ชวลิต เสริมปรุงสุข
การที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีชีวิตยืนยาวนานถึง 70 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องยากในมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบัน แต่การที่คนทำศิลปะคนหนึ่งจะดำรงชีวิตอยู่ให้รอดไม่อดตายมาจนถึงวัยนี้โดยไม่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอื่นใดเลยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา น้อยคนนักที่จะทำได้อย่างอาจารย์ชวลิต ท่านเคยปรารภว่า “คงจะมีโอกาสใช้ชีวิตและเวลาส่วนที่เหลือนี้อยู่กับการได้ทำศิลปะตลอดไปจนวาระสุดท้ายแน่นอน นี่เป็นจุดมุ่งหมายแท้จริงของคนทำงานศิลปะทั่วโลก หาใช่ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินตรา และอื่นๆ ทั้งสิ้น” ผลงานที่ผ่านมามากมายนับไม่ถ้วนของท่าน ปัจจุบันยังมีคนสนใจชมกันอย่างล้นหลามอยู่ในมิวเซียมและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ท่านไปพำนักอยู่ทนั่นถึง 46 ปี ทั้งหมดจึงถือได้ว่าอาจารย์ชวลิตเป็นเสมือนดาวฤกษ์แห่งวงการศิลปะร่วมสมัย ที่มีแสงสว่างด้วยตัวเอง เปล่งประกายแสงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสกับแสงแห่งปัญญา ความงามแห่งความคิดที่ลุ่มลึก
เติมฟืนให้เชื้อไฟ
“หลังจากผมทำสวนประติมากรรมร่วมสมัยที่จังหวัดกาญจนบุรีเสร็จ ก็บังเอิญได้รู้จักกับนายกเทศมนตรี เมืองกระบี่ เขาอยากให้ผมทำให้กระบี่เป็นเมืองศิลปะบ้าง เขาอยากให้ผมทำอนุสาวรีย์สึนามิริมทะเล ผมคิดว่าหากทำดีๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดกระบี่ เพราะว่าทางจังหวัดเขามีโครงการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยขนาดใหญ่ ผมจึงบริจาคผลงานร่วมกับเขาไป 2 ชิ้น และบอกอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก และ อาจารย์ทวี รัชนีกร 2 ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกับศิลปินอีกหลายท่านให้มอบผลงานให้ไปติดไว้ที่หอศิลป์ เขาจึงพาไปดูริมทะเลแล้วเอาแบบมาให้ดู ผมดูแล้วก็บอกว่ามันใช้ไม่ได้ บอกตรงๆ มือไม่ถึง มันไม่เป็นศิลปะอะไรเลย มันไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะอวดชาวโลก เสียดายงบประมาณ ทำเป็นท่อๆ ติดริมทะเล ถ้าทำแบบนี้มันไม่เป็นสากล มันไม่มีคุณค่าที่จะไปอวดใครได้ คุณต้องให้ศิลปินที่มีความรู้ว่างานสากลมันเป็นอย่างไร เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเราไปเปรียบเทียบกับที่เขาเป็นสากลมันจะพ้นจากเชื้อชาติ พ้นจากอายุแต่มันจะมีความเป็นสากลอยู่ มีความเป็นไทยก็เป็นสากลได้ คนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็เข้าใจได้มันจะดูรู้ ที่ยากและซับซ้อนหรือเรียบง่ายก็เป็นสากลได้ งานที่เป็นสากล ชาติทุกชาติในโลกมองดูแล้วเข้าใจ
“ฝรั่งเขาเห็นเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันเป็นหน้าเป็นตา เป็นปัญญาของชนชาติเขา เขาจึงรักษาบ้านเมืองรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาโบราณสถานให้อยู่ในสภาพแบบเก่า อย่างอัมสเตอร์ดัมถ้าไปเดินดู มันเหมือนเมืองเมื่อ 300-600 ปีที่แล้ว เขารณรงค์รักษาไว้อย่างดี ทั่วประเทศก็ว่าได้ คุณจะเห็นบ้านเรือนหรือตึกที่เขาอยู่ มันเป็นลักษณะของชาวดัทช์โดยเฉพาะมันจะไม่เหมือนฝรั่งเศส ไม่เหมือนเบลเยียมหรือเยอรมนี มันเป็นสิ่งดึงดูดให้คนไปเที่ยวฮอลแลนด์ ไปดูบรรยากาศที่เป็นดัทช์แท้ๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็สร้างวัฒนธรรมใหม่ สร้างศิลปะร่วมสมัยขึ้นมาใหม่ให้เป็นลักษณะของการสอนศิลปะประจำชาติ แต่การทำศิลปะร่วมสมัย มันไม่เหมือนกับการรักษาโบราณสถานที่ต้องเก็บของเดิมเพื่อจะเดินทางไปข้างหน้า แต่การสร้างงานร่วมสมัยใหม่ เขาพยายามสร้างศิลปะในส่วนของเขาให้ได้ระดับของสากล ซึ่งดูแล้วอาจจะเป็นดัทช์ก็ได้ ไม่เป็นดัทช์ก็ได้ งานร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นชาติ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เขาก็ทำงานมุ่งอยู่สายเดียวคือความเป็นสากล พื้นฐานของแต่ละเชื้อชาติมันจะไม่เหมือนกัน สำคัญว่างานของแต่ละประเทศสร้างสรรค์ไหม งานครีเอทีฟไหม”
เมียงมอง...ภูมิทัศน์
“ผมว่าวงการศิลปะไทยสู้กระแสสังคมเน่าๆ บางแห่งของไทยไม่ไหว เพราะการทำงานศิลปะมันต้องอาศัยหลายๆ อย่าง ถ้าคุณอยู่ในกองขยะ คุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันสกปรก แล้วคุณจะเคยชิน สุนทรียภาพของเราถูกทำลายมานาน เพราะว่าในส่วนที่เรารับมา เรารับมาจนเกิดความชิน เหมือนกับคุณนั่งอยู่แล้วมีรถวิ่งผ่านคุณตลอดเวลา สักพักคุณก็เกิดความเคยชิน มันเป็นปกติแล้ว ทีนี้คุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย คุณมองไปทางไหนก็เห็นตึกระเกะระกะอย่างไม่เป็นระเบียบ มันมองเป็นศิลปะไม่ได้อย่างเมืองนอก คุณลงจากเครื่องบิน คุณจะเห็นบ้านเรือนเขาเป็นระเบียบเรียบร้อย อัมสเตอร์ดัมจะไม่มีขยะทางสายตาเลย ทุกอย่างเขาขจัดหมด ตึกเก่าที่ทรุดโทรมจะไม่มีเลย เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีสะอาด เราก็จะมีสุนทรียภาพที่ดี คุณก็จะเป็นคนที่มีรสนิยมดี
“ความเคยชินเหมือนกับเราทำชั่ว ถ้าเราทำชั่วจนเคยชินแล้วคุณจะไม่รู้สึกชั่วแล้ว อย่างมือปืนไปยิงคนจนชินโดยไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว ตรงนี้อันตราย แต่เรื่องศิลปะมันอันตรายตรงที่คุณทำลายส่วนลึกของคุณหมดแล้ว รัฐบาลที่จัดระบบการศึกษาไม่ได้ริเริ่มปลูกฝังความงดงามในจิตใจให้กับคนในประเทศให้มีศิลปะในหัวใจ เขาไม่รู้ว่าศิลปะมันสำคัญขนาดไหน ไม่เคยคิดว่าสิ่งแวดล้อมโบราณสถาน วัดวาอารามเก่าๆ มีความสำคัญขนาดไหน ฝรั่งที่เขาเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เขาไม่ได้มาดูตึกสูง เขาไม่ได้มาศูนย์การค้า เขามาหาในสิ่งที่บ้านเขาไม่มี ในเมืองไทยเรามีวัฒนธรรมใหญ่กว่าเขาอีก แล้วเราก็ทำลาย วัดดีๆ ถูกทำลายหมดเด็กๆ ก็จะเติบโตมาในรสนิยมเลวจนชิน เสียงที่หนวกหู ชินอะไรอื่นๆ ที่ฉาบฉวย แล้วคุณจะเข้าถึงศิลปะได้อย่างไร
“ผ่านไป 40 กว่าปี ผมกลับมา ผมว่ายิ่งหนักขึ้นๆ ผมอยู่เมืองนอกมา ผมเห็นความแตกต่าง เมื่อผมกลับบ้านที่เมืองไทย ผมจึงไม่โฟกัสอะไรเลยเพราะเมื่อผมมองไปมันทำลายจิตใจผม อย่างผมแข็งแล้ว จึงมีแรงต้านทานสูง เรามีวัคซีนพอ แต่คนใหม่ๆ มันถูกทำลายง่ายมาก ผมเป็นห่วงเยาวชนของประเทศมานาน จนเดี๋ยวนี้ปลงแล้ว เพราะไม่เชื่อว่ามันจะไปได้มากกว่านี้ มันจะดีขึ้นในกลุ่มเล็กๆ แต่จะให้ประเทศดีขึ้นแบบฝรั่ง มันเป็นไปไม่ได้ คุณจะไปปรับได้อย่างไร ประเทศมันไม่ใช่เล็กๆ เมืองนอกเมืองหนึ่งเขามีเอกลักษณ์ว่าคือเมืองนี้ชื่อนี้ คุณไปปารีส ก็รู้นี่คือปารีส ตึกของเขามีเอกลักษณ์ของเขา แม่น้ำลำคลองใสสะอาด แต่ที่เมืองไทยทำลายภูมิทัศน์
“ดูอย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ท่านสร้างไว้ ท่านมีแผนการอย่างไรให้เกิดสุนทรียภาพเชิงสัญลักษณ์ มองมาจากพญาไท ก็มองเห็นเด่นสง่า มองมาจากสะพานควายก็งดงาม แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่ง คุณก็เอารถไฟฟ้าไปกั้น ทัศนียภาพพังไปเลย ไม่มีสัญลักษณ์อะไรอีกแล้ว เมื่อเอาความเจริญเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง พังหมด เพราะนักการเมืองไม่รู้ เขาไม่เข้าใจว่าตรงนี้มันมีความสำคัญมาก เขามองไม่เห็น เขาคิดแค่อยากจะสร้างเศรษฐกิจ สร้างโรงงาน คิดจะส่งออก เขามองไม่เห็นว่ามันสำคัญต่อจิตใจของประชาชน ต่อคนต่างชาติ ความเจริญในเมืองของเราตอนนี้กำลังจะทำลายความเจริญของจิตใจทางวัฒนธรรม ทำลายแล้วทำลายอีก อย่างศูนย์การบินนานาชาติสร้างมา 2 ปี สีลอกแล้ว ตะไคร่ขึ้นเต็มหมด ก็ไม่ยอมทาสี เมืองนอกเขาควบคุมหมดรัฐบาลจะมาช่วยทาสีด้านหน้าให้หมด แต่ภายในคุณต้องทำเอง รัฐบาลจะออก 40% ปราสาทเก่าๆ จะต้องดูดีหมด เมืองมันถึงจะสวย มีกฎหมายควบคุมโบราณสถาน ซึ่งเมืองไทยมี แต่ให้ความสำคัญน้อยมาก อย่างตึกสมัยรัชกาลที่ 5 จะรื้อไม่ได้ แต่ของเมืองไทยทุกจังหวัด เมื่อขับรถไปถึงเราจะไม่รู้เลยว่าเป็นจังหวัดอะไร ถ้าไม่อ่านป้าย มันไม่มีเอกลักษณ์ จะเห็นห้องแถวเต็มไปหมด เห็นแต่ป้ายโฆษณารกสายตา จะมีตึกเก่า มีสลัม ทุกเมืองจึงคล้ายกันหมด ต่างชาติเขาทำได้ เพราะเขาเข้าใจศิลปะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมศิลปะวัฒนธรรม
“ใครจะด่าผมก็ช่าง บางคนเข้าคิดว่าผมเห็นฝรั่งดีกว่า มันไม่ใช่ ผมพูดความจริง ผมรักเมืองไทยและอยากให้เมืองไทยมันดี แต่เวลานี้ผมยอมแพ้ ผมรู้ว่าอะไรที่เราทำได้แค่ไหน อะไรที่ทำไม่ได้แค่ไหน เราจะปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีมันยากมาก มันเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่มีกฎหมายควบคุมตรงนี้”
สร้างพลังศรัทธา...ความเชื่อมั่น
“ที่ศิลปะในเมืองไทย มันไม่เจริญเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ของเรามันขาดศรัทธาในงานศิลปะ ศิลปะมันเหมือนศาสนาหนึ่ง คุณเข้ามาแล้วคุณจะต้องมีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ต้องเชื่อ เหมือนกับคริสต์ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้า ชาวพุทธก็เชื่อในพระพุทธเจ้า ศิลปะไทยมันไม่ถึงกับล่มสลาย เพียงแต่มันไม่ขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะเมื่อมันมีคนทำมา อีกคนหนึ่งก็หายไป ในยุคสมัยนี้ เด็กที่จบทางด้านศิลปะ นับแล้วเป็นร้อยๆ คนในแต่ละปี แต่มีคนทำงานศิลปะเพียง 2-3 คน พอทำสักพักเดียวก็ทนไม่ไหว เพราะเขาไม่มีกำลังใจ เขาไม่มีศรัทธา เขาไม่กล้าเสียสละชีวิตเพื่อศิลปะ แต่พวกรุ่นผมได้รับการวางรากฐานที่ดี ศาสตราจารย์ศิลป์ท่านรู้จริงว่างานศิลปะมันมีค่ามากที่สุดแล้วในชาตินี้ ท่านบอกว่า ‘เพียงแต่ว่าพวกเธอจะกล้าเสี่ยงกันไหม จะกล้ายอมเอาชีวิตนี้เพื่อศิลปะไหมพวกเธอกล้าอดตายไหม ให้เลือกเอาเอง’ ท่านสอนให้เรารู้ค่า ให้เราศรัทธาในงานศิลปะ แล้วท่านก็จะนำงานดีๆ มาให้ชมว่ากรุงโรมมันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเราดูแล้วมันทำให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรล้ำเลิศไปกว่างานศิลปะอีกแล้ว อันนี้มันจะฝังเข้าไปในลูกศิษย์ อาจารย์ ศิษย์รุ่นเก่าๆ ทุกคน
“ผมถูกสอนให้รักศิลปะและผมถูกสอนว่าปัญหาที่มันอยู่ไม่ได้ มีอะไรบ้าง จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เหมือนกับเราเดินทางไกลเข้าไปในป่า ทุกอย่างเป็นอุปสรรคที่เราต้องฟันฝ่าไปให้ได้ แล้วคุณก็จะออกไปได้ พอได้เงินขายรูปปั๊บเขียนสไตล์นี้แล้วได้เงินคุณก็จะเกิดลังเล แล้วคุณก็จะเริ่มไม่กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แล้ว เพราะคุณกลัวว่าจะขายไม่ได้ อันนี้ก็พังแล้ว ถ้าเผื่ออันนี้คุณคิดว่าดี คนไม่ซื้อ คุณก็ว่าไอ้นั่นเขาไม่เข้าใจเรา แต่เราทำงานดีแล้วคุณก็ทำงานไป เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยกล้าทำ หรืออย่างอาจารย์สอนศิลปะตามมหาวิทยาลัยบางคน ไม่กล้าสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะเกาะติดกับสถาบัน เกาะติดงาน เกาะติดกับตำแหน่ง คนพวกนี้มักจะบอกว่ารอให้ปลดเกษียณก่อนแล้วค่อยมาเขียนรูป โอ้โห มันสายไปแล้ว รุ่นอายุ 60-65 ปีเพิ่งจะมาเริ่มต้น แล้วจะไปไหนรอด ศิลปะมันต้องต่อเนื่องเช้า สาย บ่าย ดึกไปถึงเช้าก็มี คุณดูงานผมสิ มันพัฒนามาจากไหน มีรากฐานอยู่ขนาดไหน เราทำมันมาตลอด แต่พออายุ 65 ปีขึ้นไป คุณจะกลับไปเขียนรูปแบบสมัยที่คุณเรียนหนังสือมันสายไปแล้ว ศิลปะมันหยุดไม่ได้ คุณหยุดตรงไหนคุณก็ไปเริ่มต้นใหม่ตรงนั้น ถ้าหยุดไป 20 ปีคุณนึกหรือว่าจะไปเขียนงานใหม่อะไรบ้างไปเริ่มงานที่คุณหยุดอยู่ กว่าจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองได้มันก็สายเสียแล้ว จะเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน หมดแรงแล้ว
“ผมก็เรียนเหมือนกับคนอื่นๆ เรียน ผมต้องเรียนให้เขียนเป็น ให้มีทักษะ เพราะฉะนั้นผมจึงเป็นคนที่เขียนรูปเป็น ไม่ใช่หลีกเลี่ยงมาเขียนแอบสแตร็คพวกนี้ เพราะว่าเขียนรูปดรอว์อิ้งไม่เป็น ไม่ใช่อย่างนั้น พวกนี้มันต่างกัน คนที่ทำเพราะเรารู้สึกว่าเราทำเพราะเราต้องการทำ เราเลือกงานเพราะเป็นตัวเรา ไม่ใช่เราเขียนไม่เป็น แต่ใจเราอยู่ที่ตรงนั้น ผมเขียนรูปเป็น เขียนรูปให้เหมือนก็ได้ผมผ่านมาหมด จิตรกรรม ภาพพิมพ์ งานปั้น งานเซรามิก สื่อผสม ประติมากรรม ฯลฯ แต่มันไม่ใช่ลักษณะของผม แต่ละคนมันจะมีส่วนตัวที่ละเอียดมาก แต่ผมไม่ใช่พวกเซอร์พวกฝันแบบนั้น ผมเป็นตัวตน ติดดิน มีฟังก์ชั่น งานผมจะเป็นพวกฟังก์ชั่น พวกที่มีเหตุผล มีระเบียบ มันมาจากนิสัยของศิลปินแต่ละคน มีกฎ มีเกณฑ์ มีจังหวะ มีแพลนเหมือนกับการสร้างบ้าน ผมถึงสร้างบ้านได้
“ของผมจะทำพร้อมๆ กัน คือมีความคิด มีการวางแผน ไม่ใช่ศิลปะประเภทตวัดฝีแปรงวั้บๆ แบบเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ตัวเราต้องอ่านตัวเราให้ออก ช่วงที่ผมเริ่มต้นผมก็จะเขียนวิวทิวทัศน์ เขียนพอร์ทเทรต ผมโชคดีที่ได้ไปเรียนต่อด้านศิลปะที่เมืองนอก ได้ไปเห็นโลกทัศน์มันกว้าง อยู่ที่นี่เราไม่มีกำลังใจเลย เราไม่เคยมีใครบอกว่าศิลปะนี้ดี ไม่มีใครพูดถึง มีแต่อาจารย์ศิลป์คนเดียว สมัยนั้นท่านบอกว่า ‘ศิลปะล้ำเลิศ ให้ชีวิตคุ้ม ถ้าเธอจะเสียสละให้กับศิลปะ’ เมื่อสิ้นอาจารย์ศิลป์ ผมจึงไปเมืองนอก เพราะเราหาความรู้ไม่ได้เลย หาความเชื่อมั่นไม่ได้ เพราะอาจารย์ศิลป์เหมือนศาสดาด้านศิลปะสมัยใหม่ อย่างไมเคิล แอนเจโล ที่เป็นทั้งช่างปั้นช่างเขียน นักตกแต่ง เป็นสถาปนิก ผู้ออกแบบโดมมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ถ้าเขาไม่เชื่อในพระเจ้าเขาก็ไม่สามารถเขียนภาพที่เซนต์ปีเตอร์ได้ เพราะมันมโหฬารมาก ต้องมีความเชื่อ คุณจะเขียนเล่นๆ ไม่ได้ ใจคุณต้องไปให้หมด เทคนิคทักษะใครๆ ก็เรียนได้ แต่ความเชื่อมั่นในศิลปะถ้าคุณไม่มี แป๊บเดียวคุณก็พัง”
รัฐบาลดัทช์เชิดชู...สนับสนุน
“เมื่อผมไปอยู่เมืองนอก ผมก็ไปดูมิวเซียม ไปดูตัวอย่างของดีๆ ในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและอเมริกา การจะเข้าถึงศิลปะมันเหมือนกับเราต้องรู้ว่าของดีมันเป็นอย่างไร ของไม่ดีมันเป็นอย่างไร ไปดูของแวนโก๊ะ ของปิกัสโซ เป็นตัวอย่างเป็นครูเท่านั้น มันมีแบบอย่างเยอะ ผมดูหมด แล้วผมก็เริ่มสร้างตัวเองว่าเราเป็นอะไร ทดลองเขียนจนออกมาเป็นงานของเราตรงเป๊ะเลย ใครจะฟังใครจะเชื่อ ใครจะชอบหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา แต่เรากำลังสร้างแล้วก็มีคนเขารู้แล้ว บังเอิญรัฐบาลดัทช์เขาสนับสนุนศิลปิน ก็สนับสนุนผมมา 18 ปี เขาให้เงินเดือนผมโดยที่ผมไม่ต้องทำอะไรเลย ให้เงินมาเฉยๆ แล้วคุณก็เขียนรูปของคุณไป เพราะเขาเห็นว่าเราเอาจริง ตอนที่ผมไป ผมก็ไม่คิดที่จะตั้งรกรากอยู่เมืองนอกได้ เพราะมันอยู่ยากมาก กว่าเราจะไปอยู่ได้ต้องทำงานศิลปะมากมาย แต่พอไปปั๊บ เราก็เห็นว่าพอมีทาง เพราะเขามีระบบช่วยเหลือศิลปินอยู่ แต่มันก็ยากมากที่เขาจะนำเงินภาษีของคนของเขามาให้คนต่างชาติ มันต้องพิเศษจริงๆ เขาดูรู้ว่าเราเอาจริง และมีแวว จึงสนับสนุนให้อยู่ในอุปถัมภ์ของรัฐบาลดัทช์ ก็ให้เงินเดือนมากิน ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากศิลปะอย่างเดียว พร้อมกับมอบสัญชาติให้ผม ผมจึงเป็นพลเมืองชาวดัทช์ มีสิทธิหน้าที่เหมือนกับเขา ผมจึงมีสองสัญชาติ ไม่ต้องห่วงเรื่องอะไรเลย มีบ้านให้อยู่ มีสตูดิโอให้ทำงาน มีสวัสดิการดีมาก เวลาจะเอารูปไปส่ง จะมีรถมารับไปส่งด้วย ทุกอย่างเพื่อศิลปินที่รักงานศิลปะ
“ผมอยากทำงานศิลปะ ผมไม่ต้องการรวย ผมต้องการทำงานอย่างเดียว ด้วยการเรียนรู้จากการหาศรัทธาเป็นพื้นฐาน ทำให้ผมรู้ว่าศิลปะมันล้ำเลิศขนาดไหน บางทีไม่ต้องอธิบายมาก ฝรั่งเขาดูรู้มานาน เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ ผ่านมา 500-600ปี เขารู้หมดเพราะพื้นฐานพวกนี้มาจากตอนเขายังเด็กๆ เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมดี นักเรียนถูกพาไปพิพิธภัณฑ์ทุกวันพุธ เด็กๆ เป็นร้อยๆ คนจะถูกครูพาไปดู เมื่อโตขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งก็ดูอีกขั้นหนึ่ง จบออกมาเป็นหมอบ้าง เป็นทนายความ นายธนาคารหรือนักการเมืองบ้างพื้นฐานทางด้านศิลปะก็ดีทุกคน ไม่มีใครดูถูกศิลปะ
“ถ้าสังเกตให้ดี เราไม่เคยบันทึกเลยว่าสถาปนิกคนไหนสร้างวัดไหน นักประติมากรรมคนไหนปั้นพระพุทธรูปปางไหน ไม่เคยมีปรากฏ ไม่เคยให้เกียรติศิลปิน ไม่เคยเห็นความสำคัญเฉพาะตัว ไปดูเขาปั้นปูนปั้นแถวสุโขทัย นั่นแหละศิลปินทั้งนั้นเลย แต่ไม่เคยมีใครรู้ว่าเขาคือใคร ในต่างประเทศหากย้อนไปเป็นพันๆ ปี มีชื่อศิลปินสลักผลงานไว้ข้างหลังหมด เพราะรากฐานเขายาวให้การเคารพและให้เกียรติศิลปินมาก สมัยที่ผมเรียนกับอาจารย์ศิลป์ ผมตามท่านไปยังที่ต่างๆ ตามโบราณสถานสำคัญๆ ทั่วประเทศ ผมนำกล้องถ่ายรูปของพ่อไปถ่ายภาพอาจารย์ศิลป์ วันเกิดท่านผมก็ถ่าย รูปอาจารย์ศิลป์จึงเยอะในสมัยที่ผมเรียน ก่อนผมจะไปต่างประเทศ ผมกลัวภาพถ่ายหายจึงมอบให้กับอาจารย์อวบ สานะเสน ต่อมามีคนนำรูปที่ผมถ่ายไปลงหนังสือหลายเล่มนับสิบๆ ปี เขาไม่เคยรู้เลยว่าใครถ่ายภาพ เพราะไม่ให้ความสำคัญกับคนถ่ายรูปเลยว่าควรจะให้เครดิตเขา เมืองไทยเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ เพิ่งจะมาตอนหลังที่ผมไปบอกเขาว่าหากเป็นที่เมืองนอกเขาฟ้องคุณตายแล้ว คุณนำรูปเขาไปลงแล้วไม่ได้ขออนุญาตเขาและไม่ลงชื่อผู้ถ่าย ฝรั่งนี่ไม่ได้เลย เรื่องนี้เขาให้เกียรติมาก
“ผมอยากจะบอกว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่เคารพศิลปะ ไม่เคารพศิลปิน เขาวางไว้ว่าศิลปินเป็นเพียงแค่ช่าง ที่เมืองนอกเขาเทียบศิลปินสำคัญมากกว่านักการเมืองอีก ศิลปะของศิลปินที่อยู่ในมิวเซียมมีอายุตั้งแต่ 100-500 ปี ส่วนนักการเมืองเดี๋ยวเดียวก็เปลี่ยนแล้ว (หัวเราะ)
“ผมต้องกลับมาแสดงผลงานที่เมืองไทยแผ่นดินเกิด เพราะผมชอบเมืองไทย ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สบายเท่ากับประเทศนี้อีกแล้ว อาหารก็อร่อย อากาศก็ดี ไม่ต้องไปกินมันฝรั่งทอด ไม่ต้องไปทนหนาว ผมกินง่ายอยู่ง่าย ถ้ามีเวลาผมก็จะทำเซรามิกและประติมากรรม ผมชอบทำงาน 3 มิติหรือการสร้างบ้าน มันเหมือนเราทำงานศิลปะอีกประเภทหนึ่ง การสร้างบ้านไม่ใช่มุ่งอยู่สบายเพียงอย่างเดียว มันมีการวางสเปซ 2 มิติ ทำมุมวางให้สวยเหมือนประติมากรรม วางผนังให้มันถูกต้อง มันก็สนุก เพราะจิตรกรรมกับประติมากรรม ต้องคิดคนละอย่าง ถ้าเรามาถึงจุดหนึ่ง ที่เรามีความรู้พอ เราจะทำได้หมด เราจะมีฟอร์มและมีไอเดียเข้ามาด้วย เพราะงานดีๆของศิลปิน ความคิดสำคัญมาก”
เสียบุตรคากองเพลิง!
“สมัยผมเรียนที่ศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรม ปี 2505 รุ่นเดียวกับอาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช รุ่นนั้นจบปริญญาตรี 2 คนเท่านั้น จากนั้นผมก็ได้รับทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศเนเธอ-แลนด์ ได้เป็นคนแรกที่ไปเรียนต่อที่ Rijksacademie van Beeldende Kunsten กรุงอัมสเตอร์ดาม และไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ก่อนหน้านั้น ผมเป็นคนบ้างาน โชคดีได้อาจารย์ดี ได้อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ท่านสอนปั้นดิน ตอนหลังผมมาฝึกฝีมือกับอาจารย์ไพฑูรย์ที่โรงหล่อ ท่านเก่งด้านช่าง ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ศิลป์ แล้วผมก็เจออาจารย์ศิลป์ทุกวัน เมื่อท่านเดินมาดู ผมเป็นคนเอาจริงเอาจัง ชีวิตมันจึงเริ่มต้นดีในตอนนั้น ครูเป็นผู้แนะนำ เป็นคนนำทาง เป็นคนสร้างศรัทธาให้เรา แต่เราต้องเป็นคนสร้างตัวเราเองด้วย
“ก่อนผมจะไปเมืองนอก อาจารย์ศิลป์บอกกับผมว่า ถ้านายจะทำศิลปะอย่างเดียว นายต้องไปเมืองนอก อยู่เมืองไทยไปไม่รอดท่านช่วยลูกศิษย์ของท่านเอาไว้ให้สอนหนังสือ ให้เงินเดือนกินเพราะทำได้แค่นั้น เขียนรูปบ้าง สอนหนังสือบ้าง แต่คนที่ออกไปเป็นศิลปินอิสระนั้นน้อยมาก แต่อยู่เมืองนอก ทำงานเลี้ยงตัวเองได้ เพราะมีคนสนใจเยอะ คนซื้องานศิลปะมันมีทุกบ้าน ทุกบ้านต้องมีงานศิลปะติดเป็นคอลเล็คชั่น มากกว่าคนไทยเป็นร้อยๆ เท่า มีนักสะสมงานศิลปะที่รู้คุณค่า เหมือนอย่างคุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่เมืองนอกมีเป็นร้อยๆ คน ในเมืองไทยมี 2-3 คน ต่างกันเยอะ อยู่เมืองนอกเรามีแต่ได้ อยู่เมืองไทยเรามีแต่เสีย ผมอยู่ที่นี่มีแต่ให้ ไม่เคยได้รับความรู้อะไรเลยในเมืองไทย เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมไม่อยู่เมืองไทยอย่างเดียว ผมไปชาร์จแบตเตอรี่ที่เมืองนอก เวลาผมจัดงานที่โน่น ผมไม่มีปัญหาทางด้านการเงินเลย เพราะรัฐบาลดัทช์เขาเข้ามาช่วยเหลือเรา
“ผมแต่งงานกับคุณภาณี มีทองคำ รุ่นน้องที่จบคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังให้กำเนิดบุตรชายคนแรกและคนเดียววัย 2 ขวบ ก็เกิดเหตุการณ์โศกสลดเลวร้ายที่ไม่เคยคาดคิดฝันมาก่อนในชีวิต เมื่อเกิดเพลิงไหม้บ้านพัก เด็กน้อยบริสุทธิ์ไร้เดียงสาลูกผมตายคากองเพลิงพร้อมพี่เลี้ยง ผลงานศิลปะมากมายที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมาหลายช่วงหลายสมัยได้กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด เป็นเหตุให้วงจรชีวิตและแนวงานของผมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง ผมไม่สามารถอยู่กับภรรยาได้อย่างปกติสุข จึงตกลงแยกทางกัน ความเศร้าโศกต่อการสูญเสียเลือดเนื้อสุดที่รักไป ผมยอมรับเหตุการณ์นั้นไม่ได้ มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงจนไม่สามารถสร้างสรรค์งานอะไรได้มากนัก ต้องพึ่งจิตแพทย์อยู่นานถึง 7 ปี นั่งๆ นอนๆ เดินไปเดินมาอยู่ 6 เดือน จึงรวบรวมกำลังใจขึ้นมาใหม่ มันทำให้เราเข้มข้นขึ้น รู้จักตัวเราเองมากขึ้น ชีวิตมันไม่ได้ง่ายเสมอไป ผมจึงกลับมาทำศิลปะใหม่ให้ได้เพราะเวลาเศร้าผมทำงานไม่ได้ ผมต้องทำงานอะไรก็ได้ที่เราอยู่ในสภาพนั้น ก็เลยคิดงานขึ้นมาใหม่ เป็นงานขาวดำ เพื่อให้เหมาะกับสภาพจิตใจที่เราไม่เห็นสี ไม่เห็นอะไร มันมืดแปดด้าน งานชุดนี้จึงประสบผลสำเร็จมาก ผมทำงานชุดนี้อีก 4-5 ปี พอสภาพจิตผมดีขึ้นมาเป็นปกติ ผลงานเริ่มมีสีสัน ทุกอย่างมันจึงสบาย สมาธิก็ดี จิตใจผมก็สงบ งานผมจึงออกมาแบบสวย ลึก นิ่งสงบเป็นส่วนตัวมาก”
ปรัชญาสากล...กิน...ถ่าย...สืบพันธุ์
“นักวิจารณ์บางคนบอกว่า งานผมเป็นศิลปะชั้นสูง เข้าถึงยาก ไม่สะท้อนหรือรับใช้สังคม งานของผมเป็นเพียวอาร์ต เป็นงานส่วนตัวโดยเฉพาะ มันสะท้อนสังคมทางอ้อมมันไม่ให้สังคมโดยตรง งานของผมอ่านยากแต่คนที่อ่านได้แล้ว เขาจะได้รับทางด้านจิตใจทางอ้อม จิตใจเขาจะดี มีความสงบ นั่นเป็นการสนองสังคมแล้ว ทำให้คนเป็นคนดี แต่ต้องมองให้ออก มันเป็นเพียวอาร์ตอีกระดับหนึ่ง คนดูต้องมีปัญญาสูงเพราะมันหลุดพ้นจากพวกนั้นลงมา กว่าจะเข้าถึงได้ มันก็เหมือนกับศาสนาพุทธ ยังมีตั้งหลายขั้น กว่าจะบรรลุ เป็นงานอีกระดับหนึ่ง ที่เรียกว่าระดับวุฒิปัญญาก็ได้ ศิลปะสอนให้คนเป็นคนดี แต่วิธีสอนมีหลายระดับ งานที่เข้าถึงง่ายๆ บางทีมันก็ไม่ลึกซึ้ง แต่งานผมมันใช้เวลามาก เราต้องดูบ่อยๆ แล้วมันจะเห็นความซับซ้อนของสีของอารมณ์อยู่ในนั้นในนั้นมันมีทุกอย่าง หากสังเกตแต่ละรูปมันจะไม่เหมือนกัน อารมณ์คนละอย่าง ไม่มีอารมณ์วูบวาบ สะบัดทีแปรงแรง ของผมเป็นสมาธิ มันจะดูง่าย ถ้าดูดีๆ จะยิ่งดูยิ่งเห็น ถ้าดูเรื่อยๆ มันจะไม่เบื่อ เพราะมันเป็นภาษาสากล ฝรั่งเขาดูง่ายนิดเดียว ของคนไทยติดเรื่องเนื้อหา เอ๊ะ แปลว่าอะไร คืออะไร มันไม่ใช่อย่างนั้น แค่เริ่มดูก็ผิดแล้ว อย่างไปถวิลหาในสิ่งที่ไม่มี เพื่อสนองจิตใจตัวเองเราต้องเปิดใจให้กว้างแล้วดูสิว่าอะไรอยู่ในนั้น ไม่ใช่เอาตัวเราเข้าไปวัด จะไม่มีทางเข้าใจได้
“งานของผมเป็นอินเตอร์ แต่ชื่อเสียงไม่ถึงกับอินเตอร์ ผมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประเทศฮอลแลนด์ เรายอมรับเพียงแค่นี้ก็พอใจแล้ว ศิลปะในมุมมองของผมจะเรียกว่าศาสตร์ก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นศาสนาก็ได้ มันจะทำให้มนุษย์เราเติบโตเป็นคนดีได้ แต่ถ้าคนเข้าถึง มันก็จะเป็นประโยชน์ มันเป็นสิ่งดีที่ทุกคนรับไปเพื่อให้ตัวเราพ้นจากการเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะมันจะแบ่งมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีศิลปะ มันก็เหมือนกับสัตว์ มนุษย์มีความโลภมากกว่าสัตว์ มีตัณหา คิดแต่เรื่องสืบพันธุ์ เรื่องสบาย แบบหมู หมา มันก็อยากสบาย แต่ศิลปะมันจะทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ประเสริฐ แตกต่างไปจากสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรจะรู้ บางคนไม่รู้หรอกว่าตัวเองเหมือนสัตว์ เดี๋ยวเช้าก็สืบพันธุ์ เดี๋ยวหิว แล้วก็กิน เดี๋ยวก็ขับถ่าย มันไม่มีอะไรเลยในชีวิตเรา”