมายความเช่นนั้นหนักแน่น ลูกหลานดวงตามันขลับในโสร่งสีสวยวิ่งเล่นพะเน้าพะนอ หนุ่มมอแกนในเปลญวนหลับใหลพร้อมเสียงเพลงวัยรุ่นจากวิทยุ รอเวลาน้ำขึ้นเพื่อออกทะเลไปยังเวิ้งน้ำสีฟ้าตรงหน้า ชีวิตหนึ่งวันของพวกเขาไม่ยาวนานนัก เวียนซ้ำ ทว่าเปี่ยมไปด้วยความจริงแท้
นาทีนั้นระหว่างโลกผสมผสานอันเคลื่อนหมุนชีวิตของพวกเขาก้าวไปข้างหน้า ไม่มีใครสนใจป่าวร้องถามหาความเท่าเทียม หากแต่พร้อมทำทุกอย่างไปตามที่ทางและวันเวลา คล้ายเรือสักลำหันหน้าเข้าสู้คลื่นลม ไม่มีวันหยุดนิ่งตราบยังไม่ซอนซบชายหาด
วันหนึ่งบนเกาะพยามมีงานประจำปีที่เรียกว่างานกาหยู เวลากลางวันก่อนเริ่มงาน ราวเกาะพยามจะงีบหลับ ร้านอาหารตามสั่งรายทางระหว่างอ่าวปิดเงียบ ทุกคนรอเวลายามเย็นให้เคลื่อนมาถึง หนุ่มๆ คึกคักกับการฝึกซ้อมฝีเท้าเตรียมเล่นฟุตบอล แม่ค้าอาหารย้ายแผงของตัวเองไปตั้งเรียงรายก่อนเริ่มงาน นักท่องเที่ยวบางคนแวะเวียนมาลอบมอง ก่อนกลับไปสู่แง่มุมของตนเองตามชายหาดและบังกะโล
ราวกับการเฝ้ารอของทุกคนจะสิ้นสุดเมื่อยามค่ำมาเยือน หลังการแข่งขันคั่วกาหยูด้วยวิธี ”โบราณ” ใช้ไฟบนพื้นทรายและคั่วด้วยทางมะพร้าว สีสันอันสดใสของแสงไฟบนเวทีดึงดูดให้คนเกาะพยามทุกรุ่นมารวมกัน มิตรภาพและรอยยิ้มต่อเนื่องยาวนานไปค่อนคืนด้วยความเริงรื่น
ห้วงยามเช่นนั้นผมหลากไหลตัวเองไปกับพวกเขา ซึ่งนาทีนี้คล้ายไม่มีตัวตน ทั้งคนเรือ ชาวสวน หนุ่มบาร์ หรือเจ้าของบังกะโล มีเพียงท่วงทำนองของพี่น้องญาติมิตรที่ต่างล้วนถูกหล่อหลอมมาด้วยมวลคลื่น ทิศทางชีวิต และสายลมเก่าแก่บนเกาะแห่งหนึ่งกลางทะเลอันดามัน
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ มุ่งลงใต้ด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อถึงสี่แยกปฐมพรที่ตัวเมืองชุมพร แยกขวาผ่านอำเภอกระบุรี ละอุ่น และมุ่งเข้าสู่เมืองระนอง รวมระยะทาง 568 กิโลเมตร
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ-ระนอง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ โทรศัพท์ 0 2435 1199 สถานีขนส่งจังหวัดระนอง โทรศัพท์ 0 7781 1548
ลงเรือข้ามสู่หมู่เกาะพยามสามารถข้ามได้ที่บริเวณปากน้ำระนอง มีสองรอบคือ 09.00 และ 14.00 นาฬิกา เที่ยวกลับ 08.30 และ 14.00 นาฬิกา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เวลากลับก็เช่นเดียวกันโดยลงเรือที่ท่าเรืออ่าวแม่หม้าย ราคาคนละ 150 บาท
หากเป็นเรือสปีดโบต มีสองรอบเช่นกัน คือ 09.00 และ 13.30 นาฬิกา เที่ยวกลับ 10.00 และ 14.30 นาฬิกา ราคา 350 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที
บนเกาะพยามมีที่พักมากมายให้เลือกแรมนอน ส่วนใหญ่เรียงรายอยู่ที่อ่าวใหญ่และอ่าวเขาควาย และตามอ่าวเล็กๆ ก็มักมีบังกะโลให้บริการ ทุกที่เงียบสงบ มากไปด้วยบรรยากาศแห่งท้องทะเล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ททท. สำนักงานชุมพร (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดระนอง) โทรศัพท์ 0-7750-1831-2 และ 0-7750-1832 หรือเว็บไซต์ www.เกาะพยาม.com