อ่างขาง
ไม่ใช่เพื่อต้อนรับดวงตะวัน เพราะเขาเห็นมันมาตลอดทุกฤดูกาลควบคู่ชีวิต
แต่เพื่อจะเห็นดอกไม้สักดอกได้แบ่งบาน ผลไม้หลากรสเติบโต และความรักในแผ่นดินอันประกอบขึ้นเป็นบ้านกลางวงล้อมขุนเขายังคงอยู่ในดวงตาคนที่ก้าวเดินเคียงข้าง
ชีวิตของพวกเขาอาจต้องดำเนินไปเช่นนั้น
ผมขึ้นมาถึงอ่างขางพร้อมใครอีกหลายคน วันหยุดยาวปลายสัปดาห์นำพาขบวนนักท่องเที่ยวมาเป็นอีกสีสันหนึ่งนอกจากซากุระที่สะพรั่งบานอยู่ตามรายทาง ถนนคดโค้งสูงชันที่ตัดสวนแรงโน้มถ่วงทั้งจากด้านอำเภอฝางและไชยปราการไม่ใช่เรื่องน่าหวาดหวั่นสำหรับบางคนอีกต่อไป ทางลาดยางเรียบแน่นทำให้พวกเขาคลายความกังวลและมีเวลาใส่ใจกับวิวทะเลภูเขายามหน้าหนาวอันมีฟ้ากระจ่างวันหนาวเป็นฉากหลัง
จากที่ดิน 10 กว่าไร่ริมขอบอ่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อจากชาวบ้านเพื่อปลูกสร้างเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวที่เรียกกันใน พ.ศ. นั้นว่าสวนพันห้า วันนี้ทั้งหุบเขาไม่เป็นเพียงแดนดินอันหยัดยืนของพืชพรรณ แต่ยังกลายเป็นบ้านกลางขุนเขาอันแสนอบอุ่นของผู้คนหลากหลาย ทั้งมูเซอ ปะหล่อง ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ
ผมเข้าสู่ประตูของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง น้ำค้างยังไม่เหือดไปจากกลีบดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ เพื่อนช่างภาพคล้ายค้นพบตัวเองในโลกมาโคร ขณะที่ผมเพิ่งจะรู้ว่าโลกกลางหุบเขาแห่งนี้น่าหลงใหลขนาดไหน
โครงการหลวงแห่งแรกอย่างอ่างขางไม่เพียงเป็นโรงเรียนทางเกษตรที่สูงสำหรับนักวิชาการการเกษตร แต่กับคนงานหลายๆ ส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ที่นี่คล้ายเป็นทางเดินใหม่ของหนทางชีวิต พวกเขาได้รู้ว่าแผ่นดินอันเป็นบ้านที่ผ่านการถูกทำลายจากการดิ้นรนต่อสู้กับชะตากรรมบนดอยสูงนั้นเสื่อมโทรมลงไปแค่ไหน และรู้ว่าพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งนั้นยิ่งใหญ่เพียงไร
จากการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปเยี่ยมพสกนิกรและชาวไทยภูเขาหลายหมู่บ้าน ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกฝิ่น แต่ยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของประเทศชาติ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตได้ ดอยอ่างขางก็เกิดปัญหาดังกล่าวที่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วยเช่นกัน
ท่านจึงทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ดำเนินการใช้พื้นที่อ่างขางเป็นสถานีทดลองปลูกไม้เมืองหนาวให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา เพื่อจะได้นำวิธีการไปใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ทรงพระราชทานไว้ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาและพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้เริ่มต้นขึ้นด้วยโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ตั้งแต่เมื่อได้โปรดให้จัดตั้งโครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 การดำเนินงานของดอยอ่างขางก็ได้พัฒนามาเป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
บนความสูงราว 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผมค่อยๆ พาตัวเองไปตามสวนและพรรณไม้เมืองหนาวต่างๆ ทั่วทั้งโครงการ แดดจัดจ้าและฟ้าฤดูหนาวยิ่งทำให้สีสันของดอกไม้ชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง
เดินเข้าไปในสวนหอม สวนที่รวบรวมพรรณไม้หอมทุกชนิดทั้งของไทยและต่างประเทศ หอมหมื่นลี้ เนสเตอเตียม คาร์เนชัน เยอราเนียม หญ้าหอม ลาเวนเดอร์ ลาเวนดริน และแม็กโนเลียส่งกลิ่นไม่หอมอันไม่เคยคุ้นมาจมูก “กว่าจะมากมายอย่างนี้ เป็นสิบๆปีครับ” เจ้าหน้าที่หนุ่มเห็นผมยืนงงๆ กับความงามตรงหน้า
แม้จะมีอุณหภูมิเท่าเทียมกับประเทศเจ้าของพรรณไม้ แต่เนื้อดินและสิ่งรายล้อมล้วนเป็นเอกลักษณ์ของอ่างขาง เช่นนั้นเองอย่างที่เจ้าหน้าที่หนุ่มบอก กว่าจะงดงามทั้งหุบดอยล้วนต้องผ่านการเรียนรู้ของคนรุ่นต่อรุ่น “เจ้าหน้าที่รุ่นแรกๆ กับคนเก่าแก่ของที่นี่ร่วมมือกันเยอะครับ ทั้งทดลองตัวอย่าง เก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ชนิดไหนเหมาะ ชนิดไหนไม่เหมาะ” ถึงวันนี้อ่างขางกลับมีไม้ผลและไม้ดอกในนามโครงการหลวงส่งต่อลงไปถึงผู้คนข้างล่างนับพันชนิด
ขึ้นสู่ด้านบนด้วยวิวเปิดโล่ง ขบวนนักท่องเที่ยวเริ่มลงมาสู่โลกดอกไม้ พาเสียงหัวเราะสดใสจมเข้าไปในสวน 80 ที่จัดสวนสไตล์อังกฤษ กะหล่ำประดับ เดซี ลินาเลีย อาบูติลอน อวดโฉมหลากสีเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนเลือกมุมต่างๆ เก้าอี้ไม้รูปทรงสวยไม่เคยขาดเด็กสาวที่ลงนั่งให้วิวดอกไม้นานาเป็นฉากถ่ายรูปตลอดวัน
ตรงข้ามกัน สวนคำดอยรวบรวมพรรณไม้ดอกตระกูลโรโดเดรนดรอน หรือกุหลาบพันปีไว้อย่างน่าตื่นตา ทั้งจากนิวซีแลนด์เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ติดดอกสีเหลือง ชมพู แข่งกับพันธุ์พื้นเมืองของบ้านเรา ที่ให้ดอกสีแดง สีขาว โลกของคนชอบต้นไม้ละเอียดอ่อนเช่นนี้เอง ผมเห็นผู้เฒ่าบางคนเดินดูโรโดเดรนดรอนราวกับเลือกซื้อรถโบราณแสนคลาสสิก
สโมสรอ่างขางหรือบ้านมิตรานุสรณ์กลายเป็นที่รวมของผักและผลไม้นานาชนิด มันทั้งสดหวาน มากมายหลายชนิด และทำให้อาหารหลากเมนูในนั้นกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ทุกคนเดินเข้าไปในอาคารสีขาว “เฉพาะตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ทางโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักก็รวบรวบกันแทบไม่ทันแล้วครับ” พ่อครัวหนุ่มจากแดนใต้ที่พาตัวเองมาอยู่กลางหุบเขาของอำเภอฝางแจงให้ผมฝั่งในบ่ายวันหนึ่ง เราพูดคุยกันท่ามกลางวงบุฟเฟต์สุดสัปดาห์ นักท่องเที่ยวลานตา
บนอ่างขางราวกับสวรรค์ของคนหลงใหลผัก ท่ามกลางพื้นที่กว่า 1,165 ตารางเมตรที่อยู่รายล้อมโครงการ คนงานของอ่างขางล้วนประคบประหงมผักนานาชนิดออกสู่ตลาดทุกวัน มะเขือเทศเชอร์รี มะเขือม่วงก้านดำ ผักตระกูลแครอต พาร์สลีย์ เซเลอรีพืชตระกูลถั่วอันกรอบหวาน เหล่านี้ล้วนมีที่มาไม่แตกต่าง คือความหนาวเย็นสมบูรณ์ของขุนเขาและเรี่ยวแรงของผู้คนตัวเล็กๆ ที่หยัดยนคู่อ่างขางมาตลอดการก่อเกิด
ในเรือนดอกไม้ที่บ่มเพาะไม้ดอกอย่างบีโกเนีย รองเท้านารีสายพันธุ์ต่างๆ บางคนเลือกหย่อนใจกับความงาม ขณะที่ผมนั่งนิ่งในร้านกาแฟดอยคำ เมล็ดพันธุ์กาแฟอาราบิกาคั่วหอมจากฝีมือสาวน้อยลูกหลานมูเซอ เพลงพระราชนิพนธ์บรรเลงอยู่คลอๆ เท่านั้นเองโลกของพืชพรรณกลางขุนเขาอันหนาวเหน็บแห่งนี้ยิ่งดูรื่นรมย์
บางคนเปรียบว่าสวรรค์อยู่ห่างไกล คล้ายจับต้องได้เพียงจินตนาการ
หากนิยามของมันคือความสุขอันแสนหวาน...นาทีนี้ในอ่างขางอาจไม่แตกต่าง
ถนนสายเล็กอันคดโค้งเหวี่ยงรถจี๊ปคันเก่าสวนความสูงออกจากโครงการ พญาเสือโคร่งห่มดอกสีชมพูไว้ตามต้น เกาะกลุ่มกันเป็นหย่อมๆ เมื่อแสงสาดไล้ลงมา ถนนกลายเป็นความรื่นรมย์ชั้นยอดให้หลายคนเลือกลงไปยืนอยู่ริมทาง มองทิวดอยไกลลิบตา
เราเลยจุดชมวิวเปิดกว้างที่เมื่อเช้าคงเนืองแน่นผู้คนยามขึ้นมาดูทะเลหมอกเย้าดวงอาทิตย์ ลัดลงสู่ทางลูกรังอัดแน่น แอ่งกระทะของขุนเขากว้างไกล ที่ริมเขานั้นกระท่อมราว 60 หลังคาเรือนวางตัวไต่ระดับอยู่อย่างคงทน ไร้สุ้มเสียงความเจริญ มีเพียงภาพจริงของการเป็นอยู่ควบคู่ขุนเขาของพี่น้องมูเซอดำบ้านขอบด้ง
บ้านของพวกเขาไล่ระดับและสงบนิ่งเช่นเดียวกับภูเขาที่โอบล้อม ควันไฟคลุ้งออกมาจากชองหลังคาที่มุงด้วยหญ้าคา เคล้าอยู่กับไอหมอกที่ไม่ยอมจางหาย บนลานดิน แม่เฒ่ากับหนุ่มสาวสี่ห้าคนช่วยกันตำข้าวอยู่อย่างสบายอารมณ์ ชีวิตดูง่ายกว่าที่เราคิดเราเชื่อและผูกโยงหลายต่อหลายอย่างขึ้นมาทบซ้อน
“เฮาอยู่ตรงนี้มาเมิน ไม่คิดจะละไปไหน พ่อหลวงและโครงการหลวงนั่นล่ะทำให้เราอยู่ได้” จากชีวิตล่าสัตว์อันเป็นสิ่งถนัดของคนมูเซอ จะหมอ-เฒ่ามูเซอดำหรือที่พวกเขาเรียกตัวเองว่าลาหู่นะบอกกับผมในบ่ายแสนเงียบ ชีวิตผ่านแรงเร้าจากสงครามของคนรุ่นพ่อที่อพยพหนีสงครามจากรัฐไทยใหญ่พม่าเข้ามาสู่อ่างขางดูผ่อนคลาย รายล้อมด้วยความหวัง
เด็กๆ ช่วยคนแก่หอบก้านดอกหญ้าอิปุแคมาวางตรงชานบ้าน ก่อนที่พวกเขาจะลงมือสานมันเป็นกำไลวงเล็กๆ นับสิบนับร้อย“ขายนักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึกน่ะ เหลือเสียมาก ก็ว่ากันไปของมันอยู่กับบ้านเรา” จะหมอบอกเมื่อผมเล่าให้ฟังว่าเห็นแม่เฒ่าและเด็กน้อยมากมายชวนให้ซื้อกำไลที่ถักจากหญ้าชนิดนี้ตั้งแต่อยู่ในโครงการ
หากชีวิตไม่รีบร้อนดิ้นรนกำลังหมุนไม่ทันโลก อย่างที่กำไลอิปุแคสักวงอาจเป็นได้แค่ของที่ระลึก ทั้งที่มันตกทอดมาตั้งแต่ความสวยงามและคุณค่าทางวัฒนธรรมของพวกเขา สิ่งใดกันแน่ที่ดำรงให้พวกเขาคงอยู่กับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
“อะไรมันก็เข้ามาหาเราได้ อยู่ที่เรานั่นละ ที่รับมันมาเอง ใช้มันไปอย่างไร” เฒ่าลาหู่เปรย หมากยังเปื้อนเปรอะขอบปาก “ทุกวันนี้เราอยู่ร่วมกันได้ก็ดีมากอยู่แล้ว” เทียบกับชีวิตเร่ร่อน ผจญแรงเหวี่ยงของสงครามที่ไม่ได้สร้างเองในอดีตแล้ว วันนี้ของพวกเขาดูจะงดงามไม่ว่าจะผ่านพ้นไปเช่นไร
ชีวิตจริงแท้อาจต้องการความหมายแค่ว่า เพียงรอบข้างหันมายิ้มและก้าวเดินไปร่วมกันอย่างเป็นสุขและยั่งยืนเท่านั้น
ยิ่งสูงขึ้นมาอากาศยิ่งเหย็บหนาว ลมกระโชกแรงเสียจนยอดไม้ยามผลัดใบที่เหลือเพียงก้านโครงแกว่งไกวราวหนังแฟนตาซี
ชายแดนไทย-พม่ารอเราอยู่ที่ปลายถนน มันหุบตัวลงผ่านบ้านนอแลของพี่น้องชาวปะหล่องที่ว่ากันว่าอพยพเข้าสู่ดินแดนไทยเป็นชนเผ่าท้ายๆ หากเทียบกับชาวเขาเผ่าอื่น สีสันเสื้อผ้าของพวกเขาจัดจ้าน เขียว แดง ขลิบส้มที่ปลายแขน ตัดสลับกับหน่องง่อง-โลหะเงินเส้นโต ตอกลาย ที่คงต้องใช้ทักษะมากมายถึงจะตีขึ้นมาได้
บ้านนอแลไล่เรียงไปตามถนนและหล่อเลี้ยงพี่น้องปะหล่องที่มักเรียกตัวเองว่า “ดาละอั้ง” กว่า 700 ชีวิตไว้สองฟากฝั่ง มีหลายครัวเรือนเหมือนกันที่พาตัวเองไปปักหลักในกระท่อมชายเขา ในไร่ผักบางแปลง
พรุ่งนี้วันพระ ปะหล่องบ้านนอแลหลายคนเตรียมข้าวของไปทำบุญในรุ่งขึ้น “เฮาถือพุทธกันมาเมิน ก่อนมาอยู่เมืองไทยเสียอีก”มีโม มันเฮิงอีกคนที่มานั่งอยู่กับผมตรงชายแดนฐานปฏิบัติการบ้านนอแล กว้างไกลลิบตานั้นคือรัฐฉานในฝั่งพม่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรลลี่เพิ่งมากางเต็นท์ ทหารรักษาการชายแดนในวันสงบกลายเป็นเจ้าหน้าที่จำเป็น ซุ้มกาแฟและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น
พวกเขาบริการฟรี แล้วแต่ใครจะบริจาค
ไม่เพียงแค่โรงการหลวงที่อ่างขาง ดูเหมือนจะมีหลายหน่วยงานพากันขึ้นมาพัฒนาดูแลชีวิตกลางหุบดอยแห่งนี้ให้มีทางเดินใหม่อันมั่นคง
กว่า 20 ปีที่พี่น้องปะหล่องเข้ามาปักหลักอยู่ตรงชายขอบของอ่างขาง ว่ากันว่าในวันที่พวกเขาได้มีโอกาสเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าบ้านนั้น น้ำตารื้นๆ ไหลอาบแก้มผู้เฒ่าหลายคนด้วยความปีติ “วันนั้นในหลวงเสด็จฯ มาดอยอ่างขาง นายจ้างจีนฮ่อบอกให้ไปขอที่อยู่ในเมืองไทย กลัวก็กลัว แต่เพื่อพี่น้อง อย่างไรก็ต้องกล้า” ลุงโมและพี่น้องในวันนั้นของปี พ.ศ. 2527 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่ในแผ่นดินไทยได้ “แต่ท่านว่าห้ามปลูกฝิ่น ให้ปลูกผักผลไม้”
ชีวิตหลังสงครามไม่ใช่เรื่องน่ารื้อฟื้น แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้คนที่ไม่หลงรักมันหนีห่างออกมาหาหนทางแห่งความสงบสุขได้มากขึ้น
“ปลูกพืชผักอย่างนี้ดีกับเรากว่าเดิมนัก นอนหลับตาได้ทุกคืน ไม่มีเสียงปืนคอยหลอน” ลุงโมเอ็ดเด็กๆ ที่วิ่งซนอยู่ตรงลานดิน แต่ในน้ำเสียงดวงตามีแต่ความอารี
ยามเย็นพาเราลงมาสู่ไร่สตรอเบอร์รี่กว้างไกลอย่างที่คนเมืองอย่างผมเพิ่งเคยได้เห็น ลูกสุกได้ขนาดวางตัวอยู่บนใบตองตึงกันการกัดกินของเพลี้ยและหนอน “ไม่ไห้ผลถูกดิน” เธอพูดกลางไม่ชัดนัก แต่รอยยิ้มนั้นไม่แตกต่าง ยังมีกุหลาบตัดดอกอีกหลายแปลงที่ผลิดอกตูมอยู่ในโรงเรือน รอคอยการงานยามเช้าของชาวปะหล่องบ้านนอแลที่จะตัดดอกส่งไปยังโครงการและต่อยอดลงสู่หลายแห่งเบื้องล่างขุนเขา
การใช้ชีวิต หากเป็นด้วยในนามของความรัก บางครั้งอาจหอมหวานราวผลไม้สักลูกที่สุกงอมด้วยการเพาะบ่มจากหัวใจ และหากภูเขา แผ่นดิน รมถึงพืชพรรณคือความรัก รักที่จะมีชีวิตอยู่บนแดนดินที่หลับตาลงและพร้อมจะเรียกมันได้ว่าบ้าน
คนที่นี่รู้อยู่เพียงว่า สิ่งเหล่านี้ต่างแบ่งบานอยู่ทั่วทั้งหุบดอยของพวกเขา ไม่ว่าในวันที่แดดจัด หมอกหนาวอาบคลุม หรือผ่านม่านฝนโปรย