บัณฑิต อึ้งรังษี

บัณฑิต อึ้งรังษี

บัณฑิต อึ้งรังษี ชื่อนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากอีกแล้ว ผิดกับเมื่อสิบปีที่แล้วที่เขาบอกว่าไม่มีใครเข้าใจคำว่า “คอนดักเตอร์” หรือ “วาทยากร” สักเท่าไหร่ มีแต่คนสงสัยว่าทำไมต้องมีใครมายืนถือไม้วาดไปวาดมาในอากาศอยู่หน้าวงดนตรีด้วย

 

จนกระทั่งเมื่อเขาเข้าแข่งขันวาทยากรโลกในรายการ Maazel-Vilar International Conducting Competition ท่ามกลางผู้แข่งขัน 362 คนจากทั่วโลก บนเวทีในคาร์เนกี้ฮอลล์ คืนนั้นชื่อของคนไทยถูกประกาศว่าเป็นผู้ชนะเลิศ ชื่อของบัณฑิตคือชื่อนั้น

 

ประโยคหนึ่งในโฆษณาที่เขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ บัณฑิตพูดไว้ว่า “วันหนึ่งผมเดินหลงทางในนิวยอร์ค ก็เลยไปถามคนที่เดินผ่านมาว่า ผมจะไปคาร์เนกี้ฮอลล์ได้อย่างไร เขาก็ตอบผมมาว่า คุณก็ต้องซ้อม ซ้อม และซ้อม!” นั่นเป็นการแนะนำตัวบัณฑิตเองต่อสาธารณชนให้รู้ว่า “คอนดักเตอร์ที่หนึ่งของโลก” คืออะไร

 

และหลังจากนั้นคำว่าคอนดักเตอร์ก็ดูจะกลายเป็นของเขาไปในทันที เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พูดถึงวงดนตรีคลาสสิก ภาพในใจของทุกคนย่อมนึกถึงชายผู้นี้ยืนอยู่หน้าวงดนตรีออเครสตร้า เราพนันได้เลย

 

เปล่า วันนี้เราไม่ได้มาชวนเขาคุยเรื่องเพลงคลาสสิกหรือการคุมวง บอกตามตรงว่าเราก็เหมือนคนไทยทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยถนัดเพลงในแนวนี้นัก แต่เราสนใจเขาในฐานะคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่สามารถทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้

 

...ฝันที่หลายๆ คนไม่กล้าแม้แต่จะคิด

 

Movement 1: คิดอย่างแชมป์โลก

ถ้าคุณเคยอ่านงานเขียนของเขาซึ่งอยู่ในหมวดหมู่ของหนังสือพัฒนาตนเอง การเขียนเป้าหมายลงไปบนกระดาษเป็นพื้นฐานลำดับต้นๆ ของการล่าฝันที่ควรกระทำ และบัณฑิตก็ลงมือทำจริงๆ เพราะบนฝาผนังห้องที่เรานั่งพูดคุยกับเขามี Dream List ติดอยู่ บนกระดาษมีทั้งรูปรถคันใหญ่ บ้านริมทะเล และเช็คที่สั่งจ่ายให้ตัวเอง (เหมือนที่ จิม แครีย์ นักแสดงชื่อดังเคยเขียนเขียนเช็คล่วงหน้าให้ตัวเองสมัยที่ยังไม่ดังเป็นจำนวนเงินสิบล้านเหรียญ แต่ในกรณีของบัณฑิต เขาเขียนมากกว่านั้นเยอะ) เราทักเขาเรื่องนี้ บัณฑิตหัวเราะก่อนจะตอบอย่างอารมณ์ดี

 

“จริงๆ แล้วความฝันของผมมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของ มันเป็นความฝันที่ไม่ค่อยจะเหมือนใคร ผมอยากได้รางวัลโนเบล ผมอยากได้รางวัลออสการ์ ผมอยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มันเป็นความฝันที่เกี่ยวกับเนื้องานมากกว่า เพียงแต่ผมคิดว่าเป้าหมายมันเปลี่ยนคุณ ระหว่างทางที่คุณเดิน คุณจะเก่งขึ้น และนั่นเป็นเรื่องที่ผมชอบ ความสุขที่แท้จริงมาจากการที่เราได้ทำอะไรที่มีความหมายกับเรา ทำอะไรที่เรารู้สึกว่าใช่ ตื่นขึ้นมาแล้วตื่นเต้นกับชีวิต แต่น่าแปลกที่มีคนเยอะแยะไม่เป็นแบบนี้”

 

บัณฑิตเริ่มต้นค้นหาความหมายของชีวิตตั้งแต่ตอนอายุ 13-14 ปี ด้วยคำถามที่อัดอั้นตันใจว่าทำไมฮีโร่ไม่ว่าจะในหนังหรือในข่าวที่คนทั้งโลกตื่นเต้นถึงเป็นฝรั่งหมด ทำไมไม่มีคนไทยบ้าง ประเทศนี้ไม่มีคนเก่งหรืออย่างไร

 

เราเชื่อว่าอาการสงสัยแบบนี้น่าจะเกิดกับใครหลายคน แต่คงมีไม่กี่คนที่ตอบความสงสัยนั้นด้วยความคิดที่ว่า “งั้นลงมือทำเองเลยดีกว่า”

 

“ตอนแรกผมก็ไม่ชัวร์นะว่าจะทำได้หรือเปล่า เราไม่ใช่นักมวยด้วย (หัวเราะ) สมัยนั้นเราได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกในรุ่นเล็กๆ เราก็ยิ่งใหญ่ แห่กันรอบเมืองแล้ว ผมก็สงสัยว่าแล้วทำไมเราเป็นอันดับหนึ่งในรุ่นใหญ่ไม่ได้หรือไง

 

“จากนั้นมันก็ค่อยๆ ตอบโจทย์ทีละอย่าง ผมรักดนตรีคลาสสิก ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าเป็นดนตรีพ็อพ คนเอเชียไปอยู่ระดับโลกยากมาก เพราะมีปัญหาเรื่องสำเนียง ไหนจะหน้าตาเป็นคนเอเชียอีก ไม่มีทางสู้ฝรั่งได้ แต่ในวงการดนตรีคลาสสิกไม่เหมือนกัน มันเป็นเพลงบรรเลง ไม่เกี่ยวกับการร้อง

 

“ผมเห็นคนเอเชียไปถึงระดับโลกได้หลายคน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เขามีเงิน มีตลาดส่งเสริม มีระบบคอยสนับสนุนเยอะ หรืออย่างผมเห็น สุบิน เมธา คอนดักเตอร์ชาวอินเดีย ผมสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ประเทศโลกที่สามอย่างอินเดีย ทำไมเขาทำได้ นี่ล่ะคือสิ่งที่ผมอยากได้ โจทย์มันมีอยู่ว่าทำอย่างไรถึงจะทำสิ่งที่รักด้วยและได้พิสูจน์อะไรบางอย่างด้วย มันต้องได้สองอย่าง ได้ทำสิ่งที่เรารักและเราไม่ได้ประโยชน์คนเดียว

 

“พอมันชัดเจนก็เหลือแค่ว่าแล้วต้องทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศนี้ไม่มีใครสนใจเพลงคลาสสิกเลย จุดที่ผมอยู่กับจุดที่ผมต้องการไปถึงมันห่างกันเหลือเกิน ผมก็ค้นประวัติสุบินมาอ่าน หาว่าเขาเดินทางมาอย่างไร เขาต้องฝึกตัวเองอย่างไร ต้องมีความเป็นผู้นำ ต้องเก่งดนตรีกว่าคนอื่นทั้งหมด”

 

เมื่อชัดเจนในรายละเอียด บัณฑิตตัดสินใจไปเรียนศาสตร์ด้านนี้ที่เมืองนอก ด้วยการหาทุนไปเรียนที่อเมริกาเพราะที่นั่นมีทุนมากมาย ที่นั่นทำให้เขาได้เรียนกับครูที่เก่งที่สุด รวมทั้งครูที่มาในชื่อของคำว่า “ประสบการณ์” ที่เขาต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองไม่น้อย

 

“ตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนเรื่องเรียนต่อ ที่บ้านก็พอมี แต่ไม่เยอะ ก็ช่วยได้ในปีแรกเท่านั้น ที่บ้านก็สนับสนุนเรื่องดนตรี แต่ตอนแรกเขาไม่รู้ว่าผมจะเอาจริง (หัวเราะ) นึกว่าเล่นเป็นงานอดิเรก เดี๋ยวก็คงเลิกไปเอง

 

“ผมก็ต้องมีวิธีการต่อรองให้เขายอมรับได้ จริงๆ แล้วผมเรียนสายธุรกิจมา เรียกว่าผมมีวิชาชีพแล้วล่ะ หางานทำได้แน่ๆ แล้วผมก็เรียนดีระดับหนึ่ง ติดหนึ่งในสามของทั้งชั้น ผมเลยต่อรองว่าถ้าอย่างนั้นผมเรียนสองปริญญาเลยแล้วกัน ทั้งธุรกิจและดนตรี

 

“สำหรับผมการเรียนรู้เรื่องธุรกิจเป็นสิ่งที่ดีมาก นักดนตรีที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจเลยจะโดนเขาเอาเปรียบ ขึ้นเร็วลงเร็ว ดังเปรี้ยงปร้างแล้วก็หายไป เพราะนักธุรกิจเป็นคนตัดสินอนาคตของนักดนตรี พอทำเงินไม่ได้แล้วก็ตัดทิ้ง ผมอยู่เมืองนอกมานานจนรู้ว่าถ้าเราไม่รู้เรื่องธุรกิจ เราจะเสียเปรียบ นักดนตรีที่มีแต่ขึ้นกับขึ้นและรักษาระดับได้ ต้องเป็นนักดนตรีที่รู้เรื่องธุรกิจ รู้จักการโปรโมทผลงานตัวเอง รู้จักการสื่อสารจุดเด่นของเขาออกมา รู้จักฐานลูกค้า

 

“แต่พวกนักดนตรีมักจะคิดแบบลูกจ้างอย่างเดียว แบบนี้ไม่รอดแน่ ผมเคยเป็นนักดนตรีแบบลูกจ้างมาเยอะ กำกับมาหลายร้อยคอนเสิร์ต พอชนะก็ได้ไปอยู่ในวงการแบบลึกๆ ก็เลยได้รู้ว่าคนที่เก่งที่สุดของโลกเขาทำแบบนี้เอง ถึงอยู่ได้นาน เพราะเขามองว่าเขาคือซีอีโอของธุรกิจเขาเอง ชื่อของเขาก็คือแบรนด์

 

“ช่วงที่อยู่อเมริกา มีช่วงนึงที่ผมรู้สึกว่าเราก็เก่งระดับนึงแล้วนะ ประสบการณ์ก็มากขึ้น แต่ทำไมถึงยังไม่ได้ตำแหน่งที่อยากได้ คนอื่นก็แซงหน้าเราไปเรื่อยๆ มันเกิดอะไรขึ้น ผมเริ่มหาคำตอบ แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าวงการดนตรีมันมีอะไรมากกว่านั้น วงการดนตรีมันเป็นธุรกิจ นักธุรกิจมองเราเป็นสินค้าตัวหนึ่ง ถึงคุณจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่สามารถหาเงินจากคุณได้ คุณก็จบ คุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตัดสินใจเองได้

 

“ตรงนั้นทำให้ผมเข้าใจว่า แค่เก่งดนตรีอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจธุรกิจด้วย ถ้าเราจะขึ้นไปอีกสเต็ป เราเป็นแค่นักดนตรีไม่ได้ ถ้าเป็นนักดนตรี ไม่รู้ธุรกิจ มันก็อยู่ภายใต้การควบคุมของคนอื่น หรือถ้าเป็นนักธุรกิจ แต่ไม่รู้เรื่องดนตรี ก็จะได้แต่งานที่ห่วยๆ เพราะฉะนั้นต้องรู้ทั้งสองอย่าง นั่นแหละคือส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด

 

“เพราะฉะนั้นเรื่องของธุรกิจจำเป็นต้องรู้ ถ้าไม่รู้ คนอื่นก็จะมาตัดสินอนาคตเรา ซึ่งผมไม่ชอบ ผมชอบตัดสินอนาคตของตัวเอง”

 

Movement 2: เชื่อมั่นในตน

ดูจากสภาพแล้ว ในห้องที่เราพูดคุยกัน น่าจะเป็นห้องทำงานของบัณฑิต ไอแพดพร้อมคีย์บอร์ดไร้สายตั้งอยู่บนโต๊ะ กองหนังสือวางเหมือนอ่านค้างอยู่ บนชั้นอัดแน่นไปด้วยหนังสือนับร้อย มีทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรี การตลาด และการพัฒนาตนเอง

 

นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นวาทยากรระดับโลกแล้ว ในเมืองไทย เขายังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของหนังสือระดับ Best seller อีกด้วย หนังสือเล่มแรกที่เขาเขียน “ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้” จำหน่ายไปแล้วกว่าแสนเล่ม ปัจจุบันเขามีผลงานออกมาแล้วถึง 11 เล่ม อะไรที่ทำให้นักดนตรีอย่างเขาหันมาจับปากกา นั่นคือสิ่งที่เราสงสัย

 

“หลังจากที่ผมเริ่มมีชื่อเสียง เริ่มเป็นที่รู้จัก ผมก็คิดหนักว่าแล้วขั้นต่อไปของผมในประเทศไทยคืออะไร ถ้าเป็นที่รู้จักแล้วเราไม่ทำอะไรต่อ คนก็ลืม แต่ปัญหาของเพลงคลาสสิกก็คือ มันไม่เกี่ยวกับคนไทยเลย โอเค เก่ง แล้วไง ผมก็เลยคิดว่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้อีก ก็เลยคิดว่าจะเขียนหนังสือ เพราะมันเป็นอะไรที่ผมรัก ผมชอบอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง ผมอ่านมาเป็นพันๆ เล่ม ก็เลยคิดว่าอยากจะเขียนหนังสือแนวนี้ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้นี้ให้กับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่คิดว่าจะดังขนาดนี้

 

“ถึงวันนี้ผมก็ยังเซอร์ไพรส์ เพราะไม่คิดว่าจะเขียนหนังสือได้ ไม่คิดว่ามันจะเป็นเส้นทางของเรา ผมเขียนหนังสือแบบอ่านง่ายๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายและเร็วที่สุด ไม่มีน้ำ ปรากฏว่ามันสำเร็จ มันโดนใจคนไทย

 

“ผมเชื่อว่าความสำเร็จสอนกันได้ ถ้าทำตาม สำเร็จแน่นอน ผมการันตี ชัวร์ ถ้าไม่ได้อย่างนั้น ไม่ชัวร์ ผมไม่ใส่ลงไปในหนังสือ แต่ต้องบอกว่าบางที Key Success ของแต่ละคนก็ต่างกันนะ คุณจะเลียนแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ ผลงานของผมก็ไม่เหมือน สุบิน เมธา หนทางเราต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกัน เขาเริ่มงานที่อังกฤษ ผมเริ่มงานที่อเมริกา แต่หลักการที่เอามาใช้มันเหมือนกัน เช่น การเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีให้กลายเป็นสิ่งดี แต่คนที่จะเอามาใช้ก็ต้องเชื่อมันด้วย”

 

พูดถึงความเชื่อ สังเกตแค่ชื่อหนังสือของเขาอย่าง 30 วิธีเอาชนะโชคชะตา หรือ เชื่อมั่นในตน ก็พอจะรู้ว่าผู้ชายคนนี้เชื่อมั่นในตัวเองมากๆ และมั่นใจว่าเขานี่แหละคือคนกำหนดโชคชะตาของตัวเอง หาใช่ฟ้าลิขิตไม่

 

“ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องโชคเลย ผมเชื่อว่าเราเป็นคนกำหนดอนาคตตัวเอง ทุกการตัดสินใจเปลี่ยนโชคของเราหมด เราเป็นเจ้าของโชคของเราเอง คุณอยากเป็นอะไรในอนาคต ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจินตนาการ ถ้ามองเห็นภาพทุกอย่างที่คุณจะเป็นได้ชัดเจนมาก คุณจะหาวิธีได้เอง นั่นคือพลังแห่งการจินตนาการ

 

“มีคนในโลกนี้เยอะแยะที่เกิดมาต้อยต่ำ ไม่มีอะไรเลย แต่เขาก็ทำได้ เพราะเขาฝัน เขาอยาก ในขณะเดียวกันก็มีคนที่เกิดมารวย แต่โทษคนอื่น ไม่เคยคิดว่าตัวเองกำหนดโชคชะตาตัวเองได้ ผมบอกได้เลยว่าเรื่องดวงชะตามันไร้สาระ คุณเปลี่ยนดวงคุณได้หมด ผมเคยได้ยินประโยคนึงเขาบอกว่า ความสำเร็จขึ้นอยู่กับโชคชะตาเท่านั้นเอง ไม่เชื่อไปถามคนล้มเหลวดูสิ (หัวเราะ)

 

“หลายคนโทษนั่นโทษนี่ ถ้ามันแย่ คุณก็พัฒนาสินค้าของคุณสิ คุณพัฒนาตัวเองสิ ไม่ใช่ไปโทษคนอื่น ยิ่งเราให้อำนาจคนอื่นมากเท่าไหร่ ยิ่งโทษคนอื่นมากเท่าไหร่ เวลาที่จะเอาไปพัฒนาตัวเองมันก็ยิ่งน้อยลง

 

“ตอนแรกผมไม่ได้มีความมั่นใจขนาดนี้นะ แต่พอมาเป็นคอนดักเตอร์มันบังคับให้เราต้องเป็นผู้นำ มันเลยเปลี่ยนผมไปมาก สำหรับผมถ้าเราตั้งเป้าหมายใหญ่ ถึงแม้สุดท้ายเราจะทำไม่ได้ตามเป้าหมายทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันก็จะเปลี่ยนเรา

 

“ถามว่ามั่นใจแบบนี้มีคนหมั่นไส้ไหม ผมก็ตอบว่าคงมี ไม่เห็นจะแปลก แต่จะสนใจไปทำไม คุณต้องเป็นอิสระจากความคิดของคนอื่น คนอื่นเขาก็มีถูกบ้าง ผิดบ้าง คุณต้องเรียนรู้ที่จะคอนเน็คกับเสียงภายใน หรือ Intuition ผมเองนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ชอบศึกษาทุกศาสนา ผมสนใจเรื่องพระคริสต์ พระพุทธเจ้า เล่าจื๊อ ผมคิดว่าเขารู้อะไรบางอย่าง บางอย่างที่เป็นความจริงของโลก เหมือนที่ศาสดาของศาสนามักจะบอกว่า คุณต้องฟังเสียงจากภายในตัวคุณเอง อย่าไปเชื่อคนอื่น ให้ฟังเสียงของตัวเองเยอะๆ”

 

มั่นใจขนาดนี้ เป็นผู้นำขนาดนี้ กำกับควบคุมคนทั้งวงขนาดนี้ มีชื่อเสียงขนาดนี้ เราเลยแกล้งถามเขาไปว่า แล้วเคยมีสักครั้งไหมที่เกิดอาการหลงตัวเอง

 

“ก่อนอื่น ผมต้องบอกว่าผมยังไม่คิดว่าผมเก่งมากนะครับ (หัวเราะ) ผมเรียนรู้ได้กับทุกคน ผมโดนประสบการณ์สอนมาเยอะ เมื่อก่อนตอนที่ได้งานใหญ่ เราเริ่มผยอง แล้วก็เจอประสบการณ์สอนเราทุกครั้ง ผมเลยพยายามตรวจสอบตัวเองทุกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผยอง ผมรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น

 

“แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองกับความผยองมันต่างกันนะ ความเชื่อมั่นคือเรารู้ศักยภาพของตัวเอง เราไม่แคร์ความคิดเห็นคนอื่นมากนัก แต่ความผยองคือฉันเก่ง ส่วนคนอื่นห่วยหมด”

 

Movement 3 : ทำสิ่งที่รัก...ยังไงก็รุ่ง

คิดแบบคณิตศาสตร์ คนทั่วๆ ไปทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 1 ปีทำงานประมาณ 250 วัน และชีวิตหนึ่งเราทำงานกันเกือบๆ 40 ปีจึงจะเกษียณ นั่นเท่ากับเราใช้เวลาในการทำงานไปมากถึง 80,000 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้ทำงานที่รัก ชีวิตคงไม่มีความสุขน่าดู

 

“หลายคนไม่เป็นอิสระจากความคิดคนอื่น บางทีพ่อแม่บอกลูกว่าให้หาเงินก่อนนะ แต่มันผิด เงินไม่ใช่อย่างแรก คุณต้องทำงานที่คุณรัก คุณต้องตั้งเป้า ฉันชอบทำสิ่งนี้และฉันอยากจะรวยกับมันด้วย แต่ถ้าเอาเงินเป็นที่ตั้ง มันก็ผิดตั้งแต่แรกแล้วล่ะ เช่น คุณเกลียดการเป็นหมอ แต่มันได้เงินเยอะ คุณก็ทำ แต่แล้วไงล่ะ คุณก็ไม่มีความสุขกับชีวิต เชื่อผมสิว่าถ้าคุณทำสิ่งที่ตัวเองรัก คุณมีได้ทุกอย่าง งานนั้นเป็นต้นเหตุของความสุขด้วย คุณต้องใช้เวลาอยู่กับงานเจ็ดแปดชั่วโมงต่อวัน เพราะฉะนั้นคุณต้องรักงานที่ทำ

 

“ครอบครัวมีส่วนอย่างมากในความสำเร็จของผม ผมกับภรรยาฝ่าฟันกันมาตั้งแต่อยู่เมืองนอก เขาเป็นคนที่ช่วยผมไว้หลายๆ อย่าง อย่างการแข่งขันที่ผมชนะที่คาร์เนกี้ฮอลล์ ตอนแรกผมจะไม่แข่งรายการนี้แล้ว เพราะผมคิดว่าการประกวดแบบนี้ทุกอย่างคือการเมือง ผมเหนื่อยแล้ว ผมไม่อยากมาเจอประเภทถ้าใครเป็นคณะกรรมการก็จะให้ลูกศิษย์ของตัวเองชนะ เพื่อที่จะได้มีธุรกิจต่อ

 

“ตอนแรกผมก็คิดว่ารายการนี้ก็คงเหมือนกัน แต่ภรรยาผมบอกว่างานนี้ต้องลงแข่ง แล้วเธอก็ตระเตรียมทุกอย่างให้ผมหมด ทั้งๆ ที่กระบวนการสมัครและการคัดเลือกมันยากมาก ต้องเตรียมทั้งเอกสาร วิดีโอ พอได้รับเลือกแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ เขาจะดูเราที่โพรไฟล์ โควต้าประเทศ บางทีเห็นแบรนด์เมืองไทยเขาก็ไม่เอาแล้วก็มี

 

“พอผมรู้ว่าต้องลงแข่งแล้ว ก็ซ้อมทุกวัน จนได้เข้ารอบไปเร่ื่อยๆ ตอนนั้นผมคิดว่าแค่ได้ไปคอนดักท์ที่คาร์เนกี้ฮอลล์ก็โอเคแล้ว เพราะยังไม่มีคนไทยทำได้ขนาดนี้ แต่พอชนะ ก็รู้สึกดีขึ้นไปอีกระดับนึง

 

“ลูกๆ เป็นความสุขของผม ตอนนี้ผมมีลูกสาวสี่คนแล้ว ความสุขของผมก็คือการได้อยู่กับลูก ที่เหลือมันก็เป็นอะไรที่แถมๆ มาในชีวิต ผมชอบอยู่กับลูกเพราะมันเป็นความสุขที่ได้เห็นเขาเติบโตขึ้นมา ได้เห็นพัฒนาการ ตอนนี้ก็พยายามอยู่กับเขาให้ได้มากที่สุด

 

“เมื่อก่อนผมเดินทางเยอะมาก คุณภาพชีวิตไม่ค่อยมี อยู่แต่โรงแรม เครื่องบิน สนามบิน พอไปทำงานก็เจอนักดนตรีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็ไม่ได้สนิทกันมาก คนภายนอกมองอาจจะนึกว่าเท่ ได้ไปโรม ปารีส แต่เชื่อไหมว่านักดนตรีหลายคนที่มีชีวิตแบบนี้สุดท้ายฆ่าตัวตาย เขาตื่นขึ้นมาไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่ประเทศไหน แล้วก็ต้องทำเหมือนเดิมอีกแล้ว เพลงก็เพลงเดิม ทำไปทำมาเหมือนกลายเป็นหุ่นยนต์

 

“นักดนตรีที่สามารถเลือกทำเฉพาะที่อยากทำนั้นต้องเป็นนักดนตรีที่ประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ก็ต้องหาเงิน ต้องกระเสือกกระสน ผมเองตั้งเป้าเลยว่าต้องการคุณภาพชีวิตมาก่อน ผมก็หาเงินเตรียมพร้อมไว้ พอมันพอแล้ว จากนั้นก็เลือกเฉพาะที่อยากทำ

 

“ผมเลือกงานที่ผมอยากทำ ปีนึงเล่นแค่ 20-30 คอนเสิร์ตก็พอ จริงๆ แล้วผมไม่ต้องทำงานแล้วก็ได้ ผมมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ผมให้เงินทำงานให้ผม ผมนั่งเฉยๆ ก็มีเงินเลี้ยงตัวเองเกินสิบเท่าของรายจ่าย ผมชอบอสังหาริมทรัพย์ ก็เลยไปลงทุนที่อเมริกา ส่วนเรื่องหุ้นนี่ไม่เป็นเลย คิดไม่ออก แต่ก็มีลงบ้างนิดๆ หน่อยๆ เพราะไม่มีปัญญาไปตามมันทุกวัน”

 

หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของมูลนิธิดนตรีเพื่อให้ (“Gift for Music” Foundation) ที่นำโดยคุณบัณฑิตเอง มูลนิธิดังกล่าวได้แบบอย่างมาจากโครงการ El Sistema ของประเทศเวเนซูเอล่า ที่ประสบความสำเร็จด้วยการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นตามมาจากความยากจน ด้วยวิธีที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือการให้เครื่องดนตรีกับเด็กยากจนฟรีๆ (รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนฟรีด้วย)

 

“เรื่องนี้เป็นโพรเจ็กต์ยาวครับ ต้องใช้กำลังภายในเยอะ ต้องให้คนไทยซื้อโพรเจ็กต์นี้ แต่คนไทยยังไม่เก็ต ผมมองว่ามันเป็นโพรเจ็กต์สิบปี ตอนนี้ผมทำงานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เราให้เครื่องดนตรีกับเด็กยากจน ให้เรียนฟรี เล่นฟรี ซึ่งก็ไม่ค่อยมีคนไทยรู้เรื่องนี้นะ เราก็กำลังคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจว่าดนตรีมีประโยชน์แค่ไหน แทนที่จะไปเกเร ก็มาเล่นดนตรี พัฒนาวินัย เก่งขึ้นด้วย ผมก็เริ่มแบบนี้ทีละก้าวๆ ตอนนี้ก็ทำที่เดียวก่อน เพราะต้องทำให้ดีก่อนถึงจะไปอวดคนอื่นได้ ถ้าไม่ดี เดี๋ยวจะยิ่งไม่เชื่อกันไปใหญ่ (หัวเราะ)

 

“แต่ถึงวันนี้ผมไม่แคร์เรื่องการที่จะต้องให้คนไทยฟังเพลงคลาสสิกเลยนะ เพราะถ้ามีคนถามว่าแล้วทำไมต้องฟังเพลงคลาสสิกด้วยล่ะ ผมยังตอบคำถามนี้ไม่ได้เลย จริงอยู่ว่าดนตรีมันช่วยในการบำบัดเยียวยา แต่ว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์และเปลี่ยนคนได้มันคือหนังสือ นี่คือเป้าหมายของผมเลย งานของผมจะพุ่งไปที่การเปลี่ยนความคิดคน”

 

Movement 4 : ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้

“คนไทยเป็นคนใจดี ลูกวงผมทุกคนที่เป็นชาวต่างชาติอยากกลับมาที่นี่อีก ทั้งๆ ที่เราทัวร์ทั่วเอเชีย แต่ที่อื่นๆ จะเย็นชา ส่วนเมืองไทยจะอบอุ่น ทุกคนมาแล้วเหมือนได้กลับบ้านตัวเอง”

 

บัณฑิตตอบคำถามที่เราถามไปว่าในฐานะที่เดินทางมาแล้วหลายประเทศ ได้พบปะผู้คนหลายเชื้อชาติ ได้ไปอยู่ต่างประเทศมานาน เมื่อมองย้อนกลับมายังบ้านเกิด เขาเห็นว่าคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง

 

“ข้อที่ผมคิดว่าเราคนไทยน่าจะต้องปรับปรุงก็คือ ความคิดที่ว่าฝรั่งเก่งกว่า อะไรก็ต้องให้ฝรั่งนำ โรงแรมนี้ดีเพราะฝรั่งพักเยอะ อะไรก็ฝรั่งๆ ถ้าฝรั่งมาทำงานเมืองไทยก็จะได้เครดิตดีไว้ก่อน ได้เงินเดือนมากกว่าคนไทยสิบเท่า

 

“แต่ผมอยู่เมืองนอกมานานก็จะรู้เลยว่ามันก็เหมือนๆ กัน มีทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง มีทั้งคนดีและคนไม่ดี เพียงแต่เขามีระบบส่งเสริมคนของเขา เช่น ให้ทุนเฉพาะคนอเมริกัน หรือรับเฉพาะคนผิวขาว แต่เขาไม่พูดตรงๆ หรอก เพราะฉะนั้นผมอยากให้ปรับตรงนี้ เราต้องคิดว่าเราแน่ เราก็เหนือกว่าเขาได้ ตรงนี้ต้องแก้ที่คนรุ่นใหม่ เพราะคนอายุเยอะแก้ไม่ได้แล้ว มันฝังในหัวแล้ว ผมถึงเขียนหนังสือให้คนรุ่นใหม่อ่าน เพราะเขายังไม่มีอคติ เรียกว่ายังเปลี่ยนความคิดได้

 

“ผมเป็นคนที่สนใจในเรื่องของ Personal Branding ซึ่งเมืองนอกเขาทำกันมานานแล้วอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์, มาธาร์ สจ๊วต หรืออย่างคนไทยก็คุณตัน ภาสกรนที คนเหล่านี้เขาสร้างความน่าเชื่อถือ ให้คนอื่นเชื่อเขาว่าคนคนนี้ไม่มีทางทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า สินค้าอะไรที่ออกมาแล้วมีชื่อเขาติดอยู่ มั่นใจได้เลยว่าเป็นของดี เหมือนอย่างถ้าผมกล้าเอาชื่อไปแปะ ยังไงมันก็ต้องดี หนังสือทุกเล่ม ทุกตัวอักษร ผมดูแลสินค้าทุกอย่างภายใต้ชื่อผม”

 

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทึ่งในตัวเขา เพราะถ้าพูดกันถึงรูปลักษณ์และความคิดของบัณฑิต ดูเขาจะแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ ไม่น้อย หลายครั้งที่เราได้ยินคำว่า “ธุรกิจ” ออกมาจากปากเขา คำซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำต้องห้ามสำหรับคนที่เรียกตัวเองว่าศิลปิน เคยมีสักครั้งหรือเปล่าที่เขาจะถูกกีดกันออกจากคำว่าศิลปิน ในข้อหาที่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจมากเกินไป เราถามประเด็นนี้กับเขาทิ้งท้าย

 

“ผมคิดว่าผมพิสูจน์ตัวเองมาระดับนึงแล้ว ไม่มีอะไรที่จะประทับตรายิ่งใหญ่ไปกว่าคณะกรรมการ 9 คนที่คาร์เนกี้ฮอลล์อีกแล้ว แล้วผมจะไปสนใจคนเล็กๆ แบบนั้นทำไม ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครที่ดังขึ้นมาก็ต้องโดนแบบนี้ เพราะเขาอิจฉา เขาอยากมีแบบนี้บ้าง แต่พอทำไม่ได้ก็ดึงคนอื่นลงมาด้วยแล้วกัน เหมือนกับที่ เดล์ คาร์เนกี้ เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีใครอยากเตะม้าที่ตายแล้วหรอก (หัวเราะ) สำหรับผมจบวิธีการที่ดีที่สุดที่จะตอบโต้คนที่ทำร้ายคุณก็คือไม่สนใจ

 

“ทุกวันนี้ยังมีอะไรที่ท้าทายผมอีกมากมาย ผมอยากรับรางวัลโนเบล ผมสนุกกับชีวิตแบบนี้ พอเราตั้งเป้าปุ๊บ มันก็เหมือนกับว่าตอนนี้ยังไม่เห็นแผน แต่แผนต่างๆ จะค่อยๆ ถูกส่งมา เราจะถูกพาไปตรงนั้นตรงนี้ แต่ถ้าเราไม่มีเป้า เราจะฉวยโอกาสไม่ถูก

 

“บางทีการตั้งเป้ามันก็เหมือนกับการเพ้อฝันอะไรใหญ่ๆ ฝันใหญ่ไปก่อน ไม่รู้จะถึงรึเปล่า ไม่เป็นไรหรอก ตรงนี้เป็นอะไรที่ผมว่าสำคัญมากๆ จิตของมนุษย์นั้นมันมหัศจรรย์มาก คนที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็เหมือนกับมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าศักยภาพ ถ้าคุณรู้ความลับข้อนี้ คุณจะใช้ชีวิตสนุกมากๆ ทุกวันจะมีแต่โอกาสโผล่มาเอง แล้วเงินก็จะตามมาเอง เงินมันจะตามเรื่องสนุกมา ไม่เชื่อลองสังเกตดูสิ ผมอยากจะบอกคุณด้วยซ้ำว่าไม่ว่าคุณจะอยากได้อะไร จงฝันเถอะ มันเป็นไปได้หมด ผมการันตีด้วยชื่อเสียงและชีวิตของผม”

เรากำลังอยู่บนคอนโดริมน้ำแห่งหนึ่งย่านพระราม 3